Skip to main content
sharethis

เรื่องราวการจบเห่ของเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 ไม่ได้สร้างความยินดีปรีดาให้ใครแน่นอน ยิ่งกับเหยื่อเครื่องมือลวงโลกชนิดนี้แล้ว พวกเขายิ่งไม่ค่อยอยากพูดถึงมากนัก เพราะเอาแค่ปัญหาเฉพาะหน้าที่ตามมาหลังจากถูกควบคุมตัวไป โดยเชื่อว่าเป็นเพราะเครื่องมือชนิดนี้ ก็น่าปวดหัวอยู่ไม่น้อย

 อย่างกลุ่มชาวบ้าน 11 คน ที่ได้แสดงตนเพื่อเข้าร่วมสร้างยะลาสันติสุข ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา ที่ห้องศูนย์ยะลาสันติสุข อาคารศูนย์ขยายศาลากลางจังหวัดยะลาโดยมีนายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นประธานรับมอบตัวนั้น ก็คือมีคนหนึ่งที่เป็นเหยื่อของ GT200 เมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว จากนั้นเขาก็ต้องเผชิญกับวิบากกรรมตามมาอีกเป็นขบวน
 
เหยื่อคนดังกล่าว อยู่ในกลุ่มคนที่ถูกทางราชการออกหมายจับ 4 คน คือ นายอิสมาแอล ปาเซเลาะ อายุ 38 ปี นายอิดอเอ็ง ดะนิ อายุ 27 ปี นายดือและ หายือแจะนิ อายุ 42 ปีและนายบาลาฮูดิน หะยีแวนิ อายุ 32 ปี และมีบุคคลที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุความรุนแรง 1 คน คือนายมนุ ตาเนาะโต๊ะ อายุ 16 ปี
 
ส่วนอีก 6 รายมาแสดงความบริสุทธิ์ใจ เพื่อขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ออกหนังสือรับรองเพื่อใช้ประโยชน์ในการยื่นคำขอปล่อยตัวชั่วคราวในคดีความมั่นคง ซึ่งก็ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลจังหวัดยะลาแล้ว 6 คน โดยหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะเก็บเลือดของทั้ง 11 คน เพื่อไว้ในการตรวจดีเอ็นเอคราวต่อไป
 
เหยื่อ GT200 ซึ่งเป็นชาวบ้านคอลอบาแล ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา เล่าถึงจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการตกเป็นเหยื่อของเครื่อง GT200 ว่า มีจุดเริ่มต้นเมื่อช่วงกลางปี 2550 พร้อมๆ กับแผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้ ที่มีการสนธิกำลังกันทั้งทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครอง เข้าปิดล้อม ตรวจค้นและควบคุมตัวในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน
 
“ก่อนถูกควบคุมตัว มีเหตุการณ์คนร้ายกราดยิงใส่บ้านของชาวบ้านที่ปลูกกระท่อมที่พักกรีดยางด้านท้ายหมู่บ้าน แต่ไม่มีใครได้รับอันตราย ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียง เกิดความหวาดกลัว หลายครอบครัวจึงพากันมาอาศัยอยู่ที่มัสยิดประจำหมู่บ้าน รวมกันประมาณ 60 คน”
 
กระทั่งเช้ามืด ขณะที่ชาวบ้านทั้งที่เข้าไปอาศัยในมัสยิดและชาวบ้านที่มีบ้านอยู่ใกล้มัสยิดกำลังละหมาดอยู่ก็พบว่า มีเจ้าหน้าที่มาปิดล้อมมัสยิดไว้แล้วบริเวณนอกรั้ว โดยเจ้าหน้าที่ได้ปิดประตูรั้ว ส่วนชาวบ้านเมื่อเห็นเจ้าหน้าที่จึงเกิดความกลัว จึงปิดประตูมัสยิดด้วย จนกระทั่งสว่าง เจ้าหน้าที่จึงเข้ามาในมัสยิดแล้วควบคุมตัวคนที่อยู่ในมัสยิดทั้งหมด
 
จากนั้นเจ้าหน้าที่เรียกชาวบ้านไปสอบถามและใช้เครื่อง GT200 ตรวจครั้งละ 2 คน โดยให้คนหนึ่งไปยืนรอที่อาคารเอนกประสงค์ที่อยู่ติดกับมัสยิด ส่วนอีกคนหนึ่งเจ้าหน้าที่ให้ไปยืนที่กูโบร์ (สุสานมุสลิม) โดยหันหลังให้กับเจ้าหน้าที่ แล้วเจ้าหน้าที่สั่งให้ขยับตัวไปมา ทางซ้ายบ้าง ขวาบ้าง โดยมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งถือเครื่อง GT200 อยู่ข้างหลัง
 
โดยคนที่ถูกตรวจจะไม่รู้เลยว่าเครื่อง GT200 ชี้มาที่ใครบ้าง เพราะยืนหันหลังให้ แต่มีชาวบ้านที่มีบ้านอยู่ใกล้มัสยิด ซึ่งเห็นตอนเจ้าหน้าที่ตรวจค้นเล่าให้ฟังในตอนหลังว่า เครื่อง GT200 ชี้ไปที่ใครบ้าง
 
พวกผู้ชายถูกทำอย่างนี้ครบทุกคน บางคนใช้เวลานานหน่อย โดยเฉพาะคนแก่เพราะไม่เข้าใจภาษาไทย จึงไม่เข้าใจคำสั่งของเจ้าหน้าที่ ที่สั่งให้ขยับซ้ายขวาก็ไม่รู้เรื่อง บางคนระแวงและหวาดกลัวเพราะเจ้าหน้าที่ใช้เสียงดัง จากนั้นเจ้าหน้าที่ให้สำลีล้วงปากและพิมพ์ลายนิ้วมือ
 
เสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ได้ควบคุมตัวชาวบ้านไปทั้งหมด 50 คน พาไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่นั่นเจ้าหน้าที่เอาตัวชาวบ้านออกไป 2 คน ทราบว่าตอนหลังถูกปล่อยตัวไป แต่ปัจจุบันหนีไปแล้ว โดยไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน
 
ส่วนที่เหลืออีก 48 คน อยู่ที่ค่ายอิงคยุทธไม่กี่วัน ก็ถูกนำตัวไปที่ค่ายรัตนพล อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา ประมาณ 1 เดือน จากนั้นก็ถูกนำตัวไปที่ค่ายเขตอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร เพื่อเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมวิชาชีพเป็นเวลา 4 เดือน เช่นเดียวกับคนจากหมู่บ้านอื่นๆ ซึ่งตอนนั้นมีทั้งที่ไปฝึกที่ค่ายรัตนรังสรรค์ จังหวัดระนอง และค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมแล้วหลายร้อยคน
 
“เป็นโครงการที่เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นโครงการของกองทัพ โดยคนที่เข้าร่วมโครงการแล้ว จะไม่ถูกดำเนินคดี” แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว
 
เขาเล่าต่อว่า หลังจากอยู่ที่ค่ายเขตอุดมศักดิ์ได้ 1 เดือน ก็ถูกย้ายไปที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ อำเภอท่าแซะอีก 2 เดือน
 
ช่วงนั้นมีผู้ถูกควบคุมตัวบางส่วนทั้งที่เข้าร่วมโครงการฝึกอาชีพได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งปล่อยตัว เนื่องจากไม่สมัครใจที่จะอยู่ฝึกอาชีพต่อ แต่เมื่อศาลสั่งให้ปล่อยตัวแล้ว แต่ยังกลับบ้านไม่ได้ เนื่องจากติดขัดที่ประกาศของแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ห้ามเข้าพื้นที่เป็นเวลา 6 เดือน ทำให้ต้องเข้าไปพักอาศัยอยู่ที่มัสยิดกลางจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นการชั่วคราว จนกระทั่งพล.ท.วิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4 ขณะนั้นสั่งยกเลิกประกาศดังกล่าว
 
รวมระยะเวลาที่อยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทั้งหมดประมาณ 4 เดือน
 
เขาเล่าต่อว่า ช่วงที่กลับมาอยู่บ้าน เจ้าหน้าที่ได้เรียกไปสอบถามอยู่หลายครั้ง ขณะที่ตนเองก็ได้เข้าร่วมโครงการกับเจ้าหน้าที่บ่อย
 
จนกระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 ที่ผ่าน ตนได้ไปทำเรื่องขอถอนหมายจับที่ ณ ว่าการอำเภอบันนังสตาได้ แต่ก็ยังไม่พ้นมือเจ้าหน้าที่ เพราะวันรุ่งขึ้น ผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านมาบอกว่า ตนเองยังมีหมายจับ ป.วิฯอาญา(ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) ในคดีความมั่นคงด้วย แต่ตนยังไม่ได้เห็นหมายจับ จึงไม่รู้ว่าถูกหมายจับข้อหาอะไร
 
เมื่อเป็นเช่นนั้น ตนจึงได้เข้าไปปรึกษาหารือกับทหารพรานที่ตั้งหน่วยอยู่ในพื้นที่ว่าจะทำอย่างไรบ้าง ซึ่งทหารพรานบอกว่า ถ้าถูกออกหมายจับก็ต้องไปมอบตัวที่สถานีตำรวจและขอประกันตัว แต่หากสามารถประสานกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอมอบตัวจะทำให้ใช้เงินประกันตัวน้อยกว่า เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้รับรองอีกชั้นหนึ่ง
 
จากนั้นตนจึงประสานเพื่อขอมอบตัวผ่านทางนายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา โดยได้ใช้หลักทรัพย์ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวนมูลค่า 150,000 บาท ซึ่งในการมอบตัวครั้งนี้ นายกฤษฎาได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนด้วย ส่วนในชั้นอัยการก็ยังไม่รู้ว่าต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวเพิ่มหรือไม่
 
นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ หัวหน้าศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดยะลา กล่าวว่า ผู้ที่ถูกนำตัวไปสอบสวนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ หลังจากที่เครื่อง GT200 ที่ไปชี้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นการตั้งข้อสมมติฐานว่า น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคือมีการพบสารระเบิดติดอยู่ที่เสื้อผ้า ปรากฏว่า บุคคลเหล่านั้น ถูกข่มขู่ หรือบังคับให้รับสารภาพ หรือบางกรณีก็ถูกทำร้ายร่างกาย โดยไม่สามารถหาข้อมูลมาหักล้างได้เลย ตรงนี้เองที่ทำให้บุคคลนั้นถูกดำเนินคดี แต่ขบวนการที่ได้ตัวบุคคลมาด้วยเครื่องมือ GT200 ไม่มีการกล่าวอ้างถึงในชั้นศาลเลย
 
วันนี้แม้ GT200 ได้รับการพิสูจน์แล้วไม่น่าเชื่อถือ แต่สำหรับเหยื่อของเครื่องมือชนิดนี้ ก็ยังไม่มีใครพูดถึงว่าจะจัดการหรือต้องเยียวยากันอย่างไร หรือชาวบ้านต้องเผชิญกับเรื่องที่ไม่คาดฝันกันต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้ตัว เหมือนกับชาวบ้านคอลอบาแล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net