Skip to main content
sharethis

“ผมคิดว่าอาจจะมีบางคนที่แสดงท่าทีเกลียดชังพวกเขา แต่คนส่วนใหญ่กลับรู้จักเสื้อแดงเป็นอย่างดี รับใบปลิว และให้กำลังใจพวกเขา มีบ้านเพียงสองหลังเท่านั้นที่ตะโกนไล่พวกเขาและบอกให้พวกเขาเลิกก่อความวุ่นวายเสียที”

หลังจากที่รั้งรอมานานและสะสมความตื่นเต้นกันมาเป็นเดือน ๆ ก็มีการประกาศการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงกลางเดือนมีนาคม 2010 พอเริ่มชักธงศึก ข่าวลือก็แพร่ทันทีโดยเฉพาะที่มาจากรัฐบาลซึ่งนำเสนอแถลงการณ์เชิงต่อต้านผู้ชุมนุมเป็นชั่วโมง โดยกล่าวถึงความรุนแรง และบอกว่าเป็นไปได้ที่จะมีการใช้ระเบิด ซึ่งในเรื่องนี้ก็ถูกปฏิเสธในเวลาต่อมาโดยรัฐบาลอีกมุ้งหนึ่ง ชาวเสื้อแดงพูดถึงการชุมนุมอย่างสันติปราศจากความรุนแรง แต่ยังมีแกนนำบางคนก็ทำให้เหล่านักข่าวหวั่น ๆ ด้วยการพูดถึงความเป็นไปได้ของสงครามกลางเมือง

ผมได้ตุนน้ำมันเอาไว้หลังจากที่รัฐบาลปล่อยข่าวลือว่าพวกเขาอาจสั่งปิดปั้มน้ำมันในกรุงเทพฯ มีข่าวลืออีกว่าจะสั่งห้ามรถที่มีทะเบียนจากจังหวัดอื่นเข้ากรุงเทพฯ และไม่อนุญาตให้แท็กซี่วิ่งตามถนนในกรุงเทพฯ ขณะทีการประท้วง ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะมีการประกาศใช้ พรบ. ความมั่นคง แต่ก็ถูกประกาศใช้จนได้ในวันที่ 11 มีนาคม 2010 เป็นต้นไป

พอผมได้ข่าวว่ามีการส่งกองกำลังเสริมเข้ามาในกรุงเทพฯ ในคืนที่มีการประกาศ พรบ. ความมั่นคง ผมก็ออกไปที่ถนนพหลโยธิน ใกล้ ๆ กับหลักสี่ซึ่งเป็นพื้นที่หลัก ๆ ของกลุ่มทหารเนื่องจากมีค่ายทหารจำนวนมากและมีกำลังทหารยืนเรียงแถวอยู่ตามท้องถนน ทันทีที่ผมออกจากบ้านก็มีข่าวว่ากองกำลังเสริมเข้ามาถึงกรุงเทพฯ แล้วตลอดทั้งวันที่ผ่านมา อย่างไม่กระโตกกระตาก ตามรถตู้และรถส่วนตัว ไม่ใช้การเคลื่อนทัพใหญ่จนทำให้คนตื่น

ผมจึงใช้เวลาสักระยะหนึ่งอยู่กับถนนที่ถูกปิดโดยกลุ่มทหารตำรวจกองผสม มีรถจักรยานยนต์และรถยนต์ถูกสั่งหยุดตรวจแบบสุ่ม ไม่พบอาวุธใด ๆ เลยจากการค้น มีรถคันหนึ่งที่ใช้ป้ายทะเบียนปลอมเท่านั้นที่ถูกหยุด

เช้าวันต่อมาก็มีข่าวลือว่ารัฐบาลวางแผนจะปิดสถานี "พีเพิลแชนแนล" ของเสื้อแดงอีก มีชาวเสื้อแดง 1,000 คน ที่รู้สึกกระวนกระวายใจรวมตัวกันที่บิ๊กซีลาดพร้าวชั้น 5 ซึ่งเป็นสำนักงานของการเคลื่อนไหวกลุ่มเสื้อแดง

กลุ่มผู้ประสานงานเริ่มพากันเคลื่อนย้ายเครื่องมือไปยังที่อื่น รัฐบาลไตร่ตรองว่าพวกเขาจะได้รับคำสั่งศาลในการปิดสถานีโทรทัศน์หรือไม่ แต่ไม่นานหลังจากนั้นสาธิต วงศ์หนองเตย ก็ประกาศในสภาว่าจะไม่มีการปิดสถานี กลุ่มเสื้อแดงก็ผ่อนคลายลง ขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งคือชั้น 6 มีผู้คนรอต่อคิวสมัครเข้าร่วมเสื้อแดง มีการจัดคอนเสิร์ตในคอนเวนชั่นฮอลล์ราวบ่าย 2 โมง

การประท้วงจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 มีนาคม เวลา 12 นาฬิกา 12 นาที ที่ 5 จุดโดยพร้อมเพรียง พิธีการหลัก ๆ จะอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่หลักสี่ ที่ดินแดง บางนา วงเวียนใหญ่ และที่สวนลุมพินี ตัวผมไปที่หลักสี่ ที่มีวีระ มุสิกพงศ์ และ เหวง โตจิราการ เข้าร่วมพิธีกรรมแบบพราหมณ์ มีผู้ชุมนุมเข้าร่วม 2,000-3,000 ราย จากนั้นไม่นานพวกเขาก็เคลื่อนไปชุมนุมที่หน้ากรมทหารราบ 11 ผมออกจากที่นั่นและไปยังดินแดง ที่นั่นดูไม่ค่อยมีชีวิตชีวา มีเสื้อแดงไม่กี่ร้อยคนส่วนใหญ่นั่งอยู่ตามร่มเงาต้นไม้เพื่อหลบความร้อน ผมตัดสินใจตามกลุ่ม นปช. 99 ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของเสื้อแดงจากเขตบางซื่อ พวกเขาวางแผนรณรงค์แจกใบปลิวตามซอยในเขตบางซื่อเพื่อรณรงค์ให้คนเข้าร่วมการประท้วง

มีชาวเสื้อแดงพร้อมด้วยเครื่องขยายเสียงและรถกระบะสามคันเดินทางไปตามซอยต่าง ๆ เพื่อแจกใบปลิว ผมคิดว่าอาจจะมีบางคนที่แสดงท่าทีเกลียดชังพวกเขา แต่คนส่วนใหญ่กลับรู้จักเสื้อแดงเป็นอย่างดี รับใบปลิว และให้กำลังใจพวกเขา มีบ้านเพียงสองหลังเท่านั้นที่ตะโกนไล่พวกเขาและบอกให้พวกเขาเลิกก่อความวุ่นวายเสียที แล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นต่อจากนั้น เสื้อแดงเมินเฉยต่อเสียงก่นด่า มีคนในซอยอธิบายให้ฟังว่าบ้านสองหลังนี้เป็นกลุ่มสนับสนุนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

จุดแรกที่น่าจะอันตรายคือจุดตรวจวังน้อยในจังหวัดอยุธยา ซึ่งเป็นทางที่กลุ่มเสื้อแดงจากภาคกลางและภาคอิสานต้องผ่านเพื่อมาที่กรุงเทพฯ วันที่ 13 มีนาคม ก่อนการนัดชุมนุมใหญ่ของเสื้อแดงทั่วประเทศ พวกเขาอยู่ตามจุดต่าง ๆ ใกล้กรุงเทพฯ ชาวเสื้อแดงในอิสานรวมตัวกันที่โคราช ขณะที่ชาวเสื้อแดงภาคเหนืออยู่ที่นครสวรรค์ ผมขี่จักรยานยนต์ไปที่วังน้อยตามคาราวานเสื้อแดงที่มากรุงเทพฯ มีชาวเสื้อแดงหลายกลุ่มยาวเหยียดบนท้องถนน อาศัยมาตามรถกระบะ, รถบรรทุก, รถสองแถว, รถตู้, รถบัส และบ้างก็มากับจักรยานยนต์ จุดตรวจเองก็ดูสงบ ทั้งตำรวจและทหารต่างผ่อนคลาย คนเสื้อแดงในรถแสดงบัตรประชาชนและได้รับอนุญาตให้ผ่านทางไป

ชาวเสื้อแดงที่อยู่ในกรุงเทพฯ รวมตัวกันการส่งน้ำส่งอาหารให้ ผมไปที่จุดตรวจอีกจุดหนึ่งที่บางปะอิน ที่มีคาราวานของชาวเหนือเดินทางมากรุงเทพฯ เสื้อแดงอีกหลายร้อยคนคอยให้กำลังใจคาราวาน บนสะพานลอยแทบทุกแห่งและตามถนนทางหลวงหลายเลนที่มุ่งมายังกรุงเทพฯ มีผู้สนับสนุนเสื้อแดงคอมให้กำลังใจคนเสื้อแดงที่ผ่านทางมา ที่ ๆ มีการให้กำลังใจเสื้อแดงตามท้องถนนจะมีรถติดมากแต่ก็ติดน้อยกว่าที่ผมคาดการณ์ไว้หน่อย ยิ่งเข้าใกล้กรุงเทพฯ มากเท่าไหร่บรรยากาศก็ยิ่งครึ้นเครงมากเท่านั้น ตั้งแต่รังสิตเป็นต้นมากลุ่มคนที่คอยต้อนรับเสื้อแดงมีจำนวนล้นหลาม จากสามเหลี่ยมดินแดงไปจนถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมีกลุ่มคนจำนวนมากเรียงแถวต้อนรับอยู่ข้างทาง

ในช่วงเย็น ผู้คนมหาศาลรวมตัวกันที่จุดชุมนุมใหญ่จากสนามหลวงถึงราชดำเนิน โดยตั้งเวทีกลางที่สะพานผ่านฟ้าฯ ไปจนถึงลานพระบรมรูปทรงม้า รถส่วนใหญ่จอดอยู่ที่สนามหลวงและรอยังพลาซ่า ระหว่างทางกลับบ้านผมเดินทางไปยังเขตนางเลิ้งที่อยู่ติดกัน ซึ่งเป็น 'ปราการ' ของเสื้อเหลือง และเป็นจุดที่เสี่ยงจะเกิดความขัดแย้ง แต่ทุกอย่างก็เงียบสงบ มีกลุ่มทหารอยู่ในซอยและตามสี่แยก มีชาวเสื้อแดงในพื้นที่คนหนึ่งบอกว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ในนางเลิ้งจะไม่ทำอะไรหากสถานการณ์ยังไม่กลายเป็นแบบเมื่อเดือนเมษายน 2009

“ไม่ว่าสุดท้ายแล้วจะมีผู้ชุมนุมเป็นจำนวนเท่าไหร่ แต่นี่ก็เป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ฝูงชนขนาดนี้ถือเป็นการล้มสถิติการประท้วงทุกครั้งก่อนหน้านี้”

วันถัดมา 14 มีนาคม ซึ่งเป็นวันชุมนุมใหญ่ มีชาวเสื้อแดงมาร่วมมากขึ้น ในสื่อมีการรายงานว่าเรือที่กลุ่มเสื้อแดงโดยสารจากอยุธยาเข้าเทียบท่า มีพระร่วมชุมนุมที่สนามหลวง 500 ราย และมีการเดินขบวนช่วงสั้น ๆ ไปยังเวทีกลาง พระหลายรูปให้พรแก่ผู้ชุมนุม มีการรดน้ำมนต์ และผู้เข้าร่วมก็ถือขันรับน้ำมนต์

 

ภรรยาของผมมีปัญหากับการหาซื้อกับข้าว เพราะร้านรวงและผู้ค้าในตลาดสดพากันปิดร้านเพื่อไปชุมนุม วันถัด ๆ มาก็เป็นเช่นเดียวกันคือมีร้านรวงเปิดน้อย และร้านที่เปิดคือร้านที่มีเจ้าของเป็นพันธมิตรฯ

ในช่วงเย็นผู้ชุมนุมก็มาร่วมเต็มบริเวณ วิทยุชุมนุมแท็กซี่ตั้งเสาส่งสัญญาณในพื้นที่หลังเวที ผมรู้สึกวิงเวียนเมื่อเห็นคนทำงานอยู่บนยอดเสา ตอนตะวันตกดินผมปีนขึ้นไปที่นั่งร้านของลำโพงเพื่อถ่ายรูปผู้ชุมนุม

พอได้แขวนตัวเองอยู่บนความสูงราว 10 เมตรแล้วก็รู้สึกสุดยอดมาก ได้เห็นคนเสื้อแดงไกลเท่าที่ผมจะได้เห็น

จริง ๆ ผมเบื่อเกมนับเลขที่คัดคานกันทั้งสองฝ่ายอยู่เหมือนกัน มีการอ้างจำนวนที่ต่างกันมาก บ้างอ้างว่ามีคนชุมนุม 50,000 ถึง 80,000 แกนนำเสื้อแดงบอกว่ามีตั้งแต่ราว 300,000 ถึง 600,000 ผมเชื่อว่าจำนวนที่น่าจะตรงความจริงที่สุดคือราว 150,000 ไม่ว่าสุดท้ายแล้วจะมีผู้ชุมนุมเป็นจำนวนเท่าไหร่ แต่นี่ก็เป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ฝูงชนขนาดนี้ถือเป็นการล้มสถิติการประท้วงทุกครั้งก่อนหน้านี้ และมากกว่านั้นคือนี่เป็นการชุมนุมในกรุงเทพฯ ที่มีกลุ่มคนในชนบทมาเข้าร่วมมากที่สุด มีส่วนหนึ่งเป็นคนในเมืองรวมอยู่ด้วยเช่นกัน แม้ว่าหลายคนอาจเถียงว่าเสื้อแดงไม่สามารถรวมคนได้ถึง 1 ล้านคน ตามที่ประกาศไว้ ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ พวกเขาควรคิดอีกแบบหนึ่งว่าไม่มีการประท้วงครั้งใดเลยใน 5 ปีที่ผ่านมาที่มีคนออกมาตามท้องถนนมากมายเท่านี้

ต่อมาก็มีการคาดเดาว่าจำนวนผู้ชุมนุมที่ลดลงอาจมาจากความอ่อนล้า ก็ดูเป็นการเมินเฉยต่อธรรมชาติการประท้วงในไทย

เมื่อลองเปรียบเทียบแล้ว จำนวนพันธมิตรฯ ที่เข้ายึดทำเนียบรัฐบาลส่วนใหญ่อยู่ที่จำนวน 2,000 คน เท่านั้น และมีเหตุการณ์ที่ใหญ่กว่านี้เท่านั้นถึงจะทำให้มีจำนวนคนเข้าร่วมมากขึ้น อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่การชุมนุมช่วงก่อนมีรัฐประหารซึ่งมีคนร่วมราว 80,000 คนแล้ว พันธมิตรฯ ก็ไม่เคยได้จำนวนคนร่วมถึงระดับนี้อีก ช่วงที่มีการปะทะกันในวันที่ 7 ต.ค. 2008 มีผู้ประท้วง 8,000 คนเท่านั้น ขณะที่การประท้วงของเสื้อแดงในตอนกลางวันมีอยู่ราว 15,000 คน มีมากขึ้นในตอนเย็นคือราว 20,000 ถึง 40,000 คน

ระหว่างทางกลับบ้านผมไปที่นางเลิ้งอีกครั้ง มีทหารจากกรมทหารราบ 11 ยืนคุมอยู่และบอกว่ายังไม่เหตุการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น ผมพูดคุยกับชาวนางเลิ้งที่เป็นเสื้อแดง เขาบอกว่ามีความรู้สึกไม่สบายใจเกิดขึ้นในเขตนี้ คนพากันหลีกเลี่ยงการพูดคุยในประเด็นการเมืองเพราะไม่อยากทะเลาะกับเพื่อนบ้าน

“กรมทหารราบที่ 1 ถูกโจมตีด้วยระเบิด M79 6 ลูก มี 2 ลูกที่ไม่ระเบิด มีรายงานว่าทหาร 2 รายได้รับบาดเจ็บ นี่ถือเป็นการโจมตีในลักษณะที่แปลกมากที่จะเกิดขึ้นในตอนกลางวัน”

วันที่ 15 มี.ค. 2010 เสื้อแดงประกาศเดินขบวนไปยังกรมทหารราบ 11 ที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฝังตัวและสั่งการรัฐบาลอยู่ในนั้น ในช่วงเช้าสถานที่จอดรถของลานพระบรมรูปทรงม้าก็กลายเป็นหมู่บ้านชนบทขนาดใหญ่ ผู้ประท้วงทำข้าวเหนียว-ส้มตำ และได้กลิ่นปลาร้าโชยมาปนกับกลิ่นควันไฟ คาราวานผู้ประท้วงได้มารวมตัวกันแล้ว

เมื่อคาราวานเริ่มต้นเดินทาง ไม่พบว่าการ์ดถืออาวุธใด ๆ มีบรรยากาศดูครึกครื้น และรอบข้างถนนกับบนสะพานลอยก็เต็มไปด้วยฝูงชนที่คอยส่งเสียงเชียร์ บนถนนพระราม 4 ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีมีหมอ พนักงาน และพยาบาลหลายคนออกมาแสดงการสนับสนุนผู้ชุมนุม

ตั้งแต่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปจนถึงถนนพหลโยธิน มีภาพเดียวกันเกิดขึ้น ใต้สถานีรถไฟลอยฟ้าเสียงตะโกน "อภิสิทธิ์ออกไป" ดังกึกก้อง มีการตีกลองบนรถของนักรบพระองค์ดำซึ่งเป็นการ์ดที่มาจากพิษณุโลก เสียงดนตรีเร้าอารมณ์ของพวกเขาทำเอาผมขนลุก เสื้อแดงอีกหลายคนมารอขบวนคาราวานอยู่หน้ากรมทหารราบ 11 ก่อนแล้ว

 

แต่ในตอนที่คาราวานหลักมาถึงที่ก็ดูจะเลิกชุมนุมกันแล้ว มันเป็นเพราะความร้อน การขาดน้ำและอาหาร หรือเป็นความผิดหวังหลังจากที่มีการเดินขบวนครั้งใหญ่แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก หรือมันเป็นการตอบสนองอย่างฉลาดเฉลียวต่อการประกาศออกลำโพงของทีมสงครามจิตวิทยาของทหาร? ความเบื่อหน่ายเข้ายึดกุม มีการ์ดเสื้อแดงบางคนหวาดหวั่นเมื่อเข้าใจผิดว่ากล้องของนักข่าวบนอาคารเป็นปืนดักยิงระยะไกล (sniper) และแสดงความต้องการเข้าไปในตัวอาคาร ทำให้นักข่าวผู้หญิงหลายคนในพื้นที่นั้นหวาดกลัว สถานการณ์ดูสงบลงในอีกไม่เวลาต่อมา และไม่นานนักในตอนบ่าย 2 โมง เสื้อแดงก็กลับไปที่สะพานผ่านฟ้า

ช่วงที่มีการประท้วงในตอนบ่ายโมง กรมทหารราบที่ 1 ถูกโจมตีด้วยระเบิด M79 6 ลูก มี 2 ลูกที่ไม่ระเบิด มีรายงานว่าทหาร 2 รายได้รับบาดเจ็บ นี่ถือเป็นการโจมตีในลักษณะที่แปลกมากที่จะเกิดขึ้นในตอนกลางวัน

หลังจากกลับไปพักผ่อนที่บ้าน ผมก็กลับไปที่สถานที่ชุมนุมในตอนกลางคืนเพื่อถ่ายภาพท่านผู้หญิง วิระยา ชวกุล "คนใน" ราชสำนักขึ้นปราศรัยบนเวทีเสื้อแดง หลังเวทีเธอนั่งอยู่กับอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง พงศ์เทพ เทพกาญจนา โฆษกของทักษิณ และประทีป อึ๊งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ที่ไม่ค่อยปรากฏตัวหลังจากกรณีสงกรานต์ปี 2009 หลังจากนั้นจตุพร พรหมพันธ์ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ และวีระ มุสิกพงศ์ ก็เข้ามา ท่านผู้หญิงก็ให้แซนด์วิชอร่อย ๆ กับแกนนำและนักข่าว

ในตอนกลางคืน ราวตี 4 มีการยิงลูกระเบิดอีก คราวนี้ไปตกที่ใกล้ ๆ บ้านของประธานศาลฎีกา

“สิ่งที่ทำให้ฉากมันดูค่อนข้างขี้เหร่ส่วนใหญ่แล้วสาเหตุมันมาจากนักข่าวอย่างพวกเรานี่แหละ”

วันต่อมาคือ 16 มีนาคม กลุ่มเสื้อแดงพยายามยกระดับการชุมนุมขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ยังคงไม่ยอมยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่ พวกเขาจึงจะทำการบริจาคเลือดและเทเลือดประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาล หน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหน้าบ้านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายแพทย์เหวง โตจิราการ อธิบายว่าเลือดเป็นสัญลักษณ์ของการที่ประชาชนแสดงการ 'หลั่งเลือด' เพื่อประชาธิปไตย และเลือดของผู้ที่ได้หลั่งเพื่อประชาธิปไตยไปแล้ว ตลอดทั้งวันผู้ชุมนุมเข้าคิวยาวหน้าเต็นท์ 3 หลังที่มีหมอและพยาบาลใช้เข็มฉีดยาปราศจากเชื้อรวบรวมเลือดของผู้ชุมนุมไว้ในขวดแกนลอนและกระป๋อง ซึ่งเต็มเร็วมาก

เมื่อถึงบ่าย 3 โมง เสื้อแดงก็ร่วมแถลงข่าวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ (กสม.) ที่โรงแรมรอยัลปรินซ์เซสใกล้ ๆ กับลานชุมนุม ตามด้วยการพบปะกับวีระ มุสิกพงศ์ และแกนนำเสื้อแดงคนอื่น ๆ เสื้อแดงเรียกร้องให้ กสม. สังเกตการณ์การชุมนุมและทำหน้าที่สื่อสารระหว่างพวกเขากับรัฐบาล เนื่องจารัฐบาลไม่ยอมรับฟังพวกเขาและการพยายามสื่อสารกับรัฐบาลไม่เป็นผล โดยเสื้อแดงสัญญาว่าจะไม่ปิดถนนหน้าอาคารราชการและอนุญาตให้มีการสัญจรผ่านไปมา

จากนั้นไม่นานเสื้อแดงก็ไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเทเลือด มีผู้ชุมนุมจำนวนมากในที่ชุมนุม และนักข่าวจากหลายสำนักหลายร้อยคนพยายามแข่งกันเก็บภาพ ผู้ประท้วงเสื้อแดงที่เอาแกลลอนเลือดไว้เหนือหัวพยายามฝ่าฝูงชนเข้าไป

นักข่าวบางคนเข้ามาทางประตูรั้วเล็ก ๆ หน้าทำเนียบฯ แต่เมื่อพวกนักข่าวอัดกันเข้ามามาก ๆ เจ้าหน้าที่ก็ปิดประตู ผมยังไม่ทันได้เข้าไป สิ่งที่ทำให้ฉากมันดูค่อนข้างขี้เหร่ส่วนใหญ่แล้วสาเหตุมันมาจากนักข่าวอย่างพวกเรานี่แหละ

สถานที่ต่อไปคือที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ผมตรงไปที่นั่นทันที่เพื่อที่จะได้ภาพ เสื้อแดงมาถึงตอนตะวันตกดิน และมีกลุ่มนักข่าวตามมาด้วย ในตอนแรกพื้นที่บนถนนหน้าอาคารถูกกันไว้ให้กับเสื้อแดงซึ่งมาจากการตกลงกันของแกนนำเสื้อแดงกับตำรวจ

ผมหาที่เหมาะ ๆ ให้กับตัวเอง แกนนำเสื้อแดง, คนที่แบกขวดเลือด, พราหมณ์ที่จะมาทำพิธีสาแช่ง และนักข่าวต่างเข้ามาถึงพื้นที่ ตอนแรก ๆ ก็เป็นระเบียบดี แต่ต่อมาเหล่านักข่าวก็กรูเบียดเสียดกันเข้ามา จนทำให้ผมรู้สึกโกรธมาก รู้สึกไม่สบอารมณ์และอับอายกับการเป็นนักข่าว ในหมู่นักข่าวนั้น มีหลายคนดูจะใช้บัตรนักข่าวปลอม ขณะที่คนอื่น ๆ ไม่เห็นว่ามีใบรับรองผู้สื่อข่าวเลย พวกเขาไม่ฟังเจ้าหน้าที่ตำรวจและแกนนำที่บอกให้ถอยออกมา แต่กลับยิ่งดันเข้าไปอีก ผมหนีด้วยการข้ามรั้วออกมายังถนนด้วยความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ตำรวจบางนาย แต่ก็ยังไม่หยุด พวกนักข่าวดันกันเข้าไปอีกจนกระทั่งดันแนวกั้นตำรวจและทำให้กลุ่มเสื้อแดงเคลื่อนไปอยู่หน้าอาคาร เมื่อเริ่มรู้สึกว่าสงบลงบ้างแล้ว พราหมณ์ก็เริ่มพิธีการสาปแช่งทันที ผมเก็บภาพมาได้บ้างก่อนที่พวกนักข่าวจะดันกันอีก ผมจึงไม่สามารถเก็บภาพได้อีกต่อไป ภาพเหล่านี้แสดงให้เห็นความแออัดและอารมณ์ต่าง ๆ ที่มาจากนักข่าว และเป็นฉากที่ดูไม่เป็นธรรมชาติเลย ผมถ่ายภาพการเทเลือดอีกครั้ง

มีเจ้าหน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์ 2 คนที่ดูว้าวุ่นใจ ขอร้องไม่ให้ผู้ประท้วงเทเลือดหน้าอาคารในช่วงที่ยังยุ่งเหยิง พวกเขายืนถือขันน้ำมนต์และรอจนกว่าพื้นที่จะสงบ เมื่อผมถามว่านั่นคือ 'น้ำมนต์' ใช่หรือไม่เขาตอบเลี่ยง ๆ ว่ามันเป็นแค่น้ำเปล่าที่เอาไว้ล้างสิ่งสกปรก พวกเขารู้สึกอับอายเล็กน้อยเมื่อผมบอกว่าไขจากเทียนนั้นโดยปกติมันจะไม่ลอยในน้ำเปล่า แต่ผมก็ขอโทษแทนเหล่านักข่าวที่ทำให้พื้นที่วุ่นวาย ไม่นานหลังจากนั้นพวกเขาก็เทน้ำมนต์ล้างเลือด และมีการทำความสะอาดอย่างจริงจัง แล้วผมก็เจอสายยางจึงเอามาล้างเท้าที่เปื้อนเลือดของตัวเอง

ในวันต่อมาผมได้พูดคุยกับ ศักดิ์ระพี พรหมชาติ พราหมณ์ผู้ทำพิธีสาปแช่ง และเป็นผู้ที่อยู่ในขบวนการเสื้อแดงมาตั้งแต่ต้น ซึ่งมีความยากลำบากในการพูดคุยเหมือนกันเพราะความสามารถทางภาษาของผมก็มีขีดจำกัด

การ "สาปแช่ง" ที่เขาใช้เป็นคำสาปที่แรงที่สุดที่จะคงอยู่ไปจนถึง 100 ปี ไม่มีพิธีกรรมใดที่จะสามารถต้านพิธีกรรมนี้ได้ และจะสามารถถอนคำสาได้โดยผู้ถูกสาปเท่านั้น เขาบอกอีกว่าการเทน้ำมนต์ที่หน้าสำนักงานพรรคก็ไม่ไม่มีประโยชน์ และพวกเขาก็แสดงให้เห็นความหวาดหวั่นต่อพิธีกรรมนี้ พิธีกรรมที่ซับซ้อนกว่าของสุเทพ เทือกสุบรรณ ในวันถัดมาก็ไม่มีประโยชน์ ตัวคำสาปเองมีพื้นเพมาจากพราหมณ์ไทย ไม่ใช่พราหมณ์อินเดีย ในช่วงที่พระนเรศวรฯ สมัยอยุธยา พิธีการเทเลือดใช้ในการชะล้างพระแม่ธรณี มันเป็นการทำคุณไสย (ผู้เขียนแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า "มนต์ดำ" หรือ "Black Magic") ซึ่งมีพราหมณ์จำนวนไมมากที่ทำพิธีนี้

ครั้งล่าสุดที่มีการทำพิธีนี้คือช่วงที่มีการเปิดเรือนจำในเขตบ้านพระนาง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ 100 ปี ที่แล้ว แม้ว่าการทำพิธีจะส่งผลทางลบกับคนที่ทำพิธีด้วย แต่เขาก็ยอมรับมันเพราะเขารู้สึกว่าคำสาปนี้จะส่งผลดีต่อแผ่นดิน เพราะมันเป็นการต่อต้านคนที่เขาบอกว่าเป็นคนไม่ดี ซึ่งก็คือรัฐบาล

เขาพูดถึงสาเหตุที่ใช้การสาปแช่งแบบนี้ เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์มีสัญลักษณ์พรรคเป็นเจ้าแม่ธรณี ซึ่งเป็นเทพีที่ตัวเขาเองนับถืออยู่ด้วยเช่นกัน เขายังได้บอกอีกว่าการเทเลือดในลักษณะนี้จะเป็นการป้องกันการต้องเสียเลือดเสียเนื้อ ซึ่งจุดนี้เองชาวบ้านเสื้อแดงจากอิสานที่ผมได้พูดคุยด้วยก็บอกแบบเดียวกัน

หลังจากวันที่ทำพิธีพราหมณ์ก็อยู่หลังเวที และรู้สึกโกรธมากกับการรายงานข่าว พระราชครูวามเทพมุนี ประธานคณะพราหมณ์ผู้ที่ปฏิเสธพิธีพราหมณ์นี้โดยอ้างว่าพ่อของเขา (ศักดิ์ระพี) ถูกปลดออกากตำแหน่งจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ศักดิ์ระพี พรหมชาติ ตอบโต้ว่า พ่อของเขาซึ่งยังคงมีชีวิตอยู่ถึงหลักร้อยแล้วปลดเกษียณเนื่องจากอายุมากแล้ว และในตอนนั้นพระราชครูวามเทพมุนีก็ยังคงเด็กเกินไปตอนนั้น เขาบอกอีกว่าเขาเป็นพราหมณ์จากการสืบเชื้อสายและการศึกษา

“พวกเขาก็บอกว่ามันเป็นเรื่องความเห็นต่างทางยุทธวิธี และก็เป็นเรื่องธรรมดาไม่มีอะไรใหม่ แต่พวกเขาก็มีการหารือกันและยอมรับการตัดสินใจโดยคะแนนเสียงจากสภาแกนนำ”

วันต่อมาคือ 17 มีนาคม มีผู้ชุมนุมใหญ่เดินขบวนไปยังบ้านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่สุขุมวิท ซอย 33 เพื่อเทเลือดที่นั่นด้วย มีฝนรับวันใหม่มาแทนที่อากาศร้อนแทบทนไม่ได้ของเมื่อวานนี้ ผมตัดสินใจไม่ถ่ายภาพ เพราะกลัวเจอภาพน่าเกลียด ๆ ที่มีพวกนักข่าวและช่างภาพพาดันกันไปมา จนผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกผลักออกไปอีก ในวันนี้ไม่มีพราหมณ์มาทำพิธี ผมจึงคิดว่ามันไม่มีอะไรต้องถ่าย ความแออัดทั้งหลายเป็นเพราะนักข่าว มีเสื้อแดงจำนวนหนึ่งขว้างปาถุงเลือดเข้าไปในบ้านของอภิสิทธิ์ แต่ก็มีการ์ดมาห้ามเอาไว้ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ก็ห้ามพวกเขาผ่านทางลำโพงขยายเสียงจากเวทีเคลื่อนที่

หลังจากที่พวกเขาออกไป กลุ่มคนทำความสะอาดถนนก็มาเก็บกวาด ในเวลาเดียวกันคนทำความสะอาดก็ตะโกนให้กำลังใจ มีคนหนึ่งบอกว่า "มันอยู่ที่ใจ" (It's in my heart!)

และช่วงที่มีการเคลื่อนขบวนก็มีคนออกมาต้อนรับตามท้องถนน สถานีรถไฟฟ้า ที่สัญจรไปมาจากทางที่พวกเขาผ่านอีกเช่นเคย

ในช่วงเย็นแกนนำเสื้อแดงขึ้นเวทีเพื่อปฏิเสธว่าเสธ.แดง และกลุ่ม "แดงสยาม" ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มขบวนการ "แดงทั้งแผ่นดิน" ของพวกเขา มีแกนนำคนหนึ่งบอกว่าพวกเขาแยกขาดจากเสธ.แดง ในการที่เสธ.แดง เป้นกลุ่มที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และแดงสยามก็มีอุดมการณ์แบบถอนรากถอนโคนกว่า และมีเบื้องหลังที่ไม่เหมาะกับการเคลื่อนไหวของ "แดงทั้งแผ่นดิน" หนึ่งในแกนนำของกลุ่มแดงสยามไม่ได้แสดงปฏิกิริยาใด ๆ เมื่อผมถามเขาในเรื่องนี้ เขาบอกว่าพวกเขาเป็นกลุ่มที่แยกกันอยู่แล้ว และตอนนี้ก็ชัดเจนยิ่งขึ้น ด้านเสธ.แดง ก็อยู่ในพื้นที่ตอนเย็นนั้นที่เต็นท์ของพรรคเขา กำลังแจกลายเซ็นบนเสื้อยืดของผู้ประท้วงเช่นที่ผ่านมา เขาบอกว่า "พี่ทักษิณ" ขอให้เขาดูแลความปลอดภัยของกลุ่มผู้ชุมนุมและสามแกนนำ ณัฐวุฒิ, วีระ และ จตุพร ก็ไม่มีอำนาจเหนือเขาแต่อย่างใด เขาบอกว่าพวกนั้นไม่รู้เรื่องยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีใด ๆ ขณะที่เขาซึ่งเป็นทหารรู้ว่าจะปกป้องเสื้อแดงอย่างไร

มีข่าวลือเกี่ยวกับความแตกแยกในกลุ่มแกนนำ "แดงทั้งแผ่นดิน" ในฝั่งหนึ่งเป็น "กลุ่มการเมือง" คือ วีระ, ณัฐวุฒิ และจตุพร อีกฝั่งหนึ่งเป็นพวก "กลุ่มฮาร์ดคอร์" ที่นำโดยอริสมันต์ แรมโบ้อิสาน และขวัญชัย ไพรพนา ผู้ที่ต้องการวิธีการที่ถอนรากถอนโคนกว่านี้ เมื่อผมถามเรื่องนี้พวกเขาก็บอกว่ามันเป็นเรื่องความเห็นต่างทางยุทธวิธี และก็เป็นเรื่องธรรมดาไม่มีอะไรใหม่ แต่พวกเขาก็มีการหารือกันและยอมรับการตัดสินใจโดยคะแนนเสียงจากสภาแกนนำ

"ก่อนหน้านี้เราคิดว่าคนกรุงเทพฯ เป็นเสื้อเหลืองกันหมด และพวกเราในชนบทที่เป็นเสื้อแดง แต่ตอนนี้พวกเราก็เหมือนกันแล้ว"

ในวันที่ 18 มีนาคม ผมมีโอกาสได้ไปที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และพูดุคุยกับคนที่นั่น มีรถจอดอยู่ไม่มากเท่าวันก่อน ๆ มีบางคนกลับไปพักผ่อนที่บ้าน เสื้อแดงเริ่มผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาชุมนุมโดยให้บางคนกลับบ้านไปพักได้สักระยะ แต่บรรยากาศก็ยังคงครึกครื้นเช่นเคย คนชุมนุมสร้างอะไรกันขึ้นมาจนดูเหมือนเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีครัวและกางเสื้อกางเปลกัน มีที่อาบน้ำข้างลาน ชาวบ้านบางคนจากเชียงใหม่และมุกดาหารตั้งแคมป์ด้วยกันและแบ่งครัวกันใช้ พวกเขาเพิ่มมาเจอกันที่ชุมนุมนี้เอง และตัดสินใจอยู่ร่วมกัน ผู้สนับสนุนเสื้อแดงในกรุงเทพฯ พากันแบ่งปันอาหารสด เครื่องอาบน้ำ และข้าวสารที่เอามาจากบ้าน

ผมถามชาวบ้านจากอุดรธานีบางคนเกี่ยวกับเรื่องที่มีการแบ่งแยกกลุ่ม เสธ.แดง และ แดงสยาม ออกไป เขาบอกว่าเขาเข้าใจว่าที่แยก เสธ.แดง ออกไปเพราะพวกเขาไม่อยากให้เกิดความรุนแรง ส่วนแดงสยามนั้นเขาบอกว่ามีชาวไทยอีกหลายคนที่ยังไม่พร้อมจะรับแนวคิดแบบสุดโต่งของพวกนั้น แต่ตัวพวกเขาเองก็ชอบ สุรชัย แซ่ด่าน และจักรภพ เพ็ญแข มาก พวกเขาบอกว่า พวกเขาก็ไม่ได้เชื่อฟังสิ่งที่กล่าวในเวทีกลางทั้งหมด พวกเขารับฟัง นำมาอภิปราย และตัดสินใจในแบบของพวกเขาเอง พวกเขาพูดถึงความรู้สึกที่เขามีต่อการประท้วงในกรุงเทพฯ โดยบอกว่าพวกเขาแปลกใจที่มีชาวกรุงเทพฯ ให้การยอมรับมากขนาดนี้ "ก่อนหน้านี้เราคิดว่าคนกรุงเทพฯ เป็นเสื้อเหลืองกันหมด และพวกเราในชนบทที่เป็นเสื้อแดง แต่ตอนนี้พวกเราก็เหมือนกันแล้ว"

วันที่ 19 มีนาคม เป็นอีกวันที่เงียบ ๆ ผมเดินไปดูลานชุมนุมคร่าว ๆ พอผมเข้าไปถึง มีนายสิบโททหารตำรวจคนหนึ่งกำลังถูกสอบโดยณัฐวุธ ไสยเกื้อ หลังเวทีต่อหน้าสื่อ มีการค้นพบปืนและกระสุนสามกล่อง เจ้าหน้าที่รายนี้เดินเข้ามาในที่ชุมนุมและมีผู้ชุมนุมชี้ตัว เขาวิ่งหนีแต่ก็ถูกการ์ดควบคุมตัวไว้ได้ และพามาหลังเวที เขากล่าวว่าแฟนสาวเขาเป็นคนเสื้อแดงและเขาต้องการนำกระสุนห้อยเป็นเครื่องรางให้กับเธอเท่านั้น ต่อมาเขาก็ถูกนำตัวออกไปโดยตำรวจ

เป็นเรื่องปกติที่คนมีอาวุธจะถูกการ์ดควบคุมตัว ก่อนหน้านี้ก็มีคนเมานำพลั่วเหล็กซ่อนไว้ในกระบอกไม้ไผ่ถูกจับตัวอยู่ใกล้กับเขตเวที เขาบอกว่าเขาไม่ชอบทั้งเหลืองทั้งแดง ทหารเกณฑ์ที่ละเลยหน้าที่ราชการถูกจับกุมพร้อมกับปืนลม และถูกยืดส่งตำรวจ

“พวกนั้นรายงานข่าวอย่างเหลวไหล ราวกับว่ามันมีการปิดกั้นการนำเสนอข่าว ตอนที่นักข่าวไปทำข่าวสถานการณ์ในพื้นที่ ผมเห็นพวกเขาถ่ายวิดิโอและถ่ายภาพ หลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้นในกระบวนการบรรณาธิการ ผมก็ไม่อาจทราบได้”

ในวันที่ 20 มีนาคม เป็นวันสำคัญที่เสื้อแดงจะเคลื่อนขบวนไปทั่วกรุงเทพฯ จากแหล่งข่าวของผม (ที่ยืนนับบนสะพานลอย) บอกว่ามีรถยนต์ราว 7,000 คัน และ รถจักรยานยนต์ 30,000 คัน ร่วมขบวน โดยรถหนึ่งคันมีคนโดยสารเฉลี่ยราว 10 คน จักรยานยนต์คันหนึ่งเฉลี่ย 2 คนรวม ๆ แล้วมีผู้เข้าร่วมราว 120,000 คน ร่วมขบวนคาราวาน นอกจากนี้แล้วยังมีคนที่มาคอยยืนเชียร์อยู่ข้างทาง การชุมนุมใหญ่มาก มีรถของ "นักรบพระองค์ดำ" นำหน้า เปิดเพลงดังลั่น ตามมาด้วยรถกระบะที่ขนกลองยักษ์มาด้วย ขณะที่หัวขบวนไปถึงลาดพร้าว แต่หางขบวนยังอยู่ที่สะพานผ่านฟ้า ผมตามขบวนด้วยรถจักรยานยนต์ ไม่นานนักผมก็เริ่มไม่รู้แล้วว่าผมอยู่ใกล้หัวหรือปลายขบวนมากกว่ากัน ท้องถนนคราคร่ำไปด้วยผู้สนับสนุนยืนเรียงราย หลายคนสวมเสื้อแดง ฉวยอะไรก็ได้ที่มีสีแดงแล้วนำมาโบกให้กับเสื้อแดงที่ผ่านไปมา บางคนถึงขั้นเอาถุงพลาสติกสีแดงมาโบก

ทางแรกผ่านไปตามถนนเพชรบุรี มีคนยืนต้อนรับอยู่ที่พันธุ์ทิพย์พลาซ่าจำนวนมาก ยาวไปจนถึงประตูน้ำ

ขบวนเลี้ยวซ้ายไปจนถึงรัชดา ซึ่งมีคนต้อนรับจำนวนมากเช่นกัน ที่ถนนลาดพร้าวมีกลุ่มสนับสนุนเสื้อแดงอยู่แทบทุกซอย นับได้ราว ๆ 100 ถึง 500 คน ที่คอยเอาน้ำและอาหารส่งเสื้อแดง ที่บางกะปิ มีคนรวมตัวยาวจากรามอินทราถึงคลองตัน ไปที่ถนนพระราม 4 มีคนน้อยกว่าแต่ก็ยังเห็นว่ามีคนคอยต้อนรับ ที่ตลาดคลองเตยมีผู้สนับสนุน 500 ราย ส่งเสียงเชียร์เสื้อแดง จากที่นั่น ผมใช้ทางลัดจากพระราม 3 และถนนนราธิวาสไปยังสีลม มีเสื้อแดงร้อยสองร้อยคนนั่งจักรยานยนต์ไปตามทางเดียวกัน แม้ว่านี่จะไม่ใช่เส้นทางตามกำหนดการ แต่ก็ยังมีคนคอยยืนให้กำลังใจอยู่ข้างทาง ที่สี่แยกสีลม-พระราม 4 ผมรออยู่ที่หน้าขบวนเสื้อแดง ซึ่งมีกลุ่มนักข่าวและผู้สนับสนุนอยู่ด้วย ต่อมาขบวนก็แล่นไปตามถนนพระราม 4 และผ่านไปยังที่ทำการพรรคเพื่อไทย ที่มีอดีตนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์และคนในพรรคเพื่อไทยยืนโบกมือให้กำลังใจผู้ชุมนุมที่ผ่านทาง

จากนั้น เส้นทางสายสุดท้ายเป็นย่านคนเชื้อสายจีนที่เต็มไปด้วยเสื้อเหลือง แต่ก็มีคนจำนวนมากยืนรอกลุ่มเสื้อแดง หลายคนเป็นพนักงานเสิร์ฟและพ่อครัวในร้านอาหารของย่านนี้ แต่ก็มีจำนวนหนึ่งที่เห็นชัดว่าเป็นคนเชื้อสายจีน ผมถ่ายภาพกลุ่มพนักงานในชุดฟอร์มสีเหลือง พวกเขาหัวเราะและบอกว่าข้างในพวกเขาเป็นสีแดง

พอกลับบ้านผมก็เปิดเว็บ เดอะ เนชั่น และ บางกอกโพสท์ ผมสงสัยมากว่านี้ผมไปดูการประท้วงเดียวกับพวกเขาหรือเปล่า สิ่งที่ผมได้อ่านเจอเป็นเรื่องที่ฟังดูน่าเบื่อ มีคนไม่มากและไม่ค่อยมีใครมาสนับสนุน แต่การประท้วงที่ผมเจอมามันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แม้ว่าอากาศจะร้อนมากแต่มันก็ครึ้นเครง และบางครั้งก็สนุกสุดขีด มีแต่ประวิตร โรจนพฤกษ์ เท่านั้นที่รายงานสิ่งเดียวกับที่ผมเห็นในวันถัดมา ตามมาด้วยบทความดี ๆ ของ 'ช้างน้อย'

แน่นอนว่านี่ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่าสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่เว้นผู้สื่อข่าวบางคน ว่าพวกนั้นรายงานข่าวอย่างเหลวไหล ราวกับว่ามันมีการปิดกั้นการนำเสนอข่าว ตอนที่นักข่าวไปทำข่าวสถานการณ์ในพื้นที่ ผมเห็นพวกเขาถ่ายวิดิโอและถ่ายภาพ หลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้นในกระบวนการบรรณาธิการ ผมก็ไม่อาจทราบได้

พอผมเริ่มกำลังจะนอนไม่นานนักผมก็ถูกเรียกตัวอีกครั้งตอนห้าทุ่ม เพราะมีข่าวการยิงระเบิด M79 ที่หลังกระทรวงกลาโหม ใกล้ ๆ กับทางเข้าซอยเล็ก ๆ ของถนนอัศฎางค์ มีการยิงระเบิดทำให้สายไฟฟ้าขาดและหน้าต่างแตก มีรายงานว่าทหารสองรายได้รับบาดเจ็บ ไกลออกไปไม่กี่ร้อยเมตรในซอยเล็ก ๆ หลังโรงแรมที่เป็นแหล่ง 'โคมเขียว' มีคนโจมตีทิ้งรถกระบะไว้ มีเครื่องมือเครื่องใช้ของเสื้อแดงในรถ รวมถึงอาวุธ เลขทะเบียนเป็นของปลอม และรถก็เป็นรถที่ขโมยมา

“ความพยายามของพวกเขาจาก ‘โรงเรียนปฏิบัติงาน นชป.’ ส่งผลออกมาดีกว่าเมื่อเทียบกับเมื่อเดือนเมษายน 2009 นี่เป็นการชุมนุมที่มีการควบคุมดีมาก”

วันอาทิตย์ 21 มีนาคม ก็ดูเงียบ ๆ ผมยังคงเมื่อยล้าจากการเดินทางทั่วกรุงเทพฯ ตลอดทั้งวันโดยจักรยานยนต์เมื่อวานนี้ มีศิลปินเสื้อแดงใช้เลือดที่เหลืออยู่นำมาวาดบนผืนผ้าใบที่ป้อมมหากาฬ หลังเวทีสะพานผ่านฟ้า สื่อส่วนใหญ่จับจ้อง วิสา คัญทัพ ที่เขียนบทกวีด้วยเลือดบนผืนผ้าใบ ศิลปินอาวุโสและครูหมู่บ้าน อาจารย์วิจักร ทำผ้ามัดย้อมโดยนำผืนผ้าจุ่มลงไปในเลือด เมื่อผ้าแห้ง ก็มีภาพของพระพุทธเจ้ากำลังนั่งสมาธิ

 

ช่วงที่มีการชุมนุมมีคำติดปากใหม่ ๆ โผล่มาเรื่อย ๆ ที่ผมว่าตลกดีคือคำวา "ทหารแตงโม" คือมีสีเขียวข้างนอก แต่แดงข้างใน ความขัดแย้งถูกเสื้อแดงยกระดับการต่อสู้ไปสู่ "สงครามชนชั้น" ซึ่งรัฐบาลพยายามคัดค้านการใช้คำนี้ บอกว่าตามรัฐธรรมนูญไทยแล้วคนไทยนั้นเสมอภาคกัน และหารที่ทักษิณเป็นคนรวยเขาจึงไม่น่าจะเป็นตัวแทนของชนชั้นล่าง รัฐบาลยังกังวลการที่เสื้อแดงเรียกตนเองว่า "ไพร่" ซึ่งหมายถึงสามัญชนที่อยู่ภายใต้ระบอบเก่า ตรงข้ามกับ "อมาตย์" ซึ่งเป็นชนชั้นนำด้วย และจริงอยู่ว่าทักษิณอาจจะรวย คนเสื้อแดงส่วนใหญ่มาจากชนชั้นล่างและชนชั้นกลางระดับล่างทั้งในเมืองและชนบท ดังนั้นความขัดแย้งในครั้งนี้จึงจัดว่าเป็นเรื่องการต่อสู้ แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนเอาไว้อย่างเลิศลอย แต่มันก็ไม่ได้ไปไกลถึงระดับที่มองว่าความไม่เท่าเทียมกันทางชนชั้นและความไม่เป็นธรรมด้านเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ชัดในสังคมไทย

จนถึงตอนนี้นอกจากเสียงสะเทือนจากการยิงระเบิด M79 รายวันแล้ว (โชคดีที่ไม่มีผู้เสียชีวิตและมีคนเจ็บเพียงเล็กน้อย) ซึ่งตอนนี้ยังจับมือใครดมไม่ได้ แต่การประท้วงก็ดำเนินไปอย่างสันติ วิธีการยิงระเบิดก็เปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา ในตอนนี้มีแม้แต่การโจมตีช่วงกลางวัน และมีการยิงระเบิดทีละหลายลูก แต่เท่าที่ได้รับการรายงาน ไม่มีเหตุรุนแรงใด ๆ ที่มาจากเสื้อแดง, ทหาร, ตำรวจ หรือพันธมิตรฯ การ์ดเสื้อแดงก็ไม่พบเห็นว่ามีอาวุธ และเสื้อแดงก็ไม่มีการตั้งด่านกีดขวาง ความพยายามของพวกเขาจาก "โรงเรียนปฏิบัติงาน นชป." ส่งผลออกมาดีกว่าเมื่อเทียบกับเมื่อเดือนเมษายน 2009 นี่เป็นการชุมนุมที่มีการควบคุมดีมาก กลุ่มทหารแม้จะเห็นได้ชัดแต่ก็ไม่หนาแน่นมาก มีทหารกลุ่มเล็ก ๆ ติดกระบองและโล่ยืนอยู่ตามมุมถนนสายสำคัญ มีรถฮัมวี (Humvees-รถขับเคลื่อนสี่ล้อที่ใช้ในการทหาร) คอยสอดส่องอยู่ตามบริเวณ

ในตอนนี้เราอยู่ในจุดที่หยุดนิ่ง ขณะที่การวางหมากของแกนนำเสื้อแดงและรัฐบาลดูเหมือนเกมหมากรุกที่มีการเดิมพันสูง น่าสนใจว่าเป้าหมายหลักของเสื้อแดงอยู่ที่อภิสิทธิ์ รัฐบาล และการยุบสภา แม้ว่าในช่วงต้นปี 2009 เสื้อแดงประกาศว่าอภิสิทธิ์เป็นเป้าหมายเล็ก ๆ และการต่อสู้ของพวกเขาคือการต่อต้านระบอบ "อำมาตยาธิปไตย" ซึ่งเป็นระบอบของชนชั้นนำจารีตนิยม โดยมีอภิสิทธิ์เป็นส่วนเล็ก ๆ เท่านั้น แม้ว่าพล.อ. เปรม และสมาชิกสภาองค์มนตรี พล.อ. สุรยุทธ์ ถูกกล่าวโจมตีอย่างหนักในการประท้วงก่อนหน้านี้ พวกเขาในตอนนี้กลายเป็นเป้าหมายในระดับสองไปแล้ว

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net