ยุบสภา/เสนอ ‘วาระ’ ของฝ่ายตนให้ประชาชนเลือก คือสันติวิธีที่เป็นไปได้จริง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

'นักปรัชญาชายขอบ' ถาม สันติวิธีที่ตอบโจทย์ความเป็นประชาธิปไตย ต้องอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับความจริงที่ว่า เวลานี้สังคมเราเผชิญปัญหาขัดแย้งทางความคิดที่สำคัญอยู่สองเรื่อง

‘สันติวิธี’ ถูกเรียกร้องอีกครั้ง เมื่อตั้งเค้าปรากฏการณ์ชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดง ‘14 มีนา 53’ แกนนำของคนเสื้อแดงก็ยืนยันว่าจะใช้สันติวิธี รัฐบาลก็ประกาศว่าจะใช้สันติวิธี สังคมทั้งสังคมก็เรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้สันติวิธี

แต่เป็นสันติวิธีท่ามกลางการโหมประโคมภาพความรุนแรงของคนเสื้อแดงในเหตุการณ์จลาจลเมื่อสงกรานต์ปี 52 การสร้างกระแสความหวาดวิตกต่อความรุนแรงของคนเสื้อแดง และมือที่สามที่สี่ จนนำไปสู่การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงและกฎหมายรวม 13 ฉบับ เพื่อการจัดการกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง มีการใช้กำลังพลกว่า 50,000 คน ในการรักษาความสงบเรียบร้อย เฝ้าระวังสถานที่ราชการสำคัญๆ โดยเฉพาะ ‘โรงพยาบาลศิริราช’ อย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ

ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม สันติวิธีที่เรียกร้องกันท่ามกลางการโหมประโคมดังกล่าวนี้ มันคือสันติวิธีท่ามกลางการส่ง ‘สัญญาณ’ ให้สังคมหวาดกลัว ‘อันตราย’ ของคนเสื้อแดง ทำให้สังคมมองว่าคนเสื้อแดงเป็น ‘สัญญะคุกคาม’ ต่อความสงบสุขของประเทศ

หากสัญญาณที่ส่งออกไปนี้ มีเจตนาเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือต่อข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดงแล้วละก็ ในที่สุดการส่งสัญญาณดังกล่าวนั้นเองอาจกลายเป็นเงื่อนไขของความรุนแรงที่ไม่อาจคาดเดา!

ปัญหาที่สังคมควรตั้งคำถามคือ สันติวิธีมันมีความหมายที่ดีงามในตัวของมันเองอย่างเป็นอิสระจากเป้าหมายที่ชอบธรรมอื่นๆหรือไม่?

เช่น การที่รัฐบาลใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และกำลังพลจำนวนมหาศาลให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างละมุนละม่อม ไม่ใช้ความรุนแรงใดๆในการรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงจากคนเสื้อแดง หรือ มือที่สามที่สี่ โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลที่มีอำมาตย์และกองทัพหนุนหลัง อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นสันติวิธีที่ดีงามหรือไม่?

เพราะเมื่อใช้สันติวิธีเช่นนี้แล้ว รัฐบาลซึ่งมีที่มาไม่ชอบธรรม หรือรัฐบาลที่อำมาตย์และกองทัพหนุนหลังก็ยังคงอยู่ การดำเนินการไล่ล่า ‘ทักษิณ’ ที่ประชาชนชนจำนวนไม่น้อยให้การสนับสนุนก็ยังดำเนินต่อไป ความไม่เป็นธรรมหรือสิ่งที่เรียกว่า ‘สองมาตรฐาน’ ก็ยังคงอยู่ และคงอยู่อย่างตอกย้ำความรู้สึกของคนชั้นล่างที่ว่า ประทศนี้ไม่มีความเสมอภาคของ ‘1 คน = 1 เสียง’ อยู่เลย

ฉะนั้น ในบริบทความขัดแย้งปัจจุบัน เวลาเราเรียกร้องสันติวิธีจำเป็นด้วยหรือไม่ว่า สันติวิธีจะต้องตอบโจทย์ความเป็นประชาธิปไตยได้ด้วยอย่างจำเป็น

สันติวิธีที่ตอบโจทย์ความเป็นประชาธิปไตย ต้องอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับความจริงที่ว่า เวลานี้สังคมเราเผชิญปัญหาขัดแย้งทางความคิดที่สำคัญอยู่สองเรื่องใหญ่ๆ คือ

1. การต่อสู้เพื่อคืนความเป็นธรรมให้ ‘ทักษิณ’ เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หรือไปด้วยกันได้กับการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยหรือไม่?

2. รัฐบาลอภิสิทธิ์ที่อำมาตย์และกองทัพหนุนหลังเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย หรือมีความชอบธรรมหรือไม่?

ซึ่งปัญหาสองเรื่องนี้มีคนกว่าครึ่งค่อนประเทศคิดเห็นแตกต่างกัน จนนำมาสู่ปรากฏการณ์ ‘14 มีนา’ นี้ ทางเลือกที่ควรจะเป็นจึงอยู่ที่ต้องให้ประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้ตัดสินด้วยตัวของเขาเอง การยุบสภาเลือกตั้งใหม่จึงไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์แพ้ ‘ทักษิณ’ หรือคนเสื้อแดง แต่มันคือการเปิดประตูให้ทุกฝ่ายมี ‘ทางออก’ หรือให้ประเทศมีทางออก ให้ประชาชนทั้งประเทศสร้างทางเลือกใหม่ของเขาเอง

สื่อกระแสหลักชมคุณอภิสิทธิ์ว่าสามารถใช้ ‘วุฒิภาวะผู้นำ’ จัดการกับเหตุการณ์จลาจลเมื่อปีที่แล้วได้ และการชุมนุมของคนเสื้อแดงคราวนี้ก็จะพิสูจน์วุฒิภาวะผู้นำของคุณอภิสิทธิ์อีกครั้งหนึ่ง

แต่ผมเห็นว่า วุฒิภาวะผู้นำในบริบทปัญหาความแตกแยกทางความคิดดังกล่าวมานี้ไม่ได้อยู่ที่ความสามารถในการจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่อยู่ที่ความสามารถในการสร้าง ‘ทางออก’ ตามครรลองประชาธิปไตยให้แก่สังคมได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์

สถานการณ์ ‘14 มีนา’ อาจเป็นเพียงสถานการณ์เดียวที่คุณอภิสิทธิ์จะได้แสดงให้สังคมเห็น ‘วุฒิภาวะผู้นำ’ ในการสร้างทางออกตามครรลองประชาธิปไตยให้แก่สังคม คำตอบว่า ‘ไม่ยุบสภา’ เท่ากับคุณอภิสิทธิ์ยอมรับที่จะแบกภาระแก้ปัญหาความแตกแยกทางความคิดในสองเรื่องใหญ่ดังกล่าวแล้ว ซึ่งไม่มีทางที่คุณอภิสิทธิ์จะแก้ได้ นอกจากจะแก้ไม่ได้แล้วกลับจะเป็นการสร้างเงื่อนไขความรุนแรงที่อาจเป็น ‘ตราบาป’ ไปชั่วชีวิต

ปัญหาการแตกแยกทางความคิดที่ลึกซึ้งกว้างขวางเช่นนี้ ไม่มีใครหรือ ‘อภิชน’ กลุ่มใดๆจะแก้ไขได้หรอกครับ ทางออกที่ควรจะเป็นคือให้ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมกันแก้ไขด้วยการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ให้ทุกฝ่ายได้เสนอ ‘วาระ’ ของตนเองในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอย่างเต็มที่

แต่ละฝ่ายจะเอายังไงกับปัญหาทักษิณ ปัญหาอำมาตย์ ปัญหารัฐธรรมนูญ ปัญหาศาล ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ก็เสนอแนวทาง หรือนโยบายออกมาให้ประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้เลือก เมื่อ ‘เสียงส่วนใหญ่’ เอาอย่างไรก็ต้องยอมรับตามนั้น และหลังจากนั้นก็ตรวจสอบกันตามครรลองประชาธิปไตย

และควร ‘ตรา’ ไว้ด้วยกว่า การยุบสภาเพื่อให้ทุกฝ่ายได้เสนอ ‘วาระ’ ของตนเองให้ประชาชนเลือกนี่เอง คือแนวทาง ‘สันติวิธี’ ที่เป็นรูปธรรมที่สุดซึ่งตอบโจทย์ความเป็นประชาธิปไตย แฟร์สำหรับทุกฝ่ายที่มีความเห็นต่าง และเป็นแนวทางเริ่มต้นของการแก้ปัญหาการแตกแยกทางความคิดที่น่าจะได้ผลดีกว่าวิธีอื่นๆในขณะนี้

ว่าแต่ว่า รัฐบาลที่เรียกร้องสันติวิธี และทุกฝ่ายที่เรียกร้องสันติวิธี จะกล้า ‘เลือก’ และ ‘เรียกร้อง’ แนวทางสันติวิธีบนวิถีประชาธิปไตยดังกล่าวนี้หรือไม่?

หรือจะทนอยู่กับอำนาจที่ไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาความแตกแยก และอยู่อย่างไม่แฟร์กับวิจารณญาณในการตัดสินใจเลือกของประชาชนเช่นนี้กันต่อไป!

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท