Skip to main content
sharethis

เวทีนานาชาติเพื่อรายงานสถานการณ์แม่น้ำโขงที่เปลี่ยนแปลง และจะเปลี่ยนแปลงอีกมากหลังเขื่อนยักษ์ทยอยสร้างตลอดลุ่มน้ำโขง เขมรอ่วมกระทบแหล่งปลาสมบูรณ์ของโลก

3 กุมภาพันธ์ 2553 ที่มหาวิทยาลัยกันเทอ จังหวัดกันเทอ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ภาคประชาสังคม ได้แก่ เครือข่ายแม่น้ำประเทศเวียดนาม โครงการฟื้นฟูนิเวศในแม่น้ำโขง พันธมิตรเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง ร่วมกับคณะกรรมการประชาชนแห่งเมืองกันเทอ (Can Tho People’s Committee) และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ แห่งมหาวิทยาลัยกันเทอจัดการประชุมนานาชาติเพื่อเป็นเวทีในการถกเถียงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาพรวมสถานการณ์การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงและสถานการณ์ของผลกระทบข้ามพรมแดน โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมกว่า 160 คนซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคประชาสังคมในหกประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม และนานาชาติ ตลอดจนนักวิชาการจากเวียดนาม 

ทั้งนี้ การประชุมนานาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการดำรงชีวิตในลุ่มน้ำโขงฯ นับเป็นการประชุมครั้งแรกระหว่างองค์กรภาคประชาชนกับเครือข่ายนักวิชาการที่ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการเขื่อนแม่น้ำโขง ทั้งเขื่อนในตอนบนของลำน้ำซึ่งอยู่ในประเทศจีน และเขื่อนทางตอนล่างในลาว ไทย และกัมพูชา โดยมีการนำเสนอผลงานการศึกษาและข้อมูลจากประสบการณ์ตรงในพื้นที่เป็นเหตุผลสนับสนุนต่อความกังวลดังกล่าว

การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขงสายหลักทางตอนบนในประเทศจีนมีจำนวนถึง 8-15 เขื่อนเสร็จสิ้นไปแล้ว 3 เขื่อน สำหรับเขื่อนเสี่ยววานซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด กำลังจะเสร็จสิ้นการก่อสร้างในปี พ.ศ.2555 ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด ซึ่งเป็นการศึกษาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เขื่อนเสี่ยววานจะทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นถึงสองเมตรจากระดับปกติในฤดูแล้งในเขตประเทศกัมพูชา

สำหรับ 11 เขื่อนที่ถูกผลักดันให้สร้างในแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่าง ที่ประชุมได้พุ่งเป้าความสนใจไปที่ประเด็นความมั่นคงด้านอาหารที่จะถูกคุกคาม เนื่องจากพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนเหล่านี้หลายจุดเป็นแหล่งอาหารสำคัญของภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ในภาคใต้ของประเทศลาว ผลกระทบอย่างร้ายแรงจะเกิดขึ้นกับจำนวนปลาในทะเลสาบเขมรซึ่งกว่า 70 เปอร์เซ็นต์เป็นปลาอพยพ และเป็นแหล่งอาหารและแหล่งสร้างรายได้สำคัญสำหรับชุมชนรอบทะเลสาบ นอกจากนี้ หากมีการสร้างเขื่อนซัมบอร์ในประเทศกัมพูชา บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนามจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ การนำเสนองานวิจัยของนักวิชาการ ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนและตัวแทนฝ่ายรัฐของเวียดนาม นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยกันเทอ ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสำคัญของพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงว่า เป็นแหล่งผลิตอาหารทางการเกษตรมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ปลูกข้าวส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก การกระทบกระเทือนใดๆ ก็ตามที่ส่งผลถึงแหล่งน้ำ รูปแบบการไหลเวียน และการขึ้นลงของแหล่งน้ำจะทำให้อู่ข้าวอู่น้ำซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นที่สุดในเวียดนามแห่งนี้ตกอยู่ในภาวะอันตราย

เนื่องจากแผนการพัฒนาเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความต้องการพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาค ในเวทีจึงเกิดคำถามถึงบทบาทของเวียดนามในฐานะผู้ซื้อไฟฟ้า และผู้ลงทุนในโครงการการสร้างเขื่อนต่างๆ ในแม่น้ำสายหลัก และแม่น้ำสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงบทเรียนสำคัญเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนน้ำตกยาลี (Yali Falls) ในแม่น้ำเซซานในเวียดนามที่สร้างความเดือดร้อนอย่างสาหัสให้กับชุมชนท้ายน้ำในกัมพูชา ทั้งนี้ ประเทศเวียดนามจะตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า เวียดนามจะกลายเป็นผู้รับซื้อและผู้ลงทุนเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่อาจจะส่งผลกระทบย้อนกลับมาถึงประชาชนของตนเอง หรือบทบาทที่เวียดนามจะให้ความสำคัญมากกว่ากัน ระหว่างบทบาทของผู้ลงทุนโครงการเขื่อน หรือบทบาทในฐานะผู้ผลิตอาหารแหล่งสำคัญของโลก

ประเทศไทยถูกหยิบยกขึ้นเป็นกรณีศึกษาสำหรับประเด็นความต้องการพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาค โดยตัวแทนจากกลุ่มพลังไท โดยแสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดล้มเหลวในการวางแผนพลังงานในประเทศไทย ที่ส่งผลให้เกิดการลงทุนทางด้านพลังงานที่ไม่จำเป็น และยังก่อให้เกิดผลกระทบมหาศาล เช่นการผลักดันแผนการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง กรณีศึกษานี้สร้างความสนใจให้กับผู้เข้าร่วมการประชุมจากประเทศอื่นๆ อย่างมาก เมื่อผนวกกับข้อยืนยันที่หนักแน่นว่า ยังไม่มีมาตรการใดๆ ที่สามารถลดผลกระทบจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ได้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อการประมง จึงนำไปสู่ความเห็นพ้องต้องกันที่ว่า “ประชาชนกินปลาได้ แต่กินไฟฟ้าไม่ได้”

องค์กรที่เกี่ยวข้องกับแผนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักและถูกวิพากษ์ในเวทีครั้งนี้ คือ คณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขงหรือเอ็มอาร์ซี มีการตั้งคำถามว่า เอ็มอาร์ซีจะสามารถพัฒนาบทบาทที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนในลุ่มน้ำโขงอย่างแท้จริงได้หรือไม่ในอนาคต เมื่อมองย้อนไปถึงบทบาทดังกล่าวในอดีตที่ยังคงบกพร่องและไม่ได้รับการยอมรับจากองค์กรภาคประชาสังคม

สำหรับการมองไปข้างหน้าร่วมกัน ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือในอนาคต โดยเน้นการทำงานของนักวิชาการในการใช้หลักฐานข้อมูลเพื่อหนุนเสริมการทำงานของภาคประชาชน ในขณะเดียวกันความเข้มแข็งของเครือข่ายในระดับประเทศก็จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน

ในฐานะเจ้าภาพ เครือข่ายแม่น้ำในเวียดนามได้แสดงจุดยืนที่สอดคล้องกับพันธมิตรเพื่อปกป้องแม่น้ำโขงในการสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาชนสามารถตั้งคำถามกับฝ่ายนโยบายได้ด้วยตนเอง โดยใช้ประโยชน์จากการร่วมมือในเชิงวัฒนธรรม เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายภาคประชาชนให้เข้มแข็งมากขึ้น

ทั้งนี้จังหวัดกันเทอซึ่งเป็นสถานที่จัดงานประชุมเป็นจังหวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นหนึ่งในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ 12 แห่งของโลกที่จะได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบข้ามพรมแดนจึงเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์อันเปราะบางให้กับสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงอย่างเห็นได้ชัด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net