ด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ รัฐบาลควรยุบสภาภายใน 3 เดือน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ตำแหน่งผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยหรือที่เรียกกันว่า “ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ” นั้น มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศไทยไม่น้อยกว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเสถียรภาพทางการเงินเป็นพื้นฐานของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ผู้ว่าฯ ธาริษา วัฒนเกสนั้นมีความสามารถมากและเป็นที่เคารพนับถือในวงการธนาคารกลางทั้งในทวีปเอเชีย ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา น่าเสียดายที่ผู้ว่าฯ ธาริษาจะเกษียณอายุอีก 6 เดือนข้างหน้า ทำให้เกิดคำถามว่า

 

1. ใครคือตัวเก็งที่รัฐบาลอภิสิทธิ์จะเสนอให้เป็นผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนต่อไป?

2. รบกวนสื่อมวลชนช่วยบอกประชาชนบ้างได้ไหมคะ?

 

ตัวเก็งตำแหน่งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติในประเทศอุตสาหกรรมนั้น เป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและประชาชนล่วงหน้าก่อนผู้ว่าฯคนปัจจุบันจะเกษียณอายุเป็นปีๆ แต่ตัวเก็งตำแหน่งผู้ว่าฯแบงก์ชาติไทยนั้นไม่เป็นประเด็นสำคัญต่อสื่อมวลชนไทย ท่ามกลางวิกฤตการเมืองไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน “ผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนใหม่” จะมีความสำคัญยิ่งกว่าคุณเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าฯ ซึ่งโดนศาลแพ่งพิพากษาให้ชดใช้สินไหมเป็นเงิน 186,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 โทษฐานนำเงินทุนสำรองไปแทรกแซงในตลาดเงินตราเพื่อปกป้องค่าเงินบาท [1]

แม้ว่าไทยได้ใช้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศใช้หนี้เงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟแล้ว ปัจจุบันกระทรวงการคลังยังมีภาระหนี้เก่าจากบัญชีกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน นอกจากนี้กระทรวงการคลังต้องรับภาระหนี้ใหม่ที่เป็นผลมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย“โครงการไทยเข้มแข็ง” ได้มีผู้เสนอวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ นานา แบ่งได้เป็น 2 ประเภทตามลักษณะบัญชี คือบัญชีกระทรวงการคลังหรือบัญชีแบงก์ชาติ มีทั้งหมด 7 วิธีดังต่อไปนี้

1. เก็บภาษีเพิ่ม คุณกรณ์ จาติกวณิช รมต.คลังใช้วิธีนี้แล้วโดยการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 2 บาทต่อลิตร [2]

2. กู้เพิ่ม รมต.กรณ์ใช้วิธีนี้แล้วเช่นกัน [3]

3. ออกกฎหมายใหม่เพื่อเก็บภาษีก้าวหน้า เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน วิธีนี้เป็นวิธีที่นานาประเทศใช้ เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ มีผู้เสนอมาอย่างน้อย 2 คน [4] [5] แต่ผู้เสนอไม่ใช่รมต.คลังหรือข้าราชการกระทรวงการคลัง

4. แก้กฎหมายเพื่อรวมบัญชีทุนสำรองของแบงก์ชาติให้เหลือบัญชีเดียว วิธีนี้เสนอโดยคุณไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกฯแต่เกิดกระแสต่อต้าน เป็นวิธีเดียวกันที่รัฐบาลสุรยุทธ์เสนอเข้าสภาแต่ไม่ผ่าน [6]

5. ดึงเงินสำรองของแบงก์ชาติบางส่วนมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาดหรือดอกเบี้ย 0% วิธีนี้เสนอโดยคุณจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ [6]

6. แก้กฎหมายนำเงินในบัญชีผลประโยชน์ประจำปีของแบงก์ชาติมาใช้หนี้กองทุนฟี้นฟูฯ วิธีนี้เสนอโดยผอ.จักรกฤศฎิ์เช่นเดียวกัน [6]

7. ออกกฎหมายพิเศษเพื่อดึงเงินจากบัญชีสำรองพิเศษของแบงก์ชาติมาใช้ วิธีนี้เสนอโดยผอ.จักรกฤศฎิ์เช่นเดียวกัน [6]

 

สรุปได้ว่าวิธีที่ 1-3 ต้องใช้เงินในบัญชีกระทรวงการคลัง ส่วนวิธีอื่นต้องใช้เงินในบัญชีแบงก์ชาติ และสรุปได้ว่ากระทรวงการคลังภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องการให้แบงก์ชาติช่วยแก้ปัญหา วิธีที่ 5 เป็นวิธีเดียวที่ไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย การใช้เงินทุนสำรองของแบงก์ชาติซื้อพันธบัตรรัฐบาลนั้นเป็นวิธีการทั่วไปในการบริหารหนี้สาธารณะ ประเด็นที่สำคัญคือเพดานวงเงิน ถ้าไม่มีการแก้กฎหมายในอนาคตเพื่อเพิ่มเพดานวงเงินก็ไม่เสียหาย แต่ถ้ามีการแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มเพดานวงเงินหรือเพื่อใช้วิธีที่ 4 วิธีที่ 6 และ วิธีที่ 7 จะหมายความว่ากระทรวงการคลังผลักภาระทางการคลังให้แบงก์ชาติรับผิดชอบด้วยทุนสำรอง

ในมาตรฐานสากล การนำเงินทุนสำรองไปบริหารนอกบัญชีแบงก์ชาตินั้นไม่ใช่วิธีการแปลกใหม่ หลายประเทศได้นำทุนสำรองออกมาจัดตั้งกองทุนลงทุนประจำชาติ (Sovereign Wealth Fund) เช่น เทมาเสกของสิงคโปร์ บริษัทลงทุนของดูไบ (Investment Corporation of Dubai) และบริษัทลงทุนของจีน (China Investment Corporation) บัญชีของกองทุนเหล่านี้แยกออกจากกระทรวงการคลัง ผู้บริหารกองทุนรับผิดชอบบริหารความเสี่ยงโดยการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆทั้งในประเทศและนอกประเทศ ไม่มีกองทุนใดลงทุนด้วยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลตนเอง 100%

เมื่อ 30-35 ปีที่แล้วนั้น กระทรวงการคลังในประเทศละตินอเมริกาผลักภาระด้านการคลังให้แบงก์ชาติโดยการขายพันธบัตรรัฐบาลให้แบงก์ชาติในมูลค่ามหาศาล จนก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อและเกิดวิกฤตการเงินที่รุนแรงจนลุกลามเป็นวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ในสมัยนั้นรัฐบาล พล.อ.เปรม ต้องลดค่าเงินบาท 3 ครั้ง แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยไม่มีปัญหาเงินเฟ้อ ไม่มีใครรับประกันได้ว่าอีก 5 ปีไทยจะไม่มีปัญหาเงินเฟ้อถ้ารัฐบาลแก้ปัญหาการคลังโดยการผลักภาระให้แบงก์ชาติและไม่ปฏิรูปโครงสร้างภาษีเมื่อปี 2535 นั้นไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าประเทศไทยจะมีวิกฤติเศรษฐกิจภายใน 5 ปี ในปี 2536 ไทยเปิดเสรีทางการเงินระหว่างประเทศและอนุญาตให้สถาบันการเงินทำธุรกรรมบางอย่างที่ทำไม่ได้แม้แต่ที่สิงคโปร์ เพียง 4 ปีให้หลังได้เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง คนไทยได้เรียนรู้ด้วยบทเรียนราคาแพงว่า “ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ” นั้นสำคัญอย่างไร แม้จะมีข้อถกเถียงกันภายหลังถึงบทบาทของผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าความสูญเสียเสถียรภาพการเงินในครั้งนั้นได้นำไปสู่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล

ถ้ารัฐบาลอภิสิทธิ์มีอายุอย่างน้อยอีก 6 เดือน รัฐบาลสามารถแต่งตั้งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่เข้ามารับภาระการคลังซึ่งไม่ใช่หน้าที่แบงก์ชาติและอาจนำไปสู่วิกฤตการเงินครั้งใหม่ ดังนั้นรัฐบาลควรยุบสภาภายใน 3 เดือนและเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงกันในพื้นที่สาธารณะว่าใครบ้างคือตัวเก็งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่ ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนจะได้จัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งด้วยกติกาใหม่ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติที่เป็นที่เคารพนับถือจากธนาคารกลางทั่วโลกจะเป็นฐานให้รัฐบาลใหม่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างมั่นคง และจะช่วยเสริมความมั่นคงของรัฐบาลใหม่ด้วย

ณ เวลานี้ ประเทศไทยได้มาถึงจุดเปลี่ยนผ่านทั้งทางการเมือง การคลัง และการเงิน ขอความกรุณารัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภาภายใน 3 เดือนและคืนอำนาจให้ประชาชนเถิดค่ะ

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Purdue และนักวิจัยของสถาบันวิจัยราคาสินค้านานาชาติแห่งมหาวิทยาลัย Vanderbilt ประเทศสหรัฐอเมริกา ในอดีตเคยเป็นนักวิชาการพิเศษที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และสถาบันวิจัยแห่งธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADBI) และเคยเป็นที่ปรึกษาระยะสั้นให้ธนาคารโลก

 

หมายเหตุ

1. อ้างอิงจาก“ควันหลงต้มยำกุ้ง ศาลพิพากษา เริงชัย ชดใช้ 1.86 แสนล้าน”, ประชาไท 1 มิ.ย. 2548

http://www.prachatai.com/journal/2005/06/4217

2. อ้างอิงจาก“กรณ์ เบรกลดภาษีน้ำมัน ชี้ต้องรอบคอบ”, ข่าวสารบ้านเมือง รัฐสภาไทย, 25 มิ.ย. 2552

http://www.parliament.go.th/news/news_detail.php?prid=213275

3. อ้างอิงจาก“ไทยเข้มแข็งตามแผน 2555 พรรคร่วมรัฐบาลคือตัวแปร” ไทยโพสต์ 13 พ.ค. 2552

http://www.thaipost.net/news/130509/4593

4. อ้างอิงจาก"ผาสุก พงษ์ไพจิตร ลอกคราบสังคมไทย จะก้าวไปสู่สังคมที่ Fair...อาจต้องรอชาติหน้าตอนบ่ายๆ ?” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 6 พ.ย. 2552,

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1257426561

5. อ้างอิงจาก“กล้าไหมคุณอภิสิทธิ์..ภาษีที่ดิน มรดก ตัดเนื้อพวกพ้อง เติมเลือดคนจน หรืออนาคตการเมืองคุณหมดไปแล้ว!!!”, ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 19 มี.ค.2553

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1268984818

6. อ้างอิงจาก“กรณ์-ไตรรงค์ ถอดใจรวมบัญชีธปท. เล็งแก้ก.ม.ดึงผลประโยชน์ใช้หนี้กองทุน”, คมชัดลึก, 15 มี.ค. 2553 http://www.komchadluek.net/detail/20100315/52070/“กรณ์ไตรรงค์”ถอดใจรวมบัญชีธปท.เล็งแก้ก.ม.ดึงเงินผลประโยชน์ใช้หนี้กองทุน.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท