บันทึกสีแดง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

รูป 1 คนขับรถแท็กซี่เปิดประตูลงมาจากรถขณะติดไฟแดง เพื่อให้กำลังใจพวกเราขณะเดินผ่านแยกประตูน้ำ

รูป 2 สาวสวยมาร่วมเดินขบวนอย่างไม่กลัวร้อนเพื่อประกาศว่าคนกรุงเทพฯอย่างฉันอยู่เคียงข้างพี่น้องเสื้อแดง

 

รูป 3 ถึงไม่ได้ร่วมเดินขบวน แต่ก็ขอเป็นกำลังใจให้

 

รูป 4 รอยยิ้มและน้ำใจเล็กๆน้อยๆระหว่างทางที่มีค่ามหาศาล

 

รูป 5 เสื้อแดงสู้ๆ

 

รูป 6 คุณป้าในรถเก๋งคันโตหยุดรถให้กำลังใจพวกเราและขอใบปลิวไว้ช่วยแจกต่อ

 

รูป 7 อาจารย์ยิ้มเดินรั้งท้ายขบวน แดดร้อนแค่ไหนก็สู้ไม่ถอย

 

รูป 8 ต้อนรับขบวนพวกเราขณะเลี้ยวเข้าหัวมุมสยามฯ

 

รูป 9 บังเอิญเจอกองทัพเสื้อแดงที่วิ่งผ่านอีกฟากถนน ต่างคนต่างดีใจกันใหญ่

 

รูป 10 เริ่มอ่านแถลงการณ์

 

รูป 11 “สยาม”

 

รูป 12 แดงละลานตา

 

รูป 13 ขอใบปลิวด้วยคนค่ะ

 

รูป 14 ผู้คนที่เดินผ่านไปมาบริเวณทางขึ้นรถไฟฟ้า BTS เข้ามาพูดคุยและขอใบปลิวด้วยความสนใจ (สาวสวยสองคนทางซ้ายมือตบมือให้กำลังใจ แต่ตากล้องถ่ายภาพไม่ทัน :P)

 

รูป 15 ป้ายเยินไปหน่อยเพราะกระดาษอ่อน

 

รูป 16 คุณลุง (สอบถามภายหลัง เป็นชาวเยาวราช อายุหกสิบปี เคยรับราชการกระทรวงคมนาคม ทำงานรัฐวิสาหกิจ และปัจจุบันทำงานอยู่โรงงานเอกชน) ซื้อน้ำส้มคั้นขวดมาแจกให้กับผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่เคลื่อนขบวนผ่าน โดยมีสาวน้อยใช้มือถือถ่ายภาพ

 

รูป 17 กลับมาซื้อน้ำส้มคั้นเพิ่มเพื่อเอาไปแจกผู้เดินขบวน

 

รูป 18 น้ำส้มคั้นสดๆ ดื่มให้ชื่นใจครับ

 

รูป 19 อีกถุงเลยครับ (โปรดสังเกตแม่ค้าน้ำส้มเดินตามมาตบมือให้กำลังใจเสื้อแดง)

หลังแกนนำเสื้อแดงประกาศชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯเพื่อให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภาและปูทางไปสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ได้มีปัจเจกชนและกลุ่มคนต่างๆ ที่มีฐานะทางสังคมออกมาแสดงความคิดเห็นและคาดการณ์ต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล หรือผู้ที่มีบทบาททางสังคมอื่นๆ โดยความคิดเห็นที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อกระแสหลัก และออกโดยสื่อกระแสหลักเองส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางที่ต่างออกไปจากการออกมาชุมนุมของกลุ่มการเมืองเหลือง-แดงครั้งก่อนๆ กล่าวคือที่ผ่านมาการมีสิทธิในการออกมาชุมนุมหรือไม่ยังเป็นประเด็นถกเถียงในสังคม แต่ในครั้งนี้สิทธิดังกล่าวได้รับการตระหนักมากขึ้นว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนสามารถปฏิบัติได้และได้รับความคุ้มครองในรัฐธรรมนูญของไทย แต่กระนั้นสิทธิดังกล่าวก็ต้องมีข้อยกเว้น กล่าวคือต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากการใช้ความรุนแรง

จะเรียกว่าเป็นความฉลาดของรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่มักอ้างว่า “เป็นรัฐบาลที่เคารพสิทธิมนุษยชนมากที่สุด”และฝ่ายตรงข้ามของกลุ่มเสื้อแดงหรือไม่ที่หลังการประกาศชุมนุมของเสื้อแดงในครั้งนี้ ต่างพากันหันมาประโคมข่าวให้เห็นว่าคนเสื้อแดงมีสิทธิที่จะชุมนุมได้ แต่เป็นฝ่ายที่มีแนวโน้มว่าจะสร้างความรุนแรงในสังคม ซ้ำยังยกตัวอย่างกรณีเมษาเลือด ซึ่งในความเป็นจริง รัฐบาลยังไม่สามารถหาหลักฐานที่จะนำผู้ตัวผู้ใดมารับผิดได้

ลองยกตัวอย่างการนำเสนอภาพการชุมนุมของคนเสื้อแดงก่อนและระหว่างการชุมนุมปักหลักกรุงเทพฯ หากกูเกิ้ลโดยสุ่มพิมพ์คำว่า “ความรุนแรง”และ “แดง” ข่าวที่ปรากฏส่วนใหญ่มีลักษณะเชื่อมโยงความเป็นไปได้ในการใช้ความรุนแรงเข้ากับผู้ชุมนุมเสื้อแดง อาทิเช่น

“เทพไทระบุทักษิณปลุกม็อบเสื้อแดงให้ใช้ความรุนแรง, รัฐบาลพร้อมรับมือ” (สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) 6 มีนาคม 2553)

“นายกฯรับปากเอกชนคุมเสื้อแดงไร้ความรุนแรง” (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 9 มีนาคม 2553)

“โคทมเรียกร้องรัฐ-เสื้อแดงไม่ใช้ความรุนแรง” (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 9 มีนาคม 2553)

“นายกฯวอนเสื้อแดงชุมนุมอย่าใช้ความรุนแรง” (Nation Channel, 11 มีนาคม 2553)

“ทูตสหรัฐฯออกแถลงการณ์ค้านแดงใช้ความรุนแรง” (คมชัดลึก, 11 มีนาคม 2553)

“รัฐแฉ 4 กลุ่มเสื้อแดงส่อรุนแรง” (โพสต์ทูเดย์, 13 มีนาคม 2553)

“ประชาธิปัตย์เชื่อเสื้อแดงเร่งสร้างความรุนแรงให้เผชิญหน้า” (กรุงเทพธุรกิจ, 15 มีนาคม 2553)

กอ.รมน.หวั่นแดงใช้ขวดน้ำมันสร้างความรุนแรง” (ไทยรัฐ, 15 มีนาคม 2553)

"หมอประเวศ"แนะ"เสื้อแดง"อย่าใช้ความรุนแรง”

“"หม่อมอุ๋ย" ชี้ถ้าม็อบยังชุมนุมอย่างสงบ การลงทุนก็จะกลับมา” 15 มีนาคม 2553

 

ฉะนั้นภาพของเสื้อแดงถูกทำให้เป็นไปในทางลบ หรือจะพูดไปคือการพิพากษาความผิด ตีตราบาปให้กับผู้ชุมนุมเสื้อแดงก่อนที่จะมีความรุนแรงเกิดขึ้นจริง!

แล้วผลที่ตามมาคืออะไร? นอกจากการเสนอภาพของผู้ชุมนุมเสื้อแดงในทางลบจะสร้างความหวาดกลัวและความเกลียดชังให้กับคนในสังคมแล้ว ยังเป็นความไม่เป็นธรรมต่อผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ไม่มีทางแก้ข้อกล่าวหาที่ถูกป้ายสีได้เลย ตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่สุดคือการเหมารวมต่างๆ นานา เช่นว่า คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ไม่พอใจที่ผู้ชุมนุมเสื้อแดงมาสร้างความเดือดร้อนและก่อความวุ่นวาย

ในความเป็นจริงเป็นอย่างไร ถามตรงๆ ตอนนี้ว่ามีใครสามารถยืนยันเป็นตัวเลขที่แน่นอน มากกว่าการคาดเดาได้ว่ามีคนกรุงเทพฯ (ควรต้องแจกแจงอีกด้วยว่าหมายถึงคนที่เกิดในกรุงเทพฯ หรือคนต่างจังหวัดที่มาตั้งรกรากทำมาหากิน หรือใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ) ที่สนับสนุนคนเสื้อแดงกี่คน? คนที่ไม่พอใจการชุมนุมของคนเสื้อแดงกี่คน? และพลังเงียบกี่เสียง? เป็นใครบ้าง? นอกจากนั้นจะว่าไปแล้ว คนกรุงเทพฯเท่านั้นหรือที่เป็นเจ้าของกรุงเทพฯ? หากลองคิดในอีกมุมหนึ่ง ในเมื่อการรวมศูนย์ของรัฐบาลอยู่แต่ในกรุงเทพฯ ต่อให้ผู้ชุมนุมต่างจังหวัดไม่อยากเดินทางมาก็จำเป็นที่จะต้องมา

ฉันร่วมชุมนุมเสื้อแดงมาสองวัน ตั้งแต่ 13-14 มีนาคม สิ่งที่ฉันสัมผัสจากการชุมนุมและจากข่าวที่ได้รับ แตกต่างกันราวกับฟ้ากับเหว เรื่องที่ฉันอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังจึงมาจากสิ่งที่ฉันสัมผัสเท่านั้น ซึ่งตามธรรมชาติเรื่องเล่าจากประสบการณ์ก็มีข้อจำกัดในตัวมันเอง ดังนั้นผู้อ่านพึงต้องระลึกอยู่เสมอด้วยว่ามันไม่สามารถสะท้อน ‘ความเป็นจริง’ ทั้งหมดได้ หากสิ่งนั้นเป็นความคิดเห็น หรือความคาดเดาของฉัน ฉันจะระบุให้ชัดเจนที่สุดเพื่อป้องกันความสับสนกับข้อเท็จจริง

วันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่สองที่ผู้ชุมนุมเสื้อแดงทยอยเดินทางเข้ามาชุมนุมในกรุงเทพฯ ฉันเดินทางออกจากแต่เช้าเพื่อไปร่วมงานแถลงข่าว จัดโดยเครือข่ายคนเดือนตุลาต้านเผด็จการ ณ อนุสรณ์สถาน 14ตุลา ในที่ประชุมผู้เข้าร่วมซึ่งมีทั้งผู้ที่เคยร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ นักวิชาการ นักศึกษา แรงงาน และผู้ที่สนใจทั่วไปเสนอความคิดที่จะเดินขบวนในวันรุ่งขึ้นเพื่อประกาศว่ามีคนกรุงเทพฯที่ไม่ปฏิเสธการชุมนุมของคนเสื้อแดง และยืนเคียงข้างกับคนเสื้อแดง

หลังจากการประชุมช่วงแรกเสร็จสิ้น ฉันเดินทางไปทำธุระบริเวณเอกมัย ระหว่างผ่านทางฉันแปลกใจมากที่นอกจากจะเห็นว่าพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่ชุมนุม วิถีชีวิตบนท้องถนนยังดำเนินไปอย่างค่อนข้างเป็นปกติ ผู้คนทั้งคนไทยและคนต่างชาติยังเดินทางขวักไขว่ เว้นเสียแต่มีตำรวจและทหารยืนประจำการตามจุดต่างๆพร้อมด้วยโล่กำบัง อาวุธปืนและกระบอง และร้านค้าที่ปิดทำการบางร้านเท่านั้น ที่ทำให้ฉันประหลาดใจมากยิ่งขึ้นคือขณะนั่งรถแท็กซี่ผ่านบริเวณถนนเพชรบุรี ฉันเห็นขบวนรถบรรทุกผู้ชุมนุมเสื้อแดงจากต่างจังหวัดแล่นผ่าน โดยผู้คนที่เดินไปมาริมถนนจำนวนหนึ่ง (ส่วนมากสวมชุดพนักงานออฟฟิศ) กำลังโบกมือ ยิ้มแย้มให้กำลังใจต้อนรับผู้ชุมนุม เพื่อนที่นั่งมาในรถพร้อมกับฉันถึงกับเอ่ยปากเสียดายที่ไม่ได้นำกล้องถ่ายรูปติดตัวมาด้วย

ขากลับจากเอกมัยเพื่อเดินทางไปร่วมชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าในตอนเย็น ฉันเห็นการต้อนรับอันแสนอบอุ่นเช่นเดียวกันบริเวณถนนชิดลมเรื่อยมาจนถึงสยามสแควร์ เฉพาะบนสะพานลอยเชื่อมระหว่างสยามสแควร์กับสยามเซ็นเตอร์ผู้คนจำนวนราวๆ ยี่สิบถึงสามสิบคนพากันโบกไม้โบกมือไม้ให้กำลังใจผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่อยู่บนรถกระบะ เป็นภาพที่หากใครไม่พบเห็นด้วยตนเองยากที่จะเชื่อถือได้

คืนนั้นฉันนั่งฟังแกนนำเสื้อแดงกล่าวปราศรัยบนเวทีบริเวณโลหะปราสาท ไม่ว่าจะเป็นณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง และทักษิณโฟนอิน บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกครื้น มีการปลุกใจจากผู้ปราศรัยบนเวที พร้อมเสียงตะโกน เสียงตบมือ (และเสียงเท้าตบพลาสติก) เป็นระยะๆ มีแม่ค้าพ่อค้ารถเข็นขายเครื่องดื่มและอาหารให้แก่ผู้ร่วมชุมนุม มีบริการนวดแผนโบราณ ตั้งเต็นท์ขายผลิตภัณฑ์เสื้อแดง เต็นท์รักษาพยาบาล เต็นท์สันติวิธีของคนเสื้อแดง และอื่นๆ โดยรวมแล้วบรรยากาศไม่ได้แตกต่างอะไรสักเท่าไหร่จากครั้งที่ฉันไปสังเกตการณ์ชุมนุมของพันธมิตรฯ บริเวณสะพานมัฆวานฯ เมื่อสามปีก่อน

สิ่งที่ฉันรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษคือความเป็นมิตรของผู้ร่วมชุมนุมเสื้อแดง นอกจากจะแสดงความเป็นกันเองแล้ว ยังสะท้อนความหลากหลายของผู้ชุมนุมที่หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศอีกด้วย

ฉันได้แลกเปลี่ยนบทสนทนากับลุงคนหนึ่งอายุราวๆหกสิบปีมาจากอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีที่นั่งอยู่ใกล้ๆ เมื่อรู้ว่าฉันเป็นคนกรุงเทพฯ ลุงถามฉันว่าที่บ้านยอมให้ออกมาชุมนุมหรอ? ฉันหัวเราะก่อนตอบว่า “แม่ไม่รู้” ลุงถามต่อว่า “ที่บ้านเชียร์เสื้อแดงไหม?” นี่ดูจะกลายเป็นคำถามคลาสสิกไปเสียแล้วในสภาวะการเมืองแบ่งขั้วฝังลึกเช่นในปัจจุบัน ฉันตอบว่าครอบครัวของฉัน มีแต่ฉันที่เป็นแดง ส่วนแม่เหลือง(อ๋อย) นอกนั้นน้องๆของฉันสองคนไม่เหลืองไม่แดง ก่อนที่ลุงจะหัวเราะและสะกิดญาติของแกที่นั่งอยู่ข้างๆว่า “ดูสิบ้านนี้ลูกแดงแม่เหลือง บ้านเรา (หมายถึงบ้านของลุง) ลูกเหลือง พ่อแดง” ก่อนจะพากันหัวเราะร่วน ลุงเล่าให้ฟังถึงความคิดทางการเมืองของแกว่าลุง “ก้าวพ้นจากการยึดตัวบุคคล (ทักษิณ) แล้ว” รู้สึกเบื่อหน่ายต่อความเป็นสองมาตรฐานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และต้องการให้มีการยุบสภา แต่ลุงก็คิดว่าจะเป็นไปได้ยาก เพราะฝ่ายตรงข้ามของเสื้อแดงกลัวว่าจะแพ้การเลือกตั้ง

นี่เป็นความคิดทั้งหมดของลุงที่ฉันไม่ได้ปรุงแต่งแต่อย่างใด มันทำให้ฉันอดคิดไม่ได้ว่าคนที่ฉันรู้จัก หรือเพื่อนบนเฟซบุ๊คที่ฉันไม่เคยพบปะบางคนทำไมจึงรังเกียจคนเสื้อแดงเพียงเพราะความเกลียดชังที่เขามีต่อทักษิณเพียงคนเดียว ฉันนั่งฟังปราศรัยต่ออีกสักพักก่อนที่คิดว่าสมควรแก่เวลากลับบ้านก่อนที่จะดึกเกินไปและคนที่บ้านจะเป็นห่วง

เรื่องมาตรการดูแลความปลอดภัยในวันนั้นถือว่าดีทีเดียว มีการ์ดแต่งชุดดำ ผูกผ้าพันคอสีแดงยืนประจำประตูทางเข้าออกคอยตรวจอาวุธและสิ่งแปลกปลอม ฉันยังได้ยินโฆษกบนเวทีประกาศห้ามร้านค้าที่จะนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาจำหน่ายให้งดเสีย ทำให้ฉันอดนึกไม่ได้อีกเช่นกันว่าทำไมภาพการชุมนุมของคนเสื้อแดงจึงถูกนำเสนอให้ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงในสื่อกระแสหลัก

คืนนั้นฉันกลับบ้าน อาบน้ำ และเข้านอนเพื่อออมเรี่ยวแรงสำหรับไปร่วมเดินขบวนคนกรุงเทพฯไม่ปฏิเสธการชุมนุมของคนเสื้อแดงในเช้าวันรุ่งขึ้น

วันที่ 14 มีนาคม เวลาสิบโมงเช้า ฉันเดินทางไปยังจุดนัดหมายหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์เพื่อเตรียมเดินขบวน ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจาก สนนท. นักกิจกรรมจากพรรคเลี้ยวซ้าย สมัชชาสังคมก้าวหน้า ผู้ร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ 6 ตุลา และปัจเจกบุคคลที่ทราบข่าวจากทางทีวี หรือเว็บไซด์ ประมาณสามสิบคน ฉันต้องสารภาพว่าฉันแอบรู้สึกผิดหวังที่ผู้ร่วมเสนอไอเดียในการเดินขบวนกลับมาร่วมเดินในวันจริงเพียงไม่กี่คน หนึ่งในคนที่มาร่วมเดินท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุ คืออาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (รูปที่ 7)

ป้ายที่พวกเราถือมีหลากหลายข้อความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เช่น “Tell the world that we welcome the Red Shirts with great pleasure” “บอกให้โลกรู้ว่าคนกรุงเทพฯยินดีต้อนรับคนเสื้อแดง” “Welcome Red Shirts to Bangkok, my home” หรือ “กรุงเทพฯ เป็นเมืองของทุกคน ยินดีต้อนรับคนเสื้อแดง” เป็นต้น

ขบวนเริ่มออกเดินทางจากราชดำริไปสิ้นสุดที่สยามสแควร์ บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าสยามเซ็นเตอร์ อากาศร้อนอบอ้าวจนหน้าของฉันและหลายๆ คนแดงกล่ำ แต่กระนั้นทุกๆคนก็ยังยิ้มแย้มแจ่มใส คอยช่วยกันดูขบวนไม่ให้ล้ำออกนอกเลนถนน แจกใบปลิว สลับกันถือป้ายหากใครคนใดคนหนึ่งแขนเริ่มล้า และผลัดกันพูดโทรโข่งให้ผู้ที่สัญจรผ่านไปมาบนท้องถนนและฟุตบาทได้รับรู้ถึงจุดประสงค์การเดินขบวนของเรา

วันนี้บรรยากาศในเมืองเงียบเชียบ ซึ่งต่างกันลิบลับจากเมื่อวานซืน ฉันคาดเดาเอาเองว่าคนทั่วไปคงกลัวว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น เนื่องจากเสื้อแดงประกาศเป็นวันดีเดย์ และสื่อส่วนใหญ่พากันประโคมข่าวให้ระวังความรุนแรงจนน่าสะพรึงกลัว

อย่างไรก็ตามผู้คนที่ผ่านไปมาต่างให้ความสนใจการเดินขบวนของเราพอสมควร บ้างก็หยุดมองแล้วเดินผ่านไป บ้างก็ถ่ายหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายภาพ บ้างก็เข้ามาพูดคุย สอบถาม ฉันเจอพี่คนขับแท็กซี่คนหนึ่งจอดรถถามว่ามาทำอะไร เมื่อได้ใจความปุ๊บ แกรีบต่อสายโทรศัพท์มือถือให้ฉันช่วยรายงานกิจกรรมที่พวกเรากำลังทำอยู่ให้ผู้ฟังรายการวิทยุแท็กซี่ ดูแกตื่นเต้นและดีใจไม่น้อยที่เจอคนร่วมปณิธาณเดียวกัน

เมื่อขบวนเดินมาถึงย่านประตูน้ำ คนส่วนมากที่ออกมาสนับสนุนเป็นคนงานก่อสร้างที่ทำงานอยู่บริเวณดังกล่าว รปภ. คนขับ/กระเป๋า/ผู้โดยสารรถเมล์ และพ่อค้าแม่ค้า แต่ใช่ว่าจะไม่มีชนชั้นกลางในเมืองที่จะไม่เป็นกำลังใจให้

มีคนในรถเก๋งหลายคันทั้งวัยรุ่น วัยกลางคนที่ขับรถผ่านบีบแตรหรือหลี่กระจกรถลง โบกมือเพื่อบอกให้เรารับรู้ว่าเขาเป็นกำลังใจให้ ฉันแอบเสียดายที่ถ่ายรูปคนในรถสปอร์ตหรูและเล็กซัส ไม่ทัน ได้แต่คิดในใจว่านี่ไง! คนร่ำคนรวยที่สนับสนุนการต่อสู้ของคนเสื้อแดงก็มี

วันนั้นฉันรีบกลับบ้านเพื่อที่จะรีบเขียนบทความชิ้นนี้เพื่อหวังให้ผู้อ่านได้รับรู้เรื่องราวในอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งมักไม่ถูกนำเสนอในสื่อกระแสหลักหรือผู้มีบทบาททางสังคมมากนัก การเหมารวมว่าคนเสื้อแดงเป็นคนป่าเถื่อน ใช้ความรุนแรง หรือคนกรุงเทพฯไม่พอใจการชุมนุมของคนเสื้อแดง เป็นความรุนแรงทางความคิดที่ฝังลึกและยากที่จะแก้ไขกว่าความรุนแรงในรูปแบบอื่น เพราะนั่นหมายความว่าเสียงของคนที่มีอำนาจมากกว่าย่อมดังกว่า ในขณะที่เสียงของคนเสื้อแดงไม่มีความหมาย หรือไม่มีแม้กระทั่งตัวตนบนผืนแผ่นดินนี้

ขอทีเถอะผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการใช้สันติวิธี ต้องให้ความเป็นธรรมและไม่มองข้ามความเป็นมนุษย์ของคนเสื้อแดงด้วย ความรุนแรงไม่ใช่อยู่ดีๆ จะเกิดขึ้นเองได้ นั่นหมายความว่าเมื่อมีความรุนแรง ต้องมีผู้กระทำและถูกกระทำ การเรียกร้องไม่เอาความรุนแรงจึงต้องหาสาเหตุที่มาของการใช้ความรุนแรง การปาระเบิดแล้วมีผู้คนได้รับบาดเจ็บหรือล้มตายไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรง หากเรายังมัวแต่ดูที่ผลลัพธ์อย่างเดียวเท่ากับเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น แล้วต่อไปคำว่า “ประชาธิปไตย” “สิทธิมนุษยชน” และ “สันติวิธี” จะไม่มีความหมายอะไรเลย ถึงป่านนั้นเมื่อคุณต้องร้องหามันเองบ้าง อาจจะไม่มีใครรู้จักมันอีกแล้วก็เป็นได้ หน้าที่ของพวกท่านจึงควรเรียกร้องการไม่ใช้ความรุนแรงควบคู่กับการสร้างความเป็นธรรม ที่เป็นรูปธรรมและเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยมากที่สุดคือการเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท