เผย 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุไทย ทำงานเพื่อยังชีพ แถมความรู้ต่ำ-รายได้น้อย

เวทีระดมความคิดสร้างโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุ “นักวิชาการทีดีอาร์ไอ” คาดปี 2563 ยอดผู้สูงอายุไทยเพิ่มเป็น 12 ล้านคน แจงปัจจุบันแรงงานสูงวัยส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร ร้อยละ 81 การศึกษาต่ำกว่าประถม ด้านนักวิชาการ มธ.ย้ำผู้สูงอายุส่วนใหญ่ทำงานเพื่อยังชีพ ไม่ใช่การแก้เหงา ขณะที่ อดีต ปธ.สหภาพแรงงานชี้การแก้ปัญหาต้องหนุนเก็บภาษีมาเป็นสวัสดิการดูแลคนชรา

 

ขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ อันจะนำมาซึ่งภาระในอนาคตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จากความเชื่อเดิมของสังคมที่ว่าผู้ที่เยื่องย่างเข้าสู่ช่วงวัยแห่งความชราภาพควรมีหน้าที่เพียงอยู่ดูแลบ้านและเลี้ยงดูลูกหลาน แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ความเป็นจริงในปัจจุบันมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ออกไปทำงานนอกบ้านด้วยเหตุผลนานาประการ

เพื่อเตรียมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น วันนี้ (2 เม.ย.53) แผนงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ: พัฒนาพื้นที่ต้นแบบและปัจจัยสำคัญ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมระดมความเห็น “การสร้างโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุ: การจัดการเพื่ออนาคต” ณ ห้องประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ต่อสถานการณ์และปัญหาการสร้างโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุ อันจะนำไปสู่การทำงานเพื่อขับเคลื่อนในเชิงนโยบายต่อไป
 
 
คาดอีก 10 ปี ยอดผู้สูงอายุไทย 12 ล้านคน
 
ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ นักวิชาการ สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการศึกษาความจำเป็นทางนโยบายในการจ้างแรงงานผู้สูงอายุว่า เมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตามแนวคิดของยูเอ็นจะทำให้แรงงานลดลง รายได้ลดลง รัฐต้องต้องดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ทางแก้ คือ 1.เพิ่มจำนวนแรงงานเข้ามาในระบบ ไม่ว่าในส่วนแรงงานต่างด้าว แรงงานสตรี หรือผู้สูงอายุซึ่งก็มีขีดจำกัด เพราะเรื่องสุขภาพ ความต้องการพักผ่อนฯลฯ 2.การใช้ระบบจ้างเหมาช่วง3.ขยายเวลาอายุเกษียณ ซึ่งเมื่อประชากรอายุยืนขึ้นจึงมีความเป็นไปได้ในการขยายอายุการทำงานให้ยาวขึ้น แต่ปัญหามีในหลายปัจจัย ทั้งตัวผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการทำงานแล้ว นายจ้างที่ต้องการรับแรงงานโดยดูจากประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งเรื่องระบบกฎหมาย การพัฒนาฝีมือฯ 4.ปรับปรุงสภาพการทำงานของผู้สูงอายุ และ 5.เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน
 
ดร.สราวุธ กล่าวให้ข้อมูลด้วยว่า ในปี 2552 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุ 7.71 ล้านคน โดยกว่าร้อยละ 60 อยู่นอกเขตเทศบาล แต่มีกำลังแรงงานผู้สูงอายุเพียง 3.17 ล้านคน โดยส่วนใหญ่อายุ 60-69 แบ่งได้เป็นประชากรในเขตเทศบาล 0.73 ล้าน และนอกเขต 2.44 ล้านคน โดยจำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กว่าร้อยละ 63 อยู่ในภาคเกษตร ส่วนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม การค้า และการบริการ รวมแล้วมีทั้งหมด 1.15 ล้าน ทั้งนี้ แรงงานในเมือง-นอกเมือง มีความต้องการต่างกัน เพราะแรงงานนอกเมืองส่วนมากไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ
 
เมื่อมีการสำรวจผู้สูงอายุที่ทำงานในระบบและนอกระบบ ในระหว่าง พ.ศ. 2549-2551 พบว่าผู้สูงอายุทำงานนอกระบบถึงร้อยละ 90.1 อีกทั้งยังพบว่าร้อยละ 50 ทำงานมากกว่า 40-49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และพบว่าผู้สูงอายุที่การศึกษาน้อยจะมีสัดส่วนการทำงานมากกว่าผู้มีการศึกษา เพราะผู้มีการศึกษามีหลักประกันรายได้หลังเกษียณดีกว่า โดยผู้สูงอายุที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา 278,630 คน พบว่ายังทำงานอยู่เพียงหนึ่งในสี่ ในขณะที่ผู้สูงอายุที่ทำงานทั้งหมดเป็นผู้มีการศึกษาตำกว่าระดับประถมศึกษาถึงร้อยละ 81
 
ทั้งนี้ จากการประมาณการจำนวนกำลังแรงงานของผู้สูงอายุ ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ ปี 2553-2573 พบว่าจำนวนแรงงานผู้สูงอายุนั้นจะเพิ่มขึ้นตามขนาดประชากร โดยหาก ปี 2563 มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ 12 ล้านคน จะมีแรงงานผู้สูงอายุ 5 ล้านคน ปี 2573 มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุอยู่ที่ 17.7 ล้านคน จะมีแรงงานผู้สูงอายุ 7 ล้านคน ส่วนมาตรการเพื่อขยายการจ้างงานทำได้โดย การเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานให้กับผู้สูงอายุเอง ปรับทัศนคตินายจ้าง การปรับปรุงกฎหมาย เช่น การไม่นำเอาอายุมาเป็นขีดจำกัดการจ้างงาน และขยายการเรียนรู้โดยเปิดโอกาสในการร่วมฝึกอบรม
 
 
แจง “ผู้สูงอายุ” ที่ต้องทำงานส่วนใหญ่ไม่ใช่แก่เหงา แต่เพื่อยังชีพ
 
ผศ.ดร.นงนุช สุนทรชวกานต์ นักวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า 1 ใน 3 ของจำนวนผู้สูงอายุของไทยยังต้องทำงานเพื่อยังชีพ โดยส่วนใหญ่เป็นคนที่มีการศึกษาน้อย และไม่ได้ทำงานเพราะต้องการแก้เบื่อ แก้เหงา แต่เพื่อยังชีพ โดยส่วนใหญ่มีรายได้น้อยไม่เพียงพอกับการใช้จ่าย และการทำงานก็ไม่ต่างจากหนุ่มสาว คือราวทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ดังนั้น จึงต้องช่วยให้คนที่อยากทำงานสามารถทำงานได้ต่อไป โดยให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
 
ผศ.ดร.นงนุช กล่าวต่อมาว่า ในส่วนของภาคเศรษฐกิจที่มีบทบาทในการจ้างแรงงานผู้สูงอายุ นอกเหนือจากภาคการเกษตรและประมง คือภาคอุตสาหกรรมการขายส่งขายปลีก การซ่อมแซมอุปกรณ์ และอุตสาหกรรมโรงแรมและภัตตาคารแม้อายุมากก็ไม่มีผลกับสัดส่วนการจ้างงาน อีกทั้ง คาดว่า ในปี 2552-2562 ในภาคเศรษฐกิจข่างต้น จะมีความต้องการจ้างแรงงานผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาก แต่ในส่วนอุตสาหกรรมการผลิต เมื่อแรงงานมีอายุมากขึ้นจะมีสัดส่วนจ้างงานลดลง
 
ผศ.ดร.นงนุช กล่าวถึงข้อเสนอว่า ต้องไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติหรือกีดกันการทำงานของผู้สูงอายุ เช่น ในการอ้างอิงกฎหมายหลายๆ เพื่อจำกัดอายุการจ้างงาน อาทิ กรอบการเกษียณอายุราชการและกรอบการเข้าประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม แม้ว่าในส่วนของราชการบางหน่วยงานจะมีการขยายเวลาเกษียณอายุราชการ แต่ส่วนใหญ่มักเป็นเฉพาะกับราชการที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งน่าจะเปิดโอกาสในส่วนของข้าราชการระดับล่างที่ยังมีความสามารถและต้องการทำงาน ในเรื่องการพัฒนาศักยภาพ ต้องมีการกรอบอายุจากเดิมของผู้ที่จะเข้าร่วมฝึกอบรบ และจัดหรือมีแรงจูงใจให้หน่วยงานต่างๆ มีโปรแกรมอบรมให้แก่แรงงานผู้สูงอายุเป็นพิเศษ
 
ในส่วนของข้อกฎหมายควรมีการเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองผู้สูงอายุในการทำงาน ให้ทำงานในสภาพการทำงานที่มีความปลอดภัยและไม่มีการเลือกปฏิบัติ เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุทำงานอย่างยืดหยุ่น สนับสนุนงานที่เหมาะสม ให้ทำงานในหลายๆ หน้าที่เพื่อไม่ให้สุขภาพเสื่อมโทรมเร็ว อาจต้องระบุอาชีพที่เหมาะสมใน พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ในส่วนนายจ้างอาจมีการจูงเช่นใช้นโยบายด้านภาษีอากร รัฐลงทุนช่วยเหลือในด้านสุขภาพ นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้ประชาชนสนใจดูแลสุขภาพตั้งแต่เด็ก มีมาตรการมาดูแลพื้นที่สีเขียวให้ประชนได้ใช้ประโยชนในการออกกำลังกาย เหล่านี้จะส่งผลให้การสร้างโอกาสในการทำงานของผู้สูงอายุเป็นจริงมากขึ้น
 
 
ตัวแทนรัฐเสนอลักษณะงานที่เหมาะกับผู้สูงอายุ
 
นางเพชรรัตน์ สินอวด สำนักงานเศรษฐกิจแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ และประกาศกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับการการส่งเสริม และการสนับสนุนผู้สูงอายุในการประกอบอาชีพและฝึกอาชีพที่เหมาะสม ตั้งแต่ 47 มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมพัฒนาฝีมือแรงาน และกรมการจัดหางาน โดยในส่วนภาพรวมตลาดแรงงาน ปัจจุบันมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์ แต่ต้องการแรงงานอายุ 20-39 ปี ถือเป็นข้อจำกัด ขณะนี้กระทรวงแรงงานกำลังออกกระทรวง มีตัวร่างกฎกระทรวงใหม่ในเรื่องการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานรัฐและเอกชน ซึ่งในส่วนของผู้สูงอายุอาจต้องมามองในเรื่องนี้ด้วย
 
นางเพชรรัตน์ กล่าวด้วยว่าปัญหาเรื่องสภาพร่างการของผู้สูงอายุ ทำให้ผู้ประกอบการต้องใช้งบประมาณมากในการดำเนินการ ทั้งนี้ที่ผ่ามากระทรวงแรงงานดำเนินการให้มีการศึกษาถึงอาชีพที่เหมาะสมกับการทำงานของผู้สูงอายุ โดยพิจารณาจาก ทักษะ สุขภาพกาย สุขภาพจิต ความรับผิดชอบ และเงื่อนไขการทำงาน พบว่า ผู้สูงอายุเหมาะกับงานที่มีความตึงเครียดต่ำ และการที่ผู้สูงอายุใช้เวลาเท่ากับแรงงานทั่วไปแต่ได้ชิ้นงานที่น้อยกว่า ดังนั้นต้องมีการส่งเสริมการทำงานที่เอื้อต่อผู้สูงอายุ โดยไม่เคลื่อนไหวหรือต้องใช้ข้อต่อมาก การทำงานเป็นกะและล่วงเวลาไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ แต่ควรเป็นงานที่มีความยืนหยุ่นเรื่องเวลา
 
 
อดีตประธานสหภาพแรงงานจี้รัฐจัดเก็บ “ภาษี” นำเงินมาจัด “สวัสดิการ” ให้คนชรา
 
ส่วนจิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ กล่าวว่า การมีคุณภาพชีวิตที่ดีควรเริ่มตั้งแต่วัยหนุ่มสาวแต่แรงงานที่ทำงานในโรงงานต้องทำงานหนักทำให้สุขภาพแรงงานทรุดโทรม อีกทั้งบางรายประสบปัญหาโรคจากการทำงาน ได้รับค่าแรงต่ำกว่าที่จะผ่อนบ้านได้ก็ตอนอายุ 45 ปี เมื่อเกษียณอายุบ้านที่มียังผ่อนไม่หมด ต้องร้องขอนายจ้างทำงาน กลายเป็นแรงงานนอกระบบในการทำงาน ถูกลดค่าแรง อีกทั้ง แรงงานในโรงงานมีความรู้น้อย เพราะหลายคนเริ่มทำงานตอนอายุ 15 ปี ไม่มีโอกาสในการเรียนหนังสือ ไม่มีความรู้ ไม่มีทางเลือกในการทำงาน ทั้งที่แรงงานในอุตสาหกรรมสร้างมูลค่าการผลิตสินค้าประเทศ แต่เมื่อเกษียณอายุกับไม่ได้รับการเหลียวแลจากสังคม  
 
จิตราแสดงความเห็นด้วยว่า การสร้างแรงจูงใจทางภาษีให้กับนายจ้างเพื่อให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุไม่ใช่ทางออก แต่ควรเก็บภาษีมาเป็นสวัสดิการดูแลคนชราเรื่องที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การเดินทาง และมีเงินอุดหนุนรายเดือนที่เพียงพอกับการยังชีพ ดังนั้น รัฐควรเก็บภาษีกันตั้งแต่วันนี้ ต้องกล้าที่จะจัดการ และคนชราเองต้องกล้าที่จะออกมาเรียกร้องเพื่อประโยชน์ของตนเอง นอกจากนี้หากแรงงานรู้ว่าหลังเกษียณอายุจะได้รับการดูแล การเร่งทำงานสะสมเงินจนทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมก็จะไม่เกิดขึ้น
 
“การแก้ปัญหาไม่ใช่ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุได้ทำงานต่อไปอีก ผู้สูงอายุหลายคนไม่ได้ต้องการทำงาน แต่ช่วงวัยนี้ต้องการพักผ่อน เมื่อเกษียณอายุควรส่งเสริมให้ทำในสิ่งที่พอใจอยากทำ ไม่ใช่ทำเพื่อให้ได้ตามเป้าการผลิต” จิตรากล่าว
 
 
ตัวแทนผู้ประกอบการโรงแรมรับ “แรงงานสูงอายุ” มีความสำคัญใน “งานบริการ”
 
นางดิษยา ยศพล ผู้แทนผู้ประกอบการภาคธุรกิจเอกชน โรงแรมโรส การ์เด้น สวนสามพราน กล่าวถึงโครงการจ้างแรงงานหลังวัยเกษียณว่า ธุรกิจทางด้านวัฒนธรรมและการบริการ ถือว่าประสบการเป็นสิ่งสำคัญเพราะเงินซื้อไม่ได้และไม่มีในตำรา จึงต้องอาศัยความรู้ประสบการของผู้สูงวัย และอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างคนทำงานและลูกค้า อย่างไรก็ตามการมีพนังงานสูงอายุจำนวนมาก ตรงนี้มีผลกับลูกค้าที่เลือกมารับริการ ส่วนใหญ่เป็นวัยกลางคนขึ้นไป แต่โชคดีที่โรงแรมมีส่วนงานและตำแหน่งที่หลากหลาย สามารถสลับสับเปลี่ยนได้ และคาดว่าจะใช้ระบบจ้างคนสูงวัยไปอีกนาน เพราะขาดแคลนแรงงานที่มีความละเอียด รอบคอบ นอกจากนี้ผู้สูงอายุได้ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นอาจารย์สอนคนรุ่นใหม่ๆ ต่อไป
 
“แรงงานหลังวัยเกษียณเหมาะกับธุรกิจบางประเภท และในบางตำแหน่ง เพราะบางตำแหน่งงานต้องอาศัยภาพลักษณ์หน้าตา”  นางดิษยาแสดงความเห็น
 
 
ประธานชมรมผู้สูงอายุยกตัวอย่างกิจกรรมสร้างรายได้ “ผู้สูงอายุ”ในชุมชน
 
นายสมศักดิ์ มุกทอง ประธานชมรมผู้สูงอายุ โรงพยาบาลท่าช้าง ต.โพธิ์ประจักร อ.ท่าช้าง จ.สิงค์บุรี เล่าถึงสาเหตุในการสร้างงานให้กับผู้สูงอายุในตำบลว่า จากทำงานได้เข้าไปทำงานในชมรมผู้สูงอายุได้ตั้งข้อสังเกตว่าผู้สูงอายุต้องเสียเงินค่าอาหารกลางวันคนละ 10 บาท ทั้งที่ไม่มีรายได้ จึงคิดหาทางให้ผู้สูงอายุไม่ต้องจ่ายเงินจำนวนนี้และมีรายได้ด้วย โดยการสร้างอาชีพที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในตำบลจะอยู่เฝ้าบ้าน และหลายคนเจ็บป่วยไม่สะดวกในการเดินทาง
 
นายสมศักดิ์ให้ข้อมูลต่อมาว่า ต้นทุนในการจัดกิจกรรมส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุเริ่มต้นมาจากการทอดผ้าป่า โดยได้เงินล้านกว่าบาท ส่วนอาชีพแรกที่มีการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุในตำบลทำคือ การปั่นก้านดอกไม้ประดิฐ ราคาร้อยละ 5-7 บาท มีผู้สูงอายุในตำบลเข้าร่วมโครงการกว่าร้อยละ 60 และทำให้มีรายได้ 2,000-3,000 บาทต่อเดือน 2.ตั้งกลุ่มโรงสีข้าว ซึ่งจะได้ลำไปเลี้ยงสุกร ได้ซื้อให้ผู้สูงอายุนำไปเลี้ยง ต่อเนื่องจากนั้นก็มีกลุ่มทำหมูทุบ และกลุ่มทำขนมถ้วยฟูและขนมถ้วย
 
3.ตั้งกลุ่มพืชพักสวนครัวปลอดสารพิษทำน้ำหมักชีวภาพ 12 ครัวเรือน บางเดือนมีรายได้เป็นแสน 4.กลุ่มทำของชำร่วม 20 กว่าคน รายได้ราว 4,000-5,000 บาทต่อเดือน 5.โครงการสวัสดิการชุมชน ต.โพธิ์ประจักร อ.ท่าช้าง ถือโครงการต้นแบบในพื้นที่ โดยคนที่เป็นสมาชิกชุมชนต้องสะสมวันละบาท มีเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล นอนโรงพยาบาลได้คืนละ 100 บาท ไม่เกิน 5 คืน เดือนละไม่เกิน 2 ครั้ง และมีทุนกู้ยืมไปประกอบอาชีพโดยไม่คิดดอกเบี้ย กำหนดคือเงินใน 3 ปี
 
“ผมยืนยันได้เลยว่าผู้สูงอายุทุกคนในตำบลของเรามีงานทำ และมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 ทุกคนครับ” นายสมศักดิ์กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท