Skip to main content
sharethis

 

ที่ผ่านมา มีการพูดถึงการแก้ไขแบบเรียนประวัติศาสตร์ชาตินิยมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันกันมากขึ้น แต่ก็มีคำถามว่า ถ้าไทยแก้แต่เพื่อนบ้านไม่แก้จะมีประโยชน์อะไร

[...]

ผมเข้าใจคำถาม คือถ้าเราปรับแบบเรียนให้เคารพเพื่อนบ้านแต่เขายังฮึ่มๆ ใส่เรา ก็จะทำให้เราเสียท่าเสียเปรียบ เพราะฉะนั้น ต้องปรับพร้อมๆ กัน จะได้ไม่มีฝ่ายไหนเสียเปรียบ แต่ลองคิดสักนิดก็จะรู้ว่า ตรรกะนี้มันตลก ไร้สาระ และไม่เป็นเหตุเป็นผลอะไรเลย ตรรกะของคำถามนี้คือ ถ้าโง่ก็ควรโง่พอๆ กัน รู้ผิดๆ ก็ควรรู้ผิดๆ พอๆ กัน จะได้รักษาอนารยธรรมไว้ได้พอๆ กันต่อไป อย่าทำให้ประชากรของเราฉลาดขึ้น เพราะกลัวว่าจะฟัดกันได้ไม่สมน้ำสมเนื้อ คุณต้องการปรัชญาหรือนโยบายการศึกษาอย่างนี้จริงๆ หรือ

ทำไมจะไม่มีประโยชน์ น่าจะถามว่าอยากให้ประชากรของเราฉลาดขึ้น คิดเป็นขึ้น มีวิจารณญาณดีขึ้นหรือไม่ไม่เห็นเกี่ยวกับใครแก้ก่อนแก้หลังอะไรเลยสักนิด ผมคิดว่าแนวโน้มของโลก ความเข้าใจคนอื่นอย่างเท่าเทียมกันต้องเกิดขึ้น ผมไม่อยากทำตัวเป็นหมอดู แต่ก็นึกไม่ออกว่าความคิดชาตินิยมที่คับแคบจะอยู่ได้อีกนาน ความขัดแย้งในโลกยังไม่หมดแน่ แต่ผมเชื่อว่าความขัดแย้งแบบชาตินิยมอย่างที่ผ่านมาและในปัจจุบัน มันจะค่อยๆ หายไป ใครจะปรับแก้ก่อนหลัง ผมว่าเราไม่ต้องไปคิด เราต้องคิดว่าอยากให้ประชาชนของเรามีคุณภาพดีขึ้นหรือเปล่า  

สมมติถ้าเราเปลี่ยนเราแก้ กัมพูชาไม่เปลี่ยน ก็คิดกันคนละแบบอีก

ถ้าคิดอย่างนี้การศึกษาในประเทศที่พัฒนาไปแล้วก็ควรหยุดได้แล้ว ต้องรอจนกว่าประเทศไทยเปลี่ยน ผมยังนึกไม่ออกว่าเหตุผลของคำถามนี้ฟังขึ้นตรงไหน ผมเชื่อว่าฝรั่งเศสไมได้มองสยามอย่างยุคอาณานิคมแล้ว แต่เรายังโกรธฝรั่งเศสอยู่ ฝรั่งเศสจึงควรรักษาหลักสูตรแบบอาณานิคมไว้จนกว่าไทยจะหายโกรธอย่างนั้นหรือ ประเทศต่างๆ ในโลกติดต่อกันโดยที่ไม่ต้องคิดตรงกัน ถามว่าประเทศที่พัฒนาการศึกษาเสียเปรียบประเทศที่ยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลงงั้นหรือ เราได้เปรียบหรือ ในเรื่องนี้ ประเทศที่รู้จักตัว ปรับความรู้ ปรับความคิดให้ประชาชนมีคุณภาพดีขึ้น น่าจะปรับตัวได้ดีและมีความเจริญก้าวหน้ากว่า

บางส่วนจากบทสัมภาษณ์ ธงชัย วินิจจะกูล นักประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา โดย สุเจน กรรพฤทธิ์ ในหนังสือ อุษาคเนย์ที่รัก   

 

 

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่ร้านหนังสือริมขอบฟ้า ถ.ราชดำเนิน มีการเปิดตัวหนังสือ "อุษาคเนย์ที่รัก" ซึ่งจัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปีแห่งการสถาปนาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ หนึ่งในบรรณาธิการ พูดถึงหนังสือที่มีผู้ร่วมเขียนถึง 17 คนเล่มนี้ว่า ตั้งใจให้หนังสือออกมาในลักษณะที่คนร่วมเขียนมีความหลากหลายในด้านวัยวุฒิ คุณวุฒิ ความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันไปในแต่ละสาขา มีตั้งแต่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 อาจารย์ที่เกษียณแล้ว นักวิชาการรุ่นใหม่ รุ่นกลาง ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน

โดยประเด็นที่แต่ละคนเขียนจะหลุดไปจากเรื่องที่เล่าเกี่ยวกับประเทศไทย เป็นเรื่องเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน อาจมีเรื่องภาคใต้ แต่ก็พยายามทำความเข้าใจในมุมมองแบบอุษาคเนย์ คือเป็นมุมมองที่ไปไกลกว่าการมองในกรอบประเทศ รัฐหรือชาติ ผ่านวิธีการเล่าเรื่องหลากหลายแนว ทั้งสารคดี วิชาการตามแบบแผน และเล่าเรื่องจากประสบการณ์เดินทางผนวกกับวิชาการ 

สิทธา กล่าวเสริมด้วยว่า ความเข้าใจเรื่องประเทศเพื่อนบ้านในหนังสือเรียนตั้งแต่เราเรียนมาชั้นประถม เป็นเชิงปริมาณ เราเข้าใจว่าเมืองหลวงชื่ออะไร มีประชากรเท่าไหร่ ปกครองด้วยระบบแบบใด เราอาจได้ยินข่าวเรื่องของประเทศเพื่อนบ้านในวันที่เขาเกิดวิกฤตทางการเมืองผ่านสำนักข่าวต่างประเทศ หากไม่นับวิทยุโทรทัศน์ซึ่งไปถ่ายทำมากขึ้น ทำให้เห็นภาพการท่องเที่ยว วัฒนธรรมและผู้คน ในส่วนของหนังสือมีน้อยที่จะทำความเข้าใจเพื่อนบ้านอย่างเป็นรูปธรรม เราอาจเห็นหนังสือท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่หนังสือเชิงลึก เชิงวิชาการ ที่จะทำความเข้าใจเพื่อนบ้านอย่างเป็นรูปธรรมกลับมีน้อย 

มิตรภาพ ศัตรู คู่แข่ง ไทยกับเพื่อนบ้านอุษาคเนย์

ในงานเปิดตัวหนังสือ มีการเสวนาในหัวข้อ "มิตรภาพ ศัตรู คู่แข่ง ไทยกับเพื่อนบ้านอุษาคเนย์" ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้ก่อตั้งโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ตอบคำถามของพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ผู้ดำเนินรายการที่ว่า เราควรมีรั้วหรือไม่ เพราะมีภาษิตฝรั่งว่า "รั้วสร้างเพื่อนบ้านที่ดี" ว่า ถ้าไม่มีรั้วบ้านได้ก็คงจะดี เพราะรั้วจะพัฒนาเป็นกำแพง โดยทั้งรั้วและกำแพงจะกั้นความเป็นมนุษย์

 

 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ชาญวิทย์ยกตัวอย่างหมู่บ้านหนึ่งที่เขารู้จักในจังหวัดสุรินทร์ว่าในอดีตไม่มีรั้วเลย ต่อมาเมื่อพัฒนา เศรษฐกิจดีขึ้น รั้วก็ค่อยๆ เกิดขึ้น และตามมาด้วยกำแพง ความสัมพันธ์ที่เคยเห็นเด็กๆ วิ่งเล่นเข้าบ้านนู้นออกบ้านนี้ก็หายไป ความเป็นปักเจกเพิ่มขึ้นสูงมากๆ ดังนั้น ในสังคมอุดมคติ ถ้าไม่มีรั้ว-กำแพงได้ก็คงดี

มองอินโดนีเซีย-มาเลเซีย แล้วมองไทย-กัมพูชา

ขณะที่ อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มธ. เล่าถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งมีความขัดแย้งที่คล้ายคลึงกับกรณีประเทศไทยและกัมพูชา แต่มีวิธีจัดการความขัดแย้งต่างกัน โดยอินโดนีเซียและมาเลเซียที่มีพรมแดนติดกัน มีทั้งปัญหาการแย่งดินแดนที่ตกลงกันไม่ได้ ต้องส่งให้ศาลโลกตัดสิน

 


 
อรอนงค์ ทิพย์พิมล

และเนื่องจากทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดกัน มีวัฒนธรรมบางอย่างร่วมกัน จึงมีความพยายามแย่งชิงความเป็นเจ้าของทางวัฒนธรรม เช่น เพลง "ราซาซายัง" (rasa sayang) ที่แปลว่า "ความรู้สึกรัก" ซึ่งหากถามว่า ประเทศใดเป็นเจ้าของก็ตอบยาก เพราะเป็นเพลงที่ดังทั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือไทย แต่ปัญหาเกิดขึ้นเพราะรัฐมนตรีการท่องเที่ยวของมาเลเซียเอาไปใช้เป็นเพลงสนับสนุนการท่องเที่ยว ทำให้คนอินโดนีเซียฟังแล้วไม่พอใจ นอกจากนี้ ยังมีความพยายามแย่งกันเป็นเจ้าของ กริช บาติก อังกะลุง การรำ ตลอดจนถึงอาหาร มีเว็บไซต์ของทั้งสองประเทศโจมตีกันมาตลอด

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรือรบของสองประเทศเผชิญหน้ากัน ผู้นำของมาเลเซีย นาจิบ ราซัค ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการทีวีของอินโดนีเซียว่า ความเข้าใจผิดหรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นทำในระดับบุคคล เช่น การอ้างว่าท่ารำนี้เป็นของมาเลเซีย ก็ทำโดยสถานีโทรทัศน์ซึ่งไม่ใช่ของรัฐบาล การแย่งชิงที่ดินก็ดี หรืออะไรก็ดีนั้นเกิดขึ้นเพราะก่อนหน้านี้ดินแดนแถบนี้ไม่ได้เป็นรัฐชาติมาก่อน เราตีความร่วมกันทางวัฒนธรรม เราน่าจะเป็นบรรพบุรุษร่วมกัน ไม่มีคำไหนที่เขาบอกว่า เราเป็นพี่เป็นน้องกัน และบอกว่าเขาสามารถเชื่อใจ SBY (ชื่อย่อของประธานาธิบดีซุซิโล บัมบัง ยุดโยโน) ได้ว่า จะไม่ทำสงครามหรือก่อความขัดแย้งขึ้น 

อรอนงค์มองว่า วิธีแก้ปัญหาหรือวิธีพูดถึงปัญหาของผู้นำทั้งสองประเทศ แสดงถึงกึ๋นของผู้นำว่าเขามองปัญหาอย่างไร และพูดอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก ทั้งนี้ ทั้งสองประเทศอาจจะไม่ได้มีทัศนคติที่ดีต่อกันขึ้นมาในเร็ววัน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศต้องพึ่งพาอาศัยกันสูงมาก โดยขณะที่นักธุรกิจมาเลเซียไปลงทุนในอินโดนีเซียจำนวนมาก แรงงานจากอินโดนีเซียก็ไปทำงานในมาเลเซียจำนวนมากเช่นกัน ดังนั้นแล้ว ทั้งสองประเทศต้องพยายามเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เหมือนกับที่เราต้องพยายามเรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น

"เราจะไม่สามารถรักอะไรที่เราไม่เข้าใจได้ เราจะสามารถรักอะไรได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจ เพราะฉะนั้น อุษาคเนย์ที่รักจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีความเข้าใจกันและกันมากกว่านี้" อรอนงค์ ทิ้งท้าย

ชุมชนการเมืองที่ดีเริ่มขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่เห็นใบหน้าของคนอื่นในชุมชนเดียวกับเรา

ด้าน ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ความรู้แบบอุษาคเนย์สำคัญกับรัฐศาสตร์ เพราะพูดถึงสิ่งที่รัฐศาสตร์ละเลย นั่นคือการเอาคนกลับมาเป็นศูนย์กลางของการศึกษา นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจในการมองอุษาคเนย์คือ กระบวนการสร้างความเป็นสมัยใหม่ของสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเรื่องที่นักศึกษาด้านอุษาคเนย์รู้ แต่นักรัฐศาสตร์ไม่ค่อยรู้หรือไม่ค่อยสนใจคือเรื่องความรุนแรง โดยนักรัฐศาสตร์จะมองความรุนแรงในแง่ความหมายกว้าง เช่น มองเป็นเรื่องปกติแบบแมกซ์ เวเบอร์  แต่ถ้าถามว่า ความรุนแรงทำงานอย่างไรในการสร้างสังคมสมัยใหม่ นักรัฐศาสตร์จะพูดไม่ค่อยเยอะ

 

 

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์เล่าว่า ในงานรัฐศาสตร์วิชาการ ที่ มอ. หาดใหญ่ มีผู้ตั้งคำถามว่า รัฐศาสตร์จะมีทางออกอย่างไรกับปัญหาชายแดนใต้ แต่เขากลับมองว่า ปัญหาอย่างชายแดนใต้ หรือปัญหาแบบนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้อะไรกับรัฐศาสตร์บ้างหรือไม่ ชวนให้เห็นไหมว่ารัฐศาสตร์ไม่เข้าใจอะไรบ้าง ซึ่งเมื่อลองนั่งอ่านงานที่นักวิชาการเขียนเรื่องชายแดนใต้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ พบว่าทุกวันนี้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องภาคใต้ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยมีเยอะมาก เช่น  เรื่องปัตตานีไม่ใช่ของไทย การแบ่งแยกดินแดน ความแตกต่างทางวัฒนธรรมของคนหลายๆ กลุ่ม หรือ เรื่องประวัติต่อต้าน ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของรัฐ

ทั้งนี้ มีเรื่องที่น่าสนใจคือ หนึ่ง เวลานักรัฐศาสตร์หรือนักวิชาการพูดเรื่องชายแดนใต้หรือเรื่องความรุนแรง ทำเหมือนกับความรุนแรงเป็นวัตถุในการศึกษา (objective) ว่ามีคนตายกี่คน บาดเจ็บกี่คน เน้นไปที่ข้อมูลเชิงประจักษ์ค่อนข้างเยอะ เขาตั้งคำถามว่า ในที่สุดแล้ว งานวิชาการต้องตอบคำถามเชิงคุณค่าให้มากขึ้นด้วยหรือไม่ ไม่ใช่จบอยู่แค่ว่าพูดว่ามีคนตายเท่าไหร่ บาดเจ็บเท่าไหร่ แต่ต้องคำถามว่าอะไรถูกอะไรผิดในเรื่องแบบนี้ 

สอง ความรู้ของนักวิชาการในการพูดเรื่องรัฐหรือเรื่องชาติ ถึงจุดหนึ่งนักวิชาการพยายามไม่แตะต้องดินแดนทางภูมิศาสตร์ ไม่แตะต้องหรือตั้งคำถามแบบปฎิเสธจริงๆ กับอำนาจรัฐเหนือดินแดน คำถามคือ เราสามารถพูดเรื่องชายแดนใต้โดยไม่แตะปัญหาเรื่องภูมิศาสตร์ของชาติได้จริงเปล่า หรือ ไม่แตะไม่ล้มล้างหลักการบูรณาการของอำนาจรัฐเหนือดินแดนได้จริงหรือเปล่า ทั้งที่เราต้องแตะมันโดยตรง ในเชิงเปรียบเทียบ หากไม่แตะเรื่องพวกแบบนี้ ชุมชนวิชาการหรือรัฐศาสตร์จะต่างกับกองทัพซึ่งทำหน้าที่รักษาดินแดนของชาติในทางกายภาพอย่างไร เราเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงมหาดไทย เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพทางอ้อมหรือไม่

สาม ตั้งคำถามว่า ควรผลักให้พูดถึงการปกครองตัวเอง หรือเขตปกครองพิเศษ มากขึ้นในวงถกเถียงสาธารณะหรือไม่ เพราะเราเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงการปกครองตัวเองของคน หรือการปกครองที่คำนึงถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมให้มากๆ หรือกรณีชายแดนใต้เป็นไปได้ไหมที่พอถึงจุดหนึ่งชุมชนการเมืองกำหนดไว้ล่วงหน้าว่าอะไรพูดได้พูดไม่ได้ ถึงจุดหนึ่ง ทุกคนรู้ว่าเรื่องชายแดนใต้พูดได้บางเรื่อง เขามองว่ามันมีขอบเขตแบบนี้อยู่ และคิดว่า ขยายมันออกไป ท้าทายมันให้มากขึ้น

สุดท้าย เรื่องความรุนแรงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในชายแดนใต้ อาจทำให้เรากลับมาคิดถึงสิ่งที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า "ชุมชนการเมือง" ถ้าเราเชื่อว่า ชุมชนการเมืองทั้งหมดเกิดขึ้นเพื่อชีวิตที่ดีของมนุษย์ การฆ่าโดยทั่วไปจึงน่าจะเป็นเรื่องผิด ยิ่งการฆ่าอย่างในกรณีชายแดนใต้ มีความผิดพลาดในหลายๆ เรื่อง

คำถามคือในสังคมที่มีการฆ่า มีความรุนแรง มีการทำลายชีวิตคนอื่น เพื่อสร้างชุมชนการเมืองสมัยใหม่ตลอดมา ถึงจุดหนึ่งจำเป็นหรือไม่ที่เราอาจจะต้องฟัง ต้องนึกถึงเสียงคนที่ตายไปแล้วด้วยเหตุผลของการสร้างชาติสมัยใหม่ คนที่ตายไปแล้วซึ่งประวัติของเขาไม่มีตัวตนไม่มีพื้นที่อยู่เลยในความทรงจำของชาติเราให้มากขึ้น

นักวิชาการบางคนบอกว่า การสร้างชุมชนการเมืองที่ดี ชุมชนการเมืองที่ยุติธรรมจะเริ่มขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่เห็นใบหน้าของคนอื่นในชุมชนเดียวกับเรา นี่คือจิตวิญญาณหนึ่งที่สำคัญมากของอุษาคเนย์ นั่นคือการบอกคนว่า โลกเราของเรามีคนอื่นอยู่ โลกของเรามีคนที่แตกต่างกับเรามากๆ หรือแม้กระทั่งเหมือนกับเรามากๆ ทั้งทางความเชื่อ ศาสนา ชาติพันธุ์ นี่คือจุดตัดระหว่างอุษาคเนย์และรัฐศาสตร์

"ที่ผ่านมา เรารับรู้ความเป็นไปของประเทศเพื่อนบ้านโดยถูกสอนให้ทำตาม แต่ไม่เคยตั้งคำถาม" กอปร์ธรรม นีละไพจิตร นักศึกษาโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ. กล่าวและว่า ในอุษาคเนย์ถ้าตัดบริบทเส้นเขตแดนรัฐชาติออกไปดูคนในพื้นที่ จะพบว่า หน้าตาคล้ายกัน กลุ่มภาษาเดียวกัน บางภาษามีคำบางคำที่เป็นคำเดียวกันที่ได้อิทธิพลจากจีน อินเดีย แต่เมื่อเกิดเส้นเขตแดนรัฐชาติขึ้น ระบบการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องเพื่อนบ้าน ได้สร้างความรู้ขึ้นมาชุดหนึ่ง ทำให้เรากีดกันเพื่อนบ้านออกไปโดยปริยาย และสนใจแต่จะสร้างสัมพันธไมตรีกับประเทศที่ไกลออกไป เมื่อรู้จักกันน้อย หาจุดลงยากร่วมกันยาก และต่างคนต่างเขียนประวัติศาสตร์ กลายเป็นอคติ รู้สึกว่าเพื่อนบ้านเป็นคนละกลุ่มและเป็นอันตรายต่อกัน

 

 กอปร์ธรรม นีละไพจิตร

ทั้งนี้ เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างดินแดน ด้วยความเปราะบางทางสังคม ประวัติศาสตร์และอคติที่มี ก่อให้เกิดความบาดหมาง การปะทะกันขึ้น โดยยกตัวอย่างกรณีไทยและกัมพูชา ซึ่งเรามีอคติกับเพื่อนบ้านอยู่แล้ว ทั้งยังรับรู้ประวัติศาสตร์ในเชิงถูกกระทำ มองว่าเราเสียดินแดนไป แต่ไม่เคยสนใจว่าเราเคยไปทำกับใครเขาไว้ ก่อให้เกิดความขัดแย้งเรื่อยมา อีกทั้งคนไทยยังถูกสอนให้เชื่อว่าบางเรื่องเป็นความจริงแท้ ไม่ให้ตั้งคำถาม ถ้าตั้งคำถามก็จะถูกถามว่า เป็นคนไทยรึเปล่า หรือเป็นคนไทยประเภทไหน

อย่างไรก็ตาม การจะเริ่มหันมาศึกษาประเทศเพื่อนบ้านในฐานะที่มีต้นทุนทางสังคมร่วมกัน ไม่ใช่ศึกษาเขาได้ทันที แต่ต้องเริ่มที่ศึกษาตัวเองก่อน ว่าพัฒนาการการเกิดรัฐชาติของเราที่เคยรับรู้มาเป็นความจริงไหม เมื่อตั้งคำถามแบบนี้ได้ จะทำให้เราเปิดใจกว้างมากขึ้นและพร้อมจะเปิดใจมองประเทศเพื่อนบ้านในระดับที่อคติถูกตัดทอนออกไป

กอปร์ธรรม บอกด้วยว่า หากเราปล่อยให้ความเข้าใจต่อเพื่อนบ้านเป็นแบบเดิมต่อไป จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อคนในพื้นที่ที่ต้องรับภาระจากผลกรรมที่รัฐทั้งสองได้ก่อไว้ และแม้จะเปลี่ยนแปลงรัฐ ความเชื่อของคนทั้งประเทศ และรัฐบาลไม่ได้ในทันที แต่จะทำให้เรามีใจเป็นธรรมมากขึ้น และขยายความคิดไปสู่คนรอบข้างได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net