Skip to main content
sharethis

เวทีคู่ขนานการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1 “เอ็นจีโอ” จี้ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงทบทวนแผนพัฒนาเขื่อนและฝายกั้นน้ำโขงตอนล่าง พร้อมเสนอให้เป็นตัวกลางต่อรองจีนเผยข้อมูลเรื่องเขื่อน ขณะที่ตัวแทนสถานทูตจีนแจงภาวะภัยแล้งที่รุนแรงเป็นเหตุทำน้ำโขงแห้ง ชี้ไม่เกี่ยวการสร้างเขื่อน

(1เม.ย.) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ศูนย์สันติภาพความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ โครงการฟื้นฟูนิเวศน์ในภูมิภาคแม่น้ำโขง โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต กลุ่มรักษ์เชียงของ พันธมิตรแม่น้ำโขง จัดประชุมเวทีสาธารณะ "แบ่งปันแม่น้ำโขงอย่างเป็นธรรม" ซึ่งเป็นเวทีคู่ขนานของชาวบ้าน ต่อการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1 ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

นายสุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพความขัดแย้ง กล่าวว่ามีประชากรในภูมิภาคนี้ พึ่งพา และอาศัยแม่น้ำโขงในการดำรงชีวิต ทั้งยังเป็นที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก จึงเป็นแหล่งสร้างเขื่อน และมีการพัฒนามากมาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง และไม่เป็นธรรมแก่ชาวบ้านที่อาศัย และพึ่งพาแม่น้ำโขง ทั้งนี้ปรากฏการณ์ความแห้งแล้งของแม่น้ำโขง ทำให้เกิดผลกระทบในพื้นที่ต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งจีน ยูนนาน ภาคเหนือพม่า และลาว แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของลำน้ำ

ดังนั้นคาดหวังว่าการประชุมแม่น้ำโขงที่มีผู้นำระดับนายกรัฐมนตรี จะสามารถจัดการ กับความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในภูมิภาคนี้จากการพัฒนาลุ่มน้ำโขงได้ มีการจัดสรรผลประโยชน์แก่ประชาชนอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะกับชนกลุ่มน้อยที่ไม่ค่อยจะมีสิทธิมีเสียงในสังคม

น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่าจากการติดตามแผนก่อสร้างเขื่อน กั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง พบว่ามีทั้งสิ้น 11 แห่งที่เสนอโดยรัฐบาลลาว และกัมพูชา มีทั้งเพื่อผลิตไฟฟ้าและเก็บกักน้ำ ซึ่งทั้งหมดได้มีการลงนามศึกษาความเป็นไปได้มาตั้งแต่ปี 2551 โดยเฉพาะฝาย 2 แห่งที่สร้างในเขตพรมแดนไทย - ลาว ที่จะกระทบกับไทยโดยตรงคือฝายบ้านกุ่ม ที่ดำเนินการโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และปากชม ของบริษัทอิตาเลียนไทย และเอเชียคอร์ปของฮ่องกง ส่วนอีก 2 ฝ่ายคือ ฝายปากแบง ตามแผนจะอยู่ท้ายน้ำจากบริเวณผาได และประเมินว่าจะทำให้น้ำท่วมมาถึงเขต อ.เวียงแก่น และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย

ขณะที่ฝายไชยะบุรี ซึ่งจะสร้างแถว อ.เชียงคาน จ.เลย และดำเนินการโดยบริษัท ช.การช่าง ถือว่ามีความก้าว หน้า และน่าจับตามากที่สุด เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ลงนามกับลาวแล้วว่าจะรับซื้อไฟฟ้าจากฝายเป็นระยะเวลา 29 ปี โดยฝายแห่งนี้มีกำลังการผลิต 1, 260 เมกกะวัตต์ ทั้งที่ปัญหาน้ำโขงแห้งในระยะที่ผ่านมาและชาวบ้านเชื่อว่าสาเหตุมาจากกการ สร้างเขื่อนในจีน ที่แล้วเสร็จ 4 แห่ง และตามแผนจะมีถึง 8 แห่งผลกระทบตลอดหลายปียังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

"เขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขง เป็นการทำลายระบบนิเวศน์ในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ส่งกระทบวิถีต่อแม่น้ำโขงเชียงแสน เชียงของ ความผันผวนในระดับน้ำ หากเขื่อนจีนสร้างครบทั้ง 8 แห่งจะทำให้เกิดการอวสานของความหลากหลายทางชีวภาพในน้ำโขง โดยเฉพาะพันธุ์ปลา 70% จาก 1,300 ชนิดเป็นปลาอพยพจะได้รับผลกระทบจากเขื่อน อย่างไรก็ตาม แต่การที่จีนส่งข้อมูลระดับน้ำในเขื่อนจิงหง และมานอาน กับเอ็มอาร์ซี ถือว่าเป็นวิถีทางที่ดีที่จะให้ความร่วมมือกับประเทศในแม่น้ำโขงตอนล่าง แต่ไม่แน่ใจว่าจีนจะให้ข้อมูลระดับน้ำในเขื่อนอื่นๆ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ว่าเขื่อนของจีนสัมพันธ์กับปัญหา และจะช่วยให้เป็นข้อมูลเตรียมตัวชาวบ้าน ข้อมูลให้ชาวบ้านเตรียมตัวกับความแห้งแล้งในเชียงราย นอกจากนี้อยากให้เอ็มอาร์ซี ทบทวนการให้ข้อมูลต่างๆ และให้มีความร่วมมือในภูมิภาคอย่างเร่งด่วน ไม่อย่างนั้นจะถือว่าการทำงานของเอ็มอาร์ซีล้มเหลว" น.ส.เพียรพร ระบุ

ส่วนนายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เครือข่ายพลังงานและนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง กล่าวว่า อยากเสนอให้เอ็มอาร์ซี เป็นตัวกลางในการต่อรองให้จีน เปิดเผยข้อมูลเรื่องเขื่อนให้มากขึ้น และควรต้องทบทวนแผนพัฒนาพลังงานในลำน้ำโขง รวมทั้งศึกษาแม่น้ำโขงตอนล่างให้มากกว่านี้ด้วย ในส่วนของรัฐบาลไทย ต้องหาทางชะลอแผนพัฒนาฝายไชยะบุรีเอาไว้ก่อน และกลับมาดูถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศกันใหม่ เพราะปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ไม่เพียงกระทบกับนิเวศน์และวิถีชีวิตเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดการพังทลายของตลิ่งริมน้ำโขง แล้วในไทย และอนาคตจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพรมแดนไทย และลาว ซึ่งเป็นเรื่องที่รุนแรงมาก

ส่วน นายเย่า เหวิน ตัวแทนจากสถานทูตจีน เปิดเผยถึงวิกฤติน้ำโขงแล้ง ซึ่งมีการเสนอข่าวจากสื่อว่ามมีสาเหตุจากเขื่อนในจีน ว่า ปัญหาน้ำโขงแห้งในจีนมาจากภาวะภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปีของจีนโดยเฉพาะในยูนนาน เสฉวน เกว้ยตง ประสบปัญหาภัยแล้งมาก และมีฝนตกแค่ 10% ของน้ำฝนที่เคยตกประจำปี สภาพที่ชาวบ้านประสบคือ ดินแตก บางที่เคยเป็นแม่น้ำมากก่อนแม่น้ำก็หายไป ชาวบ้านต้องตื่นแต่ตี3 เพื่อไปหาน้ำมาใช้ในครอบครัว ถ้ามาเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา พบว่า ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ น้ำลดลง 31% ส่งผลกระทบต่อ 51 ล้านชีวิต พื้นที่ 9 แสนเฮกเตอร์ไม่ได้รับการเก็บเกี่ยว พื้นที่การเกษตร 2 ล้านเฮกเตอร์ได้รับผลกระทบและเสียหายไป

สาเหตุที่ทำให้น้ำโขงลดต่ำลงมาก บางคนกล่าวหาว่าคนจีนสร้างเขื่อน ขออธิบายว่า ก่อนหน้านี้ เอ็มอาร์ซี ออกแถลงการณ์ว่าระดับน้ำที่ลดลงในแม่น้ำโขงเป็นเพราะภัยแล้งในจีน และประเทศลาว ตั้งแต่ปีที่แล้วถึงปีนี้ น้ำฝนจากตอนเหนือของจีนลงลง 85% ต่ำสุดในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ถ้าวิเคราะห์สถานการณ์ การใช้พลังงานงานไฟฟ้าพบว่า ฝนตกลดลงตั้งแต่กันยายนปีที่ผ่านมา อีกเหตุผลคือน้ำจากแม่น้ำสาขาไหลเข้ามาไม่เพียงพอ น้ำจากแม่น้ำสาขาจากลาวและไทยไม่ได้ไหลลงแม่น้ำโขงตามที่คาดการเอาไว้ด้วย ” นายเย่าเหวิน กล่าวและว่า ส่วนความสัมพันธ์ของน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดลงกับการพัฒนาในจีนนั้น จากข้อมูลพบว่า สถานีไฟฟ้าจากเขื่อนทั้ง 3 แห่งในจีนส่งน้ำให้แค่ 25%ของแม่น้ำโขงเท่านั้น และในบางช่วงก็แค่ 13% จึงไม่ได้กระทบกับน้ำโขง และปัญหาดังกล่าวทางจีนได้ส่งข้อมูลให้เขื่อนจินหงและเขื่อนม่านหวาน รวมทั้งปริมาณฝนที่ตกลงมาทุกวันกับเอ็มอาร์ซีแล้ว

เราเห็นว่าแม่น้ำโขงมีผลประโยชน์เหมือนกับที่ทุกประเทศเห็นเหมือนกัน เราให้ความสำคัญกับเรื่องระบบนิเวศน์ในลุ่มแม่น้ำโขงมากด้วย รับรองว่า ประเทศจีนจะไม่มีวันทำอะไรที่ส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านและสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำโขงเด็ดขาด รวมทั้งพร้อมให้ความร่วมมือนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคนี้

ส่วน นายเจเรมี เบิร์ด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กล่าวว่า ข่าวที่เผยแพร่ว่าเขื่อนในจีนทำให้น้ำใน แม่น้ำโขงแห้ง และทูตจีนก็ได้ชี้แจงไปแล้ว และเอ็มอาร์ซีไม่ได้มองว่าลุ่มน้ำนี้เป็นเรื่องที่ตายตัว ซึ่งต้องยอมรับว่า 15 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงมากมาย จากพลเมืองที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาพลังงานไฟฟ้า และการเกษตร อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจีนมีแผนสร้างเขื่อน 8 แห่ง โดย 3 แห่งได้เริ่มเปิดใช้แล้ว มีการพูดถึงการปรับระดับน้ำการอพยพย้ายถิ่นของปลา

สำหรับผลกระทบของเขื่อนที่อยู่แม่ในแม่น้ำโขงน้ำตอนบน พบว่าช่วงหน้าฝนน้ำจะไหลมาสู่ตอนล่างของแม่น้ำน้อยลง และจะไหลมากลงสู่ตอนล่างมากขึ้นในช่วงหน้าแล้ง แต่ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงที่ใช้ในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้น้ำเกิดตะกอนมากขึ้น การกัดเซาะชายฝั่งริมแม่น้ำเสียพื้นที่ชายฝั่งมากขึ้น ส่วนประเด็นการอพยพของปลาเป็นประเด็นในท้องถิ่นมากกว่า เพราะปลาไม่ได้อพยพไปถึงต้นน้ำ ทั้งนี้มีการรายงานและเผยแพร่ข้อมูลไว้ในเว็บไซต์ของเอ็มอาร์ซีไว้แล้ว รวมทั้งข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับจีนในช่วงหน้าแล้ง รายงานการวิเคราะห์ในเชิงเทคนิค ปัญหาที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากน้ำโขงสายหลัก แต่เกิดจากแม่น้ำสาขาและไต้ฝุ่นในจีนด้วย


ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net