เสวนา : เส้นทางการเมืองไทยกับวิกฤติความชอบธรรม

17 มีนาคม 2553 ห้องประชุม 12 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย (Thailand Democracy Watch) และภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง ‘เส้นทางการเมืองไทยกับวิกฤตความชอบธรรม’ โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รศ.สิริพรรณ นกสวน-สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3. รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.พวงทอง ภวัคพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย นฤมล ทับจุมพล จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

สมชาย กล่าวว่า หากกลุ่มเสื้อแดงจะถอยกลับโดยที่รัฐบาลของนายกฯ อภิสิทธิ์ไม่ได้ทำตามข้อเรียกร้อง อาจจะส่งผลให้ความขัดแย้งทางการเมืองมีระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผู้ชุมนุมซึ่งก็คือชาวบ้านจะรู้สึกว่า รัฐบาลไม่เห็นความสำคัญในข้อเรียกร้องของพวกเขา ทำให้ระดับความขัดแย้งลงลึกมากขึ้น จนกลายเป็นความเกลียดชัง

สมชาย ยังได้เสนอในนามมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนว่า จะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายหันมาพูดคุยกัน เจรจาต่อรองกัน แม้การเจรจานั้นจะไม่ได้แก้ไขปัญหาโดยรวมทั้งหมดทั้งทางการเมืองและสังคมที่สะสมมานาน แต่หวังในเบื้องต้นว่า ถ้ามีการเจรจาขึ้น จะทำให้มีความหวังในการหาทางออกจากภาวะการตีบตันทางการเมืองในลักษณะนี้

โดยมีข้อเสนอคือ  1. รัฐบาลต้องประกาศยุบสภาภายในระยะเวลา 3 เดือน 2.รัฐสภาต้องผลักดันให้แก้กฎหมายรัฐธรรมนูญในลักษณะเฉพาะหน้าให้แล้วเสร็จในช่วงเวลานี้ เพื่อให้เกิดกติกาการเลือกตั้งที่ยอมรับได้สำหรับนักการเมือง 3. พรรคการเมืองต้องทำให้เกิดการยอมรับวิถีทางของการเลือกตั้ง มีการหาเสียง เปิดโอกาสให้มีการหาเสียงของผู้ลงรับสมัครการเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตย 4.ภายหลังการเลือกตั้ง จะต้องยอมรับการจัดตั้งรัฐบาล และห้ามมีการแทรกแทรงจากอำนาจนอกระบบ

นักวิชาการจากเชียงใหม่ กล่าวย้ำทิ้งท้ายว่า การไม่ใยดีผู้ชุมนุมประท้วงของรัฐบาลและจากสังคม จะส่งผลให้ระดับความขัดแย้งรุนแรงขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ด้านชลิดาภรณ์ เริ่มต้นโดยการขยายความหัวข้อการเสวนาครั้งนี้ว่า ปัญหาหนึ่งคือ การที่เรานิยามคำของแต่ละคำว่ากว้างหรือแคบในระดับไหน อะไรคือสันติวิธีนั้นขึ้นอยู่กับว่า คนนั้นนิยามความรุนแรงอย่างไร เช่น นักวิชาการสายธรรมศาสตร์ที่นิยามความรุนแรงไว้กว้างมาก แต่ตอนนี้จุดที่เหมือนกันของนักวิชาการสันติวิธีในกรณีการชุมนุมประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดงก็คือ จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดความรุนแรงเชิงกายภาพ 

ในเรื่องความชอบธรรม ชลิดาภรณ์ เสนอว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้ คือการชนกันของประชาชน 2 ชุด โดยไม่มีใครเห็นพ้องต้องกันว่า การกระทำสิ่งใดคือสิ่งที่ถูก สิ่งใดคือสิ่งที่ผิด เพราะมีคนคิดว่า กฎหมายหรือแม้แต่รัฐธรรมนูญเองไม่มีความชอบธรรม หรือไม่ถูกต้องมาตั้งแต่แรก จนเลยไปถึงขั้นไม่มีใครเห็นพ้องต้องกันที่จะอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งความเป็นจริงในสังคมทั่วไป มันจะต้องมีหลักการใหญ่ที่คนอยู่ในสังคมทั้งหมดต้องเห็นพ้องต้องกันในการอยู่ร่วมกัน เวลาทะเลาะกันแล้ว คนที่ทะเลาะกันจะไม่ตีกันถึงขึ้นทำลายหลักการใหญ่ของสังคมที่เห็นพ้องต้องกัน ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของความรุนแรง แต่สิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสังคมไทย นี่คือปัญหาพื้นฐานของสังคมการเมืองขณะนี้ และเราก็ได้เห็นการเผชิญหน้าของขบวนการประชาชนสองชุดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่มองไม่เห็นและพูดไม่ได้ เมื่อไม่สามารถทำให้มองเห็นหรือพูดได้ จึงเป็นความอับจนทางปัญญาของสังคมการเมืองไทย

นักวิชาการจากธรรมศาสตร์ท่านนี้ กล่าวถึงการชุมนุมประท้วงที่ผ่านมาและที่ดำรงอยู่ในขณะนี้ว่า ไม่ว่าจะมาจากสีไหน แต่ที่เหมือนกันคือ ผู้ชุมนุมแต่ละคนมาจากหลายที่ หลากความคิด จับประเด็นไหนได้ก็พูดแต่เรื่องนั้นโดยไม่รู้ว่า มีปัญหาที่มากกว่าสิ่งที่พูดคุยกัน และมีปัญหาที่มากกว่าทักษิณไปแล้ว และปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นก็ไม่ได้มาจากทักษิณฝ่ายเดียว

สิ่งสำคัญ ณ ขณะนี้ก็คือ ผู้ร่วมชุมนุมต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง แต่ปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้ภายในเจ็ดวัน เพราะเป็นปัญหาทั้งระบบการเมืองและสังคมที่สะสมมาอย่างยาวนาน ดังนั้นการสู้หนึ่งครั้งของผู้ชุมนุมแล้วไม่ได้ตามข้อเรียกร้องจึงไม่ได้หมายความว่าแพ้ และอย่าไปตีความว่า ล้มเหลว

ในเรื่องที่คนชนชั้นกลางต่อต้านการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ชลิดาภรณ์ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงเวลานี้ เป็นสิ่งที่คนเมืองไม่คุ้น หรือถ้าคุ้นก็ไม่ใช่ในลักษณะนี้ ซึ่งเรื่องนี้คนในเมืองจะต้องทำความคุ้นเคยและต้องปรับตัวตาม เพราะในสังคมประชาธิปไตย ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงการชุมนุมประท้วงได้

อย่างไรก็ตาม ชลิดาภรณ์ได้ชี้ให้เห็นถึงการเปลียนแปลงหนึ่งในสังคมว่า ความสามารถในการฟังของคนไทยพัฒนามากขึ้น เพราะถ้าเป็นเมื่อก่อน คงไม่มีการฟัง แล้วก็เกิดการปะทะกันไปแล้ว หรือถึงพูดก็ไม่อยากฟัง คนอยากจะพูดในสิ่งที่คิดมากกว่า แต่ขณะนี้สังคมเปลี่ยนไป คนในสังคมเริ่มหันมาฟังคนอีกกลุ่มมากขึ้น เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะถ้าไม่ฟังก็กลัวว่า เดี๋ยวจะตีกัน

ทั้งนี้ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ยังเชื่อในความสามารถประนีประนอมของคนในสังคม ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ ปี 2521 ก็เกิดขึ้นจากการประนีประนอมและหารือเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน แม้การประนีประนอมอาจจะนำไปสู่ปัญหาใหม่ แต่อย่างน้อยก็ทำให้ไม่เกิดความรุนแรง

ด้าน รศ.พวงทอง ได้ขยายประเด็นเรื่องสื่อมวลชนและแนวคิดของกลุ่มคนชนชั้นกลางต่อจาก อ.ชลิดาภรณ์ว่า ชนชั้นกลางถูกสื่อมวลชนปลูกฝังให้มองการกระทำของกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นเรื่องของความรุนแรงมาโดยตลอด คำถามก็คือ สื่อไทยไม่เคยตั้งคำถามว่า เหตุใดความคิดของกลุ่มคนเสื้อแดงจึงมีความแตกต่างกับกลุ่มคนในเมืองหลวง

ปรากฏการณ์ของการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มคนเสื้อแดง เกิดจากคนชนบทต้องการอำนาจในการตัดสินใจทางการเมืองบ้าง มิใช่ว่าชนชั้นกลางจะมีอำนาจในการเลือกผู้นำฝ่ายเดียว เหตุนี้จึงทำให้ชนชั้นกลางไม่เคยได้ยินหรือได้ยินก็ไม่ฟังว่า กลุ่มคนเสื้อแดงต้องการอะไร และปัญหาของสื่อครั้งนี้ก็คือ ในขณะที่สื่อเสนอภาพของการเรียกร้องสันติวิธีจากองค์การที่ฝักใฝ่ในสันติวิธีต่าง ๆ แต่สื่อไม่เคยทำข่าวของตัวเองในแง่การจัดเวทีให้กลุ่มคนต่างๆ รวมถึงกลุ่มคนเสื้อแดงได้เสนออุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเองเลย

พวงทอง เพิ่มเติมประเด็นนี้อีกว่า ในขณะที่สื่อเสนอข่าวแต่ภาพของคนเสื้อแดงและภาพของการเรียกร้องสันติวิธีจากองค์กรต่าง ๆ แต่ประเด็นสำคัญคือ สื่อเลือกที่จะ ‘ปิดตาข้างเดียว’ ไม่เคยเสนอข่าวในแง่ของการเรียกร้องความยุติธรรมเลย ไม่เคยชี้ให้เห็นถึงความเป็น 2 มาตรฐานที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะสื่อเลือกที่จะเสนอภาพของความรุนแรงมากกว่าที่จะเสนอข่าวเพื่อให้เกิดการตั้งคำถามกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะเหตุการณ์ ‘เมษาเลือด’ ที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็น 2 มาตรฐาน

เพราะการรณรงค์เรื่องความไม่รุนแรง ในอีกทางหนึ่ง มันส่งผลให้วิธีการในการเรียกร้องของกลุ่มคนเสื้อแดงมีความยากลำบากมากขึ้น เพราะสังคมมองความรุนแรงกับคนเสื้อแดงจนแยกกันไม่ออก และถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใดก็ตาม คนเสื้อแดงจะถูกป้ายสีหรือถูกโยนความผิดทันที ขณะที่เสื้อเหลืองรุนแรงไม่เป็นไร แต่ถ้าเสื้อแดงรุนแรงนี้ผิดทันที นี่คือประเด็น 2 มาตรฐานอย่างชัดเจน  

พวงทองเห็นด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น และจะใช้ระยะเวลาที่ยาวนานมาก แต่อย่างน้อยที่สุด เฉพาะหน้านี้การยุบสภาจะทำให้การเมืองเดินต่อไปได้ หรืออย่างน้อยก็แก้ชนวนระเบิดเฉพาะหน้าไปก่อน และก็ต้องแก้ชนวนนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่คำถามก็คือ “อำนาจเบื้องหลังนายกฯจะยอมที่จะให้มีการยุบสภาหรือไม่ ซึ่งเป็นวิธีการที่เป็นทางออกในระบบรัฐสภา”

อีกเรื่องที่สำคัญที่พวงทองทิ้งท้ายคือ สังคมไทยส่วนหนึ่งกำลังกลัวการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าการเลือกตั้งจะทำให้ทักษิณกลับมามีอำนาจในสภา และจะหาหนทางเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์อีกครั้ง โดยพวงทองเห็นว่า การกลับมามีอำนาจของอดีตนายกฯ นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก การจะเรียกเอาเงินที่ยึดคืนก็คงไม่สามารถทำได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม ความกลัวนี้เป็นการมองข้ามภาคประชาสังคมและระบบตรวจสอบที่ใช้คัดคานอำนาจในสภาอย่างมาก

มาถึงผู้เข้าร่วมเสวนาคนสุดท้าย รศ.สิริพรรณ ได้เสนอประเด็นเกี่ยวกับความชอบธรรม 3 ประเด็นว่าสังคมจะต้องบอกว่า ความชอบธรรมนั้นมาจากไหน มาอย่างไร และความหมายของมันที่นิยามต่างกันนั้นต่างกันอย่างไรบ้าง และปัญหาเรื่องความชอบธรรมที่เหมาะสมตามทฤษฎีที่เกี่ยวกับสังคมทางการเมืองก็คือ ความชอบธรรมของสถาบัน ความชอบธรรมในผู้ปกครองว่า มีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน ทั้งสองอย่างนี้มีและไม่มีความชอบธรรมมากถึงระดับไหนที่ทำให้คนในปกครองเริ่มไม่ปฏิบัติตาม และคนจำนวนแค่ไหนที่จะสามารถบ่งบอกได้ว่า ผู้ปกครองหรือสถาบันได้หมดความชอบธรรมลงแล้ว

ประเด็นก็คือ ความชอบธรรมของผู้ปกครองหรือสถาบันต่าง ๆ เริ่มหมดความชอบธรรมหรือเริ่มสั่นคลอนมาตั้งแต่เมื่อไร บางคนมองว่า มาจากสมัยรัฐบาลทักษิณที่ใช้เผด็จการรัฐสภา แม้จะมีเสียงข้างมากที่สุดก็ตาม นั่นก็คือความไม่ชอบธรรมอย่างหนึ่ง หรือการทำรัฐประหาร 2549 ที่ล้มการเลือกตั้งก็มองได้ว่าเป็นความไม่ชอบธรรม หรือรัฐบาลของอภิสิทธิ์ที่คนอีกส่วนหนึ่งก็มองว่าไม่ชอบธรรม เพราะไม่มีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่ต้น เพราะมาจากการรัฐประหารและมาจากการย้ายพรรคของกลุ่มเพื่อนเนวิน ซึ่งตามหลักนักรัฐศาสตร์สายตะวันตกมองว่า การกระทำของกลุ่มเพื่อนเนวินที่ย้ายพรรคนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะประชาชนเลือกมาในนามของพรรคเพื่อไทย ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ยุบพรรคและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ กลุ่มเพื่อนเนวินต้องเรียกร้องให้มีการยุบสภา ไม่ใช่ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านเดิม เป็นต้น

มาถึงเรื่องการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง คำถามว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงมีความชอบธรรมหรือไม่ โดยส่วนตัวมองว่า มีความชอบธรรม แต่ไม่ทั้งหมด อันเนื่องมาจากความหลากหลายของผู้ชุมนุม ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ไม่เอาอำมาตย์ กลุ่มคนเสื้อแดงที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์ ฯลฯ กลุ่มเสื้อแดงจริงๆ ไม่เคยบอกว่า ต้องการอะไร มีแต่แกนนำที่มาบอกว่าต้องยุบสภา แต่สิ่งหนึ่งที่เรามองข้ามก็คือ กลุ่มคนเสื้อแดงที่มีความเดือดร้อนจริงๆ จากการทำงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลในการบริหารประเทศ หรือนโยบายที่ไม่เป็นธรรม แต่คนเหล่านี้ไม่มีเวทีหรือพื้นที่จะพูดในสิ่งที่เรียกร้องเลย จึงเป็นปัญหาที่คนกรุงเทพมองว่า กลุ่มคนเสื้อแดงไม่มีความชอบธรรม นอกจากนี้ความไม่ชอบธรรมในทัศนะของคนกรุงยังผูกโยงอยู่กับคุณทักษิณ แน่นอนว่าเราหลีกเลียงความเกี่ยวโยงนี้ไม่ได้ เพราะเป็นสัญลักษณ์ แต่ประเด็นคือ จะทำอย่างไรให้กลุ่มคนเสื้อแดงมีความชอบธรรมมากขึ้น

ประเด็นสุดท้ายคือ ทางออกของวิกฤตนี้ยังมองไม่เห็น แต่เราอยากเห็นอะไร และเรากลัวอะไร แน่นอนว่า ทุกคนในวงเสวนาครั้งนี้ ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเชิงโครงสร้างในระดับใหญ่  เพราะถ้าเราไม่มอง ประเด็นฐานราก ปัญหาเรื่องความรุนแรงในลักษณะแบบนี้คงเกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การปฎิเสธเรื่องการยุบสภาของคุณอภิสิทธิ์ตั้งแต่แรก จุดนี้ชี้ให้เห็นว่า คุณอภิสิทธิ์ไม่ฟังข้อเรียกร้องเลย แม้การยุบสภาอาจจะไม่ใช่ทางออกของทั้งหมด เพราะเมื่อยุบสภาก็จะมีการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยก็อาจจะได้คะแนนเสียงสูงสุด ซึ่งก็เชื่อว่าคงไม่ใช่เสียงที่จะตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ หรือไม่อาจจะจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยตัวเอง เพราะยังมีสิ่งที่มองไม่เห็น พูดไม่ได้ อยู่เบื้องหลังอยู่ และเป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางการเมืองไทยมาโดยตลอด ซึ่งสังคมต้องไม่ปฎิเสธตัวเองในเรื่องนี้

เพราะฉะนั้นสังคมจะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างระดับใหญ่โดยไม่มีเหตุการณ์นองเลือด เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำก็คือ รับฟังเสียงต่าง โดยมีกระบวนการนำความเห็นร่วมที่ยอมรับกันของทุกฝ่ายและสามารถปฏิบัติได้จริง มาทำให้เป็นกระบวนการที่เป็นทางการ

สิ่งที่อยากเห็นก็คือ เสื้อแดงและรัฐบาลมาคุยกัน โดยไม่ใช่ลักษณะตั้งแง่ว่า รัฐบาลต้องยุบสภาหรือฝ่ายเสื้อแดงต้องไม่ชุมนุมเรียกร้องก่อนถึงจะหันมาตกลงร่วมกัน เพราะกลุ่มเสื้อแดงต้องเอาความหลากหลายทางความคิด ปัญหาและสิ่งที่ต้องการของคนเสื้อแดงอีกหลาย ๆ กลุ่มมาตีแผ่ให้สังคมได้รับรู้ ให้สังคมได้เข้าใจ โดยรัฐบาลต้องมีกระบวนการที่มีขั้นตอน ไม่ใช่เอาแต่อ้างว่า แก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อนแล้วค่อยยุบสภา

สิริพรรณ กล่าวด้วยว่า ความรุนแรงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ความรุนแรงนั้นถึงขนาดต้องเอาเลือดนองแผ่นดิน กลุ่มคนเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรืออื่นๆ และรัฐบาล ต้องมาหารือร่วมกัน โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็คือ การแก้รัฐธรรมนูญบางมาตรา การแก้ไขเนื้อหาอาจจะไม่ถูกใจทุกคน แต่อย่างน้อยต้องทำให้กระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาวที่เราต้องเฝ้ามอง  สิริพรรณกล่าวทิ้งท้าย

หลังการนำเสวนาโดยวิทยากร ผู้ดำเนินรายการได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยพิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ ได้เสนอประเด็นที่น่าสนใจว่า สังคมไทยขาดแคลนความดัดจริตทางการเมือง โดยเฉพาะเรื่องความดัดจริตที่จะไม่พูดเรื่องบางเรื่อง เช่น เรื่องกรุงเทพเป็นของคนกรุงเทพ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่แย่มาก เพราะถ้าใช้วิธีคิดนี้ หากชนบทตัดความเชื่อมโยงกับเมืองหลวง จะทำให้เมืองหลวงอยู่ไม่ได้ทันที

อีกประเด็นก็คือ ‘พวกขาวเนียน’ หรือ ‘แอ๊บขาว’ เราอาจจะคิดว่า นี่คือการต่อสู้ระหว่างกีฬาสีทางการเมือง เป็นการต่อสู้ของเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง ซึ่งไม่ใช่อีกต่อไป แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างเสื้อแดงกับกลุ่มคนแอ๊บขาว โดยเฉพาะการรณรงค์ของพวกแอ๊บขาวที่เสนอแนวทางสันติวิธี ‘เสื้อแดงจะทำอะไรก็ผิดหมด พวกคุณทำอะไรก็ถูกหมด’

ส่วนเรื่องสื่อนั้น ตามหลักการเลือกข่าวของสื่อนั้น สื่อรู้อยู่แล้วว่า ต้องการจะพูดอะไร ที่เหลือก็คือหาตัวประกอบเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือหรือสร้างความจริงในสิ่งที่จะพูดได้มากขึ้น

“เวลาสื่อเชิญนักวิชาการหรือนักเคลื่อนไหว เพียงแค่เห็นชื่อก็รู้อยู่แล้วว่า จะพูดเนื้อหาแนวไหน” ดังนั้นสื่อมีสิ่งที่จะเสนออยู่แล้ว ดังนั้น ‘เราต้องรู้ทันสื่อ’ และตั้งคำถามว่า ทำไมสื่อต้องเสนอเนื้อหาข่าวในลักษณะนี้

อีกเรื่องที่อยากจะกล่าวถึงก็คือ เรื่อง ‘เสียงส่วนใหญ่’  เช่น คนดูทีวีเสื้อแดงนั้นมีเกือบสิบหกล้าน ถ้าลองดัดจริตว่า เสื้อแดงคือทัพหน้าของคนที่ดูทีวีเสื้อแดงอยู่ที่บ้าน หรือที่เห็นที่สะพานผ่านฟ้า ไม่ใช่จำนวนทั้งหมดของเสื้อแดง คำว่าสื่อกระแสหลัก จึงไม่ได้หมายความว่า เป็นสื่อที่มีคนดูจำนวนมาก แต่หมายความว่า เป็นสื่อที่ได้รับอภิสิทธิ์จากรัฐบาลทำให้สามารถเข้าถึงผู้รับสารได้ง่ายและรวดเร็ว  

เรื่องความรุนแรงที่มาจากคำพูด ตัวอย่างเช่น กีฬาก็เป็นความรุนแรง แต่กีฬาเป็นการลดเอาความรุนแรงเชิงกายภาพ เพื่อทำให้ความรุนแรงมีขอบเขตจำกัด มีกฎกติกาสำหรับเป็นเครื่องมือที่ทำให้ความรุนแรงไม่เลยไปกว่าเพดานที่กำหนดไว้ ใครทำผิดกติกาต้องโดนลงโทษ แล้วการเชียร์กีฬานั้นก็มีการยั่วยุทางคำพูด สังคมต้องแยกให้ขาดว่า อะไรคือความรุนแรงทางคำพูด เพราะถ้าไม่ตระหนักในเรื่องลักษณะนี้ อีกไม่นานความสะอาดทางคำพูดก็คือการไม่ต้องพูดอะไรเลย เพราะการพูดยั่วยุ คือลักษณะหนึ่ง เป็นศิลปะทางการพูด การปราศรัยในที่สาธารณะ ต้องแยกให้ออกว่า พูดยั่วยุในระดับไหนคือรุนแรง ระดับในคือการปลุกระดม

การทำความเข้าใจในการเมืองจึงต้องใช้เครื่องมือบางอย่าง ซึ่งพิชญ์เสนอว่า เราอาจจะต้องย้อนกลับไปสมัยที่คณะราษฎรพูดไว้ว่า “ประชาธิปไตยยังไม่ลงหลักปักฐานในประเทศแห่งนี้” หนึ่งในนั้นก็เพราะตุลาการยอมรับการทำรัฐประหารไปแล้ว ประเทศไทยเราจึงแย่กว่าพม่า เพราะอย่างน้อยรัฐบาลพม่ายังดูแลคนพม่า แต่ถามว่าตอนนี้รัฐบาลไทยดูแลคนไทยหรือไม่

เครื่องมืออีกอันหนึ่งที่ใช้มองสังคมไทยก็คือ ทฤษฎีเรื่องอาณานิคม ซึ่งมีความหมายว่า สังคมที่คนส่วนน้อยปกครองคนส่วนใหญ่ โดยการอธิบายว่า ‘คนส่วนใหญ่นั้นไม่มีความสามารถที่จะปกครองตัวเอง ไม่มีความสามารถที่จะปกป้องอารยธรรมและดินแดนที่ตัวเองอยู่’ และนี่แหละคือลักษณะสังคมไทย ดังนั้นการต่อสู้ที่เกิดขึ้นนี้ จึงเป็นการต่อสู้ที่ลำบาก เพราะพวกคนปกครองนั้นมองไม่เห็นคนที่เรียกร้องเลย

รัฐบาลขณะนี้จึงไม่สามารถอธิบายได้เลยว่า มีความผูกพันกับประชาชนอย่างไร นี่คือสิ่งที่อันตรายอย่างมาก เพราะถ้าอธิบายตามหลักความสัมพันธ์ในสังคมแล้ว เราไม่สามารถพูดได้เลยว่า นายกอภิสิทธิ์มีความสัมพันธ์กับประชาชนอย่างในความสัมพันธ์เชิงลึก

“สิ่งที่อภิสิทธิ์พูดกับประชาชนนั้น ไม่ต่างจากตอนที่สุจินดาพูดเลย เช่น ไม่ได้ทำผิดอะไร มาถูกต้องตามกฎหมาย ตามระบบรัฐสภา ซึ่งเป็นคำบอกที่ผิดหมด ไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่ต้น” พิชญ์ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท