Skip to main content
sharethis

3 มีนาคม 2553
รบ.บังกลาเทศละเมิดสิทธิชาวโรฮิงยา
กลุ่มเพื่อสิทธิมนุษยชนของสหรัฐโจมตีรัฐบาลบังกลาเทศว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวมุสลิมโรฮิงยา โดยการกีดกันหน่วยงานเอ็นจีโอต่างๆที่เข้าไปช่วยเหลือด้านอาหารแก่ชาวโรฮิงยาที่อาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ  ที่ผ่านมารัฐบาลบังกลาเทศและชาวบ้านในพื้นที่บางส่วนบุกจับกุมและนำตัวไปกักขัง รวมถึงทำร้ายร่างกายชาวมุสลิมโรฮิงยา จนเป็นเหตุให้ชาวโรฮิงที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนไม่กล้าออกไปหางานทำนอกค่ายผู้ลี้ภัย ส่งผลให้ขาดแคลนอาหารอย่างหนัก  

ทั้งนี้นับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา มีเด็กเสียชีวิตไปแล้ว 50 คน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการขาดแคลนอาหาร นอกจากนี้ รัฐบาลบังกลาเทศยังสั่งห้ามชาวโรฮิงยาไม่ให้เดินทางออกนอกค่ายผู้ลี้ภัย แม้กระทั่งเดินทางไปซื้อของในตลาด

ผู้ลี้ภัยคนหนึ่งกล่าวว่า “หากพวกเราไม่มีสิทธิ์ที่จะรับความช่วยเหลือด้านอาหารจากหน่วยงานเอ็นจีโอ และไม่มีสิทธิที่จะทำงานได้ พวกเราก็คงไม่สามารถมีชีวิตรอดได้”(Narinjara/VOA)

4 มีนาคม 2553
แรงงานข้ามชาติพิสูจน์สัญชาติแล้วกว่า 850,000 คน
กระทรวงแรงงานของไทยระบุ มีแรงงานข้ามชาติมาขอยื่นพิสูจน์สัญชาติแล้วกว่า 850,000 ราย ขณะที่แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายกว่า 1.2 ล้านคนในประเทศไทย ที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้จะถูกผลักดันออกจากประเทศต่อไป ขณะที่กลุ่มฮิวแมนไรท์วอชระบุ แรงงานที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติเหล่านี้เสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิและถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างมากขึ้น (เอเอฟพี)
 

9 มีนาคม 2553
Burma VJ พลาดรางวัลออสการ์
ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Burma VJ “เบอร์ม่าวีเจ” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวอาชีพนักข่าวในพม่าและการประท้วงใหญ่ของพระสงฆ์ในพม่าเมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา พลาดรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดีในปีนี้ไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งรางวัลดังกล่าวตกเป็นของภาพยนตร์เรื่อง “The Cove”

จ่อซัว นักแสดงนำ Burma VJ กล่าวว่า เขารู้สึกผิดหวัง แต่เขาคิดว่าต้องทำงานให้มากกว่านี้เพื่อให้คนทั่วโลกได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในพม่า ขณะที่จ่อทู นักแสดงชาวพม่ากล่าวว่า แม้ Burma VJ จะพลาดรางวัลออสการ์ แต่ทีมงานทีมี่ส่วนร่วมก็ควรจะภูมิใจที่สามารถผ่านเข้าชิงรอบสุดท้ายได้ อย่างไรก็ตาม Burma VJ สามารถกวาดรางวัลจากเทศกาลหนังทั่วโลกได้แล้วกว่า 40 รางวัล ซึ่งถือเป็นภาพยนตร์สารคดีอีกเรื่องหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในรอบปีที่ผ่านมา (Irrawaddy) 
 
 
10 มีนาคม 2553
ทางการพม่าไฟเขียว  NLD เปิดทำการอีกครั้ง
รัฐบาลพม่าอนุญาตให้สำนักงานพรรคเอ็นแอลดีของนางอองซาน ซูจีในกรุงย่างกุ้งและทั่วประเทศที่มีอยู่กว่า 300 แห่งเปิดทำการอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการอนุญาตครั้งแรกในรอบ 7 ปี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพม่าได้ตัดสิทธิ์นางซูจีไม่ให้สามารถเข้าร่วมชิงชัยเลือกตั้งที่จะถึงนี้ พร้อมกดดันพรรคเอ็นแอลดีขับนางซูจีออกจากพรรคหากต้องการลงชิงชัยเลือกตั้ง

เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลพม่าประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้ง รวมถึงการออกมาประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามกฎหมายเลือกตั้งดังกล่าวระบุว่า ผู้ที่เคยต้องโทษจะไม่มีสิทธิ์สมัครลงเลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งการระบุดังกล่าวทำให้นักการเมืองหลายคนที่เคยต้องโทษหมดสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งนี้ หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า การเลือกตั้งในพม่าจะไม่น่าเชื่อถือหากนักโทษทางการเมืองและสมาชิกพรรคฝ่ายค้านยังถูกกีดกัน และถูกกุมขัง (เอพี)
 

12 มีนาคม 2553
ยาเสพติดจากรัฐฉานทะลักเข้าจีน
จำนวนผู้ติดยาเสพติดในจีนยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะมณฑลยูนนาน ซึ่งมีชายแดนติดกับพม่า จากรายงานของทางการจีนพบว่า เมื่อปีที่แล้วมีผู้ติดเฮโรอีนในพื้นที่ดังกล่าวเข้ารับการบำบัดกว่า 6 พันคน ซึ่งเป็นผลมาจากการทะลักของยาเสพติดจากฝั่งพม่าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้ป่วยเอชไอวีในกลุ่มของผู้ใช้ยาเสพติดในเขตมณฑลยูนนานเพิ่มขึ้นอีกด้วย ในขณะที่พม่ายังเป็นผู้ผลิตฝิ่นมากที่สุดของโลกรองลงจากอัฟกานิสถาน  (รอยเตอร์)
 

13 มีนาคม 53
คาดโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของพม่าใกล้แล้วเสร็จ 
แหล่งข่าวจากวิทยาลัยป้องกันประเทศ (Defense Services Academy - DSA) ในเมืองเหม่เมี้ยว มัณฑะเลย์ เปิดเผยว่า แผนการดำเนินการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 แห่งในเมือง Thabeikkyin ทางภาคเหนือของภาคมัณฑะเลย์ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 ใกล้จะแล้วเสร็จในอีกไม่ช้า ขณะที่รัฐบาลอ้างแผนพัฒนานิวเคลียร์ดังกล่าวมีขึ้นเพื่อต้องการใช้ในการวิจัยเท่านั้น
 
ชาวบ้านในพื้นที่ระบุ  ตั้งแต่มีการดำเนินการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในพื้นที่ พบเห็นชาวต่างชาติคล้ายคนจีนเข้าออกในพื้นที่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ชาวบ้านยังถูกห้ามไม่ให้เข้าไปใกล้พื้นที่ดังกล่าว
 
แม้ยังไม่ได้รับการยืนยันที่แน่ชัดว่า เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใกล้แล้วเสร็จหรือไม่ แต่ก็มีการคาดการณ์กันว่า แผนพัฒนาดังกล่าวน่าจะใกล้แล้วเสร็จพร้อมใช้งานแล้ว เนื่องจากเมื่อเร็วๆ นี้ มีรายงานว่า นายพลอาวูโสหม่องเอ ผู้นำหมายเลข 2 ของรัฐบาลพม่าได้เดินทางมาเข้าเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และนักวิจัยในพื้นที่
 
อย่างไรก็ตามรัสเซียได้ทำข้อตกลงที่จะให้การช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและการวิจัยพลังงานนิวเคลียร์ให้กับพม่าเมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลพม่าได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนกว่า 6 หมื่นนายเข้ารับการอบรมด้านเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการพัฒนานิวเคลียร์ในประเทศรัสเซียอีกด้วย  (Irrawaddy) 

รัฐบาลพม่าแบนข่าวการเลือกตั้ง
นักข่าวในพม่าเผยรัฐบาลพม่าสั่งห้ามสื่อในประเทศเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้ง กฎหมายเลือกตั้ง รวมถึงสถานการณ์ของพรรคเอ็นแอลดีที่นางอองซาน  ซูจี หัวหน้าพรรคถูกห้ามลงสมัครเลือกตั้ง ด้านบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในย่างกุ้งกล่าวว่า เขาได้สัมภาษณ์ความคิดเห็นของนักการเมืองจากหลายพรรคเกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้งที่เพิ่งประกาศไป แต่ถูกคณะกรรมการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลพม่าสั่งห้ามตีพิมพ์บทความดังกล่าว

ในขณะที่สื่อของรัฐต่างเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนจากรัฐบาลและการเลือกตั้งในด้านบวก นักข่าวในย่างกุ้งคนหนึ่งกล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้วมีทั้งพรรคที่สนับสนุนรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน การห้ามเผยแพร่ข่าวของพรรคฝ่ายค้าน จึงเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม 

ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าได้ตั้งคณะกรรมการเซ็นเซอร์ชุดพิเศษขึ้นมาเพื่อควบคุมการรายงานของสื่อในช่วงที่มีการเลือกตั้งโดยเฉพาะ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวจะส่งต้นฉบับของสื่อให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ก่อนมีการเผยแพร่  ที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์เอกชนถูกสั่งห้ามตีพิมพ์ไปหลายฉบับหลังคณะกรรมการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลตรวจสอบพบว่า มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในประเด็นที่อ่อนไหว
(Irrawaddy)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net