Skip to main content
sharethis

ปีเตอร์ เลย์แลนด์ ย้ำระบอบรัฐธรรมนูญมีประสิทธิภาพได้ เมื่อองค์กรทางการเมือง อย่างรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ และระบอบการเลือกตั้งเข้มแข็ง ตรวจสอบได้ ยืนยันสิทธิเสรีภาพประชาชน ยอมรับและปฎิบัติตามกฎเกณฑ์ ด้านบวรศักดิ์ ระบุแก้ปัญหาไม่ใช่แค่ปฎิรูปการเมือง แต่ต้องแก้ความไม่เท่าเทียม มุ่งสู่รัฐสวัสดิการ

เมื่อวันที่ 28 ม.ค.53 ที่ห้องประชุมบรูไน วิทยาลัยบูรพาและแอฟริกาศึกษา (School or Oriental and African Studies: SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน สถานทูตไทยประจำสหราชอาณาจักรและสมาคมนักเรียนไทย SOAS ได้จัดเวทีเสวนา “สถานการณ์การเมืองไทย: ความเป็นมาและอนาคต” (Thai Political Situation: Wherefrom and Whereto?)

โดยมีนักวิชาการจากไทยและอังกฤษ 4 คนเป็นผู้อภิปราย ได้แก่ ศ.เกียรติคุณ ดร.สุจิต บุญบงการ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและบทบาทขององค์กรทางการเมืองต่างๆ ศ.ดร.ดังแคน แมคคาโก (Duncan McCargo) จากภาควิชารัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยลีดส์ อภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้ ศ.ดร.ปีเตอร์ เลย์แลนด์ (Peter Leyland) จากมหาวิทยาลัยมหานครลอนดอน (London Metropolitan University) จะอภิปรายประเด็นรัฐธรรมนูญและองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ และ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อภิปรายเรื่องทางออกจากวิกฤติการเมือง

โดยเสวนาครั้งนี้มีนักศึกษาไทยจากทั่วอังกฤษ นักการทูตในกรุงลอนดอน นักวิชาการอังกฤษทางด้านเอเชียศึกษา และประชาชนไทยในอังกฤษรวมถึงพระภิกษุชาวไทย เข้าร่วมฟังราว 300 คน

ทั้งนี้ ในตอนที่ 1 ได้รายงานเนื้อหาในส่วนคำอภิปรายของ ดร.สุจิต บุญบงการ และ ศ.ดร.ดังแคน แมคคาโก ไปแล้ว ต่อจากนี้คือ เนื้อหาในส่วนที่เหลือ

0 0 0

ศ.ดร. ปีเตอร์ เลย์แลนด์ (มหาวิทยาลัยมหานครลอนดอน)
ศ.ปีเตอร์เริ่มการบรรยายว่า สถานการณ์รัฐธรรมนูญไทยในหลายๆ ปีที่ผ่านเป็นเหมือนรถไฟเหาะตีลังกาในเส้นทางเพื่อสร้างระบอบรัฐธรรมนูญ (Constitutionalism) คำถามที่ผมอยากตั้งคำถามสี่คำถามในฐานะนักวิชาการทางด้านรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มีวาระทางการเมือง คือ หนึ่ง ทำไมการปกครองภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญเหมือนจะเกิดขึ้นไม่ได้ ทำไมรัฐธรรมนูญไทยถึงทำงานไม่ได้ดีเท่าไหร่ สอง รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด (ทั้ง 2540 และ 2550) มีบทบาทในการสนับสนุนประชาธิปไตยของไทยหรือไม่ สาม รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเสนอทางออกหรือไม่ สี่ มี รัฐธรรมนูญที่เป็นสูตรสำเร็จ (magic formula) หรือเปล่าที่จะรับประกันว่าไทยจะมีการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติไปสู่ประชาธิปไตย

เวลาเราพูดถึงระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ คำนิยามของมัน คือ มันไม่ใช่กฎเกณฑ์เท่านั้นแต่ผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองต้องยอมรับและปฎิบัติตาม ระบบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมีความเกี่ยวโยงโดยตรงกับนิติธรรม (Rule of law) เพื่อควบคุมอำนาจและสร้างกติกาทางการเมืองและกติกาที่มีเหตุผล (civil order and rational progress) และปฎิเสธการที่ผู้มีอำนาจไม่สามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้

ดังนั้นถ้าเราต้องการทำให้การปกครองระบอบรัฐธรรมนูญมีประสิทธิภาพ เราต้องทำให้องค์กรทางการเมือง (institution building) เช่น รัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ และระบอบการเลือกตั้งเป็นสถาบันทางการเมืองที่เข้มแข็ง มีกลไกตรวจสอบ ยืนยันในสิทธิเสรีภาพของประชาชน และที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ใช่เพียงแต่มีกฎเกณฑ์ แต่ทุกคนปฎิบัติตามและยอมรับกฎเกณฑ์เหล่านั้น

เมื่อเราโยงเข้ามาให้ใกล้กับสถานการณ์ในเมืองไทย เราจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญล่าสุด (40 และ 50)ได้สร้างสถาบันการเมืองเหล่านี้ขึ้นมา รวมถึงองค์กรที่มีกฎหมายของมันเอง และมีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลเช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ศาลปกครอง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน องค์กรเหล่านี้ถูกออกแบบให้มีอำนาจอย่างมาก ยกตัวอย่าง เช่น กกต. มีอำนาจมากเหมือนผู้ตัดสินกีฬาฟุตบอลที่จะสามารถให้ใบแดงกับนักการเมืองที่กระทำผิด ปปง. ศาลปกครอง และ ปปช. ก็มีอำนาจคล้ายๆ กันกับ กกต.

แต่หน้าที่ที่ว่านี้ยังไม่สามารถทำงานได้จริง ทุกคนไม่ได้มีความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายและเพราะองค์กรเหล่านี้ไม่มีความเชื่อมโยงกับหลักนิติธรรม องค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอิสระตามที่รัฐธรรมนูญต้องการเนื่องจากถูกกดดันทางการเมือง และไม่สามารถปฎิบัติตามกฎเกณฑ์ของมันที่มันควรจะทำได้ เหตุผลหนึ่งที่มันไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร คือ ปัญหาของสังคมไทยเนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมที่มีชนชั้นและมีกติกาทางสังคมตามฐานะ อำนาจ สถานะ

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับรัฐธรรมนูญปี 2540 คือ ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน สมาชิกวุฒิสภาไม่เป็นกลางทางการเมือง และกระบวนการแต่งตั้งสมาชิกในองค์กรอิสระไม่ได้มีความเป็นอิสระทางการเมือง ทำให้ระบบการตรวจสอบล้มเหลว

ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ได้เป็นการเริ่มใหม่ทั้งหมดเนื่องจากองค์กรอิสระยังคงอยู่เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ปัญหาคือรัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรมเนื่องจากไม่ได้มีการร่างโดยมีส่วนร่วมและมีส่วนประกอบใหม่ๆ เช่น มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยลง แต่มีความมุ่งมั่นที่จะจัดการกับเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ยกตัวอย่างเช่นกรณีอดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวช

แต่ปัญหาโครงสร้างทางการเมืองยังคงอยู่ เราเห็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถูกล้มโดยการชุมนุม ทักษิณยังมีบทบาทเหมือนเดิม และในสถานการณ์ปัจจุบันเราเห็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตในหลายกรณี รวมถึงการที่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกนำมาใช้โดยกลุ่มการเมืองกลุ่มเดียวเพื่อคุกคามคู่แข่งทางการเมือง

เมื่อถามว่าทางออกของการเมืองไทยคืออะไร ปัญหาที่ยังพบอยู่คือความไม่ชัดเจนเกี่ยวข้องในสองประเด็นหลัก ที่ผมคิดว่าหลายๆ คนคงเห็นด้วย คือ หนึ่ง-ความไม่ชัดเจนของการสืบสันตติวงศ์และสอง-จะจัดการกับอดีตนายกทักษิณอย่างไร บทบาทของทักษิณและการได้รับความสนับสนุนของเขาจะไม่หายไปแน่นอน และบทบาทในอนาคตของสถาบันทหารที่มีความปรารถนาในอำนาจตลอดมาจะเป็นอย่างไร และมีปัญหาทางชนชั้นทางการเมือง แต่อย่างไรก็ตามการเมืองไทยยังมีระบบราชการที่เข้มแข็งและระบบศาลและองค์กรอิสระที่มีประสิทธิภาพและทำงานได้ในระดับหนึ่ง

ประเทศไทยอาจจะหาทางดูถึงความเป็นไปได้ในการแบ่งอำนาจระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านและกลุ่มการเมืองต่างๆ เช่น ในกรณีของประเทศอังกฤษถ้าประธานของ BBC มาจากพรรคแรงงาน รองประธานจะมาจากพรรคอนุรักษ์นิยมและสลับกันเช่นนี้ ประเทศไทยอาจจะต้องดูถึงการกระจายอำนาจสู่ภาคต่างๆ ในประเทศรวมถึงการกระจายอำนาจไปสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ท้ายสุด สำหรับคำตอบของสูตรสำเร็จ (magic formula) เขาเสนอว่า การกระทำผิดโดยชนชั้นนำ (elites) ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ผู้พิพากษา ทหาร ข้าราชการ ต้องได้รับโทษ รวมถึงองค์กรทางรัฐธรรมนูญต้องทำข้อตกลงว่ากรอบทางรัฐธรรมนูญของประเทศจะเป็นอย่างไรและยึดมั่นตามนั้น และสถาบันทางการเมืองต้องตกลงที่จะปฎิบัติตามกฎเหล่านั้น
 

ศ.ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า)
สำหรับคำถามว่าเราจะไปทางไหนสำหรับอนาคตการเมืองไทย ซึ่งปัญหาการเมืองนี้ ผมคิดว่ามันอยู่ลึกกว่าแค่ปัญหาผิวเผินระหว่างความขัดแยกของเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง ปัญหาอยู่ที่โครงสร้าง อยู่ที่การกระจายทรัพยากรและเงินตราของประเทศ ความรับรู้และเข้าใจประชาธิปไตยที่ต่างกัน แผนพัฒนาประเทศตั้งแต่แผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ในปี 2504 ที่จุดหลักของแผนคือดำเนินไปเพื่อพัฒนาธุรกิจ แผนที่ว่านี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรกรรมเลย และความสนใจของประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกรัฐให้ความสำคัญ รวมถึงการละเลยธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ทำให้ทรัพยากรจำกัดอยู่แค่ประชากรที่ฐานะดีและเป็นปัญหาจนถึงตอนนี้

คนรวยและชนชั้นกลางในเมืองเป็นฐานของประชากรที่สนับสนุนคนเสื้อเหลือง และคนจนในชนบทสนับสนุนคนเสื้อแดง โดยที่ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ โดยที่ทรัพย์สิน (Asset) ของทั้งประเทศถูกจำกัดอยู่ที่คนรวย 20 เปอร์เซ็นต์ของคนรวยทั้งหมดในประเทศมีทรัพย์สินทั้งหมด 69 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ ในขณะที่คนจนที่สุดของประเทศ 20 เปอร์เซ็นต์เป็นเจ้าของทรัพย์สินแค่ 1 เปอร์เซ็นต์

ในส่วนเงินออมและหุ้น ในประเทศไทยมีบัญชีในธนาคาร 70,000 บัญชีที่มีเงินฝาก 42 เปอร์เซ็นต์ของเงินทั้งประเทศ ถ้าเราคาดเดาว่าคนหนึ่งมีบัญชีสองบัญชี ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วเพราะคนทั่วไปมีบัญชีมากกว่าหนึ่งบัญชี สมมุติฐานนี้ก็จะหมายความว่าคนไทย 35,000 คนเป็นเจ้าของเงินครึ่งหนึ่งของประเทศ และสถิตินี้ก็มีผลกระทบกับการเมืองไทย

คนจนต้องพึ่งพาคนรวยที่มีอำนาจและต้องการให้คนรวยเหล่านี้เป็นตัวแทน โดยเฉพาะเป็นตัวแทนในฐานะรัฐมนตรี อำนาจทางการเมืองเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการโดยเฉพาะเมื่อทรัพยากรของประเทศอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ โครงสร้างเช่นนี้จึงทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจโดยมีอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณเป็นตัวอย่าง

โครงสร้างนี้ทำให้นักการเมืองร่ำรวย และเกิดปัญหาคอรัปชั่นในกระบวนการเลือกตั้งและทางนโยบายของประเทศ การปฎิรูปการเมืองในพ.ศ.2540 ไม่ได้ตอบปัญหาความไม่เท่าเทียมนี้อย่างแท้จริง การขึ้นมาสู่อำนาจของพรรคไทยรักไทยจากการเลือกตั้ง ทำให้คนจนซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเห็นถึงอำนาจของการเลือกตั้ง พวกเขาได้เงินกู้ดอกเบี้ยถูก โครงการรักษาพยาบาลที่แทบจะไม่ต้องเสียอะไรเลย ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองและนโยบายทางการเมือง ทำให้รัฐบาลพรรคไทยรักไทยสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้อย่างไม่มีที่กังขา

กระบวนการเหล่านี้ทำให้คนจนพึ่งพาและเสพติดสิ่งที่รัฐบาลหยิบยื่นให้ ทั้งยังเป็นการใช้เงินในอนาคตอีกด้วย ขณะที่ภาคประชาสังคมอ่อนแอและกระบวนการตรวจสอบขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญไม่มีประสิทธิภาพ

หลายๆ ฝ่ายมีความกังวลว่า วิกฤติการณ์ทางการเมืองจะย้อนกลับมาอีก โดยคนเสื้อแดงจะมีการชุมนุมอย่างไม่มีกำหนดหลังช่วงตรุษจีน

คำตอบของการเมืองไทยคือ ประเทศไทยต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ใช่การแก้ปัญหาโดยการปฎิรูปการเมืองอย่างเดียวจะแก้ปัญหาที่ว่านี้ได้ แต่ต้องมีการปฎิรูปโครงสร้างที่มีความไม่เท่าเทียมในสังคม ทำให้ประชาชนตระหนักว่าสิทธิการเลือกตั้งต้องมาพร้อมกับความสามารถในการตรวจสอบผู้แทนของตัวเอง รวมถึงรัฐบาลต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐาน เช่น การศึกษา การดูแลสุขภาพ และการพัฒนาอาชีพ และรัฐธรรมนูญต้องมีการพูดถึงการสร้างรัฐสวัสดิการแทนที่จะมีเพียงนโยบายประชานิยมเพื่อแก้ความขัดแย้งนี้

 

หมายเหตุ: กองบรรณาธิการประชาไท พบว่า ในรายงานตอนที่ 1 มีความผิดพลาดในพาดหัวข่าวและเนื้อหา จึงได้ทำการแก้ไขแล้ว ต้องขออภัยผู้อ่านและคุณสุจิต บุญบงการ อย่างสูง และขอขอบคุณ "doctor J" ที่ได้ทักท้วงมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net