Skip to main content
sharethis

จากเหตุการณ์ที่รัฐบาลพรรคเอเคพีของตุรกีสั่งจับกุมนายทหารระดับสูงเกษียณอายุหลายสิบราย เนื่องจากต้องสงสัยว่ากำลังวางแผนรัฐประหารล้มรัฐบาล ทางสำนักข่าว BBC ก็ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวตุรกีถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยยังมีข้อมูลจากโพลล์สำรวจความคิดเห็นในตุรกีระบุว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นในสถาบันทหาร

อนึ่ง ในบริบทของตุรกีมีความขัดแย้งในอีกบริบทหนึ่งคือเรื่องความเป็นรัฐฆราวาส (Secular State) และความเป็นรัฐศาสนา (Sacred State) ซึ่งปัจจุบันตุรกียังถือเป็นรัฐฆราวาส คือรัฐที่ไม่มีศาสนาประจำชาติและมีความเป็นกลางต่อประชาชนทุกศาสนา โดยทางฝ่ายต่อต้านรัฐบาลนำเรื่องที่รัฐบาลพรรคเอเคบีนำแนวทางแบบอิสลามมาใช้ ทำให้เกรงว่าฝ่ายรัฐบาลกำลังมีวาระแฝงเร้นในการทำให้ตุรกีกลายเป็นรัฐศาสนา เช่นเดียวกับ อิหร่าน หรือ อัฟกานิสถาน หรือไม่

ขณะเดียวกันความเห็นต่าง ๆ ของชาวตุรกีในรายงานจาก BBC ชิ้นนี้ ดูจะสะท้อนแนวคิดเรื่อง 'ประชาธิปไตย' และ 'รัฐประหารโดยกองทัพ' เอาไว้ ซึ่งแม้จะเป็นความเห็นจากอีกบริบทในอีกประเทศหนึ่ง แต่หลายความเห็นก็ไม่น่าจะแตกต่างกับสิ่งที่คนไทยหลายคนกำลังคิดและอยากบอกกล่าวด้วยเช่นกัน

ไอยส์ ซาริซี - นักวิศวกรรมอาหาร วัย 39 ปี
"ฉันคิดว่ารัฐบาลควรระวังไม่ไปกดดันกองทัพมากเกินไป เพราะอาจเกิดการเอาคืนได้"

มีข่าวลือต่าง ๆ มากมายที่ทำให้ฉันกลัว การที่นายพลและนายทหารระดับสูงจำนวนมากขนาดนี้ถูกดำเนินคดีทำให้ดูเป็นเรื่องไม่ปกติ

ฉันคิดว่าพรรครัฐบาลที่มีวาระในเรื่องศาสนา กำลังพยายามบีบคั้นกองทัพที่เป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐฆราวาส (Secular) ทางรัฐบาลจึงตั้งใจทำให้กองทัพอ่อนลง

มันเป็นเรื่อง 'โอเค' ที่ใครสักคนในอังกฤษจะบอกว่าทหารควรแยกออกจากการเมือง แต่ถ้าคุณอยู่ในประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมและศาสนาอิสลามก็สามารถแทรกเข้ามาในสังคมที่คุณใช้ชีวิตอยู่ ก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ถ้าไม่ได้อตาเติร์กล่ะก็ (มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกีและ ผู้เปลี่ยนตุรกีจากจักรวรรดิออตโตมันเดิม ให้กลายเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ที่ไม่อิงศาสนา และมีความเป็นประชาธิปไตย -ผู้แปล) ตุรกีคงกลายเป็นเหมือนปากีสถาน ช่วงหลายปีนี้เราอยู่ด้วยความไม่มั่นคง และเราจะยังโงนเงนต่อไปเรื่อย ๆ ตราบที่ศาสนายังมีบทบาทอย่างมากกับการเมือง

กองทัพควรจะเข้มแข็ง แต่อาจไม่ต้องเข้มแข็งเท่าตอนนี้ก็ได้ โดยเฉพาะการที่พวกเขาคัดค้านการปฏิรูปอย่างเป็นประชาธิปไตยที่จะให้สิทธิชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดมากยิ่งขึ้น

แม้ว่าฉันจะไม่ชอบรัฐบาลชุดนี้เลย และฉันก็ไม่ชอบฝ่ายค้านยิ่งกว่า ฉันก็ยังต้องยอมรับว่าพวกเขาก็ทำเรื่องดี ๆ ไว้ จากการที่พยายามทำให้ประเทศตุรกีได้เข้าร่วมกับสหภาพยุโรป (EU) และนโยบายที่เอื้อต่อชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดและชาวอาร์เมเนีย

แต่พวกเขาก็ควรเข้าใจว่า ชาวตุรกีส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในกองทัพสูงมาก ฉันคิดว่ารัฐบาลควรระวังไม่ไปกดดันกองทัพมากเกินไป เพราะอาจเกิดการเอาคืนได้

ยูซูฟ เนบาห์น ไอดิน - นักธุรกิจ อายุ 27 ปี
"กลุ่มหนุนรัฐฆราวาสอ้างว่ารัฐบาลมีวาระแฝงเรื่องการทำให้ตุรกีเป็นรัฐอิสลาม แต่นี้ก็เป็นแค่การระแวงไปเองเท่านั้น"

ผมต่อต้านแผนการล้มล้างรัฐบาลทุกรูปแบบ ไม่ควรมีใครทำตัวอยู่เหนือกว่าประชาธิปไตย มีเพียงพลเมืองในประเทศเท่านั้นที่มีสิทธิ์ตัดสินใจว่าจะให้ใครปกครองประเทศ

แต่กองทัพก็ไม่เคยเชื่อใจประชาชน โดยเฉพาะเมื่อมีพรรคฝ่ายขวาเข้ามาดำรงตำแหน่ง กลุ่มหนุนรัฐฆราวาสก็มักใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในการบ่อนทำลายรัฐบาล

จนกลายเป็นสิ่งที่คอยแทรกแซงทางการเมืองนับตั้งแต่การก่อตั้งรัฐตุรกีสมัยใหม่นับตั้งแต่ปี 1923 เป็นต้นมา มันเป็นการไม่เคารพต่อหลักสิทธิเสรีภาพของพลเมืองและหลักสิทธิมนุษยชน มันจึงเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และไม่เคยเป็นสิ่งที่ชอบธรรม

เจ้าหน้าที่ของกองทัพมักจะทำตัวเองให้เป็นพวก 'ผู้ที่แตะต้องไม่ได้' เสมอมา และพวกเขาก็จะทำแบบนี้ไปตลอด แต่นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตุรกีที่รัฐบาลพลเรือนของตุรกีพยายามกันทหารออกจากการเมือง

กองทัพควรเข้าใจว่าพวกเขาไม่ควรยื่นมือเข้ามายุ่งเกียวการเมือง ตุรกีต้องการเพียงประชาธิปไตยเท่านั้น ด้วยเหตุผลนี้เอง การจับกุมคนในกองทัพจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำให้ตุรกีเป็นประชาธิปไตย

ตุรกีกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นที่ที่คนจะรู้สึกสะดวกสบาย อิสระ และเป็นสุขมากกว่านี้ กลุ่มหนุนรัฐฆราวาสอ้างว่ารัฐบาลมีวาระแฝงเรื่องการทำให้ตุรกีเป็นรัฐอิสลาม แต่นี้ก็เป็นแค่การระแวงไปเองเท่านั้น สิ่งที่พรรคเอเคพีทำคือพวกเขาประสบความสำเร็จในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง สิ่งที่คนหนุนรัฐฆราวาสอย่างหนักแน่นหลายคนไม่สามารถทำได้มานานหลายปี

ซาลีห์ เทย์ซัน - นักวิเคราะห์ไอที อายุ 24 ปี
"แน่ล่ะว่าพวกเขาจะถูกโค่น แต่ต้องเป็นการโค่นที่มาจากการเลือกตั้งในครั้งถัดไปด้วยพลังการโหวตของเรา ไม่ใช่ด้วยอาวุธปืน"

ผมโตขึ้นมาในครอบครัวชาวเคิร์ดฝ่ายซ้าย พ่อผมถูกทรมานในช่วงรัฐประหารปี 1980 ตอนที่เขายังอายุ 21 แม่ผมถูกจับเข้าคุกจากการที่เป็นนักกิจกรรมการเมืองฝ่ายซ้ายตอนอายุ 49

ผมยินดีกับการจับกุมนายทหารระดับสูงในช่วงไม่กี่วันนี้ เพราะผมเชื่อว่าประเทศของเราต้องหนักแน่นในการจัดการการกระทำใดก็ตามที่ต่อต้านประชาธิปไตย จริงอยู่ที่โพลล์สำรวจล่าสุดบอกว่ากองทัพยังคงเป็นสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือสูงสุด แต่มันเป็นเพราะช่วงจนถึงก่อนหน้านี้ไม่นานเราถูกห้ามไม่ให้วิจารณ์กองทัพในประเทศชาตินิยมสุดโต่งของเรามาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ประชาชนรู้ว่าเคยเกิดอะไรขึ้นในอดีต การรัฐประหารที่มีสหรัฐฯ หนุนหลัง ทำความเสียหายต่อประเทศอย่างมาก ปัญญาชนหลายคนถูกทรมานและกลุ่มฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านก็ถูกทำลายลงจนเกือบหมด

จนตอนนี้ผมเชื่อว่า พวกที่ถือปืนควรถูกกันออกจากการเมือง พวกเราต้องเชื่อมั่นและช่วยกันปกป้องประชาธิปไตยของเรา การเป็นรัฐฆราวาสนั้นสำคัญมากต่อการทำให้ประเทศพัฒนาในยุคสมัยใหม่ แต่ผู้ที่ปกป้องความเป็นรัฐฆราวาสควรจะเป็นประชาชน ไม่ใช่กองทัพ

ประชาชนส่วนใหญ่ในตุรกีไม่อยากให้ประเทศเรากลายเป็นอย่างอิหร่านหรืออัฟกานิสถาน รัฐบาลของพวกเรายังคงอยู่ห่างไกลจากการปฏิรูปตามระบอบประชาธิปไตย แต่ผมก็ไม่เชื่อว่าพวกเขามีวาระแฝงอะไร พวกเขาแค่เป็นนักฉวยโอกาสและเป็นนักประชานิยม

ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นอย่างไรก็ตาม เราก็ต้องเคารพพวกเขาในฐานะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของเรา และแน่ล่ะว่าพวกเขาจะถูกโค่น แต่ต้องเป็นการโค่นที่มาจากการเลือกตั้งในครั้งถัดไปด้วยพลังการโหวตของเรา ไม่ใช่ด้วยอาวุธปืน

คายิฮาน คามาดายี - อดีตหัวหน้าหน่วยการบินพลเรือน อายุ 62 ปี
"การรัฐประหารครั้งที่ผ่าน ๆ มา ถือได้ว่าเป็นความผิดของฝ่ายพลเรือนมากกว่าฝ่ายทหาร"

มันคงไม่น่าให้อภัยหากจะมองการแทรกแซงการเมืองของทหารเป็นเรื่องดีเรื่องชอบ แต่ก็ต้องดูว่าสถานการณ์ในปัจจุบันมันไม่ใช่เรื่องแบบนี้

เพราะรัฐบาลพยายามสร้างความตึงเครียดลวง ๆ ขึ้นมานานแล้ว และใช้ประโยชน์จากมัน โดยกองทัพมักตกเป็นเหยื่อ

การรัฐประหารครั้งที่ผ่าน ๆ มา ถือได้ว่าเป็นความผิดของฝ่ายพลเรือนมากกว่าฝ่ายทหาร ประเทศนี้เจอรัฐประหารมามากและฝ่ายพลเรือนนั่นเองที่เป็นต้นเหตุ ไม่มีใครต้องการรัฐประหารอีกแล้ว

สิ่งที่น่าสนใจในสถานการณ์ตอนนี้คือการที่พรรครัฐบาลตัดสินใจใช้เรื่องการรัฐประหารของกองทัพมาทำให้ตนได้การสนับสนุนและคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

พวกเขารู้ว่าในสายตาประชาชนแล้ว ไม่มีอะไรที่พวกเขาทำสำเร็จมาพอที่จะให้พวกเขาได้รับเลือกตั้งในอีกสมัย

มีหลายคนที่ต้องอยู่ในคุกตอนนี้โดยไม่รู้ว่าจะได้ออกมาเมื่อไหร่ และโดยไม่รู้ด้วยว่าพวกเขาโดนจับข้อหาอะไร

ใครจะบอกได้ล่ะว่ารัฐบาลชุดนี้มีความจริงใจในการที่พวกเราต้องการเข้าร่วมสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป ขณะที่ประชาชนตาดำ ๆ หรือแม้แต่ทหารถูกสุ่มควบคุมตัวไปชั่วข้ามคืนและจับไปขังเรียงกันไว้คุก โดยที่ยังไม่ทันมีโอกาสได้แก้ต่างให้ตัวเองเลย!

ที่มา:

Turkish views on 'coup' charges
http://news.bbc.co.uk/2/hi/europe/8538614.stm

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net