Skip to main content
sharethis

สสส.เชิญเครือข่ายเอ็นจีโอด้านแรงงานข้ามชาติร่วมหารือ กำหนดทิศทางการทำงานร่วมกัน คนทำงานชี้ปัจจุบันการเดินทางเข้าออกประเทศของแรงงานภาคอีสานเงียบเหงา เนื่องจากทางการตรวจเข้ม หวั่นส่งผลผู้ประกอบการไทยอาจเจ๊ง!!! เพราะขาดแรงงาน ขณะที่ภาคใต้ตั้งศูนย์นำร่อง ศสมช.ไทย-พม่า เพื่อการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและการทำงานร่วมระหว่างคน 2 ชาติอย่างกลมกลืน

เมื่อวันที่  22 และ 23 มีนาคม 2553 ณ บางกอกคริสเตียนเกสต์เฮาส์ กรุงเทพฯ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดการประชุมกับกลุ่มภาคี 11 โครงการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประเมินสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ทำงาน การจัดการด้านนโยบาย และสรุปผลการดำเนินงาน ทั้งนี้มีองค์กรพัฒนาเอกชนที่เป็นภาคีเครือข่ายเข้าร่วมการประชุมครบทุกโครงการ

นายอดิศร เกิดมงคล ผู้จัดการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการมีการดำเนินการในด้านนโยบายหลายประเด็น ทั้งเรื่องการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติ พม่า ลาว กัมพูชา ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความห่วงใยต่อความมั่นคงปลอดภัยของแรงงานข้ามชาติกว่า 2 ล้านคน ที่อาจต้องถูกผลักดันกลับประเทศหลังเลยกำหนดในการขึ้นทะเบียนเพื่อขอพิสูจน์สัญชาติ มีการจัดเวทีร่วมระหว่างคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร  เรื่องของขบวนการนายหน้าที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งมีการเรียกเก็บค่านายหน้าที่แพงมากและรัฐยังไม่มีกลไกในการควบคุมด้านกฎหมาย หรือการทำงานนโยบายเรื่องการเสนอให้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีในเรื่องการศึกษาของเด็กที่ไม่มีสัญชาติ เพื่อทำให้การตั้งศูนย์การเรียนของเด็กข้ามชาติโดยเอกชนถูกกฎหมาย ซึ่งทางโครงการจะมีการจัดเวทีร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวง ศึกษาธิการอีกครั้ง ในเดือนเมษายน 2553

ด้านนายเสรี  ทองมาก เลขาธิการมูลนิธิพัฒนรักษ์ ซึ่งรับผิดชอบดูแลโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติในภาคอีสาน 3 จังหวัด ได้แก่ มุกดาหาร  อำนาจเจริญ  อุบลราชธานี กล่าวว่า ในภาคอีสานมีจุดผ่านแดนของแรงงานข้ามชาติอยู่หลายจุดด้วยกัน ทำให้มีแรงงานเข้ามาทำงานในพื้นที่จำนวนมาก ส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตร อาทิ การดำนา ปลูกมัน ตัดอ้อย และการเพาะเมล็ดพันธุ์จำหน่าย และในส่วนของภาคบริการจะทำงานในร้านคาราโอเกะหรือร้านอาหาร เป็นต้น อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการจัดตั้งจุดสกัดยาเสพติดชายแดน มีการส่งทหารไปประจำการตามจุดต่างๆในหมู่บ้านจำนวนหลายจุด จึงส่งผลให้แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยลดน้อยลง ผู้ประกอบการไทยก็ขาดแคลนแรงงาน หลายคนก็ถึงขั้นขาดทุนอย่างหนัก โดยเฉพาะในส่วนงานที่แรงงานไทยไม่ทำ เช่น การเกษตรเพื่อเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ที่ต้องทำงานกับสารเคมีในปริมาณที่สูง

“คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจนี้เป็นคนไทยซึ่งมีบริษัทมาลงทุนให้ ไม่จำเป็นต้องมีที่ทางก็ได้ เจ้าของธุรกิจไทยบางคนเหลือเงินเก็บเป็นแสน หลังจากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการประกอบกิจการเรียบร้อยแล้ว ธุรกิจแบบนี้ทำช่วงหลังเกี่ยวข้าว มีการเพาะปลูกในโรงเรือนกางมุ้ง เมื่อฉีดยาและสารเคมีต่างๆก็จะเข้าสู่ร่างกายของแรงงาน ฉะนั้นส่วนของเมล็ดพันธุ์ที่กว่าจะได้มาสัก 1 กิโลกรัม แรงงานต้องแลกกับการรับสารเคมีจำนวนมากเข้าสู่ร่างกาย ถึงจะได้ค่าแรงแต่ละวัน พื้นที่ที่ประกอบกิจการแบบนี้มากคือในเขตพื้นที่ ต.ชานุมาน อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ มีคนทำกิจการประมาน 200 กว่าครอบครัวซึ่งมีการสร้างฟาร์มเพาะปลูกไว้ในทุ่งนารอบนอกของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก” เลขาธิการมูลนิธิพัฒนรักษ์ กล่าว

นายชูวงศ์ แสงคง ผู้จัดการโครงการพิเศษมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย จังหวัดระนอง ซึ่งรับผิดชอบโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติกลุ่มจังหวัดภาคใต้ มีพื้นที่ทำงานในจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ระนอง พังงา ภูเก็ต  ระบุว่า “ที่ผ่านมาโครงการมีการดำเนินการจัดตั้งศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชนไทย-พม่า (ศสมช.) ซึ่งมีการปรับจากศูนย์สาธารณสุขมูลฐานเดิมที่มีอยู่แล้ว มีการจัดตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.)เข้ามาทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านของไทย เน้นไปที่การทำงานร่วมสามฝ่าย คือ ชุมชน อนามัย และโรงพยาบาล การดำเนินการดูแลแรงงานข้ามชาติเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายที่สูง จึงมีการจัดตั้งกองทุนดูแลขึ้นมา มีศูนย์ ศสมช.รับผิดชอบ กองทุนมาจากการรับบริจาคและมาจากผู้รับบริการที่เป็นแรงงานข้ามชาติ มีการขายบัตรสุขภาพให้กับแรงงานทุกประเภท คล้ายคลึงกับการซื้อประกันสุขภาพ เพื่อหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว”

สำหรับการประชุมตลอดระยะเวลา 2 วัน ได้มีการสรุปการดำเนินงานของแต่ละโครงการภาคีพร้อมทั้งวิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในภาพรวม นอกจากนี้ยังมีการวางแผนกิจกรรมที่จะดำเนินการในอีก 3 เดือนถัดไปร่วมกัน รวมถึงการถอดบทเรียนการดำเนินในรอบ 6 เดือนของโครงการภาคีเครือข่ายอีกด้วย ซึ่งภายหลังจากการประชุม ภาคีเครือข่ายได้นำข้อเสนอแนะและแนวทางไปใช้ในการพัฒนาโครงการย่อยต่อไป และได้มีการนัดหมายเพื่อร่วมประชุมภาคีกันอีกครั้งในวันที่ 24-25 มิถุนายน 2553 นี้
 
 

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net