Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จิระ ณ จันทร์ เขียนถึงกรณีคำพิพากษาคดีชุมชนบ้านแม่อมกิ ซึ่งชาวบ้านถูกฟ้องในความผิดฐานบุกรุกป่า ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าสะท้อนให้เห็นปัญหาทางนโยบายและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

นางน่อเฮหมุ่ย เวียงวิชชา และนายนายดิ๊แปะโพ ไม่มีชื่อสกุล ประชาชนในชุมชนบ้านแม่อมกิ ตำบลแม่วะหลวง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ชาวปกาเกอญอถูกจับกุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ในความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวน พ.ศ.2507 ข้อหาร่วมกันยึดถือ ครอบครองที่ดิน ตัด โค่น ก่นสร้างแผ้วถางป่า ทำประโยชน์ในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ และพนักงานอัยการฟ้องจำเลยเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1770/2551 และ 1771/2551 ต่อศาลจังหวัดแม่สอด

ในศาลชั้นต้นคดีดังกล่าวจำเลยรับสารภาพ คดีจึงไม่มีการสืบพยาน ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิด ลงโทษจำคุก 1 ปีโดยไม่รอการลงโทษ แต่ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาว่ากระบวนพิจารณาคดีไม่ชอบ เนื่องจากจำเลยไม่มีทนายความและล่ามไม่ได้สาบานตัว ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษากลับให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีใหม่

ภายหลังการสืบพยานโจทก์และจำเลยคดีนางน่อเฮหมุ่ย เวียงวิชชา เมื่อวันที่ 18 และ 19 กุมภาพันธ์ 2553 ศาลได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 1737/2551 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2553 โดยคำพิพากษาได้อ้างเหตุการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำกินได้ และประเด็นเรื่องจำเลยสำคัญผิดว่าตนเองสามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าสงวนดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนา จึงพิพากษายกฟ้อง

แม้คำพิพากษาดังกล่าวจะอ้างถึงมติคณะรัฐมนตรี และข้อกฎหมายเรื่องการขาดเจตนา ซึ่งเป็นการให้น้ำหนักไปที่องค์ประกอบของกฎหมายมากกว่าประเด็นเรื่องสิทธิชุมชน แต่อย่างน้อยคำพิพากษาดังกล่าวก็ได้ยืนยันว่าชุมชนหมู่บ้านแม่อมกิ ตำบลแม่วะหลวง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินมานานก่อนประกาศเขตป่าสงวนท่าสองยาง และมติคณะรัฐมนตรีที่ผ่อนผันให้ทำกินได้ก็เป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการประกาศเขตป่าสงวนทับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของชุมชน

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่เพียงชุมชนหมู่บ้านแม่อมกิเท่านั้น แต่ยังมีชุมชนเป็นจำนวนมากที่ถูกประกาศเขตป่าสงวนหรือเขตอุทยานทับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน สะท้อนให้เห็นปัญหาทางนโยบายและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และทำให้สังคมเข้าใจว่าชุมชนเข้าไปอยู่อาศัยและทำกินภายหลังการประกาศเขตป่าสงวน หรือเขตอุทยาน คนที่อยู่ในเขตป่ามาก่อนจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกเข้าไป “บุกรุกทำลายป่า” ถูกจับกุมและดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก

ย้อนไปพิจารณาทบทวนนโยบายการจัดการป่าและการบังคับใช้กฎหมายเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของรัฐที่เดินหน้าประกาศพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยการลดต้นทุนให้ต่ำลง เพื่อดึงดูดดการลงทุนจากต่างประเทศ นำไปสู่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่คำนึงถึงความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้น ความขัดแย้งในนโยบายและการบังคับใช้กฎหมายของรัฐเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นตลกร้ายที่นอกจากจะไม่สามารถจัดการปัญหาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมได้แล้ว ยังสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับประชาชนคนเล็กคนน้อยอย่างร้ายกาจอีกด้วย

คดีชุมชนแม่อมกิ ทำให้เห็นปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่มองข้ามวิถีชีวิตของคนชายขอบที่อยู่อาศัยและทำมาหากินในพื้นที่ป่ามาแต่เดิม ดูแลรักษา ใช้ประโยชน์ เพื่อความมั่นคงในชีวิตของตนเองและเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติโดยรวม แต่กลับถูกขับไล่ออกจากป่า เพราะรัฐไม่เชื่อว่าคนหรือชุมชนดูแลรักษาป่าได้

ระบบไร่หมุนเวียนที่เป็นภูมิปัญญาของชาวปกาเกอญอ ซึ่งสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ของป่า กำลังถูกจำกัดพื้นที่ลง บางพื้นที่ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้อีกต่อไป   เมื่อไม่มีชุมชนที่คอยดูแลรักษา ในขณะที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่มีกำลังพอจะดูแลรักษาป่าได้ นโยบายการอนุรักษ์ป่าในทิศทางดังกล่าวได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่อาจบรรลุเป้าหมายในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ และเป็นการแก้ปัญหาทรัพยากรที่ปลายเหตุ   ที่ยิ่งทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลายไปพร้อมกับชุมชนที่ถูกจับกุมดำเนินคดีและขับไล่ออกจากป่า พร้อมกับการละทิ้งวิถีชีวิตของชุมชน ซึ่งหมายถึงความมั่นคงในชีวิตที่ตนเองสามารถกำหนดได้ เข้าสู่เมืองเพื่อใช้แรงงาน หรือต้องหันมาใช้ระบบเกษตรเชิงเดี่ยวในพื้นที่จำกัด ซึ่งต้องใช้สารเคมี มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ต่างจากเกษตรกรรมพื้นราบที่ยังไม่ได้ปรับตัวอย่างยั่งยืน

รัฐต้องหันมาทบทวนนโยบายและการบังคับใช้กฎหมายที่ทำให้ชุมชนต้องอยู่ในสภาพที่หันเหออกจากทิศทางการใช้ประโยชน์และรักษาทรัพยากรอย่างยั่งยืน หันมาสนับสนุนการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนอย่างเป็นธรรรม กล่าวคือ นอกจากให้ชุมชนดูแลรักษาแล้วยังต้องเข้าใจว่าชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในชุมชนอย่างยั่งยืนได้ด้วย เพราะชุมชนและประชาชนจะมีความมั่นคงในชีวิตได้ต่อเมื่อสามารถเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนได้ และเมื่อทรัพยากรคือความมั่นคงในชีวิต การใช้ทรัพยากรของชุมชนย่อมเป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน และไม่เพียงชุมชนเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์   สาธารณะก็จะได้ประโยชน์ด้วย เพราะทรัพยากรชุมชนก็คือทรัพยากรของประเทศและของโลก

สิทธิของชุมชนจึงสัมพันธ์กับการดูแลรักษาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น ความจริงประการหนึ่งที่ต้องยอมรับร่วมกันคือ มีประชาชนจำนวนมากอยู่อาศัยและทำกินในป่า และมีวิถีชีวิตที่สอดคล้องสมดุลกับระบบนิเวศน์ป่า ความจริงอีกประการหนึ่งคือ นโยบายของรัฐและการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ รัฐจึงจำเป็นต้องเชื่อมั่นว่าชุมชนมีศักยภาพเพียงพอในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลและยั่งยืน รัฐมีหน้าที่เพียงส่งเสริม สนับสนุนชุมชน และที่สำคัญคือไม่จำกัดสิทธิของชุมชนในการรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชุมชน เหล่านี้ น่าจะเป็นทางออกของปัญหาการจัดการทรัพยากรในปัจจุบัน

สำหรับกลไกการบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ นายอำเภอในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ตลอดจนพนักงานอัยการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากร ควรทบทวนการจับกุมดำเนินคดีกับประชาชน ในกรณีที่เป็นชุมชนที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าสงวนหรือเขตอุทยานทับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน เพราะหากดำเนินคดีกับคนเหล่านี้แล้ว เมื่อพ้นโทษจำคุกก็อาจจะกลับมาอยู่อาศัยและทำกินที่เดิมที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ เนื่องจากไม่รู้จะไปอยู่อาศัยหรือทำมาหากินที่ไหนได้ หรือหากคนเหล่านี้ยอมย้ายออกจากพื้นที่ ผลต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นคือปัญหาความยากจน การอพยพเข้าเมืองเพื่อทำมาหากิน และเกิดปัญหาคนจนเมืองสืบเนื่องต่อไปไม่สิ้นสุด

จนอาจกล่าวได้ว่าทิศทางการแก้ปัญหาป่าไม้ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาได้สร้างปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย แต่ผู้ก่อมลพิษหรือผู้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมกลับไม่ถูกดำเนินการทางกฎหมายอย่างจริงจัง

แม้จะกล่าวไม่ได้เต็มปากเต็มคำนักว่าศาลได้ยืนยันสิทธิชุมชนในคำพิพากษาคดีชุมชนแม่อมกิ แต่ประเด็นสำคัญในคำพิพากษานี้คือการรับรองให้ชุมชนแม่อมกิ ซึ่งอยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าสงวนก่อนการประกาศเขตป่าสงวนทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกินมีสิทธิที่จะอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ดังกล่าวต่อไปได้   แม้คำพิพากษาจะให้น้ำหนักกับมติคณะรัฐมนตรีและประเด็นเรื่องจำเลยไม่มีเจตนาบุกรุกเนื่องจากสำคัญผิดว่าตนเองทำกินในที่ดินพิพาทได้ก็ตาม

แต่คำพิพากษาคดีนี้ทำให้สังคมได้เห็นบทบาทของศาลในการทำหน้าที่พิพากษาคดีอย่างเป็นธรรมและสอดคล้องกับความเป็นจริงเรื่องสิทธิชุมชนมากขึ้น ในทางกฎหมายมติคณะรัฐมนตรีไม่ใช่กฎหมายและพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวน พ.ศ.2507 ก็ยังมีสภาพบังคับใช้อยู่ หากจะเลือกพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยและรอลงอาญาก็ย่อมทำได้ แต่คำพิพากษานี้แตกต่างออกไป

จึงถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของสิทธิชุมชนผ่านกระบวนการยุติธรรม และอาจเป็นแนวทางหนึ่งแก่ภาคประชาชนในการทำงานกันต่อไป โดยเฉพาะองค์กรและชุมชนในพื้นที่ตำบลแม่วะหลวง เพราะปัจจุบัน ตำบลแม่วะหลวง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ รวมพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 257,650 ไร่ อยู่ระหว่างดำเนินการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแม่เงา…   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net