ภาคประชาชน 12 องค์กรบุกสธ. แนะสกัดจุดอ่อนให้บริการคนไร้สัญชาติ

เครือข่ายภาคประชาชน 12 องค์กรบุกกระทรวงสาธารณสุข ยื่นข้อเสนอแนะสกัดจุดอ่อนกองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ชี้สธ. กลไกไม่พร้อมในการให้บริการและบริหารงานอย่างเอกเทศหวั่นบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเข้ารับบริการได้ไม่ทั่วถึง

 
พร้อมกันนี้ เครือข่ายๆ ยังเสนอให้แยกการจัดการกองทุนพร้อมตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนร่วมพิจาณางบประมาณโดยให้ สปสช.ดำเนินการ เนื่องจากฐานข้อมูลพร้อม และดูแลได้ทั่วถึงทุกกรณี ด้าน รมต.สาธารณสุขโยนปลัดกระทรวงเป็นประธานกรรมการกองทุนโดยมีเลขา สปสช.นั่งรอง ย้ำหนักดีเดย์ 1 เม.ย.ผู้ได้รับสิทธิเข้าถึงบริการแน่ ทั่วประเทศ
 
ที่อาคารสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขวันที่ 26 มี.ค. 53 ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายเด็กและเยาวชน เครือข่ายสตรี เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคเครือข่ายคนพิการและผู้ป่วยจิตเวช เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเรื้อรัง เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายชุมชนแออัด เครือข่ายเกษตรกร เครือข่ายชนกลุ่มน้อย เครือข่ายประชาชนภาค กทม.และ เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ จำนวนกว่า 20 คนได้เข้ายื่นข้อเสนอแนะต่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี ที่อนุมัติให้สิทธิด้านการรักษาพยาบาลแก่กลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิจำนวนทั้งสิ้น 475,409 คน
 
นางอรพิน วิมลภูษิตผู้จัดการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากกรณีที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข กับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยให้เริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2553 พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการในเรื่องนี้ โดยมีการอนุมัติให้จัดตั้ง “กองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ” โดยจัดหางบประมาณสำรองจ่ายในการดำเนินงานให้กับหน่วยบริการต่าง ๆ เป็นเงินทั้งสิ้น 472,823,683.30 บาท และขอตั้งงบประมาณชดเชย รวมทั้งงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวปรับตามโครงสร้างอายุ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 นั้นทำให้ทางเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนหลายส่วน มีข้อกังวลใจต่อการดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าว
 
ผู้จัดการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เพราะปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีระบบฐานข้อมูลการให้บริการสุขภาพที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มอยู่แล้ว แต่เมื่อมติคณะรัฐมนตรีได้ระบุให้ทางกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ อาจส่งผลต่อการขาดฐานข้อมูลที่เป็นจริง ถูกต้อง และน่าเชื่อถือ เพราะกระทรวงสาธารณสุขยังไม่มีระบบข้อมูลเรื่องการให้บริการกับประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งจะต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลขึ้นมาใหม่ภายใต้ระยะเวลาจำกัด จึงเป็นการสูญเสียงบประมาณ บุคลากร โดยไม่มีความจำเป็น
 
นางอรพินกล่าวอีกว่า เครือข่ายเห็นว่าการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาใหม่ภายใต้การบริหารงานโดยกระทรวงสาธารณสุข จะทำให้เกิดการบริหารงานแบบเอกเทศ ยิ่งทำให้ประชาชนกลุ่มนี้ถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงการรักษา โดยเฉพาะในโรคร้ายแรง หรือการประสบภัยจากอุบัติเหตุ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งแตกต่างจากกองทุนที่ดำเนินการโดย สปสช. ที่มีระบบการบริหารจัดการกองทุนขนาดใหญ่ ครอบคลุมการให้บริการทุกกรณี โดยมีกองทุนดูแลสำหรับโรคเฉพาะที่ร้ายแรง หรือโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงกรณีฉุกเฉิน จะช่วยทำให้ประชาชนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพจากโรงพยาบาลอย่างทั่วถึงและเสมอภาค
 
“ ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนกลุ่มนี้ได้รับสิทธิการบริการด้านสุขภาพ และลดภาระการแบกรับค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 ทางเครือข่ายฯจึงมีข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้จัดสรรงบประมาณออกเป็น 2 ส่วน โดย ส่วนที่ 1 ส่วนของค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรงบประมาณให้กับโรงพยาบาลโดยตรง ตามจำนวนผู้รับสิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีที่ไปขึ้นทะเบียนตามโรงพยาบาลนั้นๆ โดยให้ได้รับสิทธิเทียบเท่าการดำเนินงานตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และในส่วนที่ 2 สำหรับงบประมาณในส่วนของค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน ให้จัดตั้งคณะกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาการจัดบริการด้านสุขภาพสำหรับผู้ป่วยใน โดยใช้ระบบการซื้อบริการจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้ทุกกรณี” ผู้จัดการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กล่าว
 
ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่าประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วงนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขจะต้องดำเนินการให้ประสบความสำเร็จใน 2 ขั้นตอนคือ ให้สิทธิด้านการรักษาพยาบาลแก่กลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิจำนวนทั้งสิ้น 475,409 ให้ดีและครอบคลุมที่สุด 2.จะต้องดำเนินการอย่างไรให้โรงพยาบาลชายแดนได้งบประมาณในการสนับสนุนการรักษาซึ่งที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลต้องรับภาระในเรื่องค่าใช้จ่ายสูงสำหรับการดูแลรักษากลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเหล่านี้ โดยขณะมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนขึ้นมา 1 ชุดเพื่อรับผิดชอบในส่วนการกำหนดทิศทางและบริหารกองทุนในการให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิซึ่งเป็นเงินทั้งสิ้น 472,823,683.30 บาท โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานคณะกรรมการ และมีเลขาธิการ สปสช.ทำหน้าที่เป็นรองประธาน รวมทั้งให้ภาคประชาชนที่เป็นเจ้าของเรื่องซึ่งได้แก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลเป็นคณะกรรมการร่วมด้วย แต่ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงของการดำเนินการและการสรรหาอยู่
 
“ในระหว่างที่รอกรรมการบริหารกองทุนนี้ ผมได้ส่งหนังสือสั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการในเรื่องการให้สิทธิด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐานโดยเริ่มให้บริการสำหรับบุคคลที่มีปัญหาในเรื่องสถานะและสิทธิไปก่อนตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.53 เป็นต้นไปจนกว่าจะตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน ซึ่งที่ผ่านมาถ้าไม่มีการมอบให้สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขในการจัดการกองทุนในการให้สิทธิสำหรับคนกลุ่มนี้ก็จะวกกลับสู่การติดหล่มอีกครั้งเหมือน 10 ปีที่ผ่านมาที่ทำอะไรไม่ได้เลยกับประเด็นดังกล่าว ซึ่งในวันที่ 1 เม.ย.นี้สามารถนำบัตรสีของผู้มีปัญหาสถานะใช้ในการับบริการสิทธิในการรักษาพยาบาลไปก่อน ถ้ามีการออกนอกพื้นที่บริการก็สามารถเข้ารับบริการได้จากทุกโรงพยาบาลที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศซึ่งใช้บริการได้ไม่ต่างจากคนไทยที่มีสถานะทุกประการ”นายจุรินทร์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท