Skip to main content
sharethis

นับตั้งแต่ที่รัฐบาลพม่าไม่ยอมทำตามสัญญาปางโหลงที่เคยลงนามกับชนกลุ่มน้อยในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1947 ที่มีเงื่อนไขยินยอมให้รัฐชนกลุ่มน้อยที่ร่วมกันเรียกร้องเอกราชและตั้งสหภาพพม่าแยกออกไปเป็นอิสระได้ หลังจากนั้นในวันที่ 21 พฤษภาคม ปี 1958 เจ้าน้อย หรือซอหยั่นต๊ะ พร้อมสหายร่วมรบ 31 คนได้ร่วมกันตั้งกลุ่ม “หนุ่มศึกหาญ” เพื่อขับไล่ทหารพม่าออกจากรัฐฉาน

ไม่นานนัก กลางเดือนพฤศจิกายนปี 1959 หรือเมื่อ 51 ปีที่แล้ว นักรบกู้ชาติไทใหญ่ ที่นำโดยโป่ เตหวิ่ง, โป่ หม่อง และเจ้าเสือวันได้นำนักรบกู้ชาติที่มีจำนวนไม่กี่ร้อยคนโจมตีทหารพม่าที่เมืองต้างยาน ทางตอนใต้ของเมืองล่าเสี้ยว และสามารถยึดเมืองต้างยานไว้ได้นานกว่า 15 วัน ก่อนที่ทหารพม่าจะระดมโจมตีอย่างหนักจนฝ่ายนักรบไทใหญ่ต้องล่าถอยเข้าไปในป่า

แต่จากการรายงานโดยวิทยุ BBC ของอังกฤษ และวิทยุ BBS ของรัฐบาลพม่า (ปัจจุบันคือ MRTV) ก็ทำให้ข่าวการยึดเมืองต้างยานของนักรบกู้ชาติแพร่สะพัดไปทั่วทั้งรัฐฉานและพม่า ขบวนการกู้ชาติไทใหญ่ เป็นสิ่งที่รัฐบาลพม่าปิดไม่มิดอีกต่อไปแล้ว

ในเวลานั้น “เขา” เพิ่งอายุ 11 ปี เป็นนักเรียนมัธยมในโรงเรียนที่เมืองล่าเสี้ยว เมืองซึ่งห่างจากสมรภูมิต้างยานที่อยู่ทางทิศใต้ราว 130 กิโลเมตรเท่านั้น “เขา” คุยกับเพื่อนถึงเหตุการณ์สู้รบที่เกิดขึ้นที่ต้างยาน และเฝ้ามองออกไปนอกโรงเรียนว่าสักวันจะมีการสวนสนามประกาศชัยชนะของนักรบรัฐฉานในท้องถนนของเมืองล่าเสี้ยว แต่วันนั้นก็ไม่มาถึงสักที ดังนั้นอีก 10 ปีต่อมา หลังชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มัณฑะเลย์ “เขา” จึงได้ติดตามเพื่อนคนอื่นๆ เข้าไปหาคำตอบกับขบวนการปฏิวัติในป่า

“เขา” ผ่านขบวนการเรียกร้องอิสรภาพของรัฐฉานมาหลายยุคหลายสมัย เสมือนเป็นประจักษ์พยานเฝ้ามองยุคแยกตัว-ยุครวมตัว ยุคตกต่ำ-ยุครุ่งเรือง ของกลุ่มการเมือง กลุ่มกองกำลังต่างๆ ในรัฐฉานมาโดยตลอด โดยปัจจุบัน “เขา” พำนักอยู่ในประเทศไทยและได้ก่อตั้งสำนักข่าวฉาน (Shan Herald Agency for News – S.H.A.N.) เฝ้ารายงานสถานการณ์และความเป็นไปที่เกิดขึ้นในรัฐฉานให้โลกรับรู้

และเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา “ประชาไทภาคเหนือ” ถือโอกาสในช่วงครบรอบ 63 ปี วันชาติรัฐฉาน 7 กุมภาพันธ์ และ 63 ปี สัญญาปางโหลง 12 กุมภาพันธ์ สัมภาษณ์ “เขา” ผู้นี้ อาจารย์คืนใส  ใจเย็น บรรณาธิการสำนักข่าวฉาน ถึงสถานการณ์ในปีนี้ของรัฐฉาน และพม่าที่รัฐบาลทหารพม่าประกาศว่าจะให้มีการเลือกตั้งในปีนี้ และพยายามเปลี่ยนกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ลงนามเป็นหยุดยิงกับรัฐบาลให้กลายเป็นกองกำลังอาสาสมัครพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Forces - BGF) ในขณะที่กลุ่มหยุดยิงเองก็พยายามประวิงเวลาเรื่อยมา จนกลายเป็นสถานการณ์เขม็งเกลียวระหว่างกลุ่มหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า ขณะเดียวกันอาจารย์คืนใสประเมินทิศทางของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลพม่าในรัฐฉานซึ่งอาจารย์เห็นว่าการร่วมมือกันของชนกลุ่มต่างๆ ในรัฐฉานเป็นประเด็นที่สำคัญในอนาคต

000


คืนใส ใจเย็น บรรณาธิการสำนักข่าวฉาน

 

ขอให้อาจารย์วิเคราะห์สถานการณ์ที่รัฐบาลทหารพม่าประกาศว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในปีนี้ ในขณะเดียวกันก็บีบให้กองกำลังชาติพันธุ์ที่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่าเปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน หรือ BGF และเนื่องในโอกาสวันชาติรัฐฉาน อยากให้อาจารย์วิเคราะห์สถานการณ์ในปัจจุบันจนถึงเหตุการณ์ในอดีต

ถ้าจะพูดถึงเรื่องสถานการณ์สำหรับปีนี้ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ในสหภาพพม่า  ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึง “สัญญาปางโหลง” และ “การประชุมปางโหลง”

ในปี 1947 มีการประชุมปางหลวงครั้งที่ 2 การประชุมปางหลวงครั้งที่หนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อปี 1946 ในการประชุมครั้งแรกเมื่อปี 1946 สามารถจัดตั้งสภารัฐฉานที่เป็นคู่แข่งกับสภามุขมนตรีแห่งรัฐฉาน (Federated Shan States Council) ที่ทางอังกฤษเขาตั้งไว้

สภารัฐฉานที่ชาวรัฐฉานตั้งมาแข่งนี้ เขาเรียกว่า “Shan State Saophas Council” หรือ “SSSC” เขาจัดตั้งก่อนประชุม ที่เขา ที่ SSSC มามีบทบาทจริงๆ มามีตอนที่จัดประชุมปางหลวงครั้งที่ 1 สภานี้ต้องการให้ตัวแทนของประชาชนมาอยู่ร่วมด้วย

การประชุมครั้งที่ 2 มีความสำคัญก็คือ ทางฝ่ายอังกฤษเรียกร้องว่าเขาไม่ยอมรับในสภานี้ ดังนั้นในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ทางตัวแทนของประชาชนและตัวแทนเจ้าฟ้ารัฐฉานจึงร่วมกันประกาศต่อต้านอังกฤษ วันดังกล่าวจึงถือเป็นวันที่ทางประชาชนกับทางเจ้าฟ้าได้เป็นเอกภาพ ได้สามัคคีกันต่อต้านอังกฤษ ก็เลยได้รับการกำหนดว่าเป็นวันชาติ

ชาติ วันชาติ และธงชาติ ได้มีการกำหนดในการประชุมวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1947 ทางสภาเจ้าฟ้ารัฐฉานเขามาประชุมกันมีทั้งตัวแทนของประชาชนด้วยเข้ามาประชุมกัน แล้วมีมติว่าวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ให้เป็นวันชาติ แต่ก่อนถือเอาวันที่ 7 กันยายน เป็นวันชาติ แต่ตอนนี้ 7 กุมภาพันธ์ เป็นวันชาติ ธงชาติก็กำหนดวันนั้น เพลงชาติก็กำหนดวันนั้น เช่นกัน แต่สำหรับเพลงชาติเขามีหมายเหตุว่านี่เป็นเพลงชาติชั่วคราว แต่อย่างไรก็แล้วแต่ หลังจากนั้นก็ไม่มีโอกาสแก้ไขก็เลยใช้มาจนถึงบัดนี้ มีหลายคนที่ไม่ชอบ แต่ไม่มีโอกาสที่จะมาแก้

แต่วันที่ 8 ก.พ. ฝ่ายพม่า นำโดยอองซาน ก็มาถึงรัฐฉาน อองซานบอกว่า ได้กลับมาจากลอนดอน ได้ตกลงกับทางอังกฤษว่าภายใน 1 ปี พม่าก็ได้รับเอกราช แต่สำหรับไทใหญ่กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ก็ยังไม่แน่ใจ ขณะที่อองซาน พูดว่า ถ้าท่านจะต่อสู้โดยลำพัง คุณก็จะได้ต่อสู้อีก 2 ปี อีก 20 ปี หรืออีก 200 ปี ไม่สามารถคาดคะเนได้ แต่ถ้าหากว่าพวกท่านตัดสินใจที่จะมาร่วมมือเรา เราได้เอกราชเมื่อไหร่ พวกท่านก็จะได้เอกราชพร้อมกัน แต่เชื่อว่าท่านอาจจะมีความสงสัย อาจจะไม่ไว้ใจต่อพม่า ดังนั้นผมขอเสนอว่าเราให้มีสนธิสัญญาร่วมกัน ใครละเมิดสัญญาที่ทำไว้ร่วมกันก็คือคนที่ละเมิดกฎหมาย

จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ฝ่ายผู้นำต่างๆ ไม่ว่าทางคะฉิ่น ไทใหญ่ หรือชิน เห็นด้วยกับข้อเสนอของอองซาน จึงมาร่วมประชุมกันและวันที่ 12 ก็ได้มาลงนามสัญญากัน ใจความก็มี 3 ข้อ หนึ่ง รัฐต่างๆ ต้องมีสิทธิปกครองตนเองอย่างสมบูรณ์นี่เป็นอันดับแรก อันดับสองใช้ระบบประชาธิปไตย อันดับสามต้องมีสิทธิมนุษยชน อันนี้สำคัญที่สุด ถ้าไม่มีสามข้อนี้ ทางฝ่ายไทใหญ่ ชิน คะฉิ่นเขาก็คงไม่ร่วมมือกับพม่า แล้วก็อาจจะได้รับเอกราชเป็นอีกประเทศต่างหาก เหมือนกับทางมาเลเซีย ที่อังกฤษก็ให้เอกราชไปเอง รัฐฉาน รัฐคะฉิ่น ก็คงจะเป็นอย่างนั้น

แต่ในครั้งนั้น ผู้นำรัฐต่างๆ ก็ร่วมมือกับพม่าลงนามสัญญาปางโหลง แต่ทางฝ่ายพม่าก็ไม่ได้ปฏิบัติตามสนธิสัญญา สิทธิปกครองตัวเองไม่มี ประชาธิปไตยไม่มี สิทธิมนุษยชนไม่มี ละเมิดทุกอย่าง ละเมิดทุกข้อ ก็เลยมีการสู้รบกันจนถึงปัจจุบันนี้ 60 กว่าปีแล้ว

ปีนี้ ก็เช่นกัน พม่าเมื่อปี 2008 ได้ลงประชามติ และได้กำหนดรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่มีสิทธิปกครองตนเอง ไม่มีประชาธิปไตย ไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วก็ไม่ได้รับรองสิทธิมนุษยชนสักอย่าง แล้วจะให้พวกนี้ เข้าร่วมกับพม่า ได้อย่างไร แล้วก็สหภาพพม่าจะเป็นประเทศที่สงบสุขตลอดไปได้อย่างไร มันไม่มีทาง ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่มี ก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไป

 

มองว่ารัฐบาลทหารพม่าจะใช้การเลือกตั้งฟอกตัวเองหรือไม่

ถ้าเราเอาประชามติปี 2008 นี้เป็นตัวอย่าง ปี 2008 นี้มีไซโคลนนาร์กีส และทั้งๆ ที่ประชาชนได้ทุกข์ยากลำบากจากพายุไซโคลน รัฐบาลพม่าก็ยังจัดประชามติให้ได้ แล้วประชามติที่เขาจัดไป ก็ทำเป็นพิธีเท่านั้น ไม่มีประเทศไหนที่มียอดคนรับรองถึง 92.73 เปอร์เซ็นต์ ถ้าดูตัวอย่างแบบนี้ ปีนี้รัฐบาลทหารพม่าก็จะทำได้อยู่เหมือนกัน เขาก็จะทำเป็นพิธีนั่นแหละ และจากรัฐบาลทางพฤตินัย ก็จะเป็นรัฐบาลทางนิตินัย

 

มีความพยายามที่จะให้ มินโกนาย ได้รับการปล่อยตัว แล้วมีเงื่อนไขว่าให้รับรองการเลือกตั้ง แล้วจะปล่อยตัว เหมือนรัฐบาลทหารพม่าพยายามที่จะทำให้กลุ่มผู้นำนักศึกษาปี 1988 อย่างมินโกนาย ให้สงบปากสงบคำอย่าต่อต้านการเลือกตั้ง ส่วนรัฐชนกลุ่มน้อยก็พยายามเปลี่ยนเป็นกลุ่ม BGF หมด อาจารย์มองสถานการณ์นี้อย่างไร

ไม่เพียงแค่มินโกนาย ที่ได้รับการเสนอแบบนี้ ทั้งขุนทุนอู ผู้นำพรรค SNLD หรือพรรคสันนิบาตแห่งชาติรัฐฉานเพื่อประชาธิปไตย ถูกจับกุมเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ ปี 2005 ที่จำคุกที่เมืองปุเตา ที่ไทใหญ่เรียกว่า เวียงปู่เฒ่า รัฐคะฉิ่น ก็ได้รับการเสนอว่า คุณรับรองได้ไหมว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง ถ้าได้รับการปล่อยตัว ทั้งฝ่ายเจ้าขุนทุนอูก็ตอบว่าผมไม่สามารถรับรองได้ ก็เลยไม่ปล่อยตัวจนถึงบัดนี้ ถ้าได้รับการปล่อยตัวก็คงเป็นแบบนางอองซาน ซู จี ตราบที่ทางฝ่ายพม่า เขาไว้ใจว่าพวกนี้จะไม่มาเป็นอุปสรรคในการเลือกตั้ง เขาก็ต้องปล่อยตัวล่ะ มันเป็นอย่างนี้

สำหรับพม่า อุปสรรคตอนนี้มีอยู่หลายประการ การเลือกตั้งนี้ กว่าจะจัดได้ หนึ่ง ต้องมีการเตรียมการสำรวจประชากรให้เรียบร้อย คนที่มีสิทธิลงคะแนนเสียง มีเท่าไหร่ มีกี่คน ไม่สามารถกำหนดได้ แล้วก็เขตเลือกตั้งจะมีเขตกี่เขต อย่างน้อยสองเรื่องนี้ เขาไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว

ข้อสอง ก็มีปัญหาที่คาราซังอยู่กับประเทศบังกลาเทศ ถ้าดูตามข่าวต่างๆ ก็คงจะเรียบร้อยในไม่ช้า เนื่องจากทางฝ่ายจีนก็ไกล่เกลี่ย แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ กองกำลังทั้งสองฝ่ายก็ยังอยู่ตามชายแดน ยังไม่ถอน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็น่าติดตามอยู่

อีกอย่างหนึ่งก็คือเกี่ยวกับปัญหายาเสพย์ติด ปัญหายาเสพย์ติด ทางฝ่ายพม่า ก็ได้ตระหนักดีว่า มีประธานาธิบดีคนใหม่แล้วในสหรัฐ ถ้าประธานาธิบดีผู้นี้ยอมรับให้พม่าเข้าสู่ระบบการเงินของอเมริกาปัจจุบันนี้ พม่าจะกู้เงินเท่าไหร่ จากที่ไหน จากสถาบันการเงินไหนก็คงจะง่ายขึ้น ทำให้พม่าอยู่ยงคงกระพันไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น เมื่อช่วงที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชขึ้นมาใหม่ เขาพยายามมาแล้วครั้งหนึ่งแต่ไม่ได้ ตอนนี้เขาก็พยายามอีกครั้ง แต่ก็ยังอยู่ในบัญชีดำอยู่จนถึงบัดนี้ ยังไม่สำเร็จ

เขาก็เลย ตอนนี้เหลือแค่เรื่องทำให้กลุ่มหยุดยิงต่างๆ ให้กลายเป็นกลุ่มรักษาชายแดน หรือ Border Guard Forces (BGF)

ส่วน “ปิตูจี้ด” (กลุ่มกองกำลังอาสาสมัคร) ทางฝ่ายกองทัพพม่าเป็นคนจัดตั้งให้ อยู่ภายใต้กองทัพพม่า มีการจัดตั้งไว้แล้วส่วนใหญ่ แล้วก็มี กลุ่มอาสาสมัครอีกประเภทหนึ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ที่คุมกองกำลังตามชายแดนจะเป็น BGF แต่กลุ่มต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ตามชายแดนจะเรียกว่า Home Guard ก็เป็นกลุ่มรักษาดินแดน กลุ่มอาสาสมัครรักษาดินแดน จะเป็นแบบนั้น

 

รัฐบาลทหารต้องการเปลี่ยนกลุ่มหยุดยิง ให้เป็น BGF ด้วยเหตุผลใด

หมายความว่าเขาต้องทำให้กลุ่มหยุดยิงแต่ละกลุ่มมาอยู่ภายใต้กองทัพพม่าทั้งหมด แต่กลุ่มหยุดยิงต่างๆ ก็ยังไม่เห็นด้วย เขาบอกว่าเราทำสัญญาหยุดยิงก็เพื่อเจรจาเรื่องการเมือง การเมืองที่ข้อเรียกร้องทางการเมืองต่างๆ จนถึงบัดนี้ยังไม่ได้รับการพิจารณา ตราบใดที่ไม่ได้รับการพิจารณา ไม่สามารถตกลงกันได้ เราก็จะยืนหยัดในฐานะกลุ่มหยุดยิงต่อไป

 

ท่าทีของกลุ่มหยุดยิงเป็นอย่างไร ยิ่งเมื่อไม่นานมานี้ นายอูมินเอ่ง เลขาธิการกลุ่มหยุดยิงเมืองลา (NDAA) ถูกลอบสังหาร

เราต้องมาพูดถึงบทบาทของทางจีนบ้าง ก่อนที่ทางจีนจะเข้ามามีบทบาท ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับในข้อเสนอเรื่อง กลุ่ม BGF นี้ ก็เลยตึงเครียดมาจนถึงจุดระเบิด ทางฝ่ายจีนเข้ามาแทรกให้ทั้งสองฝ่ายให้ถอยคนละก้าว

ดังนั้น ทางฝ่ายว้า (UWSA) เป็นคนริเริ่มก่อน ว้าบอกว่าเรายอมรับในข้อเสนอ BGF ในทางหลักการ แต่ทางรายละเอียดขอแก้ไข รายละเอียดคือ ทางฝ่ายพม่าเสนอว่า ให้นายทหารพม่า 30 รายให้มาอยู่ในกองพันของเรา ในระดับของเรา แต่เราขอเสนอว่าให้นายทหารพม่ามาอยู่ระดับ บก. แต่อย่าให้อยู่ในกองพัน เขาถือว่าเขาถอยคนละก้าว พม่าไม่ยอมรับ บอกปัด แต่ก็ถอยคนละก้าวโดยที่แต่ก่อนเส้นตายอยู่ที่ตุลาคม ปี 2009 ก็กลายเป็นธันวาคม 2009

และเส้นตายนั้นก็ล่วงเลยมาแล้ว

แต่เรื่องเป็นอย่างนี้ ก่อนหน้าที่ทางฝ่ายเลขากลุ่มเมืองลาจะถูกลอบสังหาร ทางฝ่ายพม่ามีประชุมประจำ 4 เดือน เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน หลังจากประชุมเรียบร้อยไปแล้ว มีข่าวว่าพม่าออกคำสั่งให้แม่ทัพต่างๆ ให้ผูกความสัมพันธ์อย่างฉันมิตรกับกลุ่มหยุดยิงต่างๆ แต่ขณะเดียวกันในทางลับให้หาวิธีกำจัดผู้นำของเขา ข่าวนี้จริงแค่ไหนเราไม่ทราบ แต่วันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา อูมินเอ่ง เลขาธิการของกลุ่มเมืองลา NDAA ก็ถูกลอบสังหาร

ผลก็คือ ผลที่ทางฝ่ายพม่าหวังต้องการทำให้เมืองลากับว้าแตกแยกกัน ทางกลุ่มผู้สนับสนุนพม่ามีประกาศออกมาว่ารถของมือปืนอยู่ในโรงแรมของว้า ว้าเป็นเจ้าของอยู่ในเมืองลา อยากจะทำให้หลายฝ่ายสงสัยทางว้า

แต่ขณะเดียวกัน มันไม่เกิดเป็นผลอย่างนั้น อย่างเช่นกองทัพรัฐฉานภาคเหนือ (Shan State Army – North หรือ SSA-N) เขาก็ยังประชุมกันอยู่ช่วงนั้นที่บ้านไฮ อำเภอเกซี ในรัฐฉาน เพื่อที่จะหาคนสมัครเข้าเป็นกองกำลัง อส.รักษาดินแดน พม่าได้เสนอให้ SSA-N จัดตั้งกองกำลัง อส. รักษาดินแดน 3 กองพัน ก็ต้องมีอย่างน้อยเกือบ 900 นาย แต่จนถึงประชุมก็สามารถหาได้เพียง 200 กว่านาย

พวกเขาก็มาหารือว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ มีอยู่หลายฝ่ายมีนโยบายอ่อนข้อต่อพม่าอยู่ เห็นว่าเราไม่สมควรจะแข็งข้อต่อพม่ามาก แต่หลังจาก อูมินเอ่ง ถูกลอบสังหารมันก็เปลี่ยนไป หลายฝ่ายคนที่แต่ก่อนคิดว่าน่าจะอ่อนข้อกับพม่า หลายคนก็มาคิดว่า พม่าก็อ่อนข้อเท่าไหร่ยิ่งไม่ได้ ขนาดอูมินเอ่งอ่อนข้อต่อเขายังถูกลอบสังหาร ความคิดเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้น ดูแนวโน้มการขัดแย้งระหว่างกลุ่มหยุดยิงต่างๆ กับพม่าจะยืดเยื้อต่อไป และทางฝ่ายกลุ่มหยุดยิงไม่ว่าคะฉิ่น ไทใหญ่ หรือว้า เขาก็บอกว่า เราขอเจรจารัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง

 

เมื่ออาจารย์อธิบายความเป็นมาเรื่องสัญญาปางหลวง ที่มาของวันชาติรัฐฉานแล้ว คงเลี่ยงไม่ได้ต้องพูดเรื่องกลุ่มต่อต้านรัฐบาลพม่าในรัฐฉาน ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงโดยตลอด ตั้งแต่มีกลุ่มหนุ่มศึกหาญที่ตั้งขึ้นมาในปี 1958 ปี 1985 มีกองทัพเมืองไต (MTA) และต่อมาปี 1996 ก็วางอาวุธ จนกระทั่งมีกองทัพรัฐฉาน SSA ปัจจุบัน อยากให้อาจารย์ช่วยวิเคราะห์ว่าในอนาคตมีแนวโน้มว่าจะมีจุดเปลี่ยนของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าในรัฐฉานหรือไม่

สิ่งนี้เป็นฝ่ายที่ประชาชนไทใหญ่ และฝ่ายกองทัพรัฐฉาน SSA หวังว่าจะเป็นโอกาสเงินโอกาสทอง ที่กลุ่มต่างๆ จะมารวมกันอีกครั้ง ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เจ้ายอดศึก ประธานสภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State - RCSS) จึงเรียกประชุมที่ดอยไตแลง มันมีกลุ่มลาหู่ กลุ่มปะโอ และกลุ่มไทใหญ่หลายกลุ่มมาเข้าร่วมกัน และจัดตั้ง สภาคองเกรสแห่งรัฐฉานชั่วคราว ที่เรียกชั่วคราวหมายความว่า เพราะมันเป็นจุดเริ่มต้น เพราะในรัฐฉานมีกลุ่มอื่นๆ อีก เขาว่า “Provisional Shan State Congress” หรือ “สภาคองเกรสรัฐฉานเฉพาะกาล”

สภานี้มีกลุ่มว้าร่วมด้วยแต่เป็นกลุ่มเล็กคือ Wa National Organization (WNO) โดยสภานี้มี 4 กลุ่มเป็นหลัก คือ องค์กรปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ (Pa-O National Liberation Organization -PNLO) สหภาพลาหู่ประชาธิปไตย (Lahu Democratic Union - LDU) องค์กรแห่งชาติว้า (Wa National Organization – WNO) สภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State – RCSS)

แต่นอกจาก RCSS แล้ว กลุ่มอื่นๆ ก็ยังถือว่าไม่ใช่กลุ่มของชาวปะโอทั้งหมด กลุ่มของชาวว้าทั้งหมด และกลุ่มของลาหู่ทั้งหมด ดังนั้นสภาจึงเพิ่มคำว่า “Provisional” หรือเป็นการเฉพาะกาลเท่านั้น และหลังการประชุมก็ได้มีการเข้าไปเจรจากับกลุ่มอื่นๆ ทั้ง UWSA และ SSA-N

 

หมายความว่า สภาคองเกรสรัฐฉานเฉพาะกาล เข้าไปเจรจาด้วย

เข้าไปเจรจาด้วย ส่งตัวแทนไปเจรจาด้วย สิ่งเรื่องนี้ทางฝ่ายพม่าก็ทราบถึง พม่าเองก็เกรงว่ากลุ่มพวกนี้จะมารวมตัวกัน จึงเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ทางฝ่ายพม่ายังไม่รุก คือไม่ได้เปิดศึกกับกลุ่มหยุดยิงทั้ง SSA-N และ UWSA เหตุผลเป็นอย่างนี้

คือพม่าไม่เพียงแค่ห่วงเรื่องจีนอย่างเดียว แต่ห่วงเรื่องนี้ด้วย นี่เป็นประเด็นสำคัญมากๆ เขารู้ดีว่าถ้าว้า ไทใหญ่มาจับมือกัน อย่างน้อยกลุ่มต่อต้านก็สามารถยึดรัฐฉานภาคตะวันออกได้ เขาก็เป็นห่วงเรื่องนี้

และจนถึงบัดนี้ แม้ว่าได้กำหนดไว้ว่าเส้นตายสำหรับกลุ่มหยุดยิงที่จะเปลี่ยนเป็น BGF คือเดือนธันวาคม จนถึงบัดนี้รัฐบาลทหารพม่าก็ปล่อยไว้ และถ้าพม่าเปิดศึกเมื่อไหร่พวกนี้จะวิ่งมาหา SSA ดังนั้นเขาเลยไม่เปิดศึก เขาเลยหาวิธีอื่นกำจัด ทิศทางจะเป็นแบบนั้น

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ ทั้งฝ่ายกองทัพรัฐฉานที่ดอยไตแลงก็จะมีการประชุมตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. ถึงวันที่ 6 ก.พ. เขาได้มีการทบทวนถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ทำมาใน 1 ปีเศษ มีอะไรที่สำเร็จ มีอะไรที่ยังไม่สำเร็จเพราะอะไร แล้วก็ที่ไม่สำเร็จจะทำให้สำเร็จยังไง เขาจะพิจารณากันในสามวันนี้

 

ดูเหมือนเป็นภาวะที่คานอำนาจกันในรัฐฉาน

พม่าก็หาทางบ่อนทำลาย SSA-S แต่ขณะเดียวกันก็พยายามทำให้ UWSA และ SSA-N แตก

 

หลังกองทัพเมืองไต MTA วางอาวุธครั้งใหญ่ เหลือเพียง SSA-S เจ้ายอดศึก ในปี 2548 SSNA กลับมาร่วมด้วย ขนาดของกองกำลังเทียบเท่ากันหรือยัง

ยังครับ ยังไม่เท่า ผมคิดว่าความแข็งแกร่งอาจจะมากกว่าสมัย MTA (กองทัพเมืองไต) สมัยนั้นมีกองกำลัง 2 หมื่นกว่านาย กองทัพว้า UWSA ก็ยังไม่มากเท่า MTA พม่ายังยอมรับว่า MTA แข็งแกร่งที่สุด แต่ตอนนั้น MTA แข็งแต่ภายนอก แต่ภายในอย่างจุดยืนทางการเมือง อุดมการณ์ยังอ่อนอยู่ เลยทำให้มีการแตกแยก จนในที่สุดต้องสลายตัว MTA รวมกัน 10 ปี คือจากปี 1985 ถึง 1995 แต่ SSA ใต้ก่อตั้งมา 14 ปีแล้ว แม้ว่าพวกเขากำลังพลอาจจะน้อยกว่า  อาจมีน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของ MTA แต่เขาแข็งแกร่งกว่า

 

เส้นทางในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพยังอีกไกล หรือคืบหน้าเป็นขั้นเป็นตอน

ปัญหาใหญ่คือ การรวมตัวกัน เดี๋ยวนี้กลุ่มต่างๆ สามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยแข้งขาของตัวเอง แต่ว่าถ้าจะมารวมตัวกันแล้ว จะอยู่ได้อย่างนั้นไหม นี่ยังเป็นปัญหา เราจะรวมตัวกันอย่างไร รวมแบบที่อเมริกาเรียกว่า “Melting Pot” ใส่ในหม้อต้มแล้วทุกสิ่งจะสลายหมดเป็นอีกอย่างหนึ่งไหม ถ้าเป็นแบบนี้ทุกกลุ่มจะยอมรับได้ไหม

แต่เราไม่เอาแบบนั้น เราจะเอาแบบยำผักสลัด ผักกาดยังเป็นผักกาด เกลือยังเป็นเกลือ น้ำมันเป็นน้ำมัน มะเขือเทศเป็นมะเขือเทศ แต่มารวมตัวกัน อร่อยกว่า อยู่เป็นอิสระของใครของมัน เขาเรียกว่า เป็น “Salad Bowl” ไม่ใช่ “Melting Pot” ส่วนใหญ่เขาเลือก “Salad Bowl”

เพราะว่าว้าก็ไม่อยากจะให้เอกราชของว้าหายไป ปะโออย่างนั้น ไทใหญ่ก็อย่างนั้น มีการตั้งกลุ่ม แต่เรื่อง “Salad Bowl” พูดง่าย แต่ทางปฏิบัติยังเป็นปัญหา ผมหวังว่าการประชุมนี้ (การประชุมสภาคองเกรสรัฐฉานเฉพาะกาลในเดือนกุมภาพันธ์) จะสามารถหาคำตอบเรื่องนี้

 

ถ้าการเมืองในรัฐฉานยังไม่นิ่ง กลุ่มหยุดยิงยังไม่แปรสภาพเป็น BGF พวกโครงการที่รัฐบาลทหารพม่าจะเข้าไปทำในรัฐฉาน ทั้งเขื่อนท่าซาง กุ๋นฮิง หรือกุนโหลง เขาสามารถทำได้เลย หรือต้องรอให้การเมืองนิ่ง

การเมืองนิ่งหรือไม่นิ่งรัฐบาลทหารพม่าก็ต้องทำ อย่างโครงการสร้างรถไฟเขาก็ต้องการทำ เพราะเขาอยากควบคุมรัฐฉานทั้งหมด ถ้าควบคุมรัฐฉานได้ถือว่ารัฐอื่นๆ ไม่ต้องห่วง เขาคุมทั้งหมด เพราะเขาถือว่าเป็นรัฐที่เป็นกุญแจ

อย่างไรก็ตามฝ่ายต่อต้านต่างๆ คงหาวิธีกำจัดโครงการเหล่านี้ แทนที่จะกำจัดโดยลำพัง อาจต้องหาทางร่วมมือกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net