กป.อพช.เหนือแนะรัฐบาลใช้เวลาเต็มที่ฟังความเห็นปชช.เรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมตาม ม.67 วรรค 2

คณะกรรมการประสานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือยื่นแถลงการณ์แนะรัฐบาลใช้เวลาอย่างเต็มที่รวบรวมความคิดเห็นจากจากประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตาม รธน.ม.66-67 วรรคหนึ่ง ชี้ถ้ารวบรัดกระบวนการอาจจะปิดกั้นความเห็นประชาชน

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มาจัดประชุมที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อรับฟังความเห็นด้านเทคนิคและรับฟังความเห็นจากประชาชน เรื่อง “โครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ” ตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปี 2550

ด้วยเหตุดังกล่าว คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ หรือ กป.อพช.ภาคเหนือ จึงได้จัดทำแถลงการณ์และบันทึกความเห็น เพื่อยื่นต่อตัวแทนคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ในวันดังกล่าว โดยเรียกร้องให้รัฐบาลให้เวลาอย่างเต็มที่ในการรวบรวมความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมและชุมชนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการหรือกิจกรรมซึ่งต้องได้รับความคุ้มครองจาก รัฐธรรมนูญ มาตรา 66 และ มาตรา 67 วรรคหนึ่ง ในแถลงการณ์ระบุว่าหากรัฐบาลเร่งรัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น อาจเป็นการปิดกั้นการแสดงความเห็นของประชาชน โดยรายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้

000

 

ที่ กป.อพช.ภาคเหนือ 006/2553

 

แถลงการณ์

รัฐบาลต้องไม่เร่งรัดการแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง

ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2550

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดระยอง ได้สะท้อนความเฉื่อยชาของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าปัจจุบัน รัฐบาลจะได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 เพื่อหาข้อยุติให้รัฐบาลในการดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งจะใช้ดำเนินการไม่เพียงเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเท่านั้น หากแต่จะเป็นข้อยุติที่นำมาใช้ปฏิบัติครอบคลุมทั้งประเทศ

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาภาคเหนือ มีความห่วงใยว่าการเร่งรัดกระบวนการทำงานเพื่อหาข้อยุติให้ได้ในเร็ววัน เพียงเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่มาบตาพุด ไม่น่าจะเป็นการแก้ไขปัญหา การพัฒนาประเทศที่เกิดความยั่งยืนกับทุกภาคส่วนในสังคม เนื่องจาก

 

1. หากรัฐบาลจะใช้ข้อยุติของคณะกรรมการชุดดังกล่าวนี้ ในพื้นที่อื่นๆทั้งประเทศด้วยแล้ว รัฐบาลจำเป็นต้องให้เวลาในการทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมและชุมชน โดยเฉพาะความเห็นจากชุมชน ซึ่งคือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากโครงการหรือกิจกรรม ไม่ว่าจะจัดอยู่ในประเภทที่รุนแรงหรือไม่ก็ตาม ซึ่งต้องได้รับความคุ้มครองจาก รัฐธรรมนูญ มาตรา 66 และ มาตรา 67 วรรคหนึ่ง ด้วยเช่นกัน

2. ผลด้านลบที่เกิดขึ้นแล้วจากการเร่งรัดการดำเนินงาน คือ ประชาชนหรือชุมชน ในพื้นที่โครงการต่างๆทั่วประเทศนั้น ถูกปิดกั้นโอกาสการเข้าถึงกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจัดขึ้นในขณะนี้ จำนวนทั้งหมด 6 ครั้ง ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ถึง วันที่ 26 มีนาคมนี้ เพราะการให้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตและจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมนั้น ชุมชนในพื้นที่ห่างไกลจะไม่มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเช่นนี้ได้

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาภาคเหนือ สนับสนุนให้รัฐบาลการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นที่มาบตาพุด แต่ไม่สนับสนุนการนำข้อยุติที่ได้มาอย่างรวบรัดแล้วนำไปใช้ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยชุมชนที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศ ถูกปิดกั้นโอกาสการเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็น จะไม่เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล

นอกจากนี้ การกำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรม ที่อาจจะก่อผลกระทบรุนแรง ซึ่งคณะกรรมการฯที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการหาข้อยุติในเรื่องนี้นั้น คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาภาคเหนือ ขอเสนอให้กลับไปพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรคสองซึ่งกำหนดให้ “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน ........”นั้น มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2540 มาตรา 56 วรรคสอง ซึ่งกำหนดว่า “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ......” โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อ “ชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติที่จะได้รับผลกระทบ” และ “ผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนในชุมชน” และสาระสำคัญที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงคือ “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง” ซึ่งปรากฏมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

ในการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 (ระหว่างวันที่ 4-10 กันยายน 2540) มีสมาชิกรัฐสภากล่าวสนับสนุน ร่างมาตรา 56 โดยยกตัวอย่างโครงการเขื่อน ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เพราะมีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างรุนแรง

ดังนั้นโดยนัยนี้ โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง คือโครงการหรือกิจกรรมที่เข้าหลักเกณฑ์ต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลักเกณฑ์ขั้นต่ำอยู่แล้ว เมื่อผนวกกับบทบัญญัติเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรคสองนั้น เจ้าของโครงการหรือกิจกรรมต่างๆเหล่านี้ ก็จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพควบคู่ไปด้วย

 

18 กุมภาพันธ์ 2553

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาภาคเหนือ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท