Skip to main content
sharethis

เมื่อ 27-28 ก.พ. คณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้ลงมาตรวจพื้นที่ซึ่งได้รับผลระทบจากเหมืองทองคำอัครา เป็นครั้งที่สองนับจากมีเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านเขาหม้อ หมู่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ซึ่งครั้งแรกได้ลงตรวจพื้นที่แล้วเมื่อวันที่ 17-18 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยมีศาสตราภิชาน วิระ มาวิจักขณ์ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯนำทีมพร้อมคณะอีก 5 คน

 
 

วันแรกอนุกรรมาธิการและชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบรอบบริเวณเหมืองได้เข้าตรวจสภาพพื้นที่ภายในเหมืองร่วมกันพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่จากบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด สำรวจทั่วบริเวณของโครงการชาตรีและชาตรีเหนือ โดยเฉพาะบ่อเหมืองบนเขาหม้อซึ่งกำลังดำเนินกิจกรรมอันก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงโครงการ คือ บ้านเขาหม้อ หมู่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร บ้านดงหลง หมู่ 8 บ้านหนองแสง หมู่ 10 ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ บ้านใหม่คลองตาลัด หมู่ 6 บ้านเขาขาม หมู่ 1 ต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ในเรื่องฝุ่น เสียง และน้ำกิน-น้ำใช้ และบ่อทิ้งกากแร่หรือบ่อไซยาไนด์ซึ่งปัจจุบันได้ยกระดับสูงกว่าพื้นดินกว่า 20 เมตร

ทั้งยังมีการประชุมหารือกับหน่วยงานราชการของรัฐ คือ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร นายยุทธนา วิริยะกิตติทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจิตร นายอนันต์ พรหมดนตรี อุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จังหวัดพิจิตร นางประภา ทองตัน นายอำเภอทับคล้อ นายประวิทย์ ประวัติเมือง และตัวแทนจากบริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด ซึ่งทางอนุกรรมาธิการฯได้ชี้แนะแนวทางการปฏิบัติเพื่อป้องกันและฟื้นฟูผลกระทบจากการกระทำของเหมืองทองอัครา คือ ให้ทางจังหวัดพิจิตร รับเรื่องไปตรวจสอบหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วย เกิดผดผื่นคันของชาวบ้านในพื้นที่ พร้อมทั้งเห็นควรให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อติดตามและตรวจสอบ EIA โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมเป็นกรรมการด้วย และจัดให้มีการประชุมติดตามตรวจสอบการทำเหมืองตามมาตรการที่ระบุไว้ใน EIA ทุกเดือน 

ส่วนปัญหาในด้านเทคนิค อ.เรืองศักดิ์ วัชรพงศ์ อนุกรรมาธิการฯ ซึ่งอดีตเป็นวิศวกรเหมืองแร่มีเห็นว่า “ปัญหาด้านเทคนิคเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ดังนี้

1. เขตปลอดภัยในการระเบิด เดิมกำหนดไว้ 230 เมตร ขอให้เปลี่ยนเป็น 400 เมตรจากจุดระเบิด

2. การขนส่งแร่สามารถปรับเปลี่ยนได้ การขนส่งแยกเป็นสองอย่าง มีขนส่งแร่เข้าสกัดทองและขนส่งมูลดิน  การขนส่งแร่สกัดทองอยากจะให้ไปศึกษาในระยะยาวที่จะสร้างสายพานลำเลียงส่งแร่จากบ่อแร่มายังโรงงาน  และการขนหินทิ้งก็ให้ใช้เครนในการเคลื่อนย้ายจากบนภูเขาลงมาเลย มันจะช่วยลดปัญหาฝุ่นและเสียงได้มาก จะเอาน้ำที่ไหนมารดถนนได้ตลอด 2 ชั่วโมงก็มีฝุ่นเหมือนเดิม

3.Buffer Zone สมควรให้คงเป็นพื้นที่สีเขียว green area มันจะเป็นกำแพงธรรมชาติช่วยลดเสียงดังจากเครื่องจักรได้ ลองไปเปลี่ยนแบบผังบ่อเหมืองดูจะช่วยลดปัญหาได้ ทำให้มันแคบลงได้

4.ควรทำทางระบายน้ำรอบพื้นที่และให้ไหลรวมลงในบ่อเดียวกันจะดีมาก ในหน้าแล้งยังปล่อยให้ชาวบ้านได้ใช้อีกด้วยแต่ต้องมีการบำบัดก่อนลดปัญหาการแย่งน้ำได้

5.ลองลดจำนวนวัตถุระเบิดดู จาก 70 ฟุต เหลือ 50 ฟุต และหลุมระเบิดจาก 200 หลุม เหลือสัก 150 หลุม ก็จะลดเสียงระเบิดได้

ผังโครงการติดบ้านใหม่คลองตาลัด 100 เมตร บ้านเขาหม้อ 400 เมตร หนองระมาน 300 เมตร ถ้าผมเป็นคนในพื้นที่ผมก็คงไม่ยอมเหมือนกัน ปล่อยให้หมู่บ้านติดกับเขตเหมืองได้อย่างไร”

วันที่สองเป็นการรับฟังปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองโดยรอบพื้นที่โครงการเหมือง ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร มีชาวบ้านมาร่วมกว่า 50 คน และสำรวจพื้นที่หมู่บ้านโดยรอบ ซึ่งมีปัญหาร้องเรียนจากชาวบ้านมากมาย

 

 

นางสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ชาวบ้านหมู่ 9 บ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ได้กล่าวถึงปัญหา “ปัญหาเรื่องฝุ่น เสียง ชาวบ้านนั้นมีเอกสารจากทางหน่วยงานราชการ ว่าเสียงและฝุ่นนั้น ‘เกินมาตรฐาน’ แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข น้ำการเกษตรซึ่งมีทั้งปัญหาคันดินกั้นทางการไหลของน้ำจากบริเวณเขาหม้อลงสู่นาข้าวซึ่งลาดเอียงจากเขาและน้ำบาดาลซึ่งเริ่มจะแห้ง ทางสาธารณะประโยชน์ซึ่งยังถกเถียงกันคือยังไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการแต่ทางกลับถูกเหมืองปิด การขยายโรงงานซึ่งเห็นว่าปัญหาเดิมยังไม่ยุติยังไม่ได้แก้ไขแต่กลับจะมาสร้างปัญหาใหม่”

 

นายธงชัย ธีระชาติดำรง ชาวบ้านหมู่ 9 บ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ได้เล่าถึงปัญหาว่า “ที่ดินของผมอยู่ติดขอบประทานบัตร ปีที่แล้วทำนาไม่ได้ผลผลิต มันสำปะหลังจะไม่ค่อยได้ผลหัวมีขนาดเล็ก เนื่องจากไม่มีน้ำ” 

นางยุภา รัตนภักดี ชาวบ้านหมู่ 9 บ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร “ที่ดินของดิฉันอยู่ในเขตประทานบัตร ซึ่งมีข้อโต้แย้งกัน เนื่องด้วยว่าบริษัทอ้างว่าที่ดินผืนนี้เป็นพื้นที่ป่าไม้ได้ขออนุญาตจากป่าไม้แล้ว แต่ดิฉันได้ทำกินในที่นี้มาตั้งแต่รุ่นพ่อและได้เสียภาษี ภทบ.5”

นายปรีชา แสนจันทร์ ชาวบ้านหมู่ 6 บ้านใหม่คลองตาลัด ต.วังโพรง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก “ปัญหาฝุ่นและเสียงเป็นเรื่องที่ชัดเจนมาก พยายามจะตกลงกันให้หยุดทำงานในเวลากลางคืนแต่ก็ไม่เป็นผล น้ำฝนปกติเมื่อฝนตกน้ำจะไหลจากเขาหม้อลงสู่คลองล่องหอยซึ่งเป็นแหล่งรองรับน้ำตามธรรมชาติ ทั้งการกักน้ำไว้ของเหมืองโดยอ้างว่าชาวบ้านกลัวว่าน้ำซึ่งไหลออกมานั้นมีสารปนเปื้อน เห็นว่าเป็นวิธีการแก้ไขที่ไม่ถูกต้องแต่จะต้องบำบัดน้ำเสียก่อนแล้วปล่อยสู่คลองล่องหอย  น้ำบาดาลเดิมลึกประมาณ 4-5 วา แต่ปัจจุบันใช้เครื่องเจาะเล็กก็ไม่มีน้ำแล้ว จะต้องเจาะในระดับที่ลึกมากขึ้น  และเรื่องการซื้อที่ดินของบริษัทอัครา ซึ่งไม่ซื้อที่ดินในบริเวณนี้เพราะเห็นว่า ‘ชาวบ้านเรียกร้องมากเกินไป’ แต่ถ้าเทียบกับความอุดมสมบูรณ์จากธรรมชาตินั้นมันจะคุ้มค่าหรือไม่ เพราะถ้าจะไปหาที่อยู่ใหม่ชาวบ้านไม่ใช่ได้แค่ค่าที่ดินและค่ารื้อถอนจะต้องได้ทุนในการเริ่มทำกินใหม่ต่อไปอีกด้วย” 

นายสมศักดิ์ บุญธรรม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 บ้านดงหลง ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ “น้ำบาดาลแห้งเร็วว่าปกติ ปีกลายแห้งประมาณเดือนเมษายน แต่ปีนี้กุมภาก็เริ่มแห้งแล้ว น้ำบาดาลระดับความลึกที่ 10 เมตรลงไปเริ่มขาดแคลน จากเดิมสามารถสูบนำมาใช้ได้ตลอด แต่ปัจจุบันสูบได้สักพักต้องหยุดแล้วปล่อยให้น้ำไหลซึมเข้ามาแทนที่แล้วจึงจะสูบต่อได้” 

จากปัญหาที่ชาวบ้านได้ร้องเรียนมาทั้งหมดนั้น ทางคณะอนุกรรมาธิการฯ สรุปปัญหาได้สองเรื่องคือ ปัญหาทางเทคนิคและสังคม ซึ่งแยกเป็นเรื่องย่อย คือ ฝุ่น เสียง น้ำกิน น้ำใช้ และทางสาธารณะประโยชน์ ซึ่งเห็นว่าปัญหาทางเทคนิคในเรื่องฝุ่นและเสียงสามารถที่จะเปลี่ยนปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ และจะดำเนินการตรวจสอบในเรื่องคำสั่งให้หยุดทำงานในเวลากลางคืนนั้นถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่ และจะทำขอเสนอในเรื่องการตรวจวัดฝุ่นและเสียงตลอดเวลา 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งเรื่องระดับน้ำใต้ดินโดยรอบบริเวณ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net