‘กษิต’ แจงกรณีส่งผู้หนีภัยชาวกะเหรี่ยงกลับพม่า ย้ำรัฐบาลสั่งการทหารได้

‘กษิต’ แทน ‘มาร์ค’ แจงกรรมการสิทธิฯ กรณีทหารไทยผลักดันผู้หนีภัยการสู้รบชาวกะเหรี่ยงกลับพม่า เผยเตรียมประชุม สมช.สัปดาห์หน้าคุยยกระดับคุณภาพชีวิต-เตรียมความพร้อมเพื่อเดินทางกลับ แถมกระทุ้งเอ็นจีโอต่างชาติ อย่าแค่บ่นส่งเงินมาช่วยด้วย

เมื่อวันที่ 23 ก.พ.53 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เป็นตัวแทนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายยกรัฐมนตรี ชี้แจงในที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง และสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรณีการผลักดันผู้หนีภัยการสู้รบชาวกะเหรี่ยง กว่า 4,000 คน ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านหนองบัว และบ้านแม่อุสุ ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก กลับประเทศพม่า

น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง และสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิฯ ได้รับการร้องเรียนในเรื่องการผลักดันผู้หนีภัยของกองทัพภาคที่ 3 กระทบสิทธิมนุษยชนใน 3 ประเด็น คือ 1.ผู้อพยพไม่สมัครใจในการเดินทางกลับเนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัย เพราะในพื้นที่ยังพบว่ามีการสู้รบกันอยู่ 2.ไม่มีความมั่นใจเรื่องอาหารที่จะใช้บริโภคเพราะที่ผ่านมาไม่ได้ไปทำการเกษตรยังพื้นที่เดิมเลย และ 3.เรื่องกับระเบิดที่อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน

นายกษิตชี้แจงว่า การสู้รบเมื่อเดือนมิถุนายน 2552 บริเวณชายแดนประเทศพม่า ซึ่งทหารพม่าร่วมกับกะเหรี่ยงคริสต์โจมตีและยึดพื้นที่มั่นบ้านเลอเปอเฮอ ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงอพยบหนีภัยเข้ามาฝั่งไทย โดยเจ้าหน้าที่ไทยได้จัดพื้นที่พักพิงชั่วคราวให้ 4 จุด ขณะนี้ตามข่าวของกระทรวงไม่มีการสู้รบแล้วและผู้หนีภัยบางส่วนได้เดินทางกลับ ล่าสุดเหลือผู้หนีภัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวทั้ง 2 จุดราว 1,100 คนเศษ ซึ่งสาเหตุที่ไม่เดินทางกลับเพราะกลัวถูกบังคับใช้แรงงาน กลัวเหยียบถูกกับระเบิด และบางส่วนไม่ต้องการอาศัยอยู่ในพื้นที่ใต้บังคับบัญชาของกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA)

รมว.ต่างประเทศ กล่าวด้วยว่าที่ผ่านมาการเดินทางกลับของผู้หนีภัยจากการสู้รบ มีกองทัพภาค 3 ช่วยอำนวยความสะดวก และมีการบันทึกลายนิวมือเป็นหลักฐานแสดงความสมัครใจ อีกทั้งจากการตรวจสอบผู้ที่กลับไปพบว่าปลอดภัยทุกคน แต่ภายหลังจากที่มีกลุ่ม TBBC (Thai Burma Border Consortium) กลุ่มเพื่อนพม่า และกลุ่มองค์กรเหรี่ยงออกมาคัดค้านการเดินทางกลับ ฝ่ายทหารก็ไม่ได้เข้ามาอำนวยความสะดวกในการกลับ สำหรับท่าทีของกระทรวงการต่างประเทศหลังจากมีการประท้วงก็ให้ระงับการส่งกลับไว้ก่อน ส่วนในเรื่องการผลักไสให้กลับนั้นยื่นยันว่าไม่มีนโยบาย


ร้องขอความเป็นธรรมให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ ชี้อย่าโยนปัญหา

นายกษิต กล่าวต่อว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมร่วมกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อทบทวนเหตุการณ์และแนวทางการปฎิบัติ เพราะเรื่องชายแดนหลายเรื่องอยู่ในอำนาจการดูแลของทหาร อย่างไรก็ตามในการแก้ปัญหาไม่อยากให้หยิบยกเรื่องบางเรื่องขึ้นมาแล้วบอกว่าเป็นอันตรายทำให้ไม่สามารถส่งผู้อพยพกลับไปยังประเทศพม่าได้ อย่างในเรื่องความมั่นใจเรื่องความปลอดภัย กรณีการเหยียบกับระเบิด หรือการยิงชาวไทยสัญชาติกะเหรี่ยงเสียชีวิตซึ่งเป็นเรื่องที่ควรพิจารณาในรายละเอียดของสาเหตุ และควรได้รับความร่วมมือจากกะเหรี่ยงพุทธในการชี้แจงข้อเท็จจริง ไม่ใช่โยนปัญหามาให้เจ้าหน้าที่หรือรัฐบาล อันนี้ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย

“รัฐบาลนี้ถือเป็นรัฐบาลชุดแรกที่บอกว่าจะทบทวนนโยบายต่อรัฐบาลพม่า ซึ่งก็ได้ทำมาเยอะแล้ว ทบทวนเรื่องการปฎิบัติตลอดแนวชายแดนก็ทำแล้ว ทั้งหมดเลยด้วยใจกว้าง และทุกคนก็คงทราบกันดีว่ารัฐบาลพม่ามองมาที่ผมอย่างไร 12 เดือนที่ผ่านมาเราเป็นประธานอาเซียนก็ขับเคลื่อนไปได้หลายสิบเรื่อง ในเรื่องต่างๆ ที่คนไม่ได้คาดคิดด้วย โดยอันนี้ต้องขอให้ดูในภาพรวม ให้มีความสมดุลด้วยเพราะทุกอย่างที่ทำมันเป็นหน้ากระดาน ไม่ใช่เรื่องเดียวแล้วมาว่ากันตรงนั้น แต่เป็นการเอาหลายเรื่องมารวมกันซึ่งจะเห็นความคืบหน้า ส่วนอะไรที่เป็นปัญหาก็ต้องมาร่วมกันแก้ไข” รมว.ต่างประเทศ กล่าว


แจงความสัมพันธ์รัฐกับทหารเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ย้ำยังสั่งการได้

นายกษิต กล่าวถึงกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่า อาจเป็นความบกพร่องในระดับรัฐบาลที่ว่าในระดับพันโท พันเอก หรือนายอำเภอสามารถตัดสินใจไปโดยไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระดับชาติ หรือสถานของประเทศไทยในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งตรงนี้ได้มีการกำชับแล้วว่าไม่ให้มีการตัดสินใจโดยที่ต้นสังกัดไม่ได้รับทราบก่อน

ในส่วนความสัมพันธ์ของรัฐบาลและกองทัพ นายกษิตยืนยันว่า รัฐบาลชุดนี้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างกองทัพ รองนายกฝ่ายความมั่นคง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงการต่างประเทศ โดยประวัติศาสตร์ไทยในหลายสิบปีมานี้ถือว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนและทหารที่มีความใกล้ชิดที่สุด เห็นพ้องต้องกัน และตัดสินใจร่วมกัน โดยรัฐบาลพลเรือนของนายกอภิสิทธิ์เป็นผู้รับผิดชอบและสั่งการ

“เราไม่ได้เป็นเด็กอยู่ในอาณัติของใคร และที่สำคัญที่สุด ณ วันนี้คือความเคารพซึ่งกันและกันระหว่างผมกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. หรือผมกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม หรือระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการประจำโดยเฉพาะที่เป็นทหาร ทุกอย่างที่ผ่านมาที่เป็นความมั่นคงคือตัดสินใจด้วยกัน” รมว.ต่างประเทศ กล่าว


ฝากถึงเอ็นจีโอต่างชาติ อย่าแค่บ่นให้ส่งเงินมาช่วยด้วย

นายกษิต กล่าวด้วยว่า หากการสู้รบในประเทศพม่ายังไม่แน่นอนผู้หนีภัยไม่ต้องกลับไปประเทศเทศพม่า แต่เมื่อไม่ต้องกลับไปจะทำอย่างไรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตรงนี้ต้องทบทวนทั้งหมดว่าจะให้มีการฝึกอบรม มีการศึกษา หรือส่งเสริมการทำงานในรูปแบบใดได้บ้าง เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ลี้ภัยในการเดินทางกลับหากมีการเลือกตั้งหรือมีสันติภาพในประเทศพม่า ทั้งนี้การดูแลผู้หนีภัยจะต้องดูแลคนไทยตามแนวชายแดนให้ทัดเทียมกันด้วย

ที่ผ่านมาข้าราชการมีทัศนคติที่ไม่ดีกับคนต่างด้าว แต่ขณะนี้เริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ในส่วนกระทรวงการต่างประเทศหลังจากนี้จะมีการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดตามแนวชายแดนด้านต่างๆ ที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านร่วมกับทูตและกงสุลกระทรวงการต่างประเทศเพื่อให้ทราบปัญหาในพื้นที่จะได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

“สิ่งแรกที่เราต้องทำคือ The first working paper, The first position paper และในเรื่องนี้กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นหน่วยงานแรกที่ทำในเรื่อง The comprehensive draft plan of assent ที่จะแก้ปัญหาของชายแดนไทย-พม่าตลอดแนวทางทุกเรื่อง ได้เริ่มทำอยู่แล้ว และหากมีข้อเสนออะไรก็สามารถส่งเข้ามาโดยตรงที่สำนักรัฐมนตรี” รมว.ต่างประเทศกล่าว พร้อมรับที่จะทำหน้าจัดหางบประมาณมาดำเนินงาน
 
นายกษิต กล่าวฝากถึงเอ็นจีโอต่างชาติด้วยว่า อย่าบ่นแต่เรื่องทฤษฎีหรือเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว แต่ให้เอาเงินลงมาเยอะๆ เพื่อที่จะนำมาทำโปรแกรมที่ครอบคลุมในเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้หนีภัย ทั้งเรื่องอาหาร การศึกษา โรงพยาบาลที่รักษาผู้อพยพมากยิ่งขึ้น

ส่วนเรื่องกับระเบิด รมว.ต่างประเทศกล่าวว่า ต้องช่วยกันส่งเสียงถึงประชาสังคมโลกให้ร่วมกดดันให้รัฐบาลพม่าทำตามกติกาของสนธิสัญญาออตตาวา ที่ห้ามใช่ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และต้องเก็บกู้ทุนระเบิด และให้ร่วมประณามประเทศผู้ค้าอาวุธอย่างจีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกาด้วย

มั่นใจพม่ามีเลือกตั้งแน่แต่ไม่รับประกันว่าแฟร์หรือไม่      
นายกษิต กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศพม่าว่า ที่ผ่านมา 13 เดือน ตนและนายกรัฐมนตรีได้พบกับผู้นำของประเทศพม่ากว่าสิบครั้ง และทุกครั้งได้รับคำยืนยันว่าจะมีการเลือกตั้งแน่นอนในประเทศพม่า โดยจะมีรัฐบาลใหม่ที่เป็นรัฐบาลพลเรือน ส่วนการสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เนปีดอ (Naypyidaw) และการเตรียมการเรื่องกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมืองก็มีความคืบหน้าไปกว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง

“ถ้าถามว่ามีความเชื่อมั่นหรือไม่ ผมก็ตอบว่ามีความเชื่อมั่นว่าจะมีการเลือกตั้ง ส่วนการเลือกตั้งนั้นจะการมีส่วนร่วม แฟร์ และฟรีมากน้อยแค่ไหนก็เป็นเรื่องที่ชาวพม่าเองนั้นต้องร่วมสอดส่อง” นายกษิตแสดงความเห็น พร้อมกล่าวด้วยว่าในส่วนของรัฐบาลไทยและคณะผู้แทนของอาเซียนอยากเข้าไปดำเนินการฝึกอบรบบุคคลากรของพม่าในการดำเนินการเลือกตั้งและอยากให้มีการร่วมสังเกตุการณ์ของคณะผู้แทนจากอาเซี่ยนเพื่อความน่าเชื่อถือ

รมว.ต่างประเทศ กล่าวด้วยว่ากระบวนการประชาธิปไตยในพม่าอาจต้องมีจุดขรุขระ แต่การเลือกตั้งถือเป็นจุดเริ่มต้น และได้มีการบอกกับผู้นำพม่าทั้งในที่แจ้งและที่ลับว่าหากไม่มีการเลือกตั้งในพม่า ไม่ใช่จะเกิดผลกระทบเฉพาะในพม่า แต่จะทำให้สถานการณ์ชายแดนไทยพม่าเลวร้ายลงซึ่งเป็นภาระกับประเทศไทยต่อไป และจะทำให้กฎบัตรอาเซียน องค์กรมนุษยชนอาเซียน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่สามารถดำเนินการได้จริง ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของพม่าจากรัฐบาลทหารไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยเป็นหัวใจของอนาคตของอาเซียน

“กระบวนการที่จะเอาสีเขียวออกจากแวดวงการเมืองเห็นได้ที่ฟิลิปปินส์ ที่อินโดนีเซีย และประเทศไทย ฉันใดก็ฉันนั้น ทำไมทีพม่าจะเอาสีเขียวออกไปจากกระบวนการทางการเมืองไม่ได้” นายกษิตแสดงความเห็น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท