Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อนุสนธิจากใบตองแห้งว่าด้วยเรื่องเชิงเทคนิค (อันมีคำถามเรื่องหลักความยุติธรรมและประชาธิปไตยเป็นพื้นฐานประการสำคัญ) ในบทความ 'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: เรียน คุณสฤณี อาชวานันทกุล ที่นับถือ' กรณีของการยึดทรัพย์ทักษิณอันส่งผลให้กระทู้แสดงความเห็นร้อนฉ่า ล่าสุด สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เข้ามาตอบคำถามด้วย เพื่ออธิบาย 6 ประเด็นจากข้อซักถามของใบตองแห้ง

000

ตอบคำถามคุณใบตองแห้ง
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

ก่อนอื่นผมขอขอบคุณคุณใบตองแห้งที่ตั้งคำถามหลายข้อที่ผมเองถูกถามบ่อยๆ แต่ไม่เคยมีโอกาสอธิบายในวงกว้าง และต้องขอโทษด้วยครับที่ไม่มีเวลาอ้างอิงข้อมูลต่างๆ อย่างเป็นระบบ เพราะเขียนจากความจำ ถ้ามีอะไรตกหล่น ก็ขออภัยด้วยครับ ขอจัดกลุ่มคำถามเป็น 6 ข้อและตอบเป็นข้อๆ เลยนะครับ

1. การคิดผลประโยชน์ส่วนเกินกรณีภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคม

คุณใบตองแห้งตั้งคำถามต่อวิธีการคิดผลประโยชน์ส่วนเกินของคุณสฤณีว่าเป็นอย่างไร เพราะมี 2 กรณี โดยกรณีแรกมีความเสียหายต่อรัฐเป็นศูนย์ อีกกรณีมีความเสียหายกว่า 3 หมื่นล้านบาท ขัดกันเองหรือไม่?

ก่อนตอบขอบอกก่อนว่า ผมมีความเห็นมานานแล้วว่า การออก พรก. เพื่อเก็บภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมไม่น่าจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศตามที่รัฐบาลทักษิณกล่าวอ้างในช่วงนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญออกมาว่า พรก. ดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แม้ผมจะไม่เห็นด้วย แต่ในทางกฎหมายเราก็ต้องยอมรับว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นที่ยุติและผูกพันทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในแง่นี้ พรก. ภาษีสรรพสามิต โดยตัวมันเองจึงไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ในลักษณะที่จะไปไล่เบี้ยจากคุณทักษิณได้ เพราะมันชอบด้วยกฎหมาย

ปัญหาก็คือ การออกมติครม. ที่ตามมา (11 กุมภาพันธ์ 2546) เพื่อยกเว้นภาษีสรรพสามิตแก่ผู้รับสัมปทาน (โดยการอนุญาตให้เอาภาษีไปหักจากค่าสัมปทาน) น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคณะรัฐมนตรีไม่มีอำนาจในการยกเว้นภาษีแก่ใครบางราย เนื่องจากการออกกฎหมายมาก็เพื่อมุ่งหมายบังคับใช้ทั่วไป ให้ทุกคนต้องเสียภาษีจริง ไม่ใช่ออกกฎหมายแล้ว ภายหลังไม่กี่วันครม. ก็รีบไปยกเว้นให้บางรายไม่ต้องเสียภาษีจริงในทางปฏิบัติ

ถ้า ครม. ทักษิณมีมติให้ทำในสิ่งที่ไม่มีอำนาจทำตามกฎหมาย ก็ต้องเรียกว่า มติครม.นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เมื่อ พรก. ที่สั่งให้เก็บภาษีชอบด้วยกฎหมาย แต่ มติ ครม. ที่ไม่ให้เก็บภาษีจริง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ความเสียหายต่อรัฐก็คือ ภาระภาษีที่เอกชนได้รับการยกเว้น ไม่สามารถเก็บได้ตาม พรก. นั่นเอง ถ้าคิดอย่างนี้ คุณสฤณีก็คำนวณได้ตัวเลข 3 หมื่นล้านบาท ก็เข้าท่าอยู่นะครับ

อย่างไรก็ตาม หากคิดอีกทางหนึ่งว่า กระบวนการทั้งหมดนี้ ทั้งการออก พรก. และมติครม. ที่ตามมาทั้งหมดล้วนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็แปลว่า เราต้องยกเลิกทั้งมติครมและ พรก.ด้วย ในกรณีนี้ผลประโยชน์ส่วนเกินที่ตกกับผู้รับสัมปทานที่เป็นเม็ดเงินโดยตรงจะมีค่าเป็นศูนย์ เพราะไม่ควรมี พรก. แต่ต้นอยู่แล้ว เหลือแต่ผลประโยชน์ทางอ้อมจากการกีดกันการแข่งขัน ซึ่งคำนวณได้ยากตามที่คุณสฤณีเขียนไว้

ผมจึงเห็นว่า คุณสฤณีนั้นรอบคอบดีแล้ว ที่คิดออกมา 2 กรณี แต่ถ้าจะยึดคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลผูกพัน ผมก็คิดว่าควรใช้กรณีที่เกิดผลเสียหายต่อรัฐ 3 หมื่นล้านบาท

2. ภาษีสรรพสามิตทำให้รายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้น?

คุณใบตองแห้งยกตัวเลขว่า การเก็บภาษีสรรพสามิตทำให้รายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้น เรื่องนี้เป็นความจริงครับ เพราะภาษีสรรพสามิตมีผลในการเอาค่าสัมปทานบางส่วนเข้ารัฐโดยตรง แทนที่จะผ่านรัฐวิสาหกิจ ซึ่งไปหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ก่อน (ดูดไอติม) ปัญหาก็คือ หากคุณทักษิณต้องการเพียงให้รายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น ก็มีวิธีที่ดีกว่านั้นที่สามารถทำได้ไม่ยาก นั่นก็คือ การสั่งให้รัฐวิสาหกิจโอนรายได้จากสัมปทานเป็นเงินเข้าคลังโดยตรงเลย โดยไม่ต้องเก็บมาในรูปภาษีสรรพสามิต ซึ่งเป็นข้อเสนอของนักวิชาการ 384 คน เมื่อปี 2546 (หลายคนก็เป็นคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย และไม่เอาระบบอำมาตย์ในตอนนี้) และยังสอดคล้องกับข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อปี 2545 และแนวทางของรัฐบาลอภิสิทธิ์ในปัจจุบัน (ดูในบทเฉพาะกาลมาตรา 78 ของร่างกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นฯ ฉบับใหม่)

การที่รัฐบาลทักษิณไม่เลือกวิธีที่ง่ายและตรงไปตรงมาแบบนั้น ก็เพราะถ้าทำแบบนั้น จะไม่ได้ประโยชน์จากการกีดกันการแข่งขันจากรายใหม่ เจตนาเรื่องนี้ชัดเจนมากเพราะวิทยานิพนธ์ วปอ. ของคุณบุญคลี และสมาคมโทรคมนาคมล้วนพูดตรงกันว่า “ข้อดี” ของภาษีสรรพสามิต (ในสายตาของผู้รับสัมปทานโทรศัพท์มือถือ) ก็คือ การทำให้เกิด “การแข่งขันที่เสมอภาค” (level playing field) ซึ่งฟังดูดี แต่จริงๆ แปลว่า ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องจ่ายเงินให้รัฐ ในระดับใกล้เคียงกับผู้รับสัมปทาน โดยไม่ได้บอกต่อว่า ผู้ประกอบการรายใหม่ไม่เคยได้รับสิทธิต่างๆ จากรัฐ เหมือนผู้รับสัมปทานอย่างเอไอเอสเคยได้เลย การให้ผู้ประกอบการรายใหม่มีหน้าที่จ่ายภาษี ทั้งที่ไม่เคยได้รับสิทธิดังกล่าว จึงไม่ใช่การสร้าง “การแข่งขันที่เสมอภาค” แต่เป็นการ “กีดกันการแข่งขัน”

ที่คุณใบตองแห้งตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งทรูและดีแทคไม่เคยโวยว่า พรก. ทำให้เอไอเอสได้เปรียบ ก็ไม่แปลกใจครับ เพราะทั้งสามรายต่างก็ได้เหมือนกัน คือได้เปรียบเหนือผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดนั่นเอง (ดังจะกล่าวในหัวข้อต่อไป)

3. มีโอกาสจะเกิดผู้ประกอบการรายใหม่ได้หรือไม่?

คุณใบตองแห้งถามว่า ผู้ประกอบการรายใหม่จะมาจากไหน เพราะมีข้อโต้แย้งว่า กทช. ไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ไม่ใช่หรือ?

ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีปัญหาว่า กทช. สามารถออกใบอนุญาตโทรศัพท์มือถือได้หรือไม่ เพราะกฤษฎีกาเคยตีความแล้วว่า กทช. สามารถดำเนินการได้โดยใช้อำนาจตามกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นฉบับปี 2543 แต่เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว จึงเกิดคำถามขึ้น เพราะมาตรา 305 (1) ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นฉบับใหม่ภายใน 180 วันหลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภา (ซึ่งครบไปแล้ว) ในประเด็นนี้ คุณเดชอุดม ไกรฤทธิ์ตีความว่า กทช. หมดอำนาจในการจัดสรรคลื่นไปแล้ว เพราะกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นฉบับปี 2543 สิ้นสภาพไปแล้ว และยังไม่มีกฎหมายใหม่ ในขณะที่ อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ บอกว่า กทช. ยังมีอำนาจในการจัดสรรคลื่นอยู่

สรุป ก็คือแม้ปัจจุบันจะมีประเด็นปัญหาเรื่องอำนาจ กทช. ก็ตาม ในระหว่างปี 2546 ที่มีการออก พรก. ภาษีสรรพสามิต มาจนถึงกลางปี 2551 ซึ่งครบกำหนดระยะเวลา 180 วันหลังรัฐบาลสมัครแถลงนโยบายต่อสภา ซึ่งมีระยะเวลากว่า 5 ปี กทช. สามารถออกใบอนุญาตโทรศัพท์มือได้อย่างแน่นอน โดยหลักการแล้ว จึงอาจมีผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้นได้

ปัญหาก็คือ ทำไมไม่มีรายใหม่เกิดขึ้นจริง? จริงๆ ก็มีนะครับคือ บริษัทไทยโมบายล์ แต่รายนี้ก็อ่อนแอเกินไป ที่จะเบียดแทรกเข้ามาในตลาด และยังถูกบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันจากภาษีสรรพสามิตอีกด้วย เพราะตั้งแต่เปิดดำเนินการมา ก็ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตไปประมาณ 1 พันล้านบาทแล้ว (เห็นไหมครับว่าภาษีสรรพสามิตกีดกันการแข่งขัน)

อย่างไรก็ตาม คำถามที่น่าสนใจกว่าก็คือ ทำไมไม่มีรายใหม่ที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาแข่งขันได้จริงๆ? คำตอบก็คือ หนึ่ง นักลงทุนต่างประเทศยังเจ็บตัวอยู่ เพราะเพิ่งพ้นยุคฟองสบู่ไอทีแตกในปี 2544 มาไม่นาน ทำให้ไม่มีเม็ดเงินมาลงทุนในประเทศไทย และ สอง มีอุปสรรคจากการถูกกีดกันจากภาษีสรรพสามิตนั่นเองครับ
ถ้าย้อนไปดูข้อมูลอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือของคนไทยดูก็จะพบว่า ในปี 2546 ที่มีการออก พรก. ภาษีสรรพสามิต มีคนใช้โทรศัพท์มือถือเพียงประมาณ 33 คนต่อประชากร 100 คน แต่กว่า จะมีการเลิกการเก็บภาษีสรรพสามิตจากโทรศัพท์มือถือในปี 2550 (สมัยรัฐบาลสุรยุทธ์) อัตราการใช้โทรศัพท์มือถือก็สูงถึงประมาณ 85 คนต่อประชากร 100 คน หรือตลาดจวนอิ่มตัวไปแล้ว และในปัจจุบันอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือก็สูงเกิน 100% ไปแล้ว (เพราะ 1 คนมี หลายเบอร์)

การมีภาษีสรรพสามิต จึงเป็นเหตุผลหนึ่งในการกีดกันไม่ให้รายใหม่เข้าตลาดในช่วงตลาดกำลังเติบโตสูง และจนถึงตอนนี้ตลาดก็อิ่มตัวจนไม่เหลือลูกค้าให้รายใหม่เข้ามาทำตลาดอีกแล้ว รายเดิมทั้งสามรายจึงน่าจะครองตลาดไปอีกนาน และได้ประโยชน์จากการไม่ต้องแข่งกันลดราคามากกว่าที่เป็นอยู่ (ถ้ากฎกติกาดี และกทช. ทำงานเข้มแข็ง โทรศัพท์มือถือยังลดราคาได้อีกนะครับ)

สาม อีกเหตุผลที่ทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่ก็คือ การที่ในช่วงนั้น เรามีนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ผมเคยถามนักวิเคราะห์ต่างชาติที่มาคุยด้วยว่า เขาคิดว่า จะมีผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาทำโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยหรือไม่ คำตอบก็คือ “ไม่มีนักลงทุนต่างชาติที่ไหนจะโง่พอที่จะเข้ามาทำธุรกิจ แข่งกับนายกรัฐมนตรีของประเทศเจ้าบ้านหรอก” เพราะแม้จะมี กทช. ซึ่งออกใบอนุญาตให้ทำได้ แต่เมื่อจะปักเสา พาดสาย ขุดท่อ ฯลฯ เพื่อวางโครงข่าย ก็ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐทั้งสิ้น เห็นหรือยังครับว่า ธุรกิจนี้เกี่ยวกับอำนาจรัฐขนาดไหน?

4. ค่าสัมปทาน พรีเพด กับค่าเชื่อมโยงโครงข่าย

มีข้อสงสัยว่า การลดค่าสัมปทานพรีเพดของเอไอเอสเกิดขึ้นหลังจากที่ดีแทคและทรูมูฟไปขอลดค่าเชื่อมโยงเครือข่ายของบริการพรีเพดเมื่อปี 2544 ไม่ใช่หรือ และถ้าใช่ก็แปลว่า การลดค่าสัมปทานพรีเพดของเอไอเอสสมเหตุสมผลใช่หรือไม่?

เป็นความจริงครับที่ การลดค่าสัมปทานพรีเพดของเอไอเอสเกิดขึ้นหลังจากดีแทคและทรูมูฟได้ลดค่าเชื่อมต่อเครือข่าย แต่จะสมควรให้เอไอเอสลดค่าสัมปทานพรีเพดหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ

ประเด็นสำคัญก็คือ เราต้องแยกเรื่องสัมปทานกับเรื่องการเชื่อมต่อโครงข่ายออกจากกัน เพราะสัญญาสัมปทานนั้นเป็นเงื่อนไขที่แต่ละรายได้มาจากผู้ให้สัมปทาน ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามที่ทั้งสองฝ่ายสมัครใจไปตกลงกันมา โดยในปัจจุบันเหลือไม่กี่ประเทศแล้วที่ใช้ระบบสัมปทานแบบไทย ส่วนเรื่องเชื่อมต่อโครงข่ายเป็นหลักสากล แม้ในต่างประเทศ ซึ่งใช้ระบบใบอนุญาต (ไม่ใช่ระบบสัมปทาน) ก็ยังต้องมีกฎการเชื่อมต่อโครงข่าย โดยมีหลักว่า การคิดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายต้องคิดตามต้นทุน และไม่เลือกปฏิบัติกับผู้ประกอบการแต่ละราย

ข้อเท็จจริงก็คือ ทีโอที ได้เลือกปฏิบัติให้ เอไอเอส ได้เปรียบคู่แข่งตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยไม่คิดค่าเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างกัน แต่คิดค่าเชื่อมต่อจากดีแทคและทรูมูฟในอัตราที่สูง ซึ่งน่าจะขัดกับกฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม (มาตรา 25) การที่ดีแทคและทรูมูฟไปขอลดค่าเชื่อมโยงเครือข่ายจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผล เพราะเป็นการขอความเท่าเทียมตามกฎหมาย และไม่ควรเป็นเหตุผลให้ เอไอเอสเอามาอ้างขอลดค่าสัมปทานพรีเพดไปด้วย เพราะเงื่อนไขตามสัมปทานนั้นเป็นความสมัครใจของเอไอเอสเอง

ในประเด็นผลต่ออัตราค่าบริการที่เก็บจากผู้บริโภคที่คุณใบตองแห้งยกมานั้นก็ไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะเมื่อดีแทคและทรูมูฟได้เงื่อนไขการเชื่อมต่อโครงข่ายที่ดีขึ้น ก็จะสามารถลดราคาลงมาได้และบีบให้เอไอเอสต้องลดราคาลงมาแข่งโดยไม่ต้องมีการลดค่าสัมปทานพรีเพดเลย การลดสัมปทานพรีดเพดจึงเป็นการให้ “แต้มต่อ” แก่เจ้าตลาดที่ได้เปรียบอยู่แล้ว และผลประโยชน์ส่วนนี้ก็มากมาย เหมือนที่คุณสฤณีคำนวณไว้

5. การส่งเสริมการลงทุนไอพีสตาร์

คุณใบตองแห้งถามว่า ควรอธิบายอย่างไรว่า ทำไมดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่สมควรได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐ ส่วนหนึ่งคุณสฤณีก็ตอบแล้ว เรื่องประสิทธิภาพของไอพีสตาร์ที่เหนือกว่าดาวเทียมอื่น แต่ถ้าจะให้ผมอธิบายเพิ่มอีกก็คือ การส่งเสริมการลงทุนในโครงการนี้ไม่จำเป็น เพราะชินแซทมีหน้าที่ตามสัญญาสัมปทานอยู่แล้วในการต้องยิงดาวเทียม (ไม่ยิงดาวเทียมขึ้นก็ผิดสัญญา ถูกยกเลิกได้) ทำไมรัฐจะต้องให้เงินเป็นหมื่นล้านมา “ส่งเสริม” ให้ผู้รับสัมปทานต้องทำในสิ่งที่เขามีหน้าที่ต้องทำอยู่แล้ว (เหตุผลอื่นๆ เขียนอยู่ในบทความของผมใน “รู้ทันทักษิณ” เล่ม 1 ครับ)

6. กรณีเงินกู้พม่า

คุณใบตองแห้งถามว่า ถ้าเอ็กซิมแบงก์ไม่ปล่อยกู้ รัฐบาลพม่าจะยังซื้อของชินแซทอยู่หรือไม่ และถ้าจะซื้อของชินแซทหรือของสามารถ ประเทศชาติก็ไม่ได้เสียหายไม่ใช่หรือ?

ในเรื่องนี้ ถ้าศึกษาสัญญาเงินกู้ให้ดีจะพบว่า สามารถ ดีแทคหรือทรู รายไหนก็ไม่มีโอกาสเข้าแข่งขันเสนองานต่อรัฐบาลพม่าหรอกนะครับ เพราะสัญญาเงินกู้เขียนว่า พม่าจะต้องซื้อ “บริการสื่อสารความเร็วสูงผ่านดาวเทียม” (broadband satellite) ซึ่งในประเทศไทยตอนนั้นมีเฉพาะชินแซทเท่านั้นที่ให้บริการ (อย่างนี้เรียกว่า ล็อกสเป็คหรือเปล่าครับ?) คำถามของผมก็คือ ทำไมรัฐจะต้องเอาเงินภาษีประชาชน (ในรูปของการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ) ไปอุดหนุนเอกชนรายใดรายหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจงครับ หรือเพียงเพราะว่าเอกชนรายนั้นเกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี?

คุณใบตองแห้งคงได้ข้อมูลไปถกเถียงกับเพื่อนของคุณต่อนะครับ สวัสดีครับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net