Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากนี้ไปถึงกลางเดือนมีนาคม คำว่า "สถานการณ์" และ "การปฏิวัติ" คงถูกพูดถึงบ่อยเป็นพิเศษในแวดวงการเมือง ด้วยเหตุอันเป็นที่เข้าใจได้

จึงน่าสนใจไต่ถามว่า วิชาการทางรัฐศาสตร์-สังคมศาสตร์พอจะช่วยให้แนวคิดความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้บ้างหรือไม่อย่างใด?


"สถานการณ์" ในมุมมองอันโตนิโอ กรัมชี
ในบรรดานักคิดแนวสังคมนิยมหลังมาร์กซ์ อันโตนิโอ กรัมชี ชาวอิตาลี (ค.ศ.1891-1937) ขึ้นชื่อว่าเป็นนักทฤษฎีการเมืองผู้เฉียบแหลมลุ่มลึกที่สุด

ความที่ถูกจอมเผด็จการฟาสซิสต์มุสโสลินีจับขังคุกอยู่ร่วม 10 ปีก่อนสิ้นชีวิต ทำให้กรัมชีมีเวลาเพ่งสมาธิพินิจใคร่ครวญทบทวนประสบการณ์และความรู้ทางการเมืองของตนและขบวนการอย่างพิสดารพันลึกแล้วจดบันทึกไว้


อย่างบันทึกเรื่อง "การวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ" (Antonio Gramsci, Selections from the Prison Notebooks, 1971, pp. 177-85)


เขาเสนอให้แยกแยะระหว่างสถานการณ์เชิงองค์รวม (organic) กับสถานการณ์ประจวบเหมาะ (conjunctural)


ขณะที่สถานการณ์เชิงองค์รวมหมายถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ระยะยาว, สถานการณ์ประจวบเหมาะมุ่งบ่งชี้ชุดของสภาพการณ์เฉพาะหน้าชั่วคราวต่างๆ ที่มาบรรจบกันและส่งผลกำหนดความเป็นไประยะสั้นในขั้นตอนหนึ่ง


ฉะนั้นวิกฤตการณ์เฉพาะหน้าทางการเมืองและเศรษฐกิจทั้งหลาย ถึงแม้จะแหลมคมรุนแรง หนักหน่วงก็ใช่ว่าจะเปลี่ยนสถานการณ์เชิงองค์รวมทางประวัติศาสตร์ไป

อย่างมากมันอาจสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้คำถามบางประการถูกหยิบยกขึ้นมาถามกันได้ในวงกว้างอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ทว่าปัจจัยชี้ขาดที่จะพลิกผันสถานการณ์เชิงองค์รวมได้นั้นจะเกิดขึ้นต่อเมื่อ กลุ่มพลังที่จัดตั้งกันพร้อมจะเข้าแทรกแซงเปลี่ยนแปลงสถานการณ์

ในความหมายนี้จะเห็นได้ว่าสถานการณ์การเมืองไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 เป็นต้นมายังจัดอยู่ในประเภทสถานการณ์ประจวบเหมาะ

ส่งผลเอื้ออำนวยให้คำถามบางประการโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับกองทัพ, ตุลาการ, องคมนตรี และสถาบันอื่นๆ ถูกหยิบยกขึ้นมาถามกันในวงกว้างอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

แต่จนแล้วจนรอดปัจจัยชี้ขาดที่จะพลิกเปลี่ยนสถานการณ์เชิงองค์รวม - กล่าวคือกลุ่มพลังที่จัดตั้งกันและพร้อมจะเข้าแทรกแซงผลักดันการเปลี่ยนย้ายอำนาจให้ลุล่วงไป - ก็ยังไม่ปรากฏชัดหรือทรงพลังเป็นปึกแผ่นเข้มแข็งและมีทิศทางแน่วแน่ชัดเจนพอ (เสื้อแดง)

ตรงกันข้ามกลับปรากฏกลุ่มพลังจัดตั้ง (เสื้อเหลือง) ที่เข้าแทรกแซงยับยั้งขัดขวางการเปลี่ยนย้ายอำนาจไม่ให้เกิดขึ้นอย่างทรงพลัง เป็นปึกแผ่นเข้มแข็งและแน่วแน่ชัดเจน จนอยู่หมัด!

ฉะนั้นในการสำรวจวิเคราะห์สถานการณ์เชิงองค์รวมต่อไปข้างหน้า คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพยายามตอบคำถามชุดหนึ่งเกี่ยวกับสัมพันธภาพทางอำนาจ ระหว่างกลุ่มพลังต่างๆ ในช่วงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์หนึ่งๆ เท่าที่ผมพอคิดออกก็มี เช่น : -

1) ใครคือกลุ่มพลังทางเศรษฐกิจสังคมใหม่? พวกเขาก่อตัวขึ้นอย่างไร?

2) ใครคือกลุ่มพลังทางการเมืองที่กุมอำนาจอยู่แต่เดิม? สถานภาพของพวกเขาเป็นเช่นใด?

3) ความคิดและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มที่มีแนวโน้มสุดขั้วสุดโต่ง - ทั้งในฝ่ายกลุ่มพลังใหม่และในฝ่ายกลุ่มอำนาจเก่า - เป็นเช่นใด? พวกสุดขั้วสุดโต่งทั้งสองข้างมีอิทธิพลผลกระทบมากน้อยเพียงใดและอย่างไร?

4) กลุ่มพลังสำคัญอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ในสังคมการเมืองมีความสัมพันธ์เช่นใดกับคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย? สรุปแล้วกลุ่มพลังเหล่านั้นมีแนวโน้มท่าทีเช่นใดในความขัดแย้ง?

5) ในกระบวนการเปลี่ยนย้ายอำนาจนั้น กลุ่มพลังใหม่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบอบการเมืองการปกครองไปได้แค่ไหนเพียงใด? และช่วงชิงอะไรมาได้บ้างในแง่ฐานะอำนาจและผลประโยชน์? มันเป็นไปสมดังอุดมการณ์หรือหลักนโยบายแต่แรกเริ่มของตนหรือไม่?

6) ในทางกลับกันกลุ่มอำนาจเก่าธำรงรักษาอะไรไว้ได้บ้างทั้งในแง่ระบอบและฐานะอำนาจผลประโยชน์เดิมของตน? พวกเขาสามารถควบคุมจำกัดการเปลี่ยนแปลง, ปรับตัวเองและชักนำกำกับระบอบใหม่ให้สอดรับและเปิดที่ทางแก่กลุ่มตนหรือไม่ อย่างไร?

เป็นต้น

คำตอบต่อชุดคำถามข้างต้นอาจช่วยให้พอมองเห็นเค้ารอยว่ากลุ่มพลังต่างๆ มีอยู่จริงหรือไม่แค่ไหนเพียงใด? พวกเขาเป็นใคร? และพลังศักยภาพของพวกเขามีเท่าใด?
 
"การปฏิวัติ" ในมุมมองแมกซ์ เวเบอร์
แมกซ์ เวเบอร์ (ค.ศ.1864-1920) ปรมาจารย์วิชาสังคมศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้วิจารณ์และเสริมเติมทฤษฎีวัตถุนิยมทางเศรษฐกิจของมาร์กซ์ด้วยทฤษฎีวัตถุนิยมทางการเมืองและการทหารของเขาเอง ได้นิยามรัฐสมัยใหม่ไว้ในปาฐกถาเรื่อง "การเมืองในฐานะอาชีพ" ณ มหาวิทยาลัยมิวนิก เมื่อปี ค.ศ.1918 ซึ่งกลายมาเป็นคำนิยามมาตรฐานของ "รัฐ" ในวิชารัฐศาสตร์ปัจจุบันว่า : -

"อย่างไรก็ตามทุกวันนี้เราคงต้องกล่าวว่า รัฐคือประชาคมของมนุษย์ที่อ้างสิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพโดยชอบธรรมภายในอาณาเขตหนึ่งๆ (ได้สำเร็จ)"

(From Max Weber : Essays in Sociology, 1946, p. 78)

มีเชื้อมูลสำคัญ 3 ประการอยู่ในคำนิยาม "รัฐ" ของเวเบอร์ข้างต้น :

1) สิทธิผูกขาดเหนือการใช้กำลังทางกายภาพหรือนัยหนึ่งการใช้ความรุนแรง

2) โดยชอบธรรม

3) ภายในอาณาเขตหนึ่งๆ

ดังนั้น หากนิยาม "การปฏิวัติ" ว่าหมายถึงการลุกขึ้นสู้ของคนกลุ่มหนึ่งเพื่อโค่นล้ม/ช่วงชิงอำนาจรัฐจากคนอีกกลุ่มหนึ่งแล้ว หนทางการปฏิวัติก็อาจเป็นไปได้ 3 ลักษณะ สอดรับกับเชื้อมูล 3 ประการข้างต้น ขึ้นอยู่กับว่าจะรวมศูนย์โจมตีลงไปที่ส่วนไหนขององค์ประกอบอำนาจรัฐ กล่าวคือ : -

1) ฝ่ายผู้ก่อการใช้ความรุนแรงสู้กับกลไกบังคับปราบปรามของรัฐเอาชนะมันด้วยการโค่นลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันได้สถาปนาความชอบธรรมใหม่ใดๆ ของฝ่ายตนขึ้นมาอย่างมั่นคง อย่างไรก็ตามหนทางนี้ใช้ได้ผลเมื่อคู่ต่อสู้เป็นรัฐที่อ่อนแอเท่านั้น

ตัวอย่างเช่นการปฏิวัติรัสเซียปี ค.ศ.1917 เป็นต้น
ในกรณีไทย การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ของคณะราษฎรน่าจะจัดอยู่ในข่ายนี้ได้

2) ฝ่ายผู้ก่อการพังทลายการผูกขาดอำนาจของรัฐโดยทำลายความชอบธรรมในการปกครองของรัฐลงเสียจนกระทั่งรัฐไม่สามารถใช้กำลังบังคับมาปราบปรามขบวนการต่อต้านรัฐได้

ตัวอย่างเช่นการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน ค.ศ.1978-79 ซึ่งไม่มีการสู้รบขนานใหญ่ กองทัพอยู่ในภาวะอัมพาต ขณะพระเจ้าชาห์และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศและระบอบราชาธิปไตยสิ้นสุดลง

ในกรณีไทย นึกหากรณีที่สอดรับตัวแบบนี้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ไม่ออก จะมากจะน้อยมักมีเชื้อมูลที่รัฐใช้กำลังรุนแรงปราบปรามฝ่ายผู้ก่อการมาผสมด้วยเสมอ

ทว่าหากลดเงื่อนไขลงเป็นว่ามีการทำลายความชอบธรรมของรัฐลงเป็นด้านหลักจนกระทั่งรัฐไม่สามารถใช้กำลังรุนแรงมาปราบปรามอย่างเต็มที่เต็มเหนี่ยวและฉะนั้นจึงถูกโค่นลงในที่สุดแล้ว ก็น่าขบคิดว่าพอจะนับการลุกขึ้นสู้เผด็จการทหารของนักศึกษาประชาชนเมื่อ 14 ตุลาฯ 2516 และการเคลื่อนไหวยึดทำเนียบรัฐบาล-ยึดสนามบินของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อโค่นรัฐบาลพรรคพลังประชาชนเมื่อปี พ.ศ.2541 ว่าเข้าข่ายนี้ได้หรือไม่?

3) ฝ่ายผู้ก่อการพังทลายการผูกขาดอำนาจของรัฐโดยตัดตอนอาณาเขตบางส่วนจากรัฐมาเป็น "เขตปลดปล่อย" ซึ่งกว้างใหญ่พอจะก่อตั้งอำนาจรัฐปฏิวัติขึ้นต่อต้านท้าทายรัฐเดิมได้ แล้วจึงค่อยๆ บั่นทอนบ่อนเบียนกำลังบังคับและความชอบธรรมของรัฐเดิมลงตามลำดับอย่างยืดเยื้อยาวนานจนประสบชัยชนะในที่สุด นี่เป็นแบบแผนการปฏิวัติทั่วไปของกองกำลังจรยุทธ์ทั้งหลาย

ตัวอย่างเช่นการปฏิวัติจีน ค.ศ.1928-49 รวมทั้งในยูโกสลาเวีย, คิวบา, นิการากัว ฯลฯ

ในกรณีไทย ความพยายามทำสงครามประชาชนที่ล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยระหว่าง พ.ศ.2508-2528 จัดอยู่ในข่ายนี้

ทว่าข้อคิดทางรัฐศาสตร์-สังคมศาสตร์เหล่านี้เป็นแค่เครื่องมือลองใช้ยึดกุมเข้าใจความจริง ไม่ใช่ตัวความจริงนั้นเอง กรณีความเป็นจริงมักจะสลับซับซ้อนยุ่งยากยุ่งเหยิงเลอะเทอะเละเทะ,ไม่เรียบๆ ร้อยๆ เข้ากรอบเข้าร่องเข้ารอยเข้าตามตรอกออกตามประตูดังแนวคิดทฤษฎีเป๊ะๆ เป็นธรรมดา

อาทิ กรณีการปฏิวัติเนปาล ค.ศ.1995-2006 นั้น พวกเหมาอิสต์เริ่มต้นเดินหนทางตัดตอนอาณาเขตของรัฐมาสร้างเขตปลดปล่อยขึ้นในชนบทป่าเขา (แบบที่ 3), แต่กลับลงเอยด้วยการปรับเปลี่ยนหนทางไปเข้าร่วมกับพันธมิตรพรรคฝ่ายค้านพามวลชนเดินขบวนประท้วงกลางเมืองทำลายความชอบธรรมของระบอบราชาธิปไตยเดิมลงจนกองทัพเนปาลสูญเสียขวัญกำลังใจและถอดใจในที่สุด (แบบที่ 2)

จึงควรใช้เครื่องมือการคิดเหล่านี้ด้วยความระมัดระวัง
 
 
 
....................................... 
หมายเหตุ  : เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนออนไลน์ 5 มีนาคม พ.ศ. 2553 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net