Skip to main content
sharethis
 
 

10 มี.ค.53 ณ สำนักการศึกษากรุงเทพมหานครฯ เครือข่ายทำงานด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ร่วมกับโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านการศึกษาของเด็กข้ามชาติและเด็กที่มีปัญหาสถานนะทางทะเบียนในพื้นที่กรุงเทพฯ ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และ U.S.AID ร่วมจัดสัมมนาในหัวข้อ “สถานการณ์และแนวทางเพิ่มการเข้าถึงการศึกษาของเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยใน กทม.”

 
นายโกสินทร์ เทศวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานครฯ กล่าวเปิดสัมมนาว่า พื้นที่เขตบางขุนเทียนถือว่าเป็นจุดที่มีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากที่สุดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนเป็นจำนวนมากแต่เข้าถึงการศึกษาได้น้อยมาก ทุกวันนี้มีเพียงแค่เด็กข้ามชาติเข้าถึงการศึกษาของ กทม.แค่ส่วนน้อยเท่านั้นซึ่งเด็กข้ามชาติเหล่านี้ต้องประสบปัญหาในหลายประการด้วยกัน เช่น ผู้ปกครองไม่เข้าใจเรื่องสิทธิการศึกษาของเด็กข้ามชาติจึงไม่กล้าที่จะส่งเด็กเข้าเรียน ซึ่งทางกรุงเทพมหานครร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการพยามที่จะแก้ปัญหาโดยให้เด็กที่ไม่มีทะเบียนราษฎร์ เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทยจะต้องได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับเด็กไทยทุกประการ ซึ่งการได้ร่วมพูดคุยหารือกันถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเข้าใจ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาให้เด็กข้ามชาติสามารถที่จะรับการศึกษาได้ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานเขตบางขุนเทียนดำเนินการเรื่องสิทธิของแรงงานข้ามชาติและเด็กข้ามชาติในทุกๆด้านไม่เพียงแต่เรื่องการศึกษาเท่านั้น
 
นางสาวลัดดาวัลย์ หลักแก้ว ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านการศึกษาของเด็กข้ามชาติและเด็กที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนในพื้นที่กรุงเทพฯ นำเสนอข้อมูลสำรวจการเข้าถึงการศึกษาของเด็กข้ามชาติในพื้นที่เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานครว่า ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครมีแรงงานข้ามชาติมาขึ้นทะเบียนจำนวน 207,789 คนและในส่วนพื้นที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครเขต 7 คือบางขุนเทียน ทุ่งครุ ราษฎร์บูรณะ จอมทอง บางบอนพบว่ามีจำนวน 53,012 คนซึ่งคิดเป็นร้อยละ 26 ของแรงงานข้ามชาติในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจาการเก็บข้อมูลโดยการทำแบบสอบถามเด็กข้ามชาติ พบว่า ร้อยละ 26 ของเด็กที่ร่วมสอบถามไม่ได้รับการศึกษาขณะอาศัยอยู่ในประเทศไทย อีกร้อยละ 70 ศึกษาอยู่ในศูนย์การเรียนขององค์กรพัฒนาเอกชน และศึกษาอยู่ในโรงเรียนรัฐบาลเพียงแค่ร้อยละ 4 เท่านั้น ซึ่งอุปสรรคที่ทำให้เด็กไม่สามารถเรียนหนังสือได้
 
ผู้ประสานงานโครงการฯ ระบุว่า ผู้ปกครองไม่เข้าใจหรือไม่ทราบถึงนโยบายการขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กที่ไม่มีทะเบียนราษฎร์ ซึ่งยังมีผู้ปกครองส่วนใหญ่เห็นว่าการเรียนในโรงเรียนไทยสามารถที่จะพัฒนาศักยภาพหรือได้รับประโยชน์จากการรู้ภาษาไทยและการอยู่ร่วมกับคนไทย
 
ขณะที่นายสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ระบุว่าเมื่อปี 47 เป็นปีแรกที่นำแรงงานข้ามชาติขึ้นมาบนดินอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งรัฐได้มอบหมายให้สภาความมั่นคงวางแผนดูแลคนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยให้เป็นระบบ จึงได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์เรื่องการจัดการสถานะบุคล เพื่อดูแลคนทุกคนในไทยและจำแนกสถานะตามจริงและได้มีมติ ครม.ออกมาเมื่อปี 48 ในการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้คนทุกกลุ่มและมีเป้าหมาย คือ คนทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยสามารถเรียนได้ถึงระดับสูงสุดและสามารถออกมาเรียนนอกพื้นที่ควบคุมได้ เช่นอาศัยอยู่ในเขตบางขุนเทียนแต่สอบได้ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็สามารถที่จะขออนุญาตจากเขตบางขุนเทียนไปศึกษาต่อได้แต่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอน และในส่วนของเงินอุดหนุนทางการศึกษารัฐให้ค่าใช้จ่ายรายหัวให้เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยตั้งแต่ประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย แม้กระทั่งโครงการเรียนฟรีเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยก็สามารถที่จะเรียนได้
 
อย่างไรก็ตาม สถานศึกษาก็ต้องมีหน้าที่รับเด็กทุกคนเข้าเรียน และถ้าเด็กไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆ ก็จะมีแบบฟอร์มให้กรอกซึ่งการกรอกข้อมูลก็สามารถให้เจ้าหน้าที่หรือพ่อแม่ของเด็กก็ได้ โดยใส่ข้อมูลเท่าที่ทราบ ซึ่งข้อมูลที่สำคัญที่จำเป็นที่จะต้องกรอกคือ จะมี 2 อย่างคือ ชื่อของเด็ก และ ปีเกิด ถ้ารู้ข้อมูลมากกว่านี้ก็สามารถที่กรอกข้อมูลต่างๆได้อีก แต่เอกสารที่สามารถที่จะรับรองสัญชาติของแรงงานข้ามชาติได้ คือ เอกสารตัวจริงที่รัฐของประเทศต้นทางของแรงงานข้ามชาติออกให้เท่านั้น จะนำบัตรต่างด้าวหรือเอกสารที่รัฐไทยออกให้มายืนยันสัญชาติไม่ได้ เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่สามารถรับรองสัญชาติแรงงานข้ามชาติได้ ซึ่งเมื่อถามว่าเพราะเหตุใดรัฐถึงต้องให้การศึกษาแก่เด็กข้ามชาติ เนื่องจากฝ่ายความมั่นคงเห็นว่าการลงทุนทางการศึกษาถือว่าเป็นการลงทุนที่เป็นต้นทุนต่ำที่สุดเพราะเชื่อว่าการศึกษาสามารถทำให้เป็นคนที่ดีได้ ถ้าแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับการศึกษาอาจจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมายก็ได้ แต่เรื่องให้การศึกษาไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นการให้สัญชาติแต่อย่างใด
 
นายอุดม ศิวโมกธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดดอนแจง จังหวัดราชบุรี กล่าวถึงประสบการณ์การจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทยว่าเมื่อมีการจัดการเรียนการสอนรวมระหว่างเด็กข้ามชาติและเด็กไทยคนในชุมชนไม่มีการต่อต้านแต่อย่างใด ซึ่งในพื้นที่เองมีเด็กข้ามชาติที่ไม่ได้เรียนหนังสืออาศัยอยู่ตามโรงงานโอ่ง แคมป์คนงานบ้านจัดสรร ตลาดศรีเมืองเมื่อนำเข้ามาศึกษาในระบบการศึกษาแล้วทางโรงเรียนได้สอนให้เด็กข้ามชาติได้เรียนภาษาไทยและภาษาประจำชาติควบคู่ไปด้วยในตอนเย็นของทุกๆวันโดยได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งการเรียนการสอนร่วมก็เป็นไปได้ด้วยดี ในตอนนี้มีนักเรียนที่เป็นเด็กข้ามชาติมากกว่าเด็กที่เป็นคนไทยด้วยซ้ำ และเด็กข้ามชาติเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นภาระในการทำให้มาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนลดต่ำลงแต่อย่างใดกลับตรงกันข้ามคือมีเด็กข้ามชาติที่ไปแข็งขันทางวิชาการได้รับรางวัลกลับมาให้โรงเรียนมากมายอาทิเช่น เหรียญทองคัดลายมือภาษาไทยด้วยซ้ำ
 
สำหรับการจัดสัมมนาในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมเป็นตัวแทนองค์กรและหน่วยงานจำนวนมาก อาทิเช่น ผู้บริหารและปฏิบัติงานในสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานฝ่ายการศึกษาเขตบางขุนเทียน ผู้บริหารโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครในเขตบางขุนเทียน นักวิชาการที่สนใจทางด้านการศึกษาเด็กที่ไม่มีหลักบานทางทะเบียนราษฎร องค์กรพัฒนาเอกชนภายใต้เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานแรงงานข้ามชาติด้านการศึกษา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net