Skip to main content
sharethis

15 มี.ค. 2010 New Mandala สื่อที่นำเสนอมุมมองด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และติดตามสถานการณ์การเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง ได้นำเสนอบทความที่ชื่อว่า "ซอยสีแดง เมืองสีแดง : ข้อคิดเห็นอย่างคร่าว ๆ จากท้องถนน" (Red soi, Red city: A brief commentary from the streets) โดย มาร์ค เอสคิว นักวิจัยด้านมานุษยวิทยา จากภาควิชาปรัชญา. มานุษยวิทยา และสังคม มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น

เอสคิว เป็นผู้ที่มาอยู่ในเมืองไทยเพื่อทำวิจัย และมีโอกาสได้รับรู้เรื่องราวการเมืองของกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดง โดยเขาพักอาศัยอยู่ในซอยที่มีกลุ่มคนสนับสนุนเสื้อแดงอาศัยอยู่จำนวนมาก ในบทความชิ้นนี้เขาก็มีโอกาสได้นำเสนอภาพชีวิต บรรยากาศ และข้อคิดเห็น จากกลุ่มคนเสื้อแดงในซอย และจากประสบการณ์ที่เขาได้ร่วมขบวนกับคนเสื้อแดงไปชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้า วันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา

0 0 0

มีนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ในตอนนี้พยายามวิเคราะห์ว่า การเดินขบวนของคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯ จะปิดเกมไปแบบไหน บ้างก็คาดเดาว่ามีความเป็นไปได้ที่ความรุนแรงจะเกิดขึ้น แต่ก็มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มสนับสนุนเสื้อแดงที่เป็นคนธรรมดาเดินดิน

นี่เป็นแบบฉบับตายตัวของทั้งนักข่าวและนักวิชาการ แม้ว่าในรายงานบางชิ้นของบางกอกโพสท์ในช่วงนี้จะพูดถึงคนเสื้อแดงทั่วไปและแรงจูงใจที่ทำให้พวกเขาต้องเดินทางเข้ามาประท้วงในกรุงเทพฯ วันที่ 14 มี.ค. ซึ่งขัดกับท่าทีการรายงานข่าวของพวกเขาเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สือโทรทัศน์ของไทย (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสื่อรัฐ) มุ่งเน้นไปทีเรื่องโอกาสในการเกิดความรุนแรง เช่นเดียวกับท่าทีการนำเสนอของสื่อสิ่งพิมพ์ไทย-เทศ ผมจึงขอเขียนเรื่องราวเชิงพรรณาที่เป็นเสมือนบางส่วนของ 'เนื้อบนท่อนกระดูก' ของเสื้อแดงที่ถูกดูดกินไป และเพื่อให้ผู้อ่านได้รู้สึกใกล้ชิดกับเหตุการณ์ปัจจุบันที่กำลังคลี่คลาย

มันถือเป็นบทนำก่อนการนำเสนอเรื่องราวอันน่าตื่นเต้นจากนักข่าวสนามอย่าง นิก นอสติทซ์ (Nick Nostitz) ซึ่งในขณะที่ผมกำลังเขียนอยู่นี้ เขาก็ออกย่ำไปตามท้องถนนกรุงเทพฯ

มุมมองจากงานเขียนชิ้นนี้ของผมมาจากการที่ผมบังเอิญได้อยู่ในช่วงที่กำลังมีการเผชิญหน้ากันในเมืองไทย ทั้งช่วงเดือนตุลาคม 2008, มีนาคม 2009, และอีกครั้งในเดอนมีนาคม 2010 นี้เอง จากโดยปกติแล้วผมอาศัยอยู่ในพื้นที่สีแดงทางภาคใต้ของไทย ซึ่งเป็นพื้นที่วิจัยของผมเอง

ในตอนที่ผมอยู่ในกรุงเทพฯ ผมมักจะพักอาศัยอยู่ในเกสท์เฮาส์เล็ก ๆ ในซอยที่ "แดง" กันตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2008 เมื่อคนในละแวกนั้นแสดงความโกรธต่อการที่เสื้อเหลืองเผชิญหน้ากับตำรวจที่หน้ารัฐสภา เป็นบทโหมโรงก่อนการสิ้นสุดของรัฐบาลสมชายในอีก 2 เดือนต่อมา

ตั้งแต่เด็กเสิร์ฟร้านอาหาร, ครอบครัวที่ทำกิจการร้านอาหารเล็กๆ , ช่างทำผม, ตัวแทนสำนักงานท่องเที่ยว, คนทำงานซักอบรีด, ตัวแทนจำหน่ายหนังสือพิมพ์, คนขายหวย, คนขับแท็กซี่ ไปจนถึงมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ทุกคนล้วนต่อต้านรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และมองว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม

เจ้าของเกสท์เฮาส์ที่ผมพักอยู่ (ผมจะเรียกเธอว่า 'แดง') เป็นคนมาจากจังหวัดเลย แดงเข้าร่วมชุมนุมใหญ่ของเสื้อแดงตั้งแต่ช่วงต้นปี 2009 เป็นต้นมา เช่นเดียวกับมอเตอร์ไซค์รับจ้างหลายคนที่อยู่ปากทางเข้าเกสท์เฮาส์ รวมถึงผู้หญิงอีกหลายคนที่ทำงานในบาร์เบียร์ของแดง ในแถบนี้หนังสือพิมพ์ผู้จัดการของกลุ่มเสื้อเหลืองขายไม่ออกเลย ตัวแทนจำหน่ายงดรับผู้จัดการมาตั้งแต่สองปีที่แล้วเพราะไม่มีคนซื้อ ผิดกับสิ่งพิมพ์ของคนเสื้อแดง

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ในซอยเริ่มมีบรรยากาศเดียวกับตอนสงกรานต์ที่เกิดเหตุวุ่นวายเมื่อปีที่แล้ว คนขับแท็กซี่และคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างคลี่ธงและผ้าแดง สวมใส่เสื้อแดงกันอีกครั้ง นับตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 11 มี.ค. ซอยเงียบสงบอย่างเห็นได้ชัด มีการสัญจรไปมาน้อย คนขับแท็กซี่ไปร่วมกับกลุ่มเสื้อแดงที่ใจกลางเมือง คนส่วนใหญ่ในซอยนี้ไปที่บางนา จุดรวมพลทางฝั่งตะวันออกเพื่อรอรับคนที่จะเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ จากพัทยาและชลบุรี มีบางครั้งที่จะได้ยินเสียงรถกระบะหรือรถแท็กซี่แล่นผ่านซอยพร้อมโบกป้าย 'ความจริงวันนี้' ผืนใหญ่

ผมไม่มีเวลาพอจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับความเห็นที่หลากหลายของผู้สนับสนุนเสื้อแดงในซอยนี้ ถ้าให้พูดคือ มุมมองของพวกเขาสามารถย่อยโดยคร่าวๆ ให้เป็นประโยคที่เสริมภาพการชุมนุมในตอนเช้าและบ่ายของวันที่ 14 มี.ค. ได้ คนเหล่านี้ไม่ว่าเขาจะเป็นสมาชิกผู้มีบัตร นปช. หรือเป็นแค่ผู้สนับสนุนก็ตาม ความเห็นของพวกเขาถูกจำแนกออกมาได้ดังนี้

- พวกเขาเห็นด้วยกับการยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งถือเป็น "การคืนอำนาจให้ประชาชน"

- พวกเขาเห็นว่าสื่อและสิ่งพิมพ์ของไทยเชื่อถือไม่ได้เรื่องความเที่ยงตรงในการนำเสนอเสื้อแดง ตรงกันข้าม พวกเขาเชื่อสื่อต่างชาติมากกว่า เพราะคิดว่าสื่อต่างชาตินั้น "รู้ว่าจริง ๆ แล้วมีอะไรเกิดขึ้น" ในประเทศที่ขั้วอำนาจทางการเมืองมีการเผชิญหน้ากัน

- พวกเขาปฏิเสธข่าวที่ว่า มีคนรับเงินเพื่อเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งมักถูกนำเสนอในสื่อฝ่ายตรงข้าม

น่าสนใจว่า ผู้สนับสนุนเสื้อแดงในซอยแห่งนี้ไม่เคยพูดถึงกรณีที่ศาลสั่งยึดทรัพย์อดีตนายกฯ ทักษิณ ว่าเป็นจุดประสงค์ของการชุมนุมในครั้งนี้เลย

 

ภาพส่วนหนึ่งจากบทความใน New Mandala

 

รูปเหล่านี้เป็นรูปที่ได้จากการชุมนุมในช่วงเช้าของวันที่ 14 มี.ค. ที่ผมออกมาจากซอยพร้อมกับกลุ่มมอเตอร์ไซค์กลุ่มหนึ่งที่มีแดงและเพื่อนของเธอด้วย พวกเรามุ่งไปยังสถานที่ชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้า ถนนราชดำเนิน หลังจากที่เราออกจากปากซอย พวกเราก็เข้าสู่ถนนสุขุมวิท แล้วพบว่า พวกเราอยู่ท่ามกลางรถบรรทุกและมอเตอร์ไซค์ที่นำกลุ่มคนเสื้อแดงไปยังสถานที่ชุมนุมเช่นกัน

สิ่งที่น่าสนใจมากคือ การที่กลุ่มคนที่เดินอยู่ข้างทางของถนนสุขุมวิท เพลินจิต และพระราม 1 พากันตะโกนทักทายคาราวานคนเสื้อแดง ผมจำได้ว่ามีผู้หญิงขายดอกไม้คนหนึ่งนอกศาลพระพรหมเอราวัณยืนส่งยิ้มพร้อมโปรยกุหลาบสีแดงให้กับรถบรรทุกที่แล่นผ่าน

ในที่ชุมนุมเต็มไปด้วยบรรยากาศของงานฉลอง แม้ตอนกลางวันจะร้อนมาก ที่สุดถนนหลานหลวง กลุ่มการ์ดเสื้อแดงที่ใส่ชุดสีดำยืนเป็นแนวกั้นยื่นน้ำให้กับผู้ที่เข้าร่วม คนกลุ่มใหม่ ๆ ที่เข้ามาในพื้นที่ทั้งจุดนี้และจุดอื่น ๆ พากันส่งเสียงเชียร์อย่างสุดหัวใจ ราวกับการรวมตัวกันของกองทัพ ในซอยเลยจากสะพานผ่านฟ้าไป มีเวทีกลางตั้งอยู่ รวมถึงมีหน่วยรักษาความสงบในชุดปราบจลาจลยืนเรียงแถวกันดูคล้ายหน่วยรบพิเศษในหนังสตาร์วอร์ส (Star Wars) พวกเขาต้องพยายามอย่างมากในการทำหน้าตาขึงขึงขณะที่กลุ่มเสื้อแดงนำน้ำมาให้และพูดแสดงความห่วงใย

หลังจากที่รู้สึกเพลียจากความร้อน ผมก็ออกจากที่ชุมนุมในช่วงบ่ายโมงครึ่ง สิ่งที่กลุ่มเสื้อแดงต้องการจริง ๆ จากการชุมนุมที่มีคนมาร่วมมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะยังคงยืดยาวไปอีกสองสามวันถัดไปคืออะไรกัน แน่นอนว่าสิ่งที่พวกเขาแสดงออกให้เห็นคือ การล้มรัฐบาลอภิสิทธิ์หรือให้เกิดการยุบสภา แม้จะดูเป็นไปได้ยาก แต่ก็ถือว่ามีเหตุผลมากพอในการชุมนุม

วีระ มุสิกพงศ์ ย้ำถึงเรื่องจุดประสงค์ดังกล่าวผ่านเวทีปราศรัย จตุพร พรหมพันธุ๋ เน้นเรื่องการให้ความสำคัญกับความสงบและวินัยในการชุมนุมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรง ข้อเรียกร้องให้มีการยุบสภานั้นถูกพิมพ์ลงบนกระดาษและเสียบตรงที่ปัดน้ำฝนบนรถที่เข้ามาในบริเวณ

ในการชุมนุมทางการเมืองทุกครั้งจะต้องมีการคอยกระตุ้นย้ำถึงวัตถุประสงค์การชุมนุม ในตอนที่พวกผมเข้าไปที่เวที วีระกำลังประกาศเส้นตายในการให้รัฐบาลยุบสภาภายใน 24 ชั่วโมง จตุพรกล่าวว่า ในวันต่อไปจะมีการล้อมสถานที่ราชการสำคัญ ซึ่งอาจนำไปสู่การปะทะกันได้ แต่อย่างไรก็ตามการชุมนุมกันในวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ถูกห้อมล้อมไปด้วยบรรยากาศของงานเทศกาล มากกว่าท่าทีแบบเผชิญหน้า...ซึ่งดูจะใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ

 

ที่มา
Red soi, Red city: A brief commentary from the streets, New Mandala, Marc Askew, 15-03-2010

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net