Skip to main content
sharethis

'พรทิวา-เอกชน'ค้านยุบสภาอ้างทำเศรษฐกิจสะดุด หากจะยุบจริงควรให้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ด้านสมชาย แสวงการ ส.ว.กทม.จากกลุ่ม 40 ส.ว. ชี้ ยุบสภาปัญหาไม่จบ แนะกำหนดแผนแม่บทตั้งทีมเจรจาหาทางออกประเทศ ชง 6-7 เดือนค่อยยุบสภา

29 มี.ค.53 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กทม. เปิดเผยทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ถึงการเจรจาแก้ปัญหาระหว่างแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. และฝ่ายรัฐบาล ว่า เป็นการเริ่มต้นที่ดีที่ทั้งสองฝ่ายออกมาเจรจากัน ส่วนการจะยุบสภาก่อนแล้วจึงกำหนดกติกาภายหลังหรือแก้กำกนดกติกาแล้วจึงยุบสภานั้น มีผลเท่าเดิมเพราะถ้ายุบไปแล้วก็จะมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกลุ่มใหม่ๆ ออกมาเรียกร้องอีกตามเดิม เพราะยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างกลุ่มเสื้อแดงต้องการนำรัฐธรรมนูญปี 40 มาใช้ ดังนั้นต้องตั้งทีมโดยกำหนดเป็นแผนแม่บท ตั้งทีมเจรจาในประเด็นต่างๆที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาของประเทศ

ทั้งนี้ นายสมชาย เห็นว่าหากนายกรัฐมนตรีคิดจะยุบสภา ควรใช้เวลาในอีก 6-7 เดือนข้างหน้า ซึ่งขณะนี้ควรตั้งเป้าแก้ปัญหาและฟื้นฟูปัญหาทางการเมืองและเรื่องปัญหาภายในประเทศก่อน

 

“พรทิวา” ค้านยุบสภา ผู้ส่งออกแนะตัวเลข 6 เดือนถึง 1 ปี
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีกลุ่มเสื้อแดงยื่นคำขาดให้รัฐบาลยุบสภาเพื่อยุติความขัดแย้ง ทางการเมืองว่า ขณะนี้ไม่เหมาะสมที่จะยุบสภา เพราะจะทำให้ขาดรัฐบาลในการผลักดันมาตรการต่างๆ ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย รวมถึงความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ ที่สำคัญ ยังไม่มีหลักประกันที่แน่ชัดว่า หากยุบสภาแล้วความขัดแย้งของชาติจะยุติ แต่เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ควรถือโอกาสนี้พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง เพื่อแสดงความจริงใจต่อการแก้ปัญหาบ้านเมือง และลดกระแสความขัดแย้งของสังคม เพราะต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา มาจากความไม่พอใจในรัฐธรรมนูญฉบับปี 50

“นายกฯไม่ยุบสภาแน่ เพราะยังไม่รู้จะยุติปัญหาต่างๆ ได้จริงหรือไม่ และก็ต้องมาหาเสียงกันเหนือยอีก แต่ถ้าจะยุบจริง ก็ไม่น่า เพราะจะทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจสะดุด น่าจะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ก่อนจะดีกว่า” รมว.พาณิชย์ กล่าว

ด้าน นายวัลลภ วิตนากร กรรมการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวถึงการยุบสภาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองว่า หากต้องยุบสภาจริง ควรกำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจน ซึ่งเห็นว่ากำหนดเวลาประมาณ 1 ปี น่าจะรับได้ แต่ในเบื้องต้นนักธุรกิจยังไม่เห็นด้วยที่จะให้ยุบสภา เพราะจะกระทบความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุน รวมถึงการออกกฎหมายที่จะสนับสนุนทิศทางส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศนอกจาก นี้ หายุบสภา ยังทำให้การใช้งบประมาณไทยเข้มแข็งล่าช้ามากขึ้นไปอีก ซึ่งจะกระทบกับแผนดูแลเศรษฐกิจ

“การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การส่งเสริมการค้ากับต่างประเทศ การออกกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกิจการค้า และความเชื่อมั่นจากต่างประเทศต่อการค้าการลงทุน จะได้รับผลกระทบหากยุบสภา แม้เอกชนไม่เห็นด้วยให้ยุบสภาแต่ถ้าทิศทางจะยุบก็กำหนดเวลาให้ชัดเจนจะได้ เตรียมตัวเคลียร์เรื่องที่ค้างอยู่ให้หมด”นายวัลลภ กล่าว

ขณะที่ นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การยุบสภาจะกระทบกับการผ่านร่างกฎหมายต่างๆ แม้จะมีรัฐบาลรักษาการณ์ แต่อาจมีอำนาจดำเนินการที่จำกัด เช่น การพิจารณานโยบายการประกันราคาสินค้าเกษตร การจำหน่ายสินค้าเกษตรในสต๊อกรัฐบาล ซึ่งอาจทำให้การค้าของประเทศเสียโอกาสได้ อย่างไรก็ตาม การจะยุบสภาควรกำหนดระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อให้ทำงานไม่สะดุด

“แม้จะมีรัฐบาลรักษาการณ์อยู่ คิดว่าอย่างไรก็ต้องกำหนดเวลา ประมาณ 6 เดือน หรือกี่เดือนก็ว่าไป เพื่อให้งานที่กำลังทำอยู่ไม่สะดุด เพราะกฎหมายสำคัญๆ ก็ต้องได้รับการพิจารณา ไม่ใช่จะให้ยุบทันทีหรือใน 2 สัปดาห์” นายชูเกียรติ กล่าว

 

ที่มา: เว็บไซต์ไทยรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net