Skip to main content
sharethis

วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 09.00 น. ถึง 12.00 น. เครือข่ายผู้บริโภคสื่อจัดเวทีเสวนาเรื่อง “สิทธิผู้บริโภคสื่อกับแนวทางแก้ไขและเรียกร้อง” ขึ้นที่ห้องประชุม 8-1 ชั้น 8 อาคารสภาคริสตจักรในประเทศไทย เชิงสะพานหัวช้าง เขตราชเทวี วิทยากรร่วมเสวนาประกอบด้วย นางสาวทิชา คงสุทธิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา, นายแบ๊งค์ งามอรุณโชติ นักศึกษาปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อาจารย์อิทธิพล ปรีติสงค์ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล, นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท.), และนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ กรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์/กรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย

เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน(สสย.) กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดเวทีเสวนาว่า สื่อเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตของเราตลอดเวลาแต่บางครั้งผู้รับสื่อนั้นไม่สามารถรู้เท่าทันสื่อ เนื่องจากไม่รู้ว่าสื่อกำลังส่งสารอะไรให้เรา หรือว่ากำลังให้การเรียนรู้อะไรกับเยาวชนและคนอื่นๆในครอบครัว เราอาจจะเข้าทันเทคโนโลยีแต่ว่าสำหรับตัวเนื้อหาหรือกระบวนการส่งสารหรือธุรกิจการโฆษณาซึ่งเราไม่สามารถเข้าใจได้ชัดเจน แม้แต่ตัวเทคโนโลยีเองก็มีความซับซ้อนมากขึ้น เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ไม่เพียงพอในการรับสื่อแต่กลับเป็นผู้ที่เข้าถึงสื่อมากกว่าผู้ปกครอง  
 
นี่คือที่มาของกลุ่มพัฒนาด้านเด็กด้านครอบครัวซึ่งทางกลุ่มได้ตระหนักที่จะปกป้องลูกหลานของเรา ให้อยู่ในโลกของการสื่อสารอย่างมีคุ้มกัน เท่าทันและสามารถใช้สื่อมาเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้หรือพัฒนาตนเอง และไม่มีแนวทางให้เด็กต่อต้านสื่อ คัดค้านหรือประท้วง แต่ในฐานะที่เป็นพลเมืองก็ควรให้ความร่วมมือในการพัฒนาให้ก้าวหน้าเพื่อการเปลี่ยนแปลง สื่อควรเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมในการเรียนรู้ การพัฒนา การเปลี่ยนแปลงสังคม เมื่อสื่อเป็นสถาบันทางการศึกษาตามอัธยาศัย ดังนั้นเราจึงควรนำสื่อมาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ การพัฒนาของเด็กและครอบครัว
 
ในฐานะที่เป็นบุคคลที่มีส่วนในการใช้สื่อ จะพบว่าด้านเทคโนโลยีนั้นได้พัฒนาก้าวหน้าไปมาก แต่เรายังขาดพลังที่จะรวมกลุ่ม ขาดบทบาทในการถ่วงดุลกับผู้ผลิตสื่อ ดังนั้นจึงอยากชักชวนกลุ่มเครือข่ายต่างๆที่มีพลังมา มีสถานภาพในการขับเคลื่อนทางด้านกฎหมาย ในรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิของผู้บริโภคโดยเฉพาะด้านการบริโภคสื่อและต้องการเห็นกลุ่มเด็กเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนคุ้มครองผู้บริโภคในการรับสื่อ
 
นางสาวทิชา คงสุทธิ์ ตัวแทนเยาวชนผู้บริโภค กล่าวว่า ต้องยอมรับในปัจจุบันนี้โทรศัพท์มือถือได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์มาก จะนับว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิตก็ว่าได้ โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ค่อนข้างติดโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นเอสเอ็มเอสจึงเข้ามาง่ายมาก แม้แต่ตนเองก็เคยได้รับเอสเอ็มเอสเชิญชวนให้ดาวน์โหลดสิ่งต่างๆอยู่เป็นประจำทุกวันและมีปริมาณเยอะมากจนก่อให้เกิดความรำคาญ เนื่องจากในแต่ละวันต้องมานั่งลบข้อความซึ่งทำให้เสียเวลามาก บางครั้งข้อความที่ส่งมาใช้ข้อความที่ไม่เหมาะสมและเป็นข้อความที่ส่งให้ผู้รับทุกคนซึ่งไม่จำกัดว่าผู้รับอยู่ในวัยไหน ซึ่งถ้าหากข้อความเหล่านี้ถูกส่งไปยังเด็กๆแล้วทำให้พวกเขาเกิดความอยากรู้อยากเห็นแล้วไปโหลดมา ซึ่งส่งผลทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้
 
นอกจากนั้นยังมีจดหมายที่ส่งมาทางอีเมล์ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นจดหมายเชิญชวนให้สมัครงานพาร์ทไทม์และผลิตภัณฑ์ลดความอ้วน และข้อความที่เชิญชวนนั้นใช้ความที่หวือหวามาก แต่พอคลิ๊กเข้าไปก็เป็นเพียงการสมัครงานพาร์ทไทม์ ซึ่งเหมือนโดนหลอก ในแต่ละวันนั้นจะได้รับอีเมล์ประเภทนี้เยอะมากซึ่งมันสร้างความรำคาญและทำให้อีเมล์อื่นๆที่สำคัญกว่าถูกกันออกไป เช่น อีเมล์งานที่จะต้องส่งอาจารย์
 
นอกจากนั้นเพื่อนในกลุ่มเคยโหลดเอสเอ็มเอสที่ถูกเชิญชวน ซึ่งในข้อความนั้นส่งมาเชิญชวนแต่ไม่ได้ระบุค่าบริการ แล้วเพื่อนส่งไปและมีข้อความตอบกลับมาจริงข้อความละสามบาทแต่เป็นจำนวนหลายฉบับ ดังนั้นเงินที่อยู่ในโทรศัพท์ของเพื่อนก็หมด ทำให้เพื่อนกังวลใจไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง พอจะยกเลิกรับข้อความนั้นก็ไม่รู้ว่าจะต้องโทรไปที่ไหนเนื่องจากทางผู้ส่งไม่ได้ส่งหมายเลขติดต่อเอาไว้ จึงโทรไปที่เครือข่ายผู้ให้บริการแต่ทางเครือข่ายกลับไม่รู้เรื่องนี้และขอหมายเลขของผู้ส่งข้อความมาและให้รอดำเนินการสองวัน แต่ภายในสองวันก็ยังได้รับข้อความอยู่เหมือนเดิม โดยส่วนตัวต้องการให้มีองค์กรดูแลในส่วนนี้โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นทางรัฐบาลหรือเจ้าของเครือข่ายเองก็ตาม ควรจะออกมาดูแลในส่วนนี้
 
นายแบ๊งค์ งามอรุณโชติ กล่าวในมุมมองของผู้บริโภคเชิงเศรษฐศาสตร์ว่า ในฐานะของผู้บริโภคที่ได้รับเอสเอ็มเอสที่รบกวนทุกๆวันจะสามารถเรียกร้องค่าชดเชยที่เป็นธรรมได้จากที่ไหน เนื่องจากต่างประเทศสำหรับค่าชดเชยในส่วนนี้ ค่าชดเชยต่อเอสเอ็มเอสละหนึ่งร้อยเหรียญก็มี และทำให้เกิดคำถามว่าเท่าไหร่จึงจะเป็นธรรมและไม่เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ให้บริการ เนื่องจากในหลายๆกรณีผู้ให้บริการก็ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
 
เรื่องของอีเมล์ในต่างประเทศผู้ให้บริการทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นยาฮู กูเกิ้ล จีเมล์หรือฮอทเมล์ก็จัดให้มีการส่งเรื่องร้องเรียนไปที่บริษัทเรื่องอีเมล์ที่กวนใจและเขาจะจัดการให้ สำหรับผู้ให้บริการในหลายๆกรณีก็พยายามอยู่ การพูดถึงการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบ อันดับแรกต้องเข้าใจโครงสร้างที่ผู้ใช้บริการถูกรบกวนนี่มีต้นทุนดังนี้
 
อย่างแรกคือสภาพจิตใจที่ถูกรบกวนอาจจะก่อให้เกิดความรำคาญ เหมือนกับการไปเดินในย่านที่ขายแผ่นซีดีที่ผู้ขายจะเข้ามาถามว่าโป๊ไหมพี่ โป๊ไหมพี่ ซึ่งก็เหมือนกับการส่งเอสเอ็มเอสมาถามว่าปีไหมพี่ โป๊ไหมพี่ นั่นมันกระทบต่อความรู้สึก อย่างที่สองต้นทุนทางสังคม ได้แก่ถ้าหากเด็กเข้าไปโหลดดูตามคำเชิญชวนแล้วทำให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน เนื่องจากการเข้าไปดูโดยปราศจากผู้ชี้แนะ อาจทำให้เกิดปัญหาทางสังคมได้ อย่างที่สามค่าเสียโอกาส ซึ่งวันหนึ่งจะต้องมาเสียเวลานั่งลบเอสเอ็มเอสจำนวนหลายฉบับต่อวัน ทำให้เกิดเสียโอกาสขึ้นแทนที่จะไปทำอย่างอื่น อย่างที่สี่กรณีที่ผู้ให้บริการนำหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใช้บริการไปขายให้แก่บริษัทที่ต้องการนำไปใช้ในทางโฆษณา กรณีต่างๆเหล่านี้ควรได้รับการชดเชยหรือว่าการแบ่งปันกำไรที่เกิดจากการขายเบอร์ต้องแบ่งให้แก่เจ้าของหมายเลข เนื่องจากเขาเป็นเจ้าของ อาจจะอยู่ในรูปของค่าโทรก็ได้ ซึ่งควรจะเกิดการพูดคุยกันว่าราคาค่าชดเชยที่เหมาะสมควรอยู่ที่เท่าไหร่
 
บางเอสเอ็มเอสนั้นมีความจงใจทำให้เกิดความเสียหาย เช่น การล่อลวง ซึ่งข้อความที่ส่งมาไม่ระบุรายละเอียดทำให้เราเข้าไปโหลดแล้วเสียเงิน ซึ่งต้องคำนวณค่าชดเชยว่าจะเป็นจำนวนเงินเท่าไรนอกจากนั้นเวลาที่สมัครไปแล้วต้องการยกเลิกแล้วไม่สามารถยกเลิกได้ ทำให้ต้องเสียเงินเพิ่มอีกเป็น นอกจากนั้นทางผู้ใหบริการไม่ได้กระทำให้เกิดการยกเลิกบริการอย่างสะดวกนั้น ตรงนี้ก็ควรจะได้รับค่าชดเชยเช่นเดียวกัน ถ้าหากมีบริษัทใดบริษัทนึ่งให้ความสนใจกับผู้บริโภคอย่างจริงจังและลุกขึ้นมาดูแลตรงนี้ให้รัดกุมมากขึ้น ผู้ใช้บริการก็จะหันไปใช้บริการของบริษัทนั้นๆมากขึ้นและบริษัทอื่นๆก็จะหันมาปฏิบัติตามเอง เนื่องจากเขามีการจับตาการปรับกลยุทธทางการตลาดซึ่งกันและกันมากขึ้น
 
อาจารย์อิทธิพล ปรีติสงค์ กล่าวถึงเรื่องสิทธิที่ผู้บริโภคควรรู้ว่า คำถามที่เกิดขึ้นหลังจากที่ได้รับข้อความนั่นคือข้อมูลส่วนบุคคลของเราเขาเอาไปได้อย่างไร อันที่จริงนั่นคือประเด็นที่กำลังตั้งคำถามกันอยู่ว่าสิทธิที่ควรได้รับการปกป้องจากผู้ประกอบการโทรคมนาคม ในประเทศไทยมีการยอมรับไหมซึ่งในต่างประเทศมีการยอมรับและสิทธิต่างๆที่ผู้บริโภคควรจะได้รับได้แก่
 
สิทธิในการได้รับข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินใจที่จะเลือกบริโภค ข้อมูลข่าวสารต้องถูกต้อง ครบถ้วน เพียงพอในการตัดสินใจ, สิทธิในการได้รับข้อมูลที่เหมาะสมกับวัย สำหรับประเทศไทยนั้นจะมีเฉพาะการจัดเรตติ้ง แต่ในต่างประเทศสิ่งนี้จะมาพร้อมกับเวลาและสถานที่, สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่เป็นสื่อเพื่อการเรียนรู้, สิทธิในความเท่าเทียม ทั่วถึงและเป็นธรรม, สิทธิในการมีส่วนร่วมในการเรียกร้อง ร้องเรียนในกรณีที่ได้รับความเสียหาย, สิทธิในการยกเลิกได้รับค่าชดเชยความเสียหาย
 
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กล่าวในมุมมองของผู้ดำเนินงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคว่า การบริโภคสื่อโทรคมนาคมนี่เป็นการรับเข้ามาโดยที่ผู้รับไม่มีสิทธิเลือกและจะปฏิเสธได้ก็ต่อเมื่อได้รับเข้ามาแล้ว ซึ่งต่างจากการรับสื่อทางวิทยุโทรทัศน์ที่ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ ไม่บังคับ ดังนั้นการบริโภคสื่อโทรคมนาคมนี่จึงเป็นสื่อที่เกิดปัญหาเป็นอันมาก ผู้ให้บริการโทรคมนาคมนั้นมีข้อจำกัดในการทำแบบที่มีเจ้าหนึ่งนำแล้วเจ้าหนึ่งตาม หากเกิดการคิดบริการที่แตกต่างจากเจ้าอื่นแล้วทำให้เสียประโยชน์มากกว่าเพื่อน ทำให้เขากลายเป็นคนโง่ เขาก็จะหันไปเอาเปรียบผู้บริโภคเหมือนเจ้าอื่นๆดีกว่า
 
จะทำยังไงในการแก้ปัญหาการส่งเอสเอ็มเอส ขอเสนอว่าควรจะให้ผู้ให้บริการมารวมกันแล้วเสนอว่าไม่ควรส่งเอสเอ็มเอสที่เป็นของผู้ใหญ่ไปให้เด็ก ถ้าไม่สามารถระบุได้ว่าหมายเลขนั้นเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หมายเลขนั้นห้ามส่งต้องมีการยืนยันว่าหมายเลขนั้นเป็นผู้ใหญ่จึงจะส่งไปได้ ถ้าหากมีผู้ประกอบการคนใดคนหนึ่งทำแล้ว ผู้ประกอบการรายอื่นก็จะเริ่มทำไปเอง นอกจากนั้นการเติมเงินในมือถือยังถูกกำหนดระยะเวลาไว้ด้วย พอใช้เงินไม่หมดเงินก็หายทั้งๆที่เป็นเงินของเรา
 
ในขณะนี้จะมีแบนเนอร์ตัวหนึ่งที่แพร่อยู่ในอินเตอร์เน็ตคือตัวที่ ถามว่าคุณเป็นสองซีกซ้ายหรือขวาแล้วถามว่ามีรูปสามเหลี่ยมทั้งหมดกี่รูป เมื่อมันสะกิดคนให้แล้วคนลองเล่นดูสุดท้ายมันก็จะบอกให้กรอกหมายเลขโทรศัพท์มือถือแล้วส่งไปที่หมายเลขนั้นหมายเลขนี้ ซึ่งในกรณีนี้มันมีทั้งที่เป็นเล่นเกมส์จริงแล้วก็มีทั้งเป็นการล่อลวงให้สมัครใช้บริการ ซึ่งในหน้าเว็บบอร์ดนั้นไม่มีตรงจุดไหนที่ระบุรายละเอียดของเกมส์นั้นไว้ ซึ่งมันเป็นการบอกความจริงไม่หมด ซึ่งผู้บริโภคไทยค่อนข้างเพิกเฉยต่อสิทธิ์
 
จากการสำรวจพบว่ามีผู้บริโภคไทยสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ที่ประสบปัญหาจากการบริโภคสื่อ แต่มีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ร้องเรียนเข้าไปยัง สบท. เมื่อร้องเรียนไปแล้วไม่ได้รับการแก้ปัญหาผู้เสียหายก็จะเลิกล้มความตั้งใจที่จะดำเนินคดี ซึ่งคนไทย 10,000 คนจะมีคนยืนหยัดเรียกร้องสิทธิที่ถูกละเมิดจากการบริโภคสื่อเพียง 1 คน นั่นหมายความว่าจาก 60 ล้านคนจะมีเพียง 15,000 คนที่ยังคงยืนหยัดเรียกร้องสิทธิที่ถูกละเมิด เป็นเหตุผลว่าทำไมธุรกิจโทรคมนาคมจึงทำอะไรเดิมๆ เพราะคน 15,000 คน นั้นกระจัดกระจายกันอยู่ไม่มารวมกันทำอะไรให้เป็นกลุ่มก้อนทำอะไรจริงจังเสียที ดังนั้นสำหรับสังคมไทยแล้วหากจะเอากฎหมายเป็นตัวนำคงจะไม่ได้ผล หลายครั้งที่ผู้รักษากฎหมายเองไม่รู้ว่ากฎหมายตัวนี้มีอยู่ สำหรับบุคคลทั่วไปมีจำนวนน้อยมากที่รู้เรื่องกฎหมายอันนี้ ดังนั้นจึงควรสร้างแนวร่วมตรงนี้ขึ้นมาเพราะถ้าหากปล่อไปสิทธิของผู้บริโภคก็จะถูกละเมิดอยู่เรื่อยไป
 
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ กล่าวว่า นั่งฟังอยู่ตรงนี้ทำให้รู้สึกว่าตนเองค่อนข้างล้าหลัง เนื่องจากปัญหาต่างๆที่กล่าวมานั้นไม่เคยประสบด้วยตนเอง ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการที่ตนเองเป็นคนไม่สนใจเทคโนโลยี นั่นทำให้เห็นว่าความล้าหลังในแง่หนึ่งก็ดี เพราะพอล้าหลังมากๆก็เลยทำให้ต้องตั้งใจฟังมากขึ้น ถ้าหากจะย้อนไปมองเรื่องเด็กขอทานที่รัฐจัดการคือรัฐจะเก็บเด็กขอทานคนนี้ไป ทางนั้นเขาก็จะหาเด็กขอทานคนใหม่มานั่งแทนคล้ายกับปัญหาเหล่านี้ คือเมื่อเราแจ้งไปเขาก็ไปหาวิธีการใหม่
 
จุดแรกที่จะเริ่มแก้ปัญหาคือต้องรู้ใครเป็นคนทำสิ่งเหล่านี้ รายได้ต่อวัน,ต่อเดือนและต่อปีเท่าไหร่ เขาแบ่งเงินกันยังไงในหมู่ผู้ประกอบการ ข้าราชการเมื่อก่อนได้สามบาท เพราะเราจ่ายไปเก้าบาท นั่นคืออันดับแรกต้องรู้โจทก์ก่อน เนื่องจากในสมัยนี้ผู้ประกอบการขาดความรับผิดชอบต่อสังคมและขาดการคืนกำไรให้สังคม นอกจากนั้นผู้ประกอบการไม่ควรรังแกสังคม คือสามารถทำธุรกิจได้แต่ไม่ควรเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินไป
 
จากนั้นต้องรู้ว่าในแต่ละวันที่ทำเขาจ่ายให้รัฐเท่าไหร่ สมมติว่ารัฐได้พันล้าน นั่นรัฐอาจจะส่งผลให้รัฐเมินเฉยต่อปัญหาเหล่านี้ก็ได้ เราต้องรู้เรื่องรายได้เหล่านี้เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ทราบว่า ผู้ประกอบการควรจะคืนกำไรให้กับสังคมเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม หลังจากนั้นควรรู้ว่าผู้ประกอบการเขามีกลไกในการทำสิ่งเหล่านี้อย่างไร นอกจากนั้นควรจะมีองค์กรที่มีอำนาจพอคอยเชื่อมต่อและคอยรับเรื่องฟ้องร้องหรือดำเนินการให้แก่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย เพราะผู้เสียหายอาจจะไม่มีความรู้ในเรื่องกฎหมายที่ชัดเจนพอ
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net