Skip to main content
sharethis
 
16 ก.พ.53 องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมนาสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ “พม่า: ยุติการปราบปรามชนกลุ่มน้อยช่วงก่อนการเลือกตั้ง” โดยอ้างอิงถึงรายงานเกี่ยวกับการปราบปรามนักเคลื่อนไหวกว่า 700 คนจากชนกลุ่มน้อย 7 กลุ่มที่เกิดขึ้นในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ แอมเนสตี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการปิดกั้นเสรีภาพในการรวมตัว การชุมนุมและการนับถือศาสนาในช่วงก่อนจะถึงการเลือกตั้ง ให้ปล่อยตัวนักโทษด้านมโนธรรมสำนึกทุกคนโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข และให้ยกเลิกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ขัดขวางไม่ให้สื่อที่เป็นอิสระสามารถรายงานข่าวการรณรงค์เคลื่อนไหวและการเลือกตั้งได้
 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
แถลงการณ์
พม่า: ยุติการปราบปรามชนกลุ่มน้อยช่วงก่อนการเลือกตั้ง
 
รัฐบาลพม่าจะต้องยุติการปราบปรามผู้เคลื่อนไหวจากชนกลุ่มน้อยก่อนจะมีการเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเตือนในรายงานชิ้นสำคัญที่เผยแพร่ในวันนี้
ในรายงาน 58 หน้าเรื่อง “การปราบปรามนักเคลื่อนไหวจากชนกลุ่มน้อยในพม่า” (The Repression of ethnic minority activists in Myanmar) กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักเคลื่อนไหวกว่า 700 คนจากชนกลุ่มน้อยใหญ่สุดทั้งเจ็ดกลุ่ม ทั้งชาวยะไข่ ไทใหญ่ คะฉิ่น และชิน ที่เกิดขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550
 
ทางการได้จับกุมคุมขัง และยังมีการทรมานหรือสังหารนักเคลื่อนไหวจากชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ ชนกลุ่มน้อยยังต้องเผชิญกับการติดตามตรวจสอบอย่างเข้มงวด มีการข่มขู่คุกคามและเลือกปฏิบัติ ทั้ง ๆ ที่คนเหล่านี้เคลื่อนไหวด้วยวิธีการที่ชอบธรรม
 
 “ชนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยมีบทบาทสำคัญ แต่คนทั่วไปมักไม่ทราบถึงบทบาทของพวกเขาที่มีต่อการเคลื่อนไหวประท้วงด้านการเมืองในพม่า” Benjamin Zawacki ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว “รัฐบาลได้ตอบโต้อย่างรุนแรงต่อการเคลื่อนไหวเหล่านี้ ทำให้เกิดความกลัวว่าจะมีการปราบปรามรุนแรงขึ้นในช่วงก่อนถึงวันเลือกตั้ง”
 
นักเคลื่อนไหวจำนวนมากแจ้งให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทราบว่า ต้องเผชิญกับการปราบปรามเมื่อเข้าร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวกลุ่มใหญ่ อย่างเช่นกรณีการปฏิวัติชายจีวรซึ่งเป็นการประท้วงที่นำโดยพระภิกษุในช่วงปี 2550 ที่รัฐยะไข่และคะฉิ่น มีพยานเห็นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่สังหารและทรมานพระภิกษุและบุคคลอื่น ๆ ระหว่างการปราบปรามด้วยความรุนแรงต่อการชุมนุมโดยสงบในรัฐเหล่านั้น
 
ข้อมูลอื่นๆ ระบุว่า ทางการได้เล่นงานกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ ด้วย อย่างเช่นกลุ่มที่ล่ารายชื่อรณรงค์ต่อต้านเขื่อนในรัฐคะฉิ่น
 
แม้แต่การแสดงความเห็นต่างทางการเมืองเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นเหตุให้ถูกลงโทษ ดังกรณีที่เยาวชนชาวคะเรนนีถูกจับไปขังบนคุกกลางแม่น้ำเมื่อไปเขียนคำว่า “ไม่รับรอง” (ในช่วงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551)
“การเคลื่อนไหวในพม่าไม่จำกัดอยู่เฉพาะเขตภาคกลางและหัวเมืองเท่านั้น การแก้ไขประวัติด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายของประเทศนี้ จะต้องคำนึงถึงสิทธิและความต้องการของชนกลุ่มน้อยซึ่งมีจำนวนมากในประเทศนี้ด้วย” Benjamin Zawacki กล่าว
 
นักโทษการเมืองกว่า 2,100 คน ซึ่งหลายคนเป็นชนกลุ่มน้อย ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในเรือนจำในสภาพที่เลวร้าย ส่วนใหญ่พวกเขาเป็นนักโทษด้านมโนธรรมสำนึก และต้องโทษเพียงเพราะแสดงความเชื่อของตนอย่างสงบ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการปิดกั้นเสรีภาพในการรวมตัว การชุมนุมและการนับถือศาสนาในช่วงก่อนจะถึงการเลือกตั้ง ให้ปล่อยตัวนักโทษด้านมโนธรรมสำนึกทุกคนโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข และให้ยกเลิกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ขัดขวางไม่ให้สื่อที่เป็นอิสระสามารถรายงานข่าวการรณรงค์เคลื่อนไหวและการเลือกตั้งได้
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเรียกร้องประเทศเพื่อนบ้านของพม่าในอาเซียน รวมทั้งประเทศจีนซึ่งเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของพม่า ให้ผลักดันรัฐบาลให้ประกันว่าประชาชนชาวพม่าจะสามารถแสดงความเห็นของตนอย่างเสรี สามารถชุมนุมอย่างสงบ และเข้าร่วมกระบวนการด้านการเมืองอย่างเปิดเผย
 
 “รัฐบาลพม่าควรใช้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสเพื่อแก้ไขพฤติการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของตนในอดีต ไม่ใช่เพื่อปราบปรามเสียงคัดค้านอย่างรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเสียงคัดค้านที่มาจากชนกลุ่มน้อย” Benjamin Zawacki กล่าว
 
ข้อมูลพื้นฐาน
 
ในปี 2553 พม่าจะจัดการเลือกตั้งระดับชาติและท้องถิ่นเป็นครั้งแรกในรอบสองทศวรรษ
 
ในปี 2533 สองปีหลังการชุมนุมประท้วงซึ่งส่งผลให้ผู้ชุมนุมอย่างน้อย 3,000 คนเสียชีวิต พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยและพันธมิตรพรรคชนกลุ่มน้อยชนะการเลือกตั้งระดับชาติอย่างท่วมท้น
 
รัฐบาลทหารไม่สนใจผลการเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการปราบปรามฝ่ายค้านทางการเมืองต่อไป
 
ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนซึ่งมีชื่อเสียงมากสุดในพม่า ได้แก่ ดอว์อองซานซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย เธอได้ถูกจองจำมาเป็นเวลากว่า 15 ปีจากช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
 
ในปี 2550 พระภิกษุจากรัฐยะไข่ที่เป็นรัฐของชนกลุ่มน้อย เป็นผู้ริเริ่มการเดินขบวนประท้วงที่ขยายตัวไปทั่วประเทศ เพื่อต่อต้านนโยบายด้านเศรษฐกิจและการเมืองของรัฐบาล หรือที่เรารู้จักกันในนาม “การปฏิวัติชายจีวร”
          
ในเดือนพฤษภาคม 2551 หนึ่งสัปดาห์หลังจากพายุไซโคลนนาร์กิสพัดถล่มประเทศ รัฐบาลยังยืนยันที่จะจัดการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญต่อไป รัฐบาลรายงานว่ามีผู้มาใช้สิทธิ 99% ของผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมด และ 92.4% ของพวกเขาลงคะแนนสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ
               
แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 กำหนดให้มีสัดส่วนในรัฐบาลท้องถิ่นมากขึ้น แต่ก็มีเนื้อหาซึ่งส่งเสริมให้ทหารสามารถครอบงำการทำงานของรัฐบาลต่อไปได้
               
ประชากรชนกลุ่มน้อยคิดเป็น 35-40% ของคนทั้งประเทศ และส่วนใหญ่อยู่ในรัฐชนกลุ่มน้อยทั้งเจ็ด ประชากรชนกลุ่มน้อยทั้งเจ็ดต่างเคยสู้รบกับกองกำลังของรัฐบาล และการสู้รบในบางพื้นที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
               
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้จัดทำรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติของรัฐบาล ในระหว่างที่ทหารออกไปปราบปรามกองกำลังชนกลุ่มน้อย รวมทั้งปราบปรามพลเรือน
 
 
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ Amnesty International’s press office in London, UK, on +44 20 7413 5566 หรืออีเมล์: press@amnesty.org
International Secretariat, Amnesty International, 1 Easton St., London WC1X 0DW, UK www.amnesty.org
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net