Skip to main content
sharethis

วันนี้ (9 มี.ค.) สำนักข่าวประชาธรรมรายงานว่า ที่ห้องประชุมคณะนิเทศศาสตร์ ม.พายัพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ และคณะนิเทศศาสตร์ ม.พายัพ จัดเสวนา หัวข้อ "การชุมนุมนับแสนโดยสันติ : ข้อคิดและการจัดการ" โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้แง่คิดเกี่ยวกับการชุมนุม ที่กำลังจะเกิดขึ้นช่วงกลางเดือน มี.ค.นี้ และให้ความเห็นการชุมนุมสันติวิถี เพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย ซึ่งมีนักศึกษา ประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชน เข้าร่วมฟังเสวนาจำนวนหนึ่ง 

การเสวนาในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่กลุ่ม นปช.ประกาศชุมนุมครั้งใหญ่ โดยระดมคนเสื้อแดงนับแสน เพื่อกดดันให้รัฐบาลยุบสภา ซึ่งทางผู้จัดการเสวนามีความเป็นห่วง ว่าจะเกิดการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่อาจก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน จึงจัดเสวนาให้ข้อคิดและการจัดการชุมนุมโดยสันติขึ้น เพื่อเสนอมุมมองต่อการชุมนุมในครั้งนี้ 

อ.มารค ตามไท อาจารย์สถาบันเพื่อการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม ม.พายัพ กล่าวว่า ก่อนจะพูดถึงการชุมนุมในครั้งนี้ เราต้องมาดูก่อนว่าการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยเป็นอย่างไร การชุมนุมเป็นมากกว่าการใช้สิทธิ เพราะสิทธิเราถูกบัญญัติด้วยกฎหมาย แต่เมื่อการใช้สิทธิในขั้นตอนปกติไม่ได้ผล เราก็ต้องชุมนุมกดดันสังคมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ตามแนวคิดอุดมการณ์ของคนกลุ่มหนึ่ง เช่นการชุมนุมเรียกร้องสิทธิสตรีในระยะแรกนั้น เมื่อเรียกร้องให้ออกกฎหมายไม่ได้ผล จึงนำมาสู่การชุมนุมประท้วง จนเกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะต่อมา 

อ.มารค กล่าวต่อว่า ในทางตรงกันข้าม การชุมนุมบางอย่างที่ทำให้เกิดความรุนแรง ทำให้การชุมนุมเพื่อประชาธิปไตย หมดความชอบธรรมลงโดยตัวผู้ชุมนุมเอง หรือรัฐ หรือ Agenda อื่นๆ ดังนั้น เราไม่ควรปฏิเสธการชุมนุม แต่ทำอย่างไรให้การชุมนุมเกิดผลโดยสันติ ซึ่งคิดว่ามีเงื่อนไขอยู่สองอย่างคือ 1.ในการชุมนุมต้องปลอดอาวุธที่ร้ายแรง เช่น ปืน หรือาวุธสงคราม ทั้งฝ่ายชุมนุมและฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะอาวุธเหล่านี้ สามารถสร้างความสูญเสียได้ภายในหนึ่งวินาที 2.ปล่อยให้มีการชุมนุมเพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตย โดยไม่มองว่าการชุมนุมส่งผลกระทบอะไรแก่เรา

คำ ผกา นักเขียน คอลัมนิสต์ กล่าวว่า สันติวิธีเกิดขึ้นในสังคมที่มีความยุติธรรม ถ้าไม่มี สันติวิธีไม่มีทางเกิด ความยุติธรรมเกิดในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างปกติ สังคมไทยที่เป็นอยู่ตอนนี้คือสังคมที่ไม่ปกติ ความเป็นธรรมจึงไม่เกิด หรือสังคมเราไม่ เคยเป็นประชาธิปไตย หรือมีก็ในช่วงสั้น เพราะการเมืองเราถูกแทรกแซงจากสถาบันทหาร อมาตยา ฯลฯ อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เรื่องสันติวิธีเป็นสิ่งที่น่าคิดว่าจะใช้ไม่ได้กับสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า

อ.ณัฐกรณ์ วิทิตานนท์ นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ ม.แม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดง เริ่มต้นมาจากการต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหารปี 2550 โดย บก.ลายจุด จากนั้นก็ลุกลามแตกแขนงออกมาเป็นหลายกลุ่ม โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มคนที่ไม่เอารัฐประหารและไม่เอาทักษิณ 2.กลุ่มคนที่สนับสนุนคุณทักษิณ โดยขอให้ทุกอย่างย้อนกลับไปหลัง รัฐประหาร 2549 ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 และยอมรับสถาบันจารีตเดิม แต่ให้อยู่เหนือการเมืองขึ้นไป ซึ่งตนเชื่อว่าคนกลุ่มมีเยอะ และจะเป็นกลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมหลักในครั้งนี้  3. กลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยไม่ต้องการสถาบันจารีต ดังนั้นการมองคนเสื้อแดงไม่ควรมองอย่างเหมารวมว่าจะก่อให้เกิดความรุนแรง 

อ.ณัฐกรณ์ กล่าวต่อว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงในครั้งนี้ไม่ควรรีบร้อนหวังผล แต่เป็นสิ่งที่ควรอดทน เพราะได้ผ่านการต่อสู้จนจะถึงจุดแห่งการเปลี่ยนแปลง แม้การชุมนุมครั้งนี้จะไม่สามารถบรรลุผลได้ก็ตาม แต่สามารถชุมนุมครั้งต่อๆ ไปได้ จนกว่าจะบรรลุผล แม้การชุมนุมโดยสันติวิธีของไทย มักจะไม่ค่อยได้ผลเหมือนต่างประเทศก็ตามที

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า วินาศกรรมและความรุนแรง เริ่มจะถูกทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมโดยรัฐบาล หรือกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย พยายามทำให้การชุมนุม เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจของสังคม และหมดความชอบธรรมลง ซึ่งการชุมนุมนับแสนในครั้งนี้ จะทำโดยสันติวิธีได้ไหม ถ้ามองในมุมทฤษฎีกฎหมายของ จอห์น ลอว์ ที่ทำให้เราได้ข้อสังเกตว่า 1.ในประเทศที่มีความเป็นธรรมทางกฎหมายในระดับหนึ่ง (Nearly just society) มีแนวโน้มในการใช้สันติวิธีบ้าง เช่น ถ้าในพม่า ไม่มีความเป็นธรรมทางกฎหมาย ความรุนแรงย่อมเกิดขึ้นทันที ประท้วง กูยิง 2.ในสังคมที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย จะทำให้เกิดความยุติธรรมยากมากเพราะคนกลุ่มต่างๆ ย่อมมีจุดยืนในกลุ่มของตน ทั้งสองข้อนี้เราต้องคิดต่อว่าสังคมไทยเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

รศ.สมชาย กล่าวต่อว่า เงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความรุนแรง คือ 1.รัฐที่ทำให้การชุมนุมดูเหมือนว่ามีความรุนแรง จากนั้นใช้กำลังเข้าปราบปราม 2.ผู้ชุมนุมพยายามทำให้เหมือนว่าเป็นสงครามครั้งสุดท้าย การทำให้เป็นสงคราม ก็ต้องมีตัวที่อยู่หลังสงครามเสมอ คือ ศัตรู ถ้ามีศัตรูก็มีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรง ผู้ชุมนุมต้องเชื่อในสันติวิธี และต้องไม่เชื่อว่านี้คือสงครามครั้งสุดท้าย 3. สื่อควรสะท้อนภาพที่ใกล้เคียงความจริง ถามว่าสื่อเลือกข้างได้ไหม ตนว่าได้ แต่ต้องสะท้อนความจริงให้มาก ไม่ใช่บิดเบือน เมื่อสื่อบิดเบือน ความรุนแรงก็จะเกิด

รศ.สมชาย กล่าวต่อว่า ในสังคมไทยยังมีความหวังอยู่บ้างว่า เมื่อฝ่ายใดใช้ความรุนแรงฝ่ายนั้นจะถูกบีบจากสังคม นี่อาจจะเป็นจุดแข็งของสังคม การชุมนุมไม่ควรนำคนไปตายเพื่ออุดมการณ์การเมืองบางอย่าง ถ้าให้เลือกระหว่างอุดมการณ์กับคุณค่าชีวิตมนุษย์ คิดว่าคุณค่าชีวิตสำคัญกว่าด้วยซ้ำไป จากประสบการณ์ในช่วงพฤษภาทมิฬพบว่าคนที่ตาย ไม่ใช่คนชั้นกลาง หรือกลุ่มแกนนำ แต่คนที่ตายคือชาวบ้านตาดำๆที่เข้าร่วมชุมนุมกับเรา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการเสวนา มีการแลกเปลี่ยนเรื่องการชุมนุมโดยสันติวิธี มีผู้เข้าร่วมวงเสวนาคนหนึ่งกล่าวว่า การชุมนุมในประเทศไทยยังไม่มีบรรทัดฐานว่า ความรุนแรงอยู่ตรงไหน บางประเทศในยุโรปอย่างอิตาลีการใช้ ระเบิดขวดเป็นเรื่องธรรมดา เพราะไม่ทำให้ใครเสียชีวิต หรือบางประเทศเผายางรถยนต์ก็ถือว่าไม่ใช้ความรุนแรง เพราะทำไปเพื่อป้องกันแก๊สน้ำตา ดังนั้นสังคมไทยยังไม่มีมาตรฐานว่า ถึงแค่ไหนจะเรียกว่าความรุนแรง ซึ่งแน่นอนว่าสังคมแต่ละสังคมย่อมแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการสื่อสารต่อสังคมของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นๆ

ที่มาข่าว: http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n3_09032010_01
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net