Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 53 เวลา 12.00 น.ที่ชั้น 2 ห้องประชุม 1 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (ถนนสามเสน) เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศ หยุดใช้ความรุนแรง ซึ่งประกอบด้วย หลายองค์กรภาคีจะร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการหนึ่งเสียงไม่เอาความรุนแรง” และออกแถลงการณ์ห่วงใยต่อสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในวันที่ 12-14 มี.ค.นี้
       
โดย พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า อ่านแถลงการณ์ว่า “ตามที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จะจัดมีการชุมนุมในกรุงเทพมหานครในวันที่ 14 มีนาคม 2553 โดยเริ่มระดมคนจากทั่วประเทศให้เดินทางเข้ามาชุมนุมตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าอาจจะเกิดความรุนแรงขึ้นมาอีกครั้งนั้น เครือข่าย “หยุดทำร้ายประเทศไทย-หยุดใช้ความรุนแรง” ซึ่งได้ตั้งขึ้นมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 ร่วมกับกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ที่ไม่ต้องการเห็นความรุนแรงหรือความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นมาอีกในสังคมไทย จึงมีข้อเรียกร้องต่อทุกฝ่ายเพื่อให้สังคมไทยและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันระงับยับยั้งความรุนแรง ดังต่อไปนี้
       
1.ขอให้ทุกฝ่ายต้องไม่ใช้ความรุนแรง และให้อดทนต่อการยั่วยุ ซึ่งอาจทำให้เกิดความรุนแรง “การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาล และเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคง จึงต้องเคารพสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน การควบคุมการชุมนุมของรัฐบาลนั้นให้บังคับใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็น และเหมาะสมในการดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคม ที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ที่ควบคุมการชุมนุม ต้องไม่มีการติดอาวุธ โดยให้มีเฉพาะอุปกรณ์ป้องกันตัว และอุปกรณ์สำหรับควบคุมดูแลการชุมนุมเท่านั้น และผู้ชุมนุมจะต้องอยู่ในขอบเขตของการไม่ใช้ความรุนแรง และไม่มีอาวุธ ฝ่ายแกนนำการชุมชุมที่ยืนยันว่าจะไม่มีการใช้ความรุนแรงจะต้องควบคุมดูแลไม่ให้มีการพกพาอาวุธมาชุมนุม และผู้ชุมนุมต้องช่วยกันควบคุมดูแลซึ่งกันและกันไม่ให้มีใครใช้ความรุนแรง
       
2.รัฐธรรมนูญมาตรา 28 บัญญัติว่า “บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น” ผู้ชุมนุมจึงต้องไม่ใช้วิธีการที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น การชุมนุมโดยใช้วิธีการที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนคนอื่นๆ เป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้กระทำ ทั้งยังอาจจะนำไปสู่การกระทบกระทั่งกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนด้วย
       
3.สำหรับประชาชนกลุ่มต่างๆ ซึ่งอาจมีความจุดยืน หรือความเห็นทางการเมืองแตกต่างกับผู้ชุมนุมแต่ก็ควรใช้อดทนอดกลั้น มีสติยับยั้งต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นพลังเงียบต้องติดตามข่าวสารอย่างมีสติ อย่าได้เชื่อข่าวสารที่อาจนำสู่การใช้ความรุนแรงและประชาชนไม่ควรให้ความร่วมมือกับฝ่ายใดก็ตามที่ใช้ความรุนแรง
       
4.รัฐบาลและแกนนำผู้ชุมนุมต่างยืนยันว่าจะไม่มีการใช้ความรุนแรง เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ฝ่ายรัฐบาล และแกนนำผู้ชุมนุมจึงควรร่วมมือกันในการป้องกันไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเริ่มจากผู้ชุมนุม จากเจ้าหน้าที่ หรือจากบุคคลอื่นใด ในกรณีที่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นมา ขอให้รัฐบาลและแกนนำการชุมนุมร่วมมือกันคลี่คลายแก้ไขปัญหา โดยขอให้มีการต่อสายตรงถึงกันในการร่วมกันแก้ไขปัญหา
       
ด้วยเหตุนี้ เครือข่าย “หยุดทำร้ายประเทศไทย-หยุดใช้ความรุนแรง” และกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันแสดงพลังของสังคมไทยในการระงับยับยั้งความรุนแรงไม่ว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใดก็ตาม จึงขอเสนอแนวทางป้องกันแก้ไขความรุนแรงด้วยกันร่วมกันรณรงค์ “ไม่เอาความรุนแรง” ด้วยการใช้สัญลักษณ์ หรือข้อความต่างๆ ที่เป็นสันติวิธี และเป็นการเตือนสติทุกฝ่ายไม่ให้ใช้ความรุนแรง ได้แก่ การใช้ธงชาติ ติดที่หน้าบ้านหรือที่ทำงาน เพื่อขอให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักว่าเราอยู่ร่วมในประเทศเดียวกัน มีปัญหาต้องแก้ไขโดยไม่ใช้ความรุนแรงซึ่งเป็นการทำร้ายประเทศของเรา หรือใช้ สีขาว ใส่เสื้อขาว ผูกริบบิ้นขาว หรือใช้ ดอกไม้ หรือสัญลักษณ์ใดๆ ที่สื่อถึงสันติภาพ และการไม่ใช้ความรุนแรง และขอเชิญประชาชนที่เห็นด้วยกับ “การไม่เอาความรุนแรง” ร่วมกันรณรงค์ด้วยการส่งข้อความ “ไม่เอาความรุนแรง” ไปยังประชาชนกลุ่มต่างๆ เพื่อช่วยกันสร้างพลังของสังคมไทยในการระงับยับยั้งความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในครั้งนี้
      
       10 มีนาคม 2553”
       
สำหรับ รายชื่อองค์กรเครือข่าย ประกอบด้วย องค์กรภาคธุรกิจ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, หอการค้าไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ส่วนองค์กรสื่อประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทย, สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย, สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย, ชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
       
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย สมาคม อบต.แห่งประเทศไทย, สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ภาคประชาสังคม ประกอบด้วย เครือข่ายนักวิชาการไม่เอาความรุนแรง, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน, สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม, กลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง, คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย, ชมรมแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์เพื่อประชาชน, เครือข่ายประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้แต่อย่าใช้ความรุนแรง, สถาบันพระปกเกล้า, สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า, เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net