The Ides of March และ ‘โภชนสติ’ จาก ป๋วย อึ๊งภากรณ์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อได้รับ ‘จดหมายไฟฟ้า – email’ จากเครือข่ายสื่อสารไร้พรมแดนของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เรื่อง Beware the Ides of March ทำให้ผมซึ่งเป็น ‘กบบ้านนอกในกะลากรุงเทพฯ’ เกิดความงงงวยอย่างยิ่งว่า มันคืออะไร ผมจึงต้องไปทำการบ้านเพื่อออกจาก ‘กะลากรุงเทพฯ’ ว่า Beware the Ides of March หมายถึงอะไร แล้วผมก็ได้คำตอบดังนี้

The Ides of March เป็นชื่อเรียกวันที่ 15 ของเดือน มีนาคม ตามปฏิทินของชาวโรมัน แต่เฉพาะคำว่า Ides นั้น เป็นคำใช้เรียกทุกวันที่ 15 ของเดือน มีนาคม พฤษภาคม กรกฎาคม และ ตุลาคม แต่สำหรับเดือนอื่นกำหนดให้ Ides เป็นวันที่ 13

The Ides of March ถือว่าเป็นวันไม่ดี เป็นอาถรรพ์ ไม่เหมาะสำหรับการตัดสินใจ หรือ การประชุมใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังถือว่า 15 มีนาคม เป็นวันที่อุทิศให้ ดาวพระอังคารเทพเจ้าแห่งการสงคราม โดยจะมีการเดินขบวนสวนสนามของบรรดาทหารทุกเหล่าทัพ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวันดังกล่าวด้วย

สาเหตุที่วันที่ 15 มีนาคม กลายเป็นวันอาถรรพ์ของชาวตะวันตก ก็เนื่องมาจาก เป็นวันที่ชาวโรมันเรียกว่า วันมรณะของจูเลียต ซีซ่าร์ - The Ides of March เรื่องมีอยู่ว่า สมัยที่อาณาจักรโรมัน อยู่ภายใต้การปกครองของ จูเลียส์ ซีซาร์ ในช่วงปลายรัชกาล เป็นยุคที่สภาพบ้านเมืองมีแต่ความแตกแยก ผู้คนถูกแบ่งออกเป็นค่ายต่างๆ หลายสีหลากกลุ่ม เช่น กลุ่มเสนาอำมาตย์ที่มีความมั่งคั่งจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง กลุ่มผู้นิยมระบบสาธารณรัฐ และ กลุ่มสมาชิกรัฐสภาที่ถูกซีซาร์ลดอำนาจลง ฯลฯ

ต่อมาในวันที่ 15 มีนาคม ปีที่ 44 ก่อนคริสตศักราช เหตุเกิดเมื่อ บรรดาเพื่อนสนิท และภรรยา กล่าวถึงคำทำนายของโหราจารย์ ที่เตือนซีซาร์ว่า อย่าออกจากบ้านไปประชุมรัฐสภาในวันนี้ แต่ ซีซ่าร์ ไม่เชื่อเพราะเป็นคนมีความมั่นใจในตนเองสูง

แต่เมื่อ ซีซ่าร์ เดินทางมาถึงหน้ารัฐสภา ก็กลับถูกบรูตุส (Brutus) ร่วมกับ คัสสิอุส (Cassius) เข้ารุมแทงซีซ่าร์ จนสิ้นใจตายที่ตรงบันไดหน้ารัฐสภา ก่อนจะได้เดินเข้าไปในที่ประชุมเสียอีก ซีซาร์ถูกรุมแทงทั้งหมด 23 แผล นอนตายจมกองเลือดโดยไม่มีโอกาสป้องกันตัวเอง เพราะตามกฎของโรมันนั้น ห้ามพกพาอาวุธเข้ารัฐสภา

และต่อมาคำว่า The Ides of March ก็กลายเป็นคำยอดนิยมในบทละครเรื่อง ‘จูเลียส ซีซาร์’ ของ เช็กสเปียร์ ที่ว่า ‘beware the Ides of March’ โดยในบททละครดังกล่าว มีการเขียนคำพูดสุดท้ายของซีซาร์ไว้ว่า Et tu Brute แปลว่า “บรูตุส เจ้าก็เอากับเขาด้วยหรือ” เพราะ บรูตุส เป็นบุตรบุญธรรมที่ซีซาร์ชุบเลี้ยงและอุ้มชูมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก สนับสนุนให้ได้ดำรงตำแหน่งใหญ่โตในบ้านเมือง แต่สุดท้ายซีซาร์ก็ไม่เคยคิดเลยว่า บรูตุส จะหันกลับมาฆ่าผู้มีพระคุณได้ลงคอ

ตั้งแต่นั้นมา คติความเชื่อเรื่อง The Ides of March จึงคงอยู่กับผู้ศึกษาประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ทั่วโลก มากระทั่งปัจจุบัน

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันนี้ คือ การสละราชสมบัติในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2460/ค.ศ.1917 ของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย พระสหายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งคนในสยามประเทศไทยมักจะเห็นฉายพระรูปคู่กันอยู่บ่อยๆ โดยหลังจากที่ทรงสละราชสมบัติแล้ว ก็ถูกจับและถูกปลงพระชนม์อย่างทารุณพร้อมด้วยพระราชวงศ์หลายพระองค์

ปัจจุบัน ชาวตะวันตกยังคงมีความเชื่อกันว่า หากมีการนัดชุมชุม จัดการประชุม หรือรวมตัวกันในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบ้านการเมืองในวันที่ 15 มีนาคมนี้ ประวัติศาสตร์อาจจะซ้ำรอยได้

ในห้วงเวลาที่สังคมสยามประเทศไทย กำลังวิตกกังวลอย่างมากกับเหตุการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ ขอนำข้อความจาก ‘จดหมายไฟฟ้า’ ที่ผมได้รับจากนักวิชาการ 2+1 ท่าน เพื่อเป็น ‘โภชนสติ – Food for Thought’ สองฉบับ ได้แก่

ฉบับที่ 1 จาก กัลยาณมิตรนักวิชาการ ท่านหนึ่งแห่งคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า

“ต้องขอสารภาพว่าอ่านข้อความที่ส่งต่อแล้วไม่สบายใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะน้ำเสียงของข้อความที่พยายามสร้างภาพให้การชุมนุมคนเสื้อแดงเป็นเสมือนอสูรร้าย โดยเฉพาะข้อความในย่อหน้าก่อนสุดท้ายที่ว่า

“ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ที่ตระเตรียมแผน ซ้อมกันก็หลายยกแล้ว จะจัดการอย่างไร จะปล่อยให้คนเหล่านี้ใช้กำลังปิดล้อม จนชาวบ้านเดือดร้อนกันหรือไม่ แล้วเมื่อปิดล้อมแล้วก็ไม่รู้ว่าจะก่อ เหตุอะไรขึ้นมากกว่านั้น”

ข้อความที่คัดมานี้ดูเหมือนจะทำหน้าที่กระพือความกลัวในหมู่ผู้อ่านและเรียกร้องอยู่กลายๆ ให้รัฐใช้อำนาจจัดการกับผู้ชุมนุมโดยเด็ดขาด ผมคิดว่าคนเสื้อแดงย่อมมีสิทธิที่จะชุมนุมทางการเมืองได้พอๆกับสมัยที่คนเสื้อเหลืองชุมนุมทางการเมือง

ก็น่าแปลกที่ในสมัยนั้นถึงขนาด พธม. ยึดทำเนียบ ปิดสนามบิน บุกสถานีโทรทัศน์ แต่เราก็ยังได้ยินเสียงเรียกร้องให้รัฐไม่ใช่ความรุนแรง

 แต่ในครั้งนี้เพียงคนเสื้อแดงประกาศจะชุมนุมโดยยังไม่ได้ทำอะไรเลย แต่กลับมีกระแสเรียกร้องให้จัดการกับพวกเขาโดยเด็ดขาด สงสัยว่าพวกคนเสื้อแดงไม่ใช่คนเหมือนคนเสื้อเหลืองหรืออย่างไรครับ 

ผมคิดว่าหากเรายังมีมโนสำนึกในความเป็นธรรมและขันติธรรมที่จะยอมรับความเห็นที่แตกต่าง 

เราไม่ควรนิ่งเฉยและปล่อยให้การโหมกระพือเพื่อปูทางไปสู่การใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมทางการเมือง

หาไม่แล้วเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ยินยอมพร้อมใจให้มีการใช้ความรุนแรงเข่นฆ่าผู้ชุมนุมทางการเมือง”

ขอจบด้วย ฉบับที่ 2 จาก ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่ว่า “ป๋วย อึ๊งภากรณ์-สันติประชาธรรม: วิธีที่จะนำไปสู่เป้าหมายหรือประชาธรรม กล่าวคือ จะต้องมีเสรีภาพ จะต้องมีภราดรภาพ จะต้องมีสมรรถภาพและจะต้องมีธรรมะนั้น วิธีการที่ดีที่สุด คือ สันติวิธี อย่าใช้วิธีรุนแรง ต้องพยายามที่จะใช้สติปัญญาของเราเป็นประโยชน์ แทนที่จะใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นธรรมชาติของสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ทำให้เกิดสิ่งที่เราต้องการ หวังว่า....จะคู่กันไปด้วยสันติประชาธรรม ขอบคุณ (ปาฐกถาในฐานะอธิการบดีฯ 13 มิถุนายน 2518)”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท