แอมเนสตี้ เรียกร้องให้รัฐบาลจีนเปิดเผยข้อเท็จจริงการประหารชีวิต

31 มี.ค. 53 -  แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลจีนเปิดเผยข้อเท็จจริงในการลงโทษประหารชีวิตในปี 2552 โดยมีรายละเอียดดังนี้
 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
แถลงการณ์ 
 
การลงโทษประหารชีวิตในปี 2552: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลจีนเปิดเผยข้อเท็จจริง

 
 

ในวันนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ทางการจีนเปิดเผยข้อเท็จจริงถึงจำนวนคดีที่ได้มีการประหารชีวิตและการตัดสินประหารประชาชน ขณะที่ทางองค์กรได้เผยแพร่รายงานภาพรวมโทษประหารของปี 2552
 
รายงาน “Death Sentences and Executions in 2009” (โทษประหารและการประหารชีวิตในปี 2552) เผยให้เห็นว่ามีผู้ถูกประหารชีวิตอย่างน้อย 714 คนใน 18 ประเทศ และมีผู้ต้องโทษประหารอย่างน้อย 2,001 คนใน 56 ประเทศเมื่อปีที่แล้ว 
 
ทั้งนี้ยังไม่รวมการประหารชีวิตบุคคลหลายพันคนซึ่งน่าจะเกิดขึ้นแล้วในจีน เนื่องจากทางการเก็บข้อมูลการประหารชีวิตเป็นความลับ
 
เพื่อเรียกร้องต่อการขาดความโปร่งใสของทางการจีน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีมติไม่จัดพิมพ์ตัวเลขขั้นต่ำของการประหารชีวิตและโทษประหารสำหรับประเทศจีนในปี 2552 ซึ่งเป็นการประมาณจากข้อมูลที่มีอยู่ในสาธารณะและเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริง
 
“โทษประหารเป็นสิ่งที่โหดร้าย ย่ำยีและดูหมิ่นศักดิ์ศรีมนุษย์” Claudio Cordone รักษาการณ์เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
 
“ทางการจีนอ้างว่ามีการประหารชีวิตเกิดขึ้นไม่กี่ครั้ง ซึ่งถ้าเป็นจริง ทำไมรัฐบาลจีนจึงไม่บอกให้โลกรู้ว่ารัฐได้มีการประหารชีวิตบุคคลไปกี่คนกันแน่?”  
 
งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยให้เห็นว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศที่ยังคงมีการประหารชีวิต นอกจากจีนแล้ว ประเทศที่มีสถิติประหารชีวิตสูงได้แก่ อิหร่าน ซึ่งมีการประหารชีวิตอย่างน้อย 388 ครั้ง อิรัก อย่างน้อย 120 ครั้ง ซาอุดิอาระเบีย อย่างน้อย 69 ครั้ง และสหรัฐฯ 52 ครั้ง
 
เมื่อปีที่ผ่านมามีการนำโทษประหารมาใช้อย่างกว้างขวางโดยมีนัยทางการเมือง เพื่อขู่ให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลไม่กล้าออกมาวิจารณ์ หรือเพื่อสนับสนุนวาระทางการเมืองอย่างกรณีของจีน อิหร่าน และซูดาน จากข้อมูลในรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
 
มีรายงานว่าเกิดการประหารชีวิต 112 ครั้งในอิหร่านในช่วงแปดสัปดาห์ระหว่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 12 มิถุนายน จนถึงช่วงที่นาย Mahmoud Ahmadinejad ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นวาระที่สอง เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม
 
รายงานระบุถึงการใช้โทษประหารอย่างเลือกปฏิบัติในปี 2552 ซึ่งมักเป็นผลจากการไต่สวนคดีที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง และเป็นการจงใจใช้กับคนจน คนกลุ่มน้อย และกลุ่มเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และกลุ่มศาสนาบางกลุ่ม
 
ถึงอย่างนั้นตัวเลขต่าง ๆ ในปี 2552 ชี้ให้เห็นว่าโลกมุ่งไปในแนวทางยกเลิกโทษประหาร จำนวนประเทศซึ่งยกเลิกโทษประหารอย่างสิ้นเชิงเพิ่มเป็น 95 ประเทศ รวมทั้งประเทศบูรุนดีและโตโก ซึ่งยกเลิกโทษประหารสำหรับอาชญากรรมทุกประเภท
 
เป็นปีแรกนับตั้งแต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเก็บสถิติ ในยุโรปไม่มีการประหารชีวิตเลย สำหรับทวีปอเมริกา มีเพียงสหรัฐฯ ประเทศเดียวที่ยังมีการประหารชีวิต 
 
“มีประเทศน้อยลงที่ยังคงประหารชีวิต ในทำนองเดียวกับระบบทาสและการเหยียดผิว โลกกำลังปฏิเสธการกระทำที่น่าอับอายสำหรับมนุษย์” Claudio Cordone กล่าว “เรากำลังมุ่งไปสู่โลกที่ปลอดจากโทษประหารชีวิต และกว่าจะถึงวันนั้น การใช้โทษประหารชีวิตใดๆ ก็ตามจะต้องถูกต่อต้าน”
 
ภาพรวมระดับภูมิภาค:
 
-  ในเอเชีย คาดว่ามีการประหารชีวิตหลายพันครั้งในจีน โดยที่รัฐบาลปกปิดข้อเท็จจริงนี้เป็นความลับ มีอีกเพียงเจ็ดประเทศเท่านั้นที่มีรายงานว่ามีการประหารชีวิต ได้แก่ บังคลาเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม ซึ่งมีการประหารชีวิต 26 ครั้ง
 
ส่วนที่อัฟกานิสถาน อินโดนีเซีย มองโกเลีย และปากีสถานไม่มีการประหารชีวิตนักโทษเลยในปี 2552 ซึ่งนับเป็นปีแรกที่ไม่มีการประหารชีวิตสำหรับประเทศเหล่านี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
 
-  มีรายงานว่าเกิดการประหารชีวิตอย่างน้อย 624 ครั้งในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ซึ่งเกิดขึ้นในเจ็ดประเทศได้แก่ อียิปต์ อิหร่าน อิรัก ลิเบีย ซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย และเยเมน
ซาอุดิอาระเบียและอิหร่านประหารบุคคลเจ็ดคนที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ณ ช่วงเวลาที่กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ซึ่งถือว่าละเมิดกฎหมายนานาชาติ  และอีกหลายประเทศ เช่น อัลจีเรีย เลบานอน โมร็อกโก-ซาฮาร่าตะวันตก และตูนีเซีย ต่างประกาศพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวมาเป็นเวลานานแล้ว
 
-  ในปี 2552 ไม่มีการประหารชีวิตในยุโรปเลย มีบุคคลสองคนที่ต้องโทษประหารชีวิตเนื่องจากเหตุการณ์ยิงกันที่เบลารุส ซึ่งเป็นประเทศสุดท้ายในยุโรปที่ยังคงมีโทษประหารชีวิต อดีตประเทศที่แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตแห่งนี้ประหารชีวิตบุคคลไปสี่คนในปี 2551 

-  ในแอฟริกา เขตต่ำกว่าทะเลทรายซาฮาร่าลงมา มีสองประเทศที่ยังประหารชีวิตนักโทษได้แก่ บอสซาวานาและซูดาน การลดหย่อนโทษประหารครั้งใหญ่สุดตามข้อมูลที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีอยู่ เกิดขึ้นที่เคนย่า โดยรัฐบาลประกาศลดหย่อนโทษนักโทษประหารกว่า 4,000 คนให้เป็นโทษจำคุก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท