Skip to main content
sharethis

ชาวปกาเกอะญอบ้านแม่อมกิเฮ ศาลจังหวัดแม่สอดยกฟ้องคดีไร่หมุนเวียน หลังอัยการยื่นฟ้อง เผยศาลยกงานวิจัยไร่หมุนเวียนประกอบการพิจารณาคดี ระบุไม่ได้ทำลายป่า แต่เป็นรูปแบบการผลิตของชาวบ้าน

สำนักข่าวประชาํธรรม รายงานเมื่อ 8 มี.ค. นี้ว่า สืบเนื่องจากกรณีที่นางน่อเฮหมุ่ย เวียงวิชชา และนายนายดิ๊แปะโพ ชาวบ้านบ้านแม่อมกิ ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งเป็นชาวปกาเกอะญอ ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2552 ในข้อหาร่วมกันยึดถือ ครอบครองที่ดิน ตัด โค่น ก่นสร้างแผ้วถางป่า ทำประโยชน์ในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และความผิดต่อ พ.ร.บ.ป่าสงวน พ.ศ.2507 และพนักงานอัยการฟ้องจำเลยเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1770/2551 และ 1771/2551 ต่อศาลจังหวัดแม่สอด

รายงานข่าวแจ้งว่า เดิมในศาลชั้นต้นคดีดังกล่าวจำเลยได้รับสารภาพ คดีจึงไม่มีการสืบพยาน ประกอบกับขณะนั้นยังไม่มีทนายความให้จำเลยปรึกษา ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิด ลงโทษจำคุก 1 ปีโดยไม่รอการลงโทษ แต่เนื่องจากกระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีใหม่ ตามอุทธรณ์ของทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และในวันนัดสืบพยานจำเลยที่ผ่านมา มีตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนแม่อมกิและชุมชนใกล้เคียงมาให้กำลังใจจำเลยในการ ต่อสู้คดี อันถือเป็นคดีของชุมชน โดยเครือข่ายข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นและศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็ก และชุมชน รวมทั้งนักวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ได้ให้การช่วยเหลือคดีและสนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดแม่สอดพิพากษายกฟ้องจำเลย เพราะพยานฝ่ายโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ อีกทั้งข้อมูลจากงานวิจัยของนักวิชาการ ม.เชียงใหม่ ยืนยันชัดว่า การทำการผลิตของชาวบ้านดังกล่าวนั้นเป็นการผลิตในรูปแบบไร่หมุนเวียน และเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน ซึ่งไม่ได้เป็นการบุกรุกทำลายป่าตามที่มีการกล่าวหาแต่อย่างใด กรณีดังกล่าวศาลจังหวัดแม่สอดจึงพิพากษายกฟ้องจำเลย

นายเฉลิมชัย การมั่งมี เจ้าหน้าที่จากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชน องค์กรที่ทำคดีให้กับชาวบ้านในคดีนี้เปิดเผยว่า จากคำพิพากษาของศาลนั้น หลังจากพิจารณาแล้วศาลเห็นว่าน้ำหนักพยานของฝ่ายโจทย์ไม่น่าเชื่อถือเพราะ ว่าโจทย์ขัดแย้งกันเอง ระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้กับตำรวจ และทางฝ่ายชาวบ้านที่เป็นจำเลยนั้นมีอดีตนายอำเภอท่าสองยาง และ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี นักวิชาการคณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ที่ให้การมีน้ำหนัก ซึ่งอดีตนายอำเภอท่าสองยางยืนยันว่า บริเวณที่เกิดเหตุนั้นเป็นไร่หมุนเวียนที่ชาวบ้านได้ทำเอาไว้เดิมอยู่ก่อน หน้านี้อยู่แล้ว และตามมติ ครม.วันที่ 30 มิ.ย. 2541 ก็มีการอนุญาตให้ชาวบ้านสามารถใช้พื้นที่นั้นทำได้ นายอำเภอท่าสองยางคนเก่าจึงมีคำสั่งไม่ฟ้องชาวบ้าน แต่อัยการกลับมีคำสั่งฟ้อง

นายเฉลิมชัย กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของงานวิจัยของ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ซึ่งทำร่วมกับ ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธ์ นักวิชาการคณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่นั้น ได้งบประมาณมาจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศาลพิพากษาว่างานวิจัยชิ้นนี้เป็นที่น่าเชื่อได้ว่าระบบของการทำไร่หมุน เวียน ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ทำไม่ได้มีเจตนาที่จะทำลายป่า ศาลจึงมีคำพิพากษายกฟ้องชาวบ้าน โดยทางฝ่ายโจทย์มีเวลา 30 วันที่จะยื่นอุทธรณ์

 

นาย สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า การพิพากษาคดีนี้ศาลได้หยิบยกงานวิจัยเรื่องไร่หมุนเวียน ที่จัดทำโดยนักวิชาการคณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ที่นำโดย ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธ์ และ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี มาประกอบการพิจารณา และเชื่อว่าที่ดินที่มีปัญหานั้น เป็นที่ทำกินเดิมของชาวบ้าน คือชาวบ้านมีระบบการผลิตแบบไร่หมุนเวียน ซึ่งศาลก็รับฟัง ซึ่งก็คือที่ดินที่ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบไร่หมุนเวียนนั้น เป็นวิถีการผลิตของชาวบ้าน ซึ่งศาลก็ยอมรับ

อีกประเด็นคือ คำยืนยันของนายอำเภอแม่สอด ก็ตรงกับข้อมูลในงานวิจัย ที่ว่าที่ดินบริเวณดังกล่าว ชาวบ้านทำการผลิตแบบไร่หมุนเวียน ซึ่งงานวิจัยชี้ชัดว่าไร่หมุนเวียน เป็นระบบการผลิตที่ไม่ทำลายป่า เป็นรูปแบบการผลิตของภูมิปัญญาที่ชาวบ้านใช้มาแต่ดั้งเดิม ดังนั้นเมื่อศาลฟังได้ว่าจำเลยทำกินในที่ดินแปลงนี้ ซึ่งมีการเผา การทิ้งตอไว้ตามรูปแบบการผลิตไร่หมุนเวียน ก็เชื่อได้ว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาบุกรุกป่า และเชื่อว่าที่ดินบริเวณนั้นเป็นที่ทำกินเดิมของชาวบ้าน และมีมติ ครม.ผ่อนผันให้ชาวบ้านทำประโยชน์ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ชาวปกาเกอะญอในหมู่บ้านแม่อมกิ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เกิดเหตุนั้น ไร่หมุนเวียนในหมู่บ้านนั้นเหลือเพียงแค่ 3 แปลง ชาวบ้านจะทำไร่วนเวียนในที่ดินเดิม 3 แปลง ซึ่งลดรอบปีลง สภาพดินอาจจะฟื้นขึ้นมาไม่ทัน จากเมื่อก่อนไร่ของชาวบ้านมีอยู่ประมาณ 7-8 แปลง แต่ต่อมาถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับในข้อหาทำลายป่า จึงลดจาก 7 เหลือเพียงแค่ 3 แปลงเท่านั้น

อย่าง ไรก็ตาม หลังจากที่มีคำพิพากษาออกมาแล้ว ชาวบ้านก็ดีใจกันมาก และสบายใจ ที่การทำมาหากินแบบไร่หมุนเวียนที่เคยเป็นวิถีชีวิตของพวกเขา จะยังคงอยู่กับชาวบ้านอีกต่อไป.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net