Skip to main content
sharethis

องค์กรสตรีกะเหรี่ยง KWO เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกวอนรัฐบาลไทยอย่าผลักดันผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กลับสู้พื้นที่ๆ เต็มไปด้วยกับระเบิดและยังมีความขัดแย้งจากการสู้รบเมื่อปีก่อน เลขาธิการร่วม KWO ระบุอาจละเมิดหลักกฎหมายพื้นฐานระหว่างประเทศหากผลักดันผู้อพยพกลับไปเผชิญอันตราย

 

วันนี้ (2 ก.พ.) องค์กรสตรีกะหรี่ยง (the Karen Women Organization – KWO) เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก “คำวิงวอนอย่างเร่งด่วนต่อรัฐบาลไทย อย่าบังคับผลักดันผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงให้กลับไปในพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยทุ่นระเบิด” (Emergency appeal to the Royal Thai Government not to forcibly repatriate Karen refugees back to heavily land-mined zone) เนื้อหาของจดหมายเปิดผนึกร้องขอรัฐบาลไทยอย่าบังคับผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงให้กลับเข้าไปในฝั่งพม่าซึ่งเต็มไปด้วยกับระเบิด โดยผู้อพยพกลุ่มนี้มีจำนวน 3,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กอพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

จดหมายเปิดผนึกระบุว่า ทหารไทยได้แจ้งกับผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ว่าทั้งหมดต้องอพยพกลับไปฝั่งพม่าภายในวันที่ 15 ก.พ. นี้ ผู้ลี้ภัยระบุว่าปฏิบัติการเพื่อเคลื่อนย้ายผู้ลี้ภัยจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. พวกเขารู้สึกกลัวการถูกผลักดันให้กลับไปอยู่ในพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยกับระเบิดและเป็นพื้นที่ซึ่งพร้อมจะเกิดความขัดแย้งขึ้นได้ทุกเมื่อ

ในวันที่ 28 ม.ค. ทหารไทยและข้าราชการท้องถิ่นได้ผลักดันผู้อพยพส่วนหนึ่งราว 50 คน ให้ข้ามไปฝั่งพม่า ระหว่างเวลา 9.00 น. – 11.00 น. เพื่อเริ่มเก็บกวาดทำความสะอาดบ้านของพวกเขาในพื้นที่หมู่บ้านเล่อปอเฮอเพื่อเตรียมการสำหรับการอพยพกลับ ในจำนวนผู้อพยพกลุ่มนี้ มีผู้หญิงและเด็กอยู่ราว 20 คน และบางคนมีอายุต่ำกว่า 16 ปี

จดหมายขององค์กรสตรีกะเหรี่ยง ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มผู้อพยพและไม่ควรมีการผลักดันกลับในเวลานี้ เมื่อรอบหลายเดือนที่ผ่านมา มีผู้อพยพจากพื้นที่ดังกล่าวเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บรวม 5 คน จากการเหยียบกับระเบิด ภายหลังจากที่พวกเขากลับเข้าไปในฝั่งพม่าเพื่อไปดูแลสัตว์เลี้ยง ในจำนวนผู้อพยพกลุ่มนี้ มีเด็กชายอายุ 13 ปี ซึ่งต้องตัดขาทิ้งเมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อน และเมื่อ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา มีหญิงตั้งครรภ์ต้องตัดเท้าทิ้งเพราะเหยียบกับระเบิด

นางบลูมมิง ไน ซาน เลขาธิการร่วมคนที่ 1 ขององค์กรสตรีกะเหรี่ยงกล่าวว่า “การที่มีผู้เหยียบกับระเบิดในพื้นที่ดังกล่าวแสดงว่าสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอันตรายอย่างยิ่ง การส่งผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญสถานการณ์ที่อันตรายเช่นนั้น เป็นการละเมิดหลักการไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังดินแดนหรือถิ่นที่ชีวิตและเสรีภาพของพวกเขาจะถูกคุกคาม หรือ Non-refoulement ซึ่งเป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศพื้นฐาน

แม้ว่ารัฐบาลไทยจะไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาของสหประชาชาติในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัย แต่องค์กรสตรีกะเหรี่ยงซึ่งซาบซึ้งในพระมหากรุณานิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและขอบคุณในไมตรีจิตของรัฐบาลไทยที่มีให้ต่อผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงมาเป็นเวลายาวนาน พวกเราขอวิงวอนต่อรัฐบาลไทยแสดงความเมตตาด้านมนุษยธรรมอีกครั้งหนึ่ง”

จดหมายเปิดผนึกระบุว่า ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้หนีภัยการสู้รบมาจากพื้นที่บ้านเล่อป่อเฮอ รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่าเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2552 ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้พักอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยชั่วคราวใน 3 พื้นที่ คือบ้านแม่อุสุ บ้านแม่สลิด บ้านหนองบัว และขณะนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปอยู่ในค่ายอพยพบ้านแม่หละ ที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และนับตั้งแต่พวกเขาอพยพเข้ามา ได้ถูกเจ้าหน้าที่ไทยกดดันให้กลับบ้านหลายครั้ง ทั้งๆ ที่พื้นที่ซึ่งพวกเขาอพยพมาเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย

ท้ายจดหมายเปิดผนึกระบุว่า “องค์กรสตรีกะเหรี่ยงแสดงความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อแผนการบังคับผลักดันผู้อพยพกลุ่มนี้กลับไปยังพื้นที่เสี่ยงภัย เราขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ยกเลิกการผลักดันนี้ และยังคงปกป้องผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้โดยให้อาศัยอยู่ในเขตไทยต่อไป”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net