Skip to main content
sharethis

นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนออกจดหมายเปิดผนึกถึง ป.ป.ช. ร้องเรียนกล่าวโทษกฤษฎีกา เป็นหน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ กรณีแก้ปัญหามาบตาพุด ขัดรัฐธรรมนูญ มีประโยชน์ทับซ้อน

8 ก.พ. 53 นายศรีสุวรรณ จรรยา นากยกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนออกจดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ ร้องเรียนกล่าวโทษคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่ กรณีอันเกี่ยวเนื่องกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยระบุว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 และคณะที่ 5 ได้ร่วมกันให้ความเห็นไปในทางที่ขัดหรือแย้งต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาทั้ง 2 คณะในฐานะนักกฎหมายที่เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เป็นเช่นไร

นอกจากนี้ กรรมการกฤษฎีกาบางท่านในคณะที่ 1 และคณะที่ 5 ที่ร่วมให้ข้อคิดเห็นในที่ประชุมของคณะกรรมการกฤษฎีกา อันมีผลของความเห็นของที่ประชุมก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนกันเองของกรรมการบางท่านของคณะกรรมการกฤษฎีกา ถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอย่างชัดแจ้ง
           
ทั้งนี้สำนักงานหรือคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเองให้ครบถ้วนในเรื่องดังกล่าว จนระยะเวลาล่วงผ่านไปเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว กฎหมายที่จะต้องอนุวัติให้มีขึ้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง (องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม) ก็ยังไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังละเมิดกฎหมายด้วยการดำเนินการให้ความเห็นในข้อหารือของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
 
โดยในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว มีรายละเอียด ดังนี้
 
 
 
 0 0 0
 
 
 
จดหมายเปิดผนึกร้องเรียนกล่าวโทษคณะกรรมการกฤษฎีกา
 
                            วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2553
 
เรื่อง      ขอให้ไต่สวนและเอาผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อลงโทษข้าราชการที่กระทำความผิดหรือละเมิดกฎหมาย
 
เรียน      ท่านประธานและคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ
 
สิ่งที่ส่งมาด้วย     1)คำสั่งศาลปกครองสูงสุด คำสั่งที่ 592/2552 ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2552
                        2)คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2552 ลงวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2552
                        3)บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 491-443/2552
                        4)รายงานการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1 และคณะที่ 5)
 
            ข้าพเจ้านายศรีสุวรรณ จรรยา นากยกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนในฐานะบุคคล และหรือในฐานะองค์กรนิติบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือเสียหายในการฟ้องร้องคดีทางปกครองต่อหน่วยงานของรัฐ กรณีหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ปรากฏตามสำเนาคำสั่งที่ 592/2552 ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2552 ตามเอกสารที่ส่งมาด้วย 1) และขอใช้สิทธิตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการกล่าวหาบุคคลตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 พ.ศ.2551 ความดังทราบแล้วนั้น
 
            คำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ปรากฏข้อมูลตามรายงานการพิจารณาไต่สวนของศาลปกครองสูงสุด พบว่า มีหน่วยงานราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในหลายหน่วยงานหรือบุคคล ต่างกรรมต่างวาระกันไป ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น หลายกรรมหลายวาระ โดยหน่วยงานหรือบุคคลต่าง ที่ร่วมกันกระทำความผิด ดังนี้
 
            1)นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 และคณะ
            2)นายวัฒนา รัตนวิจิตร ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 5 และคณะ
            3)นางพรทิพย์ จาละ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
 
 
ข้อกล่าวหาและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด
            1)ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2550 เป็นต้น ซึ่งบุคคลชาวไทยทุกคนต่างรับรู้ รับทราบกันเป็นการทั่วไป และโดยนัยยะของกฎหมายที่ปวงชนชาวไทยทุกคนต้องรู้และต้องปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ตามบทบัญญัติต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญ
 
            รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 วรรคสอง กำหนดไว้ชัดเจนว่า “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว”
 
            ในขณะเดียวกันเจตนารมณ์ดังกล่าวได้รับการยืนยันจากศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่ 3/2552 ลงวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2552 ตามเอกสารที่ส่งมาด้วย 2) ความโดยสรุปว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีเจตนารมณ์ให้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองไว้มีสภาพบังคับได้ทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศให้มีผลใช้บังคับโดยไม่ต้องรอให้มีการบัญญัติกฎหมายอนุวัติการมาใช้บังคับก่อน การบังคับใช้บทบัญญัติมาตรา 46 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 จึงต้องดำเนินการให้สอดคล้องและเป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ด้วย ดังนั้น ในกรณีที่มีการดำเนินโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ก็ดี หรือเป็นโครงการหรือกิจการที่ไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ดี หากปรากฏว่าการดำเนินโครงการหรือกิจการอาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพต่อบุคคลหรือชุมชน บุคคลหรือชุมชนย่อมมีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครองได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสาม เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่ดำเนินโครงการหรือกิจการนั้น จัดให้มีการศึกษาและประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน การจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือการให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นก่อนดำเนินโครงการหรือกิจการได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง”
 
            โดยที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชน ซึ่งมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง ปรากฏตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 แล้ว
 
            2)เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2552 สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้านมาบตาพุด-บ้านฉาง ได้ร่วมกันยื่นฟ้อง 8 หน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต่อศาลปกครองเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร อันมีสาเหตุมาจากการที่หน่วยงานและหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรคสอง จนในที่สุดศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ 592/2552 ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2552 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปด ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว
 
            3) ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2552 คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 และคณะที่ 5 ได้ร่วมกันให้ความเห็นไปในทางที่ขัดหรือแย้งต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่อ้างแล้วข้างต้น ปรากฏตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 491-443/2552 ตามสำเนาเอกสารที่ส่งมาด้วย 3) ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาทั้ง 2 คณะในฐานะนักกฎหมายที่เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เป็นเช่นไร และมีแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2552 ออกมาก่อนแล้ว และคณะกรรมการกฤษฎีกาทั้งสองคณะกลับให้ความเห็นไปในทิศทางที่ตรงข้ามกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฏตามสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา สิ่งที่ส่งมาด้วย 4) อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับบริษัทเอกชน ที่รอใบอนุญาตการประกอบกิจการจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องหรือที่มีหนังสือหารือมายังคณะกรรมการกฤษฎีกา อีกทั้งปรากฏชัดเจนว่ามีกรรมการคณะกรรมการกฤษฎีกาบางท่านในคณะดังกล่าวเป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน กล่าวคือเป็นกรรมการของบริษัทเอกชน ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับการให้ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อการให้ความเห็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการมีหนังสือหารือมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อันเป็นการกระทำที่เพิกเฉย หรือละเว้นต่อการให้ความเห็นไปในทางที่ถูกต้อง ยังผลให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพอนามัยของประชาชนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ให้การคุ้มครองไว้แล้ว เนื่องจากหน่วยงานของรัฐที่ได้รับความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องไปดำเนินการตามความเห็นของกฤษฎีกา อันเนื่องมาจากเคยมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2482 ได้วางระเบียบในเรื่องของการตีความและการให้ความเห็นในทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาไว้แล้ว และเมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในทางกฎหมายเป็นประการใดแล้ว โดยปกติให้เป็นไปตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา นั้น
 
ทั้งที่ระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าด้วยการรับปรึกษาให้ความเห็นทางกฎหมายของกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 กำหนดไว้ชัดเจนในข้อ 9 ว่า กรรมการกฤษฎีกาจะไม่พิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายในเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล
 
แต่ทว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 และคณะที่ 5 ก็ละเมิดระเบียบของคณะกรรมการเสียเอง โดยได้จัดทำความเห็นเป็นบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 491-443/2552 เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2552ตามสำเนาสิ่งที่ส่งมาด้วย  ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการฟ้องร้องในเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว จึงถือว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 และคณะที่ 5 และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมกันกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น อย่างชัดแจ้ง
 
            นอกจากนั้นประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความในมาตรา 100 แห่งประราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 พ.ศ.2544 ก็ได้กำหนดข้อห้ามการมีผลประโยชน์ทับซ้อนไว้ชัดเจนของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าด้วยการแบ่งกรรมการกฤษฎีกาออกเป็นคณะและการแต่งตั้งประธานกรรมการกฤษฎีกาแต่ละคณะ พ.ศ.2551 ก็กำหนดคุณสมบัติที่เหมาะสมของการแต่งตั้งประธานและคณะกรรมการกฤษฎีกาไว้แล้วอย่างชัดเจน แต่การที่เสนอหรืออนุญาตให้มีกรรมการกฤษฎีกาบางท่านในคณะที่ 1 และคณะที่ 5 มาร่วมให้ข้อคิดเห็นในที่ประชุมของคณะกรรมการกฤษฎีกา อันมีผลของความเห็นของที่ประชุมก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนกันเองของกรรมการบางท่านของคณะกรรมการกฤษฎีกา ถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมาย อย่างชัดแจ้ง
           
            4)พระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 และ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2542 กำหนดหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของคณะกรรมการกฤษฎีกา คือ การเสนอความเห็นและข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการให้มีกฎหมายหรือแก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย
 
            ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 303 (1) กำหนดให้คณะรัฐมนตรีในวาระเริ่มแรกที่เข้าบริหารราชการแผ่นดินภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ต้องดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 กำหนดไว้ว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิชุมชนในส่วนที่ 12 ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดแรก คือ คณะรัฐมนตรีชุดที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 ดังนั้นแล้วกฎหมายในส่วนที่ 12 ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับสิทธิชุมชนต้องดำเนินการให้มีหรือแก้ไขปรับปรุงให้มีหรือให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 ซึ่งถึงแม้รัฐบาลจะเปลี่ยนคณะผู้บริหารหลายชุด แต่ผู้ที่ต้องทำให้ที่ในการเสนอความเห็นและข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการให้มีกฎหมายหรือแก้ไขปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย จึงต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นตัวแทนในการดำเนินการทางธุรการเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายของหน่วยงานดังกล่าว
 
            แต่ทว่าผลที่ปรากฏคือ สำนักงานหรือคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเองให้ครบถ้วนในเรื่องดังกล่าว จนระยะเวลาล่วงผ่านไปเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว กฎหมายที่จะต้องอนุวัติให้มีขึ้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ก็ยังไม่เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่จะต้องแจ้งต่อรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีกฎหมายมารองรับ การกระทำดังกล่าวของสำนักงานหรือคณะกรรมการกฤษฎีกา ถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น
 
            นอกจากจะกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ของตนแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 และคณะที่ 5 ยังละเมิดกฎหมายด้วยการดำเนินการให้ความเห็นในข้อหารือของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อีกด้วย โดยมีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นผู้ดำเนินการจัดทำบันทึกเสนอและแจ้งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีหนังสือขอคำปรึกษาหรือหารือมา การกระทำของคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 คณะที่ 5 และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กฤษฎีกา ถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น อย่างชัดแจ้งปรากฏแล้วต่อสาธารณะ
 
            ด้วยเหตุผลดังกล่าว เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างหรือแบบอย่างที่ไม่ถูกต้องต่อการปฏิบัติหน้าที่ของทางราชการ สมาคมฯจึงใคร่เรียนมายังท่านและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้โปรดพิจารณารับเรื่องของสมาคมฯ และดำเนินการไต่สวน สืบสวน สอบสวนและวินิจฉัย และเรียกเอกสารพยานที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการเอาผิดหรือลงโทษกับคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 และคณะที่ 5 ทั้งชุดและเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต่อไป
 
            จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา
 
ขอแสดงความนับถือ
นายศรีสุวรรณ จรรยา
(นายศรีสุวรรณ จรรยา)
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net