Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2497 ฮัจยีสุหลง บินอับดุลกาเดร์ และคณะรวม 4 ท่าน เดินทางไปยังจังหวัดสงขลาเพื่อเข้าพบผู้บังคับการหน่วยสันติบาล มีแต่คำบอกเล่าจากคนเฝ้ามัสยิดที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลาเท่านั้นที่ว่า เห็นบุคคลทั้งสี่ละหมาดที่มัสยิดตอนเที่ยงของวันของวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม โดยมีตำรวจพร้อมอาวุธครบมือควบคุมอยู่ จากนั้นฮัจยีสุหลงกับพวกก็หายสาบสูญไป
         
นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลาร่วม 56 ปีแล้ว โดยที่ไม่มีคำตอบใดๆ จากรัฐ ทว่าคำตอบในหัวใจของประชาชนในพื้นที่ก็คือ เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ!
         
เวลา 20.30 น.ของวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2547 สมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม เดินทางออกจากโรงแรมชาลีนา ในซอยมหาดไทย ย่านลาดพร้าว-รามคำแหง มีกลุ่มชายฉกรรจ์จำนวน 5-6 คนขับรถยนต์สะกดรอยตามเขาในระยะกระชั้นชิด ครั้นถึงบริเวณหน้าร้านแม่ลาปลาเผา เยื้องกับสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก รถที่ขับตามหลังได้ขับชนท้ายรถของทนายสมชาย เมื่อเขาหยุดรถเพื่อลงไปพูดคุย ก็ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ล็อคตัว และผลักเข้าไปในรถยนต์ของกลุ่มชายฉกรรจ์ จากนั้นก็พาตัวทนายสมชายหายไป
         
นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลางเมืองหลวงอันเป็นศูนย์กลางอำนาจของรัฐไทย แถมยังเกิดตรงข้ามกับสถานีตำรวจ และจากวันนั้นถึงวันนี้ ก็นับเวลาได้ 6 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีคำตอบจากรัฐเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใด
         
การถูกบังคับให้สูญหาย (disappeared) ของบุคคลทั้งสอง ชัดเจนว่าเป็นบุคคลที่ถือเป็นปฏิปักษ์ต่อการดำเนินนโยบายรักษาความสงบใน พื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย เริ่มตั้งแต่การลุกขึ้นมาใช้ “พื้นที่ทางการเมือง” ของฮัจยีสุหลง ซึ่งเป็นวิธีการอันก้าวหน้ามากที่สุดของการเมืองภาคประชาชนในยุคนั้น กล่าวคือเขาได้นำข้อเสนอต่างๆ ที่ได้มาจากมติการประชุมของกลุ่มตัวแทนประชาชนในปัตตานี นำเสนอเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาลกลางรวม 7 ข้อ (เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้องขอสิทธิปกครองตนเองบางระดับแก่คนมุสลิมใน จังหวัดชายแดนภาคใต้) แต่สุดท้ายสิ่งที่เขาและพวกได้รับก็คือ...ถูกกำจัด!
         
ข้อเสนอของฮัจยีสุหลง ซึ่งหลายคนเชื่อว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้อย่าง ยั่งยืน จึงเป็นได้แค่เพียงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และแม้วันนี้จะมีเสียงเรียกร้องจากท้องถิ่นว่าด้วยเรื่อง "เขตปกครองพิเศษ" หรือการจัดการปกครองท้องถิ่นรูปแบบใหม่เช่นกัน แต่รัฐบาลยุคปัจจุบันก็ไม่คิดใส่ใจหยิบยกให้เป็นประเด็นสาธารณะเพื่อให้เกิด ข้อถกเถียงอย่างกว้างขวาง เพื่อนำไปสู่แนวทางที่เหมาะสมและสมบูรณ์
         
ขณะที่ ทนายสมชาย นีละไพจิตร นักกฎหมายมุสลิมชาวหนองจอก ได้พาตัวเองเข้าไปสู่การเป็นทนายให้กับกลุ่มผู้ต้องหาคดีความมั่นคงจาก จังหวัดชายแดนภาคใต้ และล่ารายชื่อเพื่อเพิกถอนกฎอัยการศึก ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนใน พื้นที่ โดยอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ด้วยการล่ารายชื่อประชาชนจำนวน 50,000 ชื่อเพื่อยื่นเสนอต่อรัฐสภา
         
ถือว่าเป็นการท้าทายอำนาจรัฐอย่างตรงไปตรงมา อัดแน่นด้วยความเชื่อมั่นในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม!
         
กล่าวโดยสรุป การเคลื่อนไหวของ ฮัจยีสุหลง และทนายสมชาย แม้จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดอยู่บ้าง แต่ทั้งสองก็มีความเหมือนกันในเรื่องของสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็น มนุษย์ของผู้คนในท้องถิ่น ซึ่งรัฐไทยไม่เคยยอมรับหรือเข้าใจ
         
สิ่งที่น่าสลดและน่าสงสารก็คือ เจ้าหน้าที่รัฐบางคนบางกลุ่มกลับเลือกใช้วิธีการที่ไร้อารยะกับบุคคลทั้งสอง สะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้รัฐจะมีเครื่องมือทุกอย่างพร้อม แต่ก็ขาดความกล้าหาญในการเผชิญหน้ากับคนธรรมดาที่ไม่มีทั้งอำนาจและปืน
         
การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐนาวาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เขาเคยประกาศในช่วงที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ ว่า จะเร่งรัดและเอาจริงเอาจังกับคดีทนายสมชาย แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่เห็นเป็นรูปธรรม (อาจมีการพูดถึงความเอาจริงเอาจังอีกครั้งในวันที่ 12 มีนาฯ ในวาระครบ 6 ปีที่ทนายสมชายถูกบังคับให้สูญหาย)
         
การยอมรับความจริงอันเจ็บปวด หรือการเผชิญหน้ากับความความจริงอย่างกล้าหาญ ดูเหมือนจะยังไม่เคยเกิดขึ้นจากกลไกรัฐในสังคมไทย...
         
ท้ายที่สุดไม่ว่าระหว่างบรรทัดของการเมืองไทยจะจัดวางบุคคลทั้งสองไว้ในฐานะอะไร “กบฏ” หรือ “วีรบุรุษ” “ทนายโจร” หรือ “นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน” แต่ สำหรับผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ทั้งฮัจยีสุหลงและทนายสมชายจะเป็นตำนานเล่าขานของผู้คนในท้องถิ่นในฐานะ เหยื่อของอำนาจรัฐสืบไป
 
 

* บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน www.isranews.org

อ่านประกอบ :
- 6 ปีทนายสมชาย (1) กับบทเรียนคดีอุ้มหายที่กัวเตมาลา
http://www.isranews.org/isranews/index.php?option=com_content&view=article&id=228:6-1-&catid=10:2009-11-15-11-15-01&Itemid=3
- 6 ปีทนายสมชาย (2) บันทึกการต่อสู้ของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง
http://www.isranews.org/isranews/index.php?option=com_content&view=article&id=232:6--2--&catid=12:2009-11-15-11-15-38&Itemid=14
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net