Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

          เท่าที่ติดตามข่าวการอภิปรายของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ทราบว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปแล้วอย่างครึกครื้นพอสมควร ผมยังไม่มีโอกาสอ่านคำ วิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น แต่เมื่อได้อ่านประมวลเนื้อหาของการอภิปรายนั้นแล้ว ก็คิดว่าควรจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องนี้บ้าง บางทีการวิพากษ์วิจารณ์ความเห็นที่มีลักษณะสุดขั้วหรือแปลกๆ อาจจะทำให้สามารถเสนอความเห็นอะไรได้ดีกว่าตั้งประเด็นขึ้นเองก็ได้

นอกจากนี้เมื่อเร็วๆนี้ยังปรากฏว่ามีนักวิชาการระดับแนวหน้าอีกบางคน ที่เที่ยวไปตระเวนชี้แจงให้เหตุผลทำนองเดียวกันอยู่ในต่างประเทศ การโต้แย้งความคิดของท่านอธิการบดีฯน่าจะครอบคลุมถึงความเห็นของนักวิชาการพวกเดียวกันนั้นได้ด้วย
ท่านอธิการบดีฯถามว่า “คนที่บอกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มาจากการรัฐประหารของคมช.  แล้วรัฐธรรมนูญ 2540 ที่อ้างว่าดีที่สุดเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ไม่ได้มาจากคณะรสช.ที่มีการยึดอำนาจรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2532 หรือ”  
คำตอบอย่างง่ายๆตรงไปตรงมาก็คือ ไม่ใช่เลย รัฐธรรมนูญ 2540 เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ที่ประชาชนพากันต่อต้านการสืบทอดอำนาจของรสช.ที่ยึดอำนาจเมื่อปี 2534 พร้อมเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย  และเมื่อการสืบทอดอำนาจของรสช.ต้องยุติลงแล้ว ก็มีการเคลื่อนไหวให้มีการปฏิรูปการเมืองจนนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนี้ขึ้น รัฐธรรมนูญ 40 จึงไม่ได้มาจากการรัฐประหารของรสช. แต่เป็นผลิตผลของการต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการของรสช. และเป็นผลของความพยายามทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยต่างหาก
ความจริงท่านอธิการบดีฯก็รู้ดีอยู่แก่ใจ และที่ถามก็คงไม่ได้ต้องการคำตอบ เพียงแต่ต้องการจะลดความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ให้มีค่าไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญที่เป็นผลโดยตรงของการรัฐประหารอย่างรัฐธรรมนูญปี 50 เท่านั้นเอง
ท่านอธิการบดีฯยังสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญฉบับ50ด้วยการอวดอ้างว่า “ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทยไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่ผ่านการทำประชามติ”  พร้อมกับช่วยแก้ต่างข้อโจมตีให้ด้วยว่า  “แล้วที่บอกว่าประชาชนเขาโดนหลอก แต่นั่นก็เป็นเสียงประชาชนไม่ใช่หรือ”
ท่านอธิการบดีฯไม่ได้บอกด้วยว่าการลงประชามตินั้นทำกันไปในเงื่อนไขอย่างไร การลงประชามติที่ทำไปนั้น ทำไปโดยมีเงื่อนไขแกมบังคับประชาชนว่า ถ้าไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญนี้แล้ว คมช.อาจหยิบรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาปรับแก้เอาตามใจอย่างไรก็ได้ ทั้งยังขู่ด้วยว่าจะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนอออกไป บ้านเมืองไม่เข้าสู่ภาวะปกติ
นอกจากนั้นการชี้แจงเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนี้เกือบจะเป็นการชี้แจงฝ่ายเดียว ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเกือบไม่มีโอกาสชี้แจงโต้แย้งเลย ซ้ำยังมีกฎอัยการศึกคุมอยู่ในหลายสิบจังหวัดปิดกั้นการชี้แจงของผู้ที่ไม่เห็นด้วย ที่แย่ที่สุดก็คือ เมื่อร่างผ่านประชามติมาแล้ว ยังมีการเติมบทเฉพาะกาลกันอย่างสนุกสนาน จนทำให้รัฐธรรมนูญที่ใช้กันจริงๆมีเนื้อหาที่เลวร้ายหนักเข้าไปอีก ชนิดที่ต้องเรียกว่าเป็นคนละฉบับกับที่ไปถามความเห็นประชาชนก็ว่าได้
ประชามติที่ท่านอธิการบดีฯนำมาอวดอ้าง จะว่าไปก็เป็นเสียงประชาชนอย่างที่ท่านกล่าว เพียงแต่เป็นเสียงของประชาชนที่ถูกข่มขู่ บังคับ และหลอกลวงเสียมากกว่า จริงๆแล้วก็คือประชามติลวงโลกนั่นเอง
ท่านอธิการบดีฯยังได้ตั้งคำถามที่คมไม่แพ้ใบมีดโกนอาบน้ำผึ้งเลยที่เดียวที่ว่า “ท่านที่บอกว่ามีความคิดเป็นประชาธิปไตย ไม่ยอมรับอำนาจทหารที่มาจากการทำรัฐประหาร ถ้าไม่ยอมรับรัฐประหาร ถามว่าเรายอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 หรือไม่”
ผมเองก็เพิ่งแสดงความเห็นไปว่าในประเทศไทยไม่เคยมี และเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการรัฐประหารที่ดี พอท่านอธิการบดีฯพูดอย่างนี้ก็ทำให้คนคล้อยตามได้ง่ายทีเดียว
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นการรัฐประหารหรือไม่ คำตอบก็คือ เป็น
ถามต่อไปว่าเป็นการรัฐประหารที่ดีและก้าวหน้าหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าดี และก้าวหน้า
แล้วทำไมมีการรัฐประหารที่ดีและก้าวหน้าได้ล่ะ
คำตอบก็คือ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่มีกลไกและวิธีการในระบบที่จะเปลี่ยนแปลงสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยได้ การรัฐประหารจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นและก้าวหน้า อาจจะไม่ก้าวหน้าอย่างเต็มที่เพราะขาดการเข้าร่วมของประชาชน แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีและก้าวหน้า
แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ประเทศอยู่ในระบบที่เราอาจเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและโดยสันติได้แล้ว การรัฐประหารจึงไม่ใช่สิ่งที่ดี หากแต่ได้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประเทศนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า
ที่ผมพูดว่าไม่มีรัฐประหารที่ดีในประเทศไทย จึงหมายถึงนับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงหารปกครองแล้วเป็นต้นมา
ท่านอธิการบดีฯเองยังไม่ได้ไปไกลถึงขั้นที่บอกว่า จริงๆแล้วท่านก็ไม่ได้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475 แต่ท่านตั้งคำถามนี้เพื่อวัตถุประสงค์ 2 อย่าง
หนึ่งคือ ลดความชอบธรรมของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้มีฐานะเท่าๆกับการรัฐประหารทั้งหลายที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา
          สองคือ ท่านพยายามสร้างความชอบธรรมและการยอมรับให้กับการรัฐประหารโดยทั่วไป โดยเฉพาะครั้งที่ผ่านมา และแน่นอนย่อมรวมถึงการรัฐประหารที่อาจจะมีขึ้นในวันข้างหน้าอีกด้วย
          การแสดงความเห็นที่ผ่านๆมาของท่านก็นับว่าชัดเจนมากแล้วว่าท่านคิดอย่างไรกับการรัฐประหาร แต่ก็ยังใช้สำนวนโวหารให้ดูแนบเนียนอยู่บ้าง แต่คราวนี้ท่านเปิดเผยตรงไปตรงมาที่สุดว่า ท่านเลือกที่จะแก้ต่างและพร้อมที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับการการรัฐประหารเลยทีเดียว
ปัญหาการมีที่มาที่ไม่ชอบธรรมของรัฐบาลปัจจุบัน ท่านอธิการอธิบายว่า “ถ้ารัฐบาลนี้มาจากรัฐประหาร  ผมก็ถามว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นรัฐบาลต่อจากรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผมถามว่ารัฐบาลนายสมัครและรัฐบาลนายสมชายมาจากไหน ตอนนี้เรามักข้ามบางเรื่องไปเพื่อผลประโยชน์อะไรบางอย่าง”
ความจริงถ้ามองแบบผิวเผิน ก็อาจพูดได้ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์กับรัฐบาลสมชายและรัฐบาลสมัครต่างก็มาจากสภาชุดปัจจุบันเหมือนกัน
         แต่ทำไมจึงว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์มีที่มาที่ไม่ชอบธรรม
          ในการเลือกตั้งเมื่อ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ นั้น ประชาชนไม่ได้เลือกพรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์มาเป็นรัฐบาล แต่เลือกพรรคพลังประชาชน การที่พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นรัฐบาลขึ้นมาได้ก็เพราะมีการล้มรัฐบาลก่อนหน้านั้นไปถึง ๒ รัฐบาล โดยอาศัยรัฐธรรมนูญและกลไกตามรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดต่อหลักนิติธรรม ทั้งในการตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ยังมีผู้มีอำนาจและผู้นำกองทัพเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซง ดังเป็นที่ทราบทั่วกันว่ารัฐบาลนี้ตั้งขึ้นในค่ายทหาร
ที่ว่ารัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชายถูกล้มไปโดยรัฐธรรมนูญและกลไกตามรัฐธรรมนูญนั้น พอดีเป็นประเด็นที่ท่านอธิการบดีฯก็ได้มาแก้ต่างให้ ทั้งในเรื่องการปลดนายสมัครออกจากนายกฯและการยุบพรรคพลังประชาชน จึงควรมาดูประเด็นทั้งสองนี้กัน
ท่านอธิการบดีฯพยายามจะอธิบายว่าไม่มีเรื่องสองมาตรฐานโดยบอกว่า  “กรณีนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีทำกับข้าว ต้องพ้นจากตำแหน่งได้ เป็นการจ้องหาเรื่องกันนี่ โดยส่วนตัวผมยอมรับว่าเซอร์ไพรซ์ ผมคิดว่านายสมัครแค่ ‘รับจ้าง’ ไม่ใช่ ‘ลูกจ้าง’ แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตีความอย่างเคร่งครัด โดยแวดวงกฎหมายกำลังรอดูว่าจะมีคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะตัดสิน  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไร ไม่ว่าเรื่องนี้จะเป็นกรณีอื่นๆ หรือแม้แต่กรณีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องตัดสินอย่างเดิม ตรงนี้ผมกำลังรอคำวินิจฉัยที่สอง แต่ขณะนี้ยังเป็นมาตรฐานเดียว คือมาตรฐานอย่างเข้ม ในส่วนของนายสมัคร ยังไม่มีคดีอื่นให้เปรียบเทียบ ซึ่งผมกำลังรอดูคำตัดสินคดีอื่นอยู่เช่นกัน”
ก็แล้ว “รับจ้าง” กลายเป็น “ลูกจ้าง” ตามกฎหมายไปได้อย่างไร
คำตอบก็คือ เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้พจนานุกรมแทนที่จะใช้กฎหมาย และความจริงก็มีตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงความเป็นสองมาตรฐานแล้ว คือกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเองบางคนไปสอนหนังสือตามมหาวิทยาลัยบ้าง หรือไปจัดรายการทางวิทยุบ้าง ถ้าตีความอย่างเคร่งครัดหรือใช้มาตรการอย่างเข้มตามคำของท่านอธิการ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหล่านั้นก็ต้องพ้นจากตำแหน่งกันไปแล้ว ไม่ต้องรอให้อภิสิทธิ์ไปทำกับข้าวออกทีวีเสียก่อนแล้วดูการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจึงจะรู้ว่าสองมาตรฐานหรือไม่
เรื่องนี้นอกจากจะขัดหลักนิติธรรมแล้ว ระบบตามรัฐธรรมนูญและการตีความตามใจชอบยังมีผลเท่ากับการที่คนเพียงไม่กี่คนสามารถหักล้างอำนาจการตัดสินของประชาชนทั่วประเทศด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องและขาดน้ำหนักอย่างยิ่งได้อีกด้วย
รัฐบาลสมชายนั้นล้มไปเพราะพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ถูกยุบเนื่องจากกกต.เชื่อว่ากรรมการบริหารคนหนึ่งทำผิดกฎหมายเลือกตั้งและต่อมาได้รับใบแดง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันระบุว่าเมื่อกรรมการบริหารเพียงแค่ปล่อยปละละเลยก็ต้องยุบทั้งพรรค แม้ว่ากรรมการบริหารคนอื่นจะไม่รู้เรื่องด้วยเลยก็ตาม และเมื่อยุบพรรคแล้ว กรรมการบริหารทั้งชุดก็ต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งไปพร้อมกันด้วย
กติกาอย่างนี้ขัดต่อหลักนิติธรรม เพราะเป็นการลงโทษหมู่คณะจากการกระทำของคนๆเดียว  ไม่ต่างจากการประหารเจ็ดชั่วโคตรในอดีต
พรรคอื่นบางพรรคที่ถูกยุบไปแล้วเช่นพรรคชาติไทย ถูกยุบเพราะกกต.เชื่อว่าผู้สมัคร   ซึ่งเป็นกรรมการบริหารเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการเลือกตั้งจึงให้ใบแดงไปเลย  เมื่อเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่มีอำนาจพิจารณาว่าทุจริตจริงหรือไม่ แต่เมื่อเป็นที่ยุติโดยกกต.แล้วว่าทุจริต ศาลรัฐธรรมนูญก็มีทางเดียว คือต้องให้ยุบพรรคชาติไทย และเพิกถอนสิทธิ์กรรมการบริหารทั้งชุด
ต่อมาผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตในการเลือกตั้งรายนั้นถูกดำเนินคดี จนถึงที่สุดแล้วปรากฏว่าสั่งไม่ฟ้อง ต้องคืนเงินให้เขาไป สรุปก็คือไม่มีใครทำผิดเลยแม้แต่คนเดียว แต่พรรคทั้งพรรคก็ถูกยุบไปแล้วอย่างง่ายดาย
ท่านอธิการบดีฯยืนยันว่าเรื่องการยุบพรรคไม่มีเรื่องสองมาตรฐาน โดยเฉพาะกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยแคลงใจในการทำงานของกกต.อยู่นั้น ท่านอธิการช่วยแก้ให้เสร็จสรรพว่า  “แล้วก็มีคนเรียกร้องว่า ทำไมยุบไปแล้ว 3 พรรค 4 พรรค แต่ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ผมบอกว่านี้ครับว่า พรรคประชาธิปัตย์ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ไม่ได้ทุจริตเลือกตั้ง ไม่มีกรรมการบริการพรรคไปทุจริตซื้อเสียง แต่ที่ร้องเรียนเป็นการใช้เงินจาก กกต.ผิดประเภท ซึ่งนั่นเกิดก่อนจะมีรัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศใช้”
คนที่กล้าแก้ต่างให้พรรคประชาธิปัตย์อย่างโจ่งแจ้งขนาดนี้ น่าจะต้องศึกษาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มาแล้วมากพอ แต่ก็แปลกที่ท่านอธิการบดีฯไม่ได้ให้ข้อมูลตรงตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ทั้งยังเบี่ยงเบนประเด็นอีกด้วย
เป็นความจริงที่ในคดี 258 ล้าน พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ถูกกล่าวหาว่าทุจริตเลือกตั้งหรือซื้อเสียง แต่ขณะเดียวกันเรื่องที่ร้องเรียนก็ไม่ใช่มีเพียงเรื่องการใช้เงินจากกกต.ผิดประเภทอย่างที่ท่านอธิการบดีฯว่า เรื่องใหญ่ยังอยู่ที่เรื่องการปกปิดเงินบริจาค 258 ล้านบาทจากบริษัทเอกชน ร่วมมือกับบริษัทเอกชนฉ้อโกงบริษัทมหาชน และได้ใช้เงินเหล่านั้นในการทำงานของพรรค รวมทั้งในการเลือกตั้ง
ที่บอกว่าเรื่องนี้เกิดก่อนรัฐธรรมนูญ 2550 ท่านอธิการต้องการอธิบายว่า เพราะฉะนั้นจะมาบอกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 สองมาตรฐานไม่ได้
แต่เรื่องนี้ก็ยังมีปัญหาสองมาตรฐานอยู่นั่นเอง ไม่ใช่ปัญหาสองมาตรฐานที่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ แต่เป็นปัญหาการปฏิบัติอย่างสองมาตรฐานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญคือกกต.
คดี 258 ล้านนี้พิจารณากันมานานมาก ต่างจากการพิจารณาคดีของพรรคการเมืองอื่นที่ถูกยุบไปแล้ว ถึงเวลาลงมติ  กลับมีมติส่งให้นายทะเบียนพรรคการเมือง และทำท่าว่าถ้านายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นให้ยกคำร้อง ก็อาจไม่ต้องกลับมาให้กกต.พิจารณาอีก
ที่เป็นตลกร้ายที่สุดก็คือ การที่นายทะเบียนพรรคการเมืองขอใช้เวลาอ่านสำนวนอีกกว่า 3 เดือนก่อนจะเสนอความเห็นได้ ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นเป็นคนเดียวที่ลงมติให้ยกคำร้องในฐานะประธานกกต.
ทำเหมือนกับคนทั้งประเทศไม่รู้ว่าประธานกกต.กับนายทะเบียนพรรคการเมืองคือคนๆเดียวกัน
เรื่องการชุมนุมทางการเมือง ที่ท่านอธิการบดีฯอธิบายว่า “เรื่องนี้ก็ไม่มีสองมาตรฐานขึ้นอยู่กับว่าอัยการจะสั่งฟ้องช้าหรือเร็วเท่านั้น”  ดูเหมือนไม่ต้องใช้เวลาในการโต้แย้งอะไรมาก วิญญูชนทั้งหลายคงสามารถตัดสินได้อยู่แล้วว่า ความเห็นนี้ไม่อยู่กับร่องกับรอยเพียงใด น่าแปลกหน่อยก็ตรงที่ว่าทำไมกล้าถึงขนาดนั้น
ท่านอธิการบดีฯยังได้ตั้งคำถามที่ดูเหมือนจะต้องการวางตัวให้เป็นผู้อาวุโสไปด้วยอีกคนว่า “เราจะรักษาประเทศนี้ให้ดีได้อย่างไร ประเทศไทยจะกลายเป็นเลบานอนหรือไม่ จะเกิดสงครามกลางเมืองหรือไม่”
คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ผู้ห่วงใยบ้านเมืองสมควรถาม แต่สำหรับผู้ที่ทำหน้าที่สร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร และแก้ต่างให้กับระบบที่เต็มไปด้วยความไม่ยุติธรรมและสองมาตรฐานแล้ว ท่านไม่ควรเป็นผู้ถามคำถามเหล่านี้เลย เพราะสิ่งที่ทำอยู่กำลังซ้ำเติมและเร่งให้ปัญหาที่ท่านถามถึงนั้นยิ่งแก้ยากขึ้นไปอีกเสียมากกว่า
ประเด็นที่ท่านอธิการบดีฯทิ้งท้าย  ดูจะไม่ชัดเจนนักว่าต้องการอะไร แต่คิดว่ามีนัยสำคัญทีเดียว นั่นคือการอ้างถึงอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ที่เขียนบทความโดยใช้ชื่อนายเข้ม เย็นยิ่ง เรียกร้องในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองปี 2516 ว่า อาจารย์ป๋วยท่านเรียกร้องกติกาหมู่บ้าน เพื่อให้คนในหมู่บ้านยอมรับกติกาการอยู่ร่วมกัน
เหมือนกับจะอาศัยอาจารย์ป๋วยมาบอกว่าคนในประเทศนี้ วันนี้ ควรยอมรับกติกาของประเทศ คือรัฐธรรมนูญปัจจุบันและระบบกฎหมายอย่างที่เป็นอยู่ ทั้งๆที่อาจารย์ป๋วยเขียนจดหมายฉบับนั้นในขณะที่บ้านเมืองอยู่ใต้การปกครองของเผด็จการ ไม่มีรัฐธรรมนูญ ถ้าจะเอาข้อเรียกร้องของอาจารย์ป๋วยมาประยุกต์ใช้ในวันนี้ ที่ถูกแล้วควรตีความว่า บ้านเมืองทุกวันนี้ก็ไม่มีกติกาที่ดีสำหรับคนที่อยู่ร่วมกัน  ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างกติกาที่ดีขึ้นมาใหม่ คล้ายๆกับที่เคยมีการเรียกร้องกันมาในอดีตนั่นเอง
ประเด็นสุดท้ายของท่านอธิการนี้ คนอาจไม่ถือเป็นสาระอะไรมาก แต่ความจริงก็ทำให้เราเห็นความแตกต่างระหว่าอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในอดีตกับปัจจุบันได้ดีทีเดียว
ที่สำคัญกว่านั้น การบิดเบือนทางความคิดและการทุจริตทางวาจาแบบนี้ กระทำโดยผู้ที่มีตำแหน่งฐานะอย่างเป็นทางการของมหาวิทยาลัยที่เคยโดดเด่นด้วยเกียรติภูมิอันสูงส่ง ว่าได้ยืนเคียงข้างความถูกต้องและเคียงบ่าเคียงไหล่ประชาชนตลอดมา แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศกำลังมองเห็นและใช้ประโยชน์จากความอ่อนแอของสังคมอย่างถึงที่สุด และน่าตกใจที่ชุมชนมหาวิทยาลัยและวงการวิชาการ ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบขึ้นได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net