Skip to main content
sharethis

และแล้ว วันแดงเดือดก็ผ่านพ้นไป โดยไม่นองเลือด-เอ๊ย ไม่มีใบแดง มีแต่ลูกโทษกับรอยยิ้มกริ่มมุมปาก (เสียใจด้วยนะ แดงคาร์ลสเบิร์ก ว่าที่แชมป์ยูโรป้า ทั้งปีนี้ปีหน้า อิอิ) แถมแฟนผีได้เฮ 2 เด้ง เพราะ “เสื้อน้ำเงิน” ทำได้แค่เสมอแบลคเบิร์น

แต่สงครามชนชั้นระหว่าง “ผี(ไพร่)แดง” กับ “อภิสิทธิ์ชน” ยังยิงประตูกันไม่ได้ แม้รูปเกมสวยกว่าเห็นๆ แต่มาแข่งในบ้านเขาก็ต้องทำใจ เพราะกองเชียร์หน้ามืดยังถือหางฝ่ายตัวเองไม่ลืมหูลืมตา แถมกรรมการก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นตอนอีกฝ่ายเตะตัดขา

ถึงนาทีนี้ ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเกมจะจบลงอย่างไร เพราะยังสู้กันอยู่ในแดนกลาง ยังไม่มีลูกยิงตรงกรอบ มีแต่เฉียดไปเฉียดมา

อะไรจะเกิดก็...ไม่รู้สิครับ ไม่รู้จริงๆ เพราะขึ้นกับสถานการณ์วันต่อวัน นาทีต่อนาที

คราวที่แล้วเขียนหนับหนุนหัวโตหน่อยเดียว โดนด่าเละ แสดงว่าต้องคงความเห็นต่าง (ฮา) แต่ไม่แปลกหรอกครับ เพื่อนพ้องที่ไปคุยกับพี่จรัล ดิษ เล่าว่า พี่จรัลบอกว่าพวกรุ่น 14 ตุลา 6 ตุลาส่วนใหญ่จะบอกให้หาทางลง แต่ นปช.ไม่คิดอย่างนั้น เพราะมวลชนถอยไม่ได้ถ้าไม่มีอะไรติดไม้ติดมือ ข้อเรียกร้องให้ยุบสภานี่เป็นข้อเรียกร้องเบาที่สุดแล้ว

ไม่แปลกจริงๆ เพราะมานึกย้อนดูม็อบพันธมิตร 193 วันก็แบบนี้ ผู้หวังดีกับพันธมิตรจำนวนมาก หรือแม้แต่แกนนำพันธมิตรส่วนหนึ่งก็อยากให้ถอยก่อน ผมก็บอกว่าควรถอยก่อน พูดทำนองเดียวกันว่าคุณเชื่อว่ารัฐบาลสมัครจะบริหารไปได้รอดหรือ ถ้าเขาไปไม่รอดเกิดเรื่องทุจริตไม่ชอบมาพากลคุณค่อยไล่

แต่พันธมิตรก็ไม่ฟัง ยังดึงดันต่อไป เอาความสุดขั้วของตนและชีวิตมวลชนมาเสี่ยง (อย่างที่พวกขาวเนียนเรียกร้องให้หยุดเอาประชาชนเป็นตัวประกันนั่นแหละ) บีบให้ผู้หวังดีผู้เห็นอกเห็นใจทั้งหลาย (รวมทั้งพวกขาวเนียน) ต้อง “ตกกระไดพลอยโจร” ลงไปร่วมด้วยช่วยกันวุ่น ช่วยกันปกป้อง แบบลำเอียงเห็นๆ ก็เป็นมาแล้ว

ก็ขนาดรัฐบาลสมัครยังไม่มีเรื่องอื้อฉาวอะไรเลย ไม่มี GT200 เรือเหาะ ย้ายตำรวจ ย้ายผู้ว่าฯ มีแค่เรื่องปราสาทพระวิหาร แค่เซ็นให้ความยินยอมเขมรขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกในพื้นที่ที่เขาได้ไปแล้วตามคำพิพากษาศาลโลกเมื่อปีมะโว้ ก็ยังถูกหยิบมาบิดเบือนว่า “ขายชาติ” ช่วยกันตีปี๊บจนทะเลาะกับเขมรมาถึงวันนี้ และจะทะเลาะไปอีกหลายปีข้างหน้า

ฉะนั้น เสื้อแดงกับ พธม. ก็กำลังเดินแนวทางเดียวกันหรือคล้ายกัน เพียงแต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือ พธม.เขามีเส้น มีสื่อ มีนักวิชาการ มีองค์กรสถาบันต่างๆ คอยช่วย รวมทั้งกองทัพและตุลาการภิวัตน์

แต่เสื้อแดงไม่มีอะไรเลย มีแต่ประชาชนชาวไพร่ กับหลักการประชาธิปไตย วิธีการต่อสู้โดยสันติ อหิงสา อารยะขัดขืน ซึ่งเป็นอย่างเดียวที่ทำให้ศัตรูไม่สามารถใช้กำลังปราบปรามได้ถนัด ทั้งที่พวกผู้ดีและทหารกระเหี้ยนกระหือรืออยากปราบเต็มแก่

สถานการณ์จึงล่อแหลมทุกนาที เพราะถ้าพวกเขาสามารถยั่วยุจุดชนวนให้คนใส่เสื้อแดงพลาดพลั้งใช้ความรุนแรง พวกเขาก็จะใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามแน่ รุนแรงกว่าสงกรานต์ที่แล้วหลายเท่า และจะทำให้เสื้อแดงพ่ายแพ้ย่อยยับ เพราะคราวนี้ พวกเขาคงไม่ปล่อยแกนนำที่ขึ้นบัญชีดำไว้

เสื้อแดงจึงเหลือที่พึ่งอย่างเดียวคือประชาชน ซึ่งจะต้องระดมกันเข้าร่วมให้มากที่สุด จัดตั้งให้เป็นระบบที่สุด เพราะที่ประกาศว่าจะเดินรณรงค์ทั่วกรุงเทพฯอีกครั้งในวันที่ 27 มี.ค. ผมคิดว่าเขาคงไม่ปล่อยให้เดินอย่างสงบอีกแล้ว (หรือบางทีก็อาจมีบางส่วนในเสื้อแดงไม่อยากให้สงบอีกแล้ว)

เมื่อสถานการณ์มาถึงวันนี้ คงไม่มีใครบอกให้ถอยได้แล้วละครับ จำต้องพลอยโจนแต่ไม่ใช่ “พลอยโจร” ฉะนั้นที่เคยเสนอให้ถอยทัพปรับขบวน ผมก็คงต้องเสนอใหม่ว่า ปรับขบวนมันกลางทัพนี่แหละ

คือในม็อบเสื้อแดง ทำอย่างไรที่จะให้เกิดภาพลักษณ์ที่หลากหลาย ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นว่าแกนนำได้พยายามปรับ เช่น เอาคนจนคนเหนือคนอีสานตัวจริงที่มาด้วยใจ มาขึ้นเวที เสื้อแดงควรจะปรับการดำเนินรายการบนเวที ให้มีศิลปินมาแสดงมั่ง มีตลกมั่ง มีวิชาการมั่ง หรืออย่างน้อยก็เปลี่ยนหน้ากันปราศรัย ไม่ใช่ผูกขาดอยู่แค่ 3G กับดาราไม่กี่คน ที่ปลุกระดมจนเบื่อหน่าย ในส่วนของชาวบ้าน ผมเชื่อว่ามีคนที่เขาแสดงตัวได้เยอะ มีคนที่เคยร่วมการเคลื่อนไหวในอดีตทั้งสมัยสมัชชาคนจนหรือสมัยสหพันธ์ชาวนาภาคเหนือ ให้แกนนำแต่ละภาคแต่ละจังหวัดเขาคัดเลือกทยอยขึ้นมาในช่วงไพรม์ไทม์ หรือในการแถลงข่าว ก็ให้คนเหล่านี้เขาผลัดเปลี่ยนหน้ากันมาร่วมแถลงด้วย

ส่วนที่เอา ส.ส.พรรคเพื่อไทยเรียงหน้าขึ้นไปหาเสียงน่ะ ขอเหอะ จะอ้วก ถ้าจะมีก็เอาซักตอนตีสาม ทางที่ดีก่อนขึ้นเวทีก็ตั้งกล่องไว้ ให้หยอดเงินบริจาคเหมือนตอนไปงานบวชงานแต่ง

เรื่องสำคัญที่ยังขาด คือการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนของคนชั้นกลางเสื้อแดง ซึ่งผมเชื่อว่ามีไม่น้อยเลยละ แต่ส่วนใหญ่เป็นนักรบไซเบอร์ ประจำการอยู่ในบอร์ดประชาไท พันทิพ และที่ต่างๆ โดยไม่ค่อยเหยียบย่างกันไปรวมกลุ่มไปรวมตัวที่ผ่านฟ้า โอเค จะมีคนจำนวนหนึ่งตะขิดตะขวงใจต่อ 3G ซึ่งเป็นปัญหาที่ นปช.ต้องปรับและยกระดับการนำขึ้นมาว่า เวทีนี้คุณจะยอมให้คนอื่นๆ สมมติเช่นจาตุรนต์หรือใครก็ได้ เข้าไปมีส่วนร่วมตัดสินใจมากขึ้น เป็นลักษณะ “พันธมิตร” ที่กว้างกว่าเดิมหรือไม่

เรื่องนี้ต้องไม่เหมือนพันธมิตรตัวจริงนะครับ เพราะ พธม.สามารถถูลู่ถูลานไปได้ทั้งที่คนจำนวนไม่น้อยตะขิดตะขวงใจกับสนธิ ลิ้ม แต่เกลียดทักษิณมากกว่า สุดท้ายก็แกล้งทำเป็นเด็กเอ๋อ ปี๊ดปี้ปี๊ด

แต่เสื้อแดงต้องยอมรับว่าตัวเองมีแนวร่วมน้อยกว่า ฉะนั้นต้องพยายามลบหรือลดภาพที่ว่า ทักษิณโทรสั่งไอ้ตู่ แล้วไอ้ตู่ก็มาบงการความเคลื่อนไหว ซึ่งเท่าที่ทราบที่ผ่านมาก็มีการต่อสู้ภายในพอสมควร แต่ยังไม่สามารถลบหรือลดภาพนี้ได้มากนัก

อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญเช่นกันคือ หาทางให้คนชั้นกลางที่ไม่ใช่เสื้อแดงแต่ไม่เอารัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ได้แสดงออก ซึ่งอันนี้คงไม่เกี่ยวกับม็อบเสื้อแดงแล้ว แต่เป็นเรื่องที่ฝ่าย 2 ไม่เอาทั้งหลายทั้งนักวิชาการ สื่อเสียงข้างน้อย NGO นักเคลื่อนไหวทั้งหลายที่ไม่เตลิดไปกับเสื้อเหลือง จะต้องคิด

พูดง่ายๆ ว่าคงมีคนไม่น้อย ที่เบื่อท็อปบูท เซ็งสะตอ หน่ายจริต แต่ตะขิดตะขวงใจจะไปเย้วๆ กับทักษิณ 3G และ ส.ส.เพื่อไทย ทำอย่างไรจะให้คนแบบนี้มีจุดแสดงออกอย่างอิสระ ที่อาจจะไม่ใช่ตั้งม็อบอีกม็อบหนึ่ง แต่อาจเป็นเวทีที่เป็นรูปธรรมขึ้นมาหน่อย สมมติเช่น จัดเวทีของนักเคลื่อนไหวนักวิชาการฝ่าย 2 ไม่เอาที่ธรรมศาสตร์ เป็นประจำทุกวัน นำเสนอเนื้อหาสาระที่คนกรุงเทพฯคนชั้นกลางเข้าร่วมได้ โดยไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อแดง แดงก็ได้ ไม่แดงก็ได้ (แต่ไม่ขาวเนียน-ฮา) สร้างประเด็นที่เป็นข่าวให้ได้ทุกวัน

อันนี้ก็คิดเล่นๆ นะครับ อาจจะเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ เพราะธรรมศาสตร์เขาให้ตำรวจเข้าไปตั้ง ไม่รู้ธรรมศาสตร์ยังเป็นของประชาชนหรือเปล่า แต่ถ้ายอมช่วยอธิการโฆษณาแอร์ไซโจเด็นกิ (ฮา) ท่านอาจยอมให้พื้นที่ก็ได้

ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่ว่าให้จัดตั้งพลังที่สามขึ้นมาหนุนเสื้อแดงนะครับ เพราะต้องแสดงออกซึ่งความเป็นอิสระ หาทางออกให้สังคม ไม่เช่นนั้นสองฝ่ายจะหาทางลงไม่ได้ และจะไปสู่ความรุนแรง ถ้าไม่อยากให้เกิดความรุนแรงก็ต้องมีพลังที่สามซึ่งไม่ใช่พวกขาวเนียน

พลังที่สามไม่จำเป็นต้องหนุนเสื้อแดงเลยนะครับ เพียงแต่เราพูดหลักการประชาธิปไตยทีไร มันไปเข้าทางเสื้อแดงทุกที (ช่วยไม่ได้) ส่วนเรื่องไหนที่เสื้อแดงทำไม่ถูกต้องในวิธีการ ก็ต้องวิพากษ์ท้วงติง

ส่วนตัวผมก็ต้องจำยอมรับพลอยโจน คือรู้ว่ามาถึงขั้นนี้แล้ว แกนนำเสื้อแดงคงไม่มีใครยอมถอย มีมวลชนเข้าร่วมมาก จนรัฐบาลต้อง(แสร้ง)ยื่นขอเจรจา คือหลักการม็อบแบบ “มีเหตุผล มีประโยชน์ รู้ประมาณ” ที่เคยใช้กันสมัย 14 ตุลา มันถูกฉีกทิ้งตั้งแต่ม็อบพันธมิตรแล้ว ทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดงต่างก็เดินเกมเสี่ยงเพื่อเอาชนะ มวลชนยิ่งอยากเสี่ยงยิ่งกว่าผู้นำม็อบ ทั้งสองสีนั่นแหละ ต่างเคลื่อนไหวในหลักการที่ “อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด”

ฉะนั้นอะไรที่อยู่ในหลักการประชาธิปไตย อหิงสา สันติวิธี อารยะขัดขืน ก็ต้องสนับสนุนต่อไป เพียงยังยืนยันว่า ม็อบอาจไม่ต้องบรรลุเป้าหมายรูปธรรมก็ได้ ถ้าวันไหน “หาทางลง” ได้ โดยเห็นว่าบรรลุเป้าหมายระดับหนึ่ง ก็ควรจะตัดสินใจเลือก “ถอย” ดีกว่าเสี่ยงชีวิตมวลชนแบบพันธมิตร ที่จำลองเดินไปให้จับแล้วส่งไปม็อบปิดหน้ารัฐสภา (ซึ่งโอเค เสื้อแดงยังไม่ทำ)

สื่อล้าหลังกว่า พธม.

ถามว่าใครวางเฉยที่สุดต่อการเคลื่อนไหวของม็อบเสื้อแดง คำตอบคือ พธม. !?!

หลังจากออกมาโปรโมทหนังบางระจัน 2 แล้วถูกตีปาก พธม.เงียบกริบหมดเลยนะครับ ไม่ว่าตัวพ่อตัวลูก พี่เปี๊ยก ยะใส สมศักดิ์ สมเกียรติ ไปจนสนธิ ส่วนเครือข่าย ASTV ผู้จัดการ โจมตีม็อบก็ไม่แปลกหรอก (ไม่งั้นจะขายข่าวอะไรล่ะ)

พธม.วางเฉยโดยมีบางคนพูดว่ายืนอยู่บนภูดูหมากัดกัน ไม่เป็นไร แค่นี้ก็ขอบคุณแล้ว ยิ่งได้ฟังคำนูณ สิทธิสมาน พูดในที่ประชุมวุฒิสภาวันจันทร์ ผมยิ่งเซอร์ไพรส์ ขยี้ตาแล้วขยี้ตาอีก ให้แน่ใจว่าไม่ได้อ่านผิด วิญญาณเลขาศูนย์นิสิตเข้าสิงเหรอวะเนี่ย (แต่ตอนกลับมาเชียร์ทหารคุมสภา วิญญาณคงกลับลงหม้อ)

คือแกนนำ พธม. ก็รู้ๆ กันอยู่ว่ามาจาก NGO ภาคประชาชน ฝ่ายซ้ายเก่า ที่ไม่เคยเอาอำมาตย์ แต่มาเป๋ในการต่อสู้ซึ่งมอง “ทุนสามานย์” เลวร้ายกว่า ตามลัทธิประเวศ (ทำงานกับชาวบ้านมายี่สิบปี ทักษิณมาสี่ปีเอาไปกินเรียบ) เลยหันไปเอาหน้าร้อนผ่าวแนบก้นเย็นเฉียบของอำมาตย์ ทั้งที่ธาตุแท้ไม่เอา ก็เลยกระอักระอ่วนกันอยู่อย่างนี้

เมื่อเสื้อแดงสามารถปลุกระดมมวลชนคนยากคนจน ซึ่งที่จริงพวก NGO ภาคประชาชนก็เคยทำงานแบบนี้มาก่อน สมเกียรตินี่นำสมัชชาคนจนเดินจากอีสานเข้ากรุงเทพฯ มาแล้ว อย่างที่ผมเขียนกลอนแซวน่ะแหละว่าผิดฝาผิดตัว พวกนี้เขาก็ถอยฉากปล่อยให้อำมาตย์รบกับมวลชน ลึกๆ แล้วหลายคนก็เชียร์ฟัดมันให้เละ แต่อย่าชนะแล้วกัน (ชนะแล้วตูไม่มีมีที่ยืน)

พวกที่ออกมาโหมกระหน่ำเสื้อแดงแทน จึงกลายเป็นสื่อกระแสหลักและนักวิชาการ ที่ยอมตนเป็นเครื่องมือของอำมาตย์และ ปชป. ในทัศนะผม พวกนี้ล้าหลังกว่าแกนนำ พธม. ซึ่งถึงอย่างไรก็เคยผ่านการเคลื่อนไหวภาคประชาชน สัมผัสใกล้ชิดคนจนมามากกว่าสื่อและนักวิชาการบนหอคอยงาช้าง แม้เวลาเคลื่อนไหว พวกเขา “เสแสร้ง” แต่พวกเขารู้ว่าทำอะไรอยู่ มีเป้าหมายอย่างไร ไม่เหมือนพวกสื่อและนักวิชาการที่เลอะเทอะไปตามกระแส

เป้าหมายของแกนนำพันธมิตรคือ Power Play สร้างอำนาจต่อรองของ NGO โดยไม่เลือกวิธีการ ไม่ยึดถือแนวทางประชาธิปไตย โยนหลักการที่เคยยึดถือทิ้งไปหมด ทำอย่างไรก็ได้ขอให้บรรลุเป้าหมาย เช่น ต่อต้านอุตสาหกรรมก่อมลภาวะ (มาบตาพิษ) ต้านเขื่อนต้านโลกร้อนต้านทุนโลกาภิวัตน์ ให้ตัวแทน NGO เข้าไปมีอำนาจในองค์กรที่ยับยั้งกลั่นกรองเรื่องต่างๆ ซึ่งอำนาจต่อรองที่พวกเขาต้องการ ในระยะยาวมันก็ขัดกับอำนาจของอำมาตย์และนักการเมืองอยู่ดี

เราจึงแยกคนที่ออกมาแสดงบทบาทหรือไม่แสดงบทบาทในช่วงนี้ได้อย่างง่ายๆ ว่า เป็นพวกที่อยากเห็นอำมาตย์กับ ปชป.อยู่ดีมีสุข กับพวกที่ไม่อยากเห็นอำมาตย์กับ ปชป.อยู่ดีมีสุข ซึ่งแกนนำ พธม.จริงๆ แล้วเป็นพวกหลัง แต่สื่อกระแสหลักและนักวิชาการส่วนใหญ่เป็นพวกแรก

ความทุเรศน่าเกลียดของสื่อในสิบกว่าวันที่ผ่านมาเป็นเรื่องจาระไนไม่หมด เช่นความพยายามบิดเบือนเรื่องไพร่อำมาตย์เป็นเรื่องคนจนคนรวย อ้างว่าอำมาตย์ก็คือข้าราชการ ว่านักการเมืองพรรคเพื่อไทยก็เป็นคนรวยมีทรัพย์สินรวมกันเป็นหมื่นล้าน ว่าทักษิณก็เป็นอำมาตย์ ทุเรศว่ะ ย้อนกลับไปอ่านปฏิวัติฝรั่งเศสบ้างหรือเปล่า ประชาธิปไตยคือเรื่องของไพร่กฎุมพี คือคนชั้นล่างชั้นกลางและพ่อค้า นักการเมืองก็คือชนชั้นนำในระบอบประชาธิปไตยทุนนิยม แต่ต่างกันที่โดดเข้ามาเล่นการเมืองอย่างเปิดเผย ไม่ใช่ชนชั้นนำในระบอบอำมาตยาธิปไตย ที่ไม่ยอมลงเลือกตั้งแต่อ้อมเข้ามามีอำนาจนอกระบบ

เมื่อวันเสาร์ที่แล้วที่เสื้อแดงเดินขบวน ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนไหวมวลชนโดยสันติวิธี ที่มีคนเข้าร่วมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย (บางคนบอกว่าที่สุดในโลก มากไปมั้ง) แต่สื่อกระแสหลักซึ่งก่นด่าปรามาสเสื้อแดงมาตลอด ไม่ยอมรับ ไม่ให้ความสำคัญในพื้นที่ข่าว คือไม่รู้จะด่ายังไง หาที่ก่นด่าตำหนิเขาไม่ได้ ก็เลยหันไปพาดหัวข่าวเรื่องยิงถล่ม ปปช. (ซึ่งถ้าเป็นฝีมือฝ่ายเสื้อแดง ต้องเรียกว่าไม่บ้าก็เมา เพราะทำแล้วมากลบข่าวความสำเร็จในการเคลื่อนไหวของตัวเอง)

ผมจำได้แม่นว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้วตอนม็อบวันเด็กของสนธิบุกทำเนียบ แล้วพลาดท่า สื่อก็ทำอย่างนี้ คือธีรยุทธออกมาประกาศว่าจะวิเคราะห์สังคม (แบบปัจจุบันทันด่วน) แล้วสื่อก็รีบฉวยข่าวนี้มากลบเกลื่อน นี่คือการบิดเบือนพื้นที่และความสำคัญของข่าว

แต่เรื่องแย่ที่สุดในเชิงหลักการ ที่สื่อไม่ยอมวิพากษ์วิจารณ์ กลับเห็นดีเห็นงามไปด้วย คือการใช้อำนาจฝ่ายบริหารสั่งทหารมาตั้งเครื่องกีดขวางวางรั้วลวดหนามปิดล้อมรัฐสภา ไม่ให้ใครเข้าออกแม้แต่ ส.ส. สว. ข้าราชการรัฐสภา

อย่าลืมว่ารัฐสภาเป็นอำนาจนิติบัญญัติ ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจบริหารนะครับ เรื่องแบบนี้ถ้าเกิดในยุคทักษิณที่พวกคุณว่าเป็นพ่อค้ามาใช้อำนาจเผด็จการรัฐสภา อาจพอเข้าใจได้ แต่ทักษิณก็ยังไม่เคยทำ กลับมาทำในรัฐบาล ปชป.ผู้อ้างว่า “ยึดมั่นในระบอบรัฐสภา” ในยุคของนายกฯผู้ดีอังกฤษ ต้นแบบประชาธิปไตย และมีคนคู่ใจเป็นรองเลขาธิการนายกฯ ที่มาจากอาจารย์รัฐศาสตร์ (วิชารัฐศาสตร์เขาไม่สอนเรื่องการแยกอำนาจหรือครับ อาจารย์)

มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลกที่รัฐบาลสั่งทหารมาปิดล้อมสภาแบบนี้ ในเมืองไทยเคยมี แต่เป็นสมัยที่ยังเติร์กเอาทหารมาขู่เกรียงศักดิ์ลาออก แล้วให้ พล.อ.เปรมขึ้นเป็นนายกฯ

นายกฯ ขวัญใจจริตนิยมอ้างว่าได้หารือประธานรัฐสภาแล้ว จริงหรือครับ ทำไมรองประธานไม่รู้เรื่อง แม้แต่ประธานวุฒิก็ไม่รู้เรื่อง ต้องชมท่านประสพสุขที่ยังออกมารักษาศักดิ์ศรีของสภา พอท่านออกมาด่า ถึงได้ถอนทหารออกจากฉนวนกาซ่า

วันที่ไปปิดล้อมก็จู่ๆ ยกกองทัพไป (ทหารไม่ติดป้ายชื่อและสังกัดด้วยนะ ไม่ทราบว่าเอามาเตรียมทำอะไรมากกว่านั้นหรือเปล่า) ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าตั้งแต่รองประธานมาถึงชาวบ้าน รถติดเป็นตังเม ผมบังเอิญฟัง จส.100 มีสาวทำงานรายหนึ่งโทรมาโวยว่าติด 2 ชั่วโมงแล้วยังไม่ถึงไหนเลยค่ะ รถติดนานๆ ทำให้เกิดปัญหามลภาวะ สิ้นเปลืองน้ำมัน ทำให้โลกร้อนด้วยนะคะ ถ้าใครไม่ใช้รถได้ก็อย่าใช้ดีกว่า ใช้มอเตอร์ไซค์ก็ดี (เดี๊ยนจะได้ขับรถโล่งๆ) กำลังฟุ้งอยู่จู่ๆ ก็บอกว่าอ้าว อ๋อ รถติดเพราะปิดถนน แล้ววางสายไป คงต๊กกะใจที่เห็นสีเขียวพรึ่บกับรั้วลวดหนามยังกะสงครามกลางเมือง

ตลกที่สุดคืออ้างว่าเกรงม็อบจะมาปิดล้อมสภาเหมือน 2 ปีที่แล้ว ที่ ส.ส.ต้องถูกม็อบขว้างปา ต้องปีนสภาหนี อ้าว ก็นั่นม็อบ พธม.ที่ท่านปกป้องว่าเขามีสิทธิชุมนุมไล่รัฐบาลไม่ใช่หรือครับ แถมยังอ้างว่าทำตามคำสั่งศาลปกครอง ที่ว่าม็อบ 7 ตุลา ไม่ได้ใช้สิทธิชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ กลับไปอ่านคำสั่งศาลใหม่ดีๆ นะ ศาลไม่ได้ห้ามม็อบชุมนุมหน้ารัฐสภา แต่ศาลบอกว่าการปิดกั้นทางเข้าออก โดยใช้รั้วลวดหนามยางรถยนตราดน้ำมันขวางกั้นถนนไว้ มีลักษณะทำให้ผู้อื่นกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ จึงไม่ใช่การชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ

ฉะนั้นคำสั่งศาลจึงชัดเจนว่าม็อบมาชุมนุมหน้ารัฐสภาได้แต่ต้องไม่ปิดกั้นทางเข้าออก

แต่รัฐบาลอ้างคำสั่งศาลผิดๆ มากั้นรั้วลวดหนามใช้แท่งคอนกรีตพร้อมกำลังทหาร ทำให้ผู้อื่นกลัวเสียเอง แบบนี้น่าจะโดนข้อหาละเมิดอำนาจศาลเหมือนกรณีพัชรวาทไปอ้างคำสั่งศาลคุ้มครอง ASTV ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด

กรณีนี้ผมไม่เห็นมีสื่อกระแสหลักรายไหนวิพากษ์วิจารณ์เลยนะครับ ทั้งที่เป็นหลักการสำคัญ เรื่องการแยกอำนาจ เรื่องความเป็นอิสระ ลองคิดดูง่ายๆ ถ้ารัฐบาลสั่งทหารไปกั้นรั้วลวดหนามห้ามคนเข้าออกศาลฎีกาบ้าง คุณว่าถูกหรือเปล่า หรือถ้ารัฐบาลสั่งทหารมาคุ้มครองหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ คุณยินดีต้อนรับใช่ไหม

เรื่องทุเรศของสื่อมีอีกเยอะ แต่ที่ขอเน้นคือ ถ้าเป็นเรื่องทัศนะ คุณว่าของคุณไป จะบ้าคลั่งอย่างไรก็เชิญ (แต่ถ้าแน่จริงควรลงชื่อจริง หรือนามปากกาที่ผู้อ่านรู้แล้วว่าเป็นใคร ใบตองแห้งยังกล้าๆ เปิดชื่อจริงทั้งที่มีคนเหม็นหน้าทั้งสองฝ่าย)

แต่ที่เลวร้ายมากๆ คือการเอาทัศนะเข้าไปใส่ในหัวข่าว หรือบิดเบือนหัวข่าวให้ได้ดังใจตัว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ให้สัมภาษณ์หรือแหล่งที่มาของข่าว

วันแรกๆ ผมอ่านข่าวสำนักหนึ่งบอกว่า เอเอฟพีชี้ม็อบแดงน้อยกว่าที่คาด แต่อีกสำนักหนึ่งไม่ยักพาดหัวอย่างนั้น อ่านข่าวจริงๆ เอเอฟพีเขาไปสัมภาษณ์ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งบอกว่าม็อบมาน้อยกว่าที่คาด ก็ธรรมดาอยู่แล้ว แต่คุณมาพาดหัวให้น้ำหนักทำนองว่า โห เอเอฟพีสำนักข่าวยักษ์ใหญ่เขายังหยันม็อบแดงเลยว่ามาแค่เนียะ

โปรดสังเกตว่าไอ้การอ้างสำนักข่าวต่างประเทศนี่ชอบกันมากเลย (เนื่องจากตัวเองหมดเครดิต) วันๆ คงเอาแต่เที่ยว search หาในอินเตอร์เน็ต สำนักข่าวไหนที่มันเขียนเข้า teen ก็เอามาลง เช่นสำนักข่าวเยอรมัน ร้อยวันพันปีไม่เคยมีใครสนใจสำนักข่าวนี้ ผมก็ไม่เคยรู้จัก พอรายงานว่าม็อบรับจ้างหัวละพัน ตีข่าวครึกโครมทันที รอยเตอร์เอพี ถ้าเขียนข่าวไม่เข้า teen กูไม่สน เราเลยเห็นสำนักข่าวแปลกๆ นักวิเคราะห์ที่มาจากไหนไม่ทราบ โผล่เต็มหน้าสื่อไทย ซึ่งความจริงไม่แปลกหรอก สื่อฝรั่งเขามีเสรีเขามีความเห็นต่างกันได้เยอะแยะ อยู่ที่คนเลือกหยิบ

ถัดมาอีก 2-3 วัน สำนักข่าวออนไลน์ของยักษ์ใหญ่พาดหัวว่า “ชี้แดงแผ่ว หน.โครงการสันติอาสาสักขีพยาน ระบุ 7 วันไร้ความรุนแรง” เป็นการสัมภาษณ์คุณนารี เจริญผลพิริยะ หัวหน้าโครงการสันติอาสาสักขีพยาน ซึ่งไม่มีตรงไหนเลยที่บอกว่า “แดงแผ่ว” เธอพูดดีมาก แค่มีตอนหนึ่งที่บอกว่า อุณหภูมิทางการเมืองเริ่มลดลง ผู้ชุมนุมได้ปลดปล่อยพลังงานบางส่วนแล้ว เช่น การเจาะเลือด เดินทางไปดาวกระจายตามที่ต่างๆ และฝนตกลงมาวันนี้ ทำให้บรรยากาศเริ่มจะเย็นลง

นี่หรือคือ “แดงแผ่ว” คุณคิดถึงคนที่เขาให้สัมภาษณ์บ้างหรือเปล่า เขาเข้าไปทำงานกับม็อบ ถ้าม็อบอ่านแต่พาดหัว อาจจะไม่พอใจ อาจจะต่อว่า ทำให้เขาทำงานลำบาก

ล่าสุดนี่ก็เหมือนกันครับ เครือข่ายพลเมืองชุมชนคนกรุงเทพฯ แค่บอกว่าจะแถลงข่าวเรื่องสิทธิการชุมนุมและการปกป้องชุมชน สื่อก็เสี้ยมทันที พาดหัวว่า 1,800 ชุมชนลุกฮือต้านม็อบ โห ที่จริงก็พวกเครือข่ายชุมชนของหมอพลเดชลัทธิประเวศแค่หยิบมือ บังเอิญผมดูเขามาให้สัมภาษณ์ TPBS ก็พูดดี ยอมรับสิทธิของม็อบ ไม่ได้ค้านเสียหมด (แบบว่าออกทางพวกเนียน มามาดนุ่ม ไม่ใช่มาปลุกม็อบชนม็อบ แต่อาจจะเชิงสูง)

ถามว่าพาดหัวข่าวอย่างนี้แล้ว พวกเครือข่ายที่ว่านี่เขาพยายามจะไปคุยกับเสื้อแดงอย่างเป็นมิตร จะเป็นปัญหาไหมครับ (ถ้าไม่เป็นปัญหาก็เพราะเสื้อแดงและเครือข่ายเขาต่อสายกันได้ ไม่สนใจสื่อเสี้ยม)

คือผมเนี่ยนึกภาพออกเลยว่าสื่อตั้งแท่นรออยู่แล้ว ขอให้มีใครก็ได้ อ้างว่าเป็นตัวแทนคนกรุงเทพฯออกมาไล่ม็อบ กูจะพาดหัวใหญ่ตัวเท่าหม้อแกง

นี่คือความไร้จรรยาบรรณของสื่อ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการเลือกข้าง คุณเลือกข้างได้ แต่ต้องไม่ชงข่าวให้เข้า teen ตามอคติของตัว

สื่อล้าหลังกว่าพันธมิตร รู้ตัวหรือเปล่าไม่ทราบ

 

                                                                                                                           ใบตองแห้ง
                                                                                                                           25 มี.ค.53

 

ป.ล.ภุชงค์ กนิษฐชาต ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองชุมชนคนกรุงเทพฯ นี่ผมเคยรู้จักนะ แต่ไม่เจอกันนานตั้งแต่สมัยยังหนุ่มๆ (ฝากความคิดถึง-ฮา) ก็เป็นคนดี จริงใจ ทำงานเคลื่อนไหวพัฒนาชุมชน ผมชอบใจที่ประชาไทลิงก์ให้ไปดูรายงานการประชุมของสมาคมองค์กรสาธารณะประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง ที่หมอพลเดชเป็นประธานการประชุม และภุชงค์เป็นผู้บันทึกการประชุม อ่านแล้วมันส์มาก (ไม่ทราบทำไมประชาไทแก้ไขข่าวแล้วไปตัดลิงก์นี้ออก)

อยากให้ได้อ่านทั่วๆ กันว่านี่แหละคือแนวคิดแบบ “ซ้ายเสื้อเหลือง” ที่หลงทางไปกับลัทธิประเวศ ใจจริงไม่เอาอำมาตย์ อยากเห็นประชาธิปไตย แต่กลายเป็นเครื่องมือของระบอบ “อประชาธิปไตย” เพราะกลัวทุนนิยมเกินเหตุ เพ้อฝันเรื่อง “ประชาธิปไตยยาตรา” อะไรนั่น แต่ไม่มีทางเป็นจริงได้เพราะกลับมาขัดขวาง “ประชาธิปไตยยาตรา” การเติบโตเรียนรู้ของมวลชนเสื้อแดง

ดูอย่างที่หมอพลเดชพูดตอนหนึ่งนะครับ ว่าสับสนแค่ไหน

“หากกลุ่มสีแดงยึดอำนาจได้สำเร็จ
โอกาสกลับไปสู่การเมืองน้ำเน่าแบบเดิมสูง...เราไม่หนุน
แต่ถ้านำไปสู่การปฏิวัติประชาธิปไตยหรือการปฏิรูปโครงสร้างครั้งใหญ่ของประเทศ...เราจะหนุน
หากรัฐบาลปราบได้ กลุ่มสีแดงแพ้
อาจนำไปสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่ที่สังคมมีบทบาท...เราจะหนุน
แต่ถ้านำไปสู่การเมืองน้ำเน่าแบบเดิม...เราไม่หนุน”

โห ตกลงพี่หมอจะเอาไงแน่

เมื่อปี 48 พี่หมอพลเดชที่แสนดีของผม (ผู้มีเพื่อนทางขวาคือประพันธ์ คูณมี ทางซ้ายคือหมอมิ้ง) ออกมาเคลื่อนไหวชูสโลแกน เลือกคนที่รัก เลือกพรรคมาคาน คือยอมให้ชาวบ้านเลือก ส.ส.ทรท. แต่เลือกปาร์ตี้ลิสต์ ปชป. มาคานหน่อย ผลปรากฏว่า...เหลว เพราะชุมชนเครือข่ายอะไรของแกโดนทักษิณดูดไปหมด (หมอมิ้งหัวร่อกลิ้ง)

รัฐบาลสุรยุทธ์ พี่หมอเป็น รมช.พัฒนาสังคม แกก็ฝันอีกแหละ ทำร่าง พรบ.สภาชุมชน โดนไดโนเสาร์มหาดไทยขวาง...เหลวอีก ออกมาเป็นตัวไรไม่รู้ 

ทำไมหมอประเวศทำงานชุมชน 20 ปี ทักษิณทำ 4 ปี เอาไปแดกซ์หมด ก็เพราะเดินแนวทางไม่สอดคล้องความเป็นจริงและความต้องการของมวลชน ไปเที่ยวบอกให้ชาวบ้านพึ่งตัวเองปฏิเสธทุนนิยม ทั้งที่เขาอยากพัฒนาทุนนิยม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net