อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ: เรื่องนี้จบอย่างไรอยู่ที่คนไทยทุกคน เราจะเอาอย่างไรครับ

“เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” มาร์คระบุรัฐบาลไม่ได้ติดยึดเรื่องอยู่ครบวาระ แต่การไม่อยู่ครบวาระจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการแก้ปัญหาวิกฤตอย่างแท้จริง ยันกรอบเวลายุบสภาใน 9 เดือนไม่ตายตัว ชี้เรื่องจะจบอย่างไรอยู่ที่คนไทยทุกคน


(แฟ้มภาพ) นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมเตรียมการ "การประชุมสุดยอดลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง" ณ ห้องสีเขียว ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 1เมษายน 2553 (ที่มา: เว็บไซต์นายกรัฐมนตรีไทย CC)

 

วานนี้ (4 เม.ย.) เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ หัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวกับพี่น้องประชาชนในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เป็นครั้งที่ 64 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยในช่วงที่ 2 ของรายการ “กรุณา บัวคำศรี” ผู้ประกาศข่าวซึ่งเป็นพิธีกรรายการ ได้เป็นผู้สัมภาษณ์อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

@ พิธีกร - เข้าสู่ช่วงที่ 2 ของรายการเชื่อมั่นประเทศไทยฯ วันนี้เราสดจากหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ สถานที่จัดประชุมผู้นำกลุ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ต้องเรียกว่าไม่ค่อยปกตินะคะ วันนี้ดิฉันอยู่กับคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีค่ะ สวัสดีค่ะท่านนายกฯ คะ

อภิสิทธิ์ - สวัสดีครับ

 

@ เมื่อสักครู่พอจะอนุมานได้ไหมคะว่าถ้าเกิดกลุ่มผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์กลับไปผ่านฟ้า แล้วท่านจะเจรจารอบที่ 3

คงไม่ได้พูดอย่างนั้นนะครับ สิ่งที่ผมพูดคือว่าจริง ๆ แล้ว ผมย้ำมาเสมอว่าการชุมนุมจะมีหรือไม่ ข้อเรียกร้อง เสียงสะท้อนความคิดเห็นของทุกฝ่าย เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องรับฟังอยู่แล้ว ผมคิดว่าในการที่มีการเจรจาที่เรียกว่ารอบ 1 รอบ 2 ที่ผ่านมา ผมได้แสดงเหตุผลชัดเจนว่ารัฐบาลไม่ได้ติดยึดอยู่กับการที่จะต้องครบวาระ แต่ว่าการไม่อยู่ครบวาระของรัฐบาลจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการแก้ปัญหาวิกฤตอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นการเปิดกว้างไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ว่าทุกภาคส่วนที่กำลังช่วยกันคิด มีเสียงเรียกร้องว่าให้ปฏิรูปประเทศไทยก็มี มีเสียงเรียกร้องว่าน่าจะแก้รัฐธรรมนูญก็มี มีเสียงเรียกร้องว่าคงจะต้องมาทำอะไรบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้สังคมลดความแตกแยกลงก็ดี สิ่งเหล่านี้ถ้าสามารถที่จะมาทำแผนร่วมกัน ซึ่งแน่นอนก็ต้องเกี่ยวข้องกับผู้ที่ชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเสื้อแดง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มอื่นๆ ทั้งหลายทั้งปวง ถ้ามาทำกัน ผมคิดว่ามันจะเป็นประโยชน์ที่สุด

 

@ แต่แบบที่เจรจาที่ออกโทรทัศน์ไป 2 ครั้งแบบนั้นจะไม่เห็นแล้ว

คือขณะนี้กลุ่มผู้ชุมนุมโดยเฉพาะแกนนำ เขาก็ไม่ได้แสดงเจตนา เพราะว่าเขายังขีดเส้นตายเรียกร้องว่าต้องยุบสภาวันนี้หรือภายใน 15 วัน ซึ่งผมก็ยืนยันว่าไม่ได้เป็นประโยชน์กับการแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น แล้วก็ไม่ได้เป็นประโยชน์กับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมเอง ซึ่งพูดถึงเรื่องของความยุติธรรม การแก้ปัญหาโครงสร้าง เรื่องของประชาธิปไตย ที่เป็นข้อเรียกร้องที่ผมถือว่าเป็นข้อเรียกร้องที่เราต้องรับฟัง ส่วนถ้ายุบสภาแล้วหวังผลเป็นเรื่องอื่น เป็นประโยชน์ส่วนตนส่วนกลุ่มนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลคงไม่อาจยอมรับได้ ขณะเดียวกันผมต้องย้ำครับว่าการขีดเส้นตาย และการใช้วิธีการซึ่งหลายครั้งนอกเหนือรัฐธรรมนูญออกไป ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ปฏิกิริยาจากสังคมอีกส่วนหนึ่ง อาจจะเป็นส่วนใหญ่โดยสะท้อนกลับเข้ามาว่า ถ้ารัฐบาลไปยอมจำนนเช่นนั้นจะเป็นอันตรายอย่างมากกับบรรทัดฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในอนาคตด้วย

เพราะฉะนั้นในชั้นนี้ผมไม่ได้คิดถึงการจะไปนั่งโต๊ะเจรจาแบบที่ทำมา 2 รอบ เพียงแต่บอกว่าเราจะบริหารสถานการณ์กลับให้เข้าสู่ภาวะที่เป็นปกติให้มากที่สุด ถ้ามีการชุมนุมเคลื่อนไหวก็อยู่ในกรอบ แล้วรัฐบาลก็ยังจะมีความพยายามเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการหาคำตอบให้กับสังคม ผมคิดว่าวันนี้มันไม่ใช่เรื่องการมาเอาชนะคะคานกัน ไม่ใช่เรื่องที่บอกว่าผู้ชุมนุมบอกว่าต้องยุบสภาเดี๋ยวนี้ ต้องยุบสภาภายใน 15 วัน ยกระดับความรุนแรงหรือยกระดับการชุมนุม ต้องไปเผชิญหน้ากัน

คือผมจะไม่ยอมให้ 1. มีการละเมิดกฎหมายอย่างกว้างขว้าง กับ 2. ผมไม่ต้องการที่จะให้คนไทยด้วยกันปะทะกันและมีความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ หรือประชาชนกับประชาชน เมื่อวานนี้ผมก็ให้สัมภาษณ์ไป เพราะว่ามีคนที่มีความรู้สึกรุนแรงต่อการชุมนุม เรียกร้องมากบอกว่ารัฐบาลต้องจัดการ และตำหนิว่าถ้าไม่ทำอะไร ประชาชนก็จะต้องทำกันเอง

ผมยืนยันนะครับว่าต้องให้พี่น้องประชาชนทุกคนอดทน อดกลั้น รัฐบาลไม่ผลักภาระให้ประชาชน กำลังคลี่คลายปัญหา ผมคิดว่าที่ออกประกาศไปเมื่อคืน มีการพูดคุยกันไป 2 รอบ และเริ่มผ่อนคลายการจราจร เราก็จะทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะให้สถานการณ์ในภาพรวมไปได้ แต่ขณะเดียวกันคงไม่ได้หมายความว่าถ้าเหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผมก็นั่งเฉยและบอกว่าถ้าอย่างนั้นผมก็อยู่ 1 ปี 9 เดือน ไม่ใช่ เพราะว่าผมเห็นว่าปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันมันก็มีคำตอบ ถ้าเราได้มาทำคำตอบร่วมกัน รัฐบาลก็พร้อมจะดำเนินการ

 

@ เมื่อสักครู่ท่านบอกว่าถ้าเกิดเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติก็ไม่ได้แปลว่าท่านจะหยุดทำงาน แต่ว่าก่อนจะถึงคำว่าเหตุการณ์ภาวะปกติ หลายคนอาจจะมองไม่ค่อยมีทางออกเท่าไหร่ เพราะว่าทางกลุ่มคนเสื้อแดงก็ยังยืนยันในเรื่อง 15 วัน ทางรัฐบาลยืนยันเรื่อง 9 วัน มีข้อเสนอจากนักวิชาการบางกลุ่มว่าจะเป็น 3 เดือน 6 เดือนแทนได้ไหม โดยตัดขั้นตอนประชามติออกไป เพราะอาจจะไม่จำเป็นเท่าไหร่

ผมต้องเรียน 3 ประเด็นนะครับ ประเด็นแรกคือว่าผมไม่ได้ให้เราต้องมาเถียงกันว่า 1 วัน 15 วัน 3 เดือน 6 เดือน 9 เดือน สิ่งที่เราต้องมาวางกันคือว่าถ้าจะมีการเลือกตั้งแล้วเป็นการเลือกตั้งซึ่งแก้ปัญหาที่สะสมมา เราต้องทำอะไรบ้าง ถ้าเรามาทำแล้ว เลือกตั้งไปแล้วมีความรุนแรง เราก็ไม่แก้ปัญหา ถ้าเราเลือกตั้งไปแล้วใช้กติกาซึ่งต่อมาเดี๋ยวไม่ยอมรับกันอีก เช่นว่ามีการทุจริตเลือกตั้ง มีการยุบพรรค ก็ไม่ยอมรับกันอีก เราก็ไม่ได้แก้ปัญหา ถ้าเราไปเลือกตั้งแล้ว พูดง่าย ๆ ก็คือยังอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ เราจะเลือกตั้งกันไปทำไม ในขณะที่ยังมีปัญหาที่จะต้องได้รับการชำระสะสาง รวมทั้งการบริหารประเทศ เราจะคิดถึงเฉพาะการเมืองล้วน ๆ ก็ไม่ได้ การประคับประคองการแก้ไขปัญหาฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ต้องทำ เพราะฉะนั้นประเด็นแรกที่ผมอยากจะบอกคือ เราไม่ต้องมาเขียนในเรื่องเวลา เราต้องมาวางกันบนโต๊ะมากกว่าว่า อะไรที่จะทำให้ประเทศสงบ เดินหน้า เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย แล้วจะยึดเอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ไม่ได้ใช่ไหมครับ อย่างกลุ่มผู้ชุมนุมบอกวันเดียวก็ให้ไม่ได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลและกลุ่มคนจำนวนมากก็บอกว่าเราก็มีสิทธิอยู่ 1 ปี 9 เดือน มันก็เถียงกันไม่จบ แต่เรามาบอกดีกว่าว่าถึงเวลาหันหน้าเข้าหากันจะทำอะไร มาดูว่าใช้ระยะหนึ่ง นั่นประเด็นที่ 1

 

@ แต่ถ้าทำอย่างนั้นอาจจะเป็น 9 เดือนเต็ม 6 เดือน หรือ 5 เดือนก็ได้

ถูกต้องครับหรืออาจจะปีหนึ่งก็ได้ หรืออาจจะนานกว่าปีก็ได้ แต่มันอยู่ที่ว่าเราจะต้องมาวางตรงนี้ให้ชัดเจน ประเด็นที่ 2 เรื่องประชามติก็ดี เรื่องอะไรก็ดี คงไม่ใช่เรื่องที่คล้าย ๆ ว่ารัฐบาลไปหยิบมาเพื่อซื้อเวลา ผมยืนยันว่าไม่ใช่ ถามว่าทำไมผมพูดเรื่องงบประมาณ ทำไมผมพูดเรื่องประชามติ ผมพูดเรื่องงบประมาณเพราะว่าบังเอิญปีนี้เป็นปีที่งบประมาณไม่ปกติ เงินหายไป 2 แสนล้าน เมื่อตอนที่ผมเข้ามาบริหารประเทศ เพราะฉะนั้นถ้าปฏิทินงบประมาณกระทบ ปีหน้างบประมาณที่ใช้กันปางก่อน มันจะเป็นงบประมาณซึ่งมีจำนวนเงินค่อนข้างน้อยผิดปกติ ในภาวะซึ่งคนมองว่าเรายังจำเป็นที่จะต้องประคับประคองด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันเรากำลังจะปรับเงินกู้ 4 แสนล้านที่ 2 ว่าจะไม่กู้เต็มจำนวน กำลังปรับเข้ามาสู่งบประมาณตัวนี้ ถ้าตัวนี้มันชะงักอีกก็เป็นปัญหา

เรื่องประชามติก็เหมือนกันครับ ทำไมต้องประชามติ เพราะมีคนอีกจำนวนมาก ที่ไม่อยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่าลืมว่าวิกฤตเมื่อปี 2551 ที่เกิดขึ้นทั้งหมดทั้งปวง สมัยรัฐบาลนายกฯ สมัคร รัฐบาลนายกฯ สมชายก็มาจากกลุ่มที่คัดค้านไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอเรื่องประชามติเพราะผมคิดว่าทุกฝ่ายคงไม่สามารถปฏิเสธมติของประชาชนได้ ใช่ไหมครับ สมมติว่าเราเอา 6 ประเด็นที่เป็นตุ๊กตาของคณะกรรมการที่เคยตั้งขึ้นมา ๆ วาง สมมติไปลงประชามติให้แก้ 2 ไม่แก้ 4 ผมว่าฝ่ายที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขคงต้องยอมรับนะครับ เพราะว่านั่นคือการแสดงออกของคนทั้งประเทศ อันนี้คือประเด็นที่ 2 ว่าทำไมเราพูดถึงเรื่องต่าง ๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ว่าอยากจะซื้อเวลาหรืออะไร ไม่ใช่ มันเป็นความจำเป็นที่จะหาข้อยุติ ที่จะทำให้ภาวะของบ้านเมืองสงบ

ประเด็นที่ 3 ที่ผมอยากจะชี้ให้เห็น ผมเคยพยายามเจรจากับทุกฝ่าย ตอนที่มีข้อเสนอเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น แล้วผมก็บอกว่ามันมีความละเอียดอ่อน ขอให้ไปทำประชามติ คงจำได้ผมเชิญวิป 3ฝ่าย รัฐบาล ฝ่ายค้าน วุฒิสภา มาตกลงกัน ทำอย่างนี้นะ เสร็จแล้วผมบอกว่ากระบวนการออกมาอย่างไร ยอมรับยุบสภานะ ผมบอกนะครับวันนั้น ปรากฏว่าตกลง ต่อมาฝ่ายค้านและกลุ่มเสื้อแดงประกาศไม่ยอมรับกระบวนการนี้ ผมบอกคุณกรุณาว่าถ้าวันนั้นเขายอมรับ ผ่านมากี่เดือนแล้วนี่ เกือบ 4 เดือนแล้ว ป่านนี้ประชามติเสร็จแล้ว เพราะฉะนั้นเช่นเดียวกันครับ การที่มาชุมนุมในขณะนี้บอก 1 วัน 15 วัน หรือจะบอก 3 เดือนแล้วก็ชุมนุมยืดเยื้อกันไป และก็มีปัญหาการกระทบกระทั่งกันไป ก็ไม่ได้ทำให้เราใกล้คำตอบมากขึ้น ถ้าวันนั้นยอมรับตั้งแต่ตอนนั้น วันนี้อาจจะเหลือแค่ไม่กี่ก็ได้

 

@ มันย้อนอดีตไม่ได้

ถูกต้อง วันนี้เราก็ต้องเรียนรู้จากอดีตว่าวันนี้ท่านจะมายืนยันขีดเส้นตายกันทำไม ทำไมวันนี้ท่านไม่บอกเลยว่า เอาละต่อไปนี้ทั้งกลุ่มที่ชุมนุม ทั้งกลุ่มอื่น ๆที่มีข้อเสนอเกี่ยวกับทางออกประเทศไทยมานั่งโต๊ะ รัฐบาลบอกว่าเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามาอย่างนี้ และก็ทำงานร่วมกัน ส่วนอยากจะมีการใช้สิทธิ์เป็นครั้งคราว ชุมนุมเคลื่อนไหวตามกรอบของกฎหมายก็ทำได้

 

@ ทุกภาคส่วนอันนี้ท่านหมายรวมถึงพันธมิตรฯ

ถูกต้องครับ เพราะว่าผมคิดว่าถ้าเราเพียงแต่คิดว่ามีกลุ่มมาเรียกร้องกลุ่มหนึ่ง เพราะฉะนั้นตอนที่เจรจาก็น่าสนใจ เพราะว่าแกนนำเขาบอกว่ารัฐบาลมีลูก 5 คน มีลูกร้องเสียงดังอยู่คนหนึ่ง ก็ฟังคนนี้สิ ก็ทำตามคนนี้สิ อีก 4 คนเขาไม่ได้ร้อง ไปสนใจอะไร ผมบอกว่ามันไม่ได้ รัฐบาลต้องดูแลคนทั้งประเทศ ถ้าลูก 5 คน ก็ต้องดูแลลูกทั้ง 5 คน ถ้าเราบอกว่าลูกคนไหนร้องก็ตามใจคนนั้น ผมรับรองได้เลยครับว่าใครเลี้ยงลูกแบบนี้ ลูกทุกคนจะร้อง และบางคนที่เงียบอยู่ก็ดูว่า เพราะว่าจะตามใจลูกที่ร้องหรือเปล่า ถ้าตามใจเขาก็จะขอร้องบ้าง เพราะฉะนั้นเราจะไปแก้ปัญหา ปัดให้มันพ้นปัญหาเฉพาะหน้าไปอีกต่อไปไม่ได้ ผมมีความตั้งใจว่าการจะคลี่คลายปัญหาครั้งนี้ ต้องทำให้มันครบถ้วน แล้วก็ทำให้ดีที่สุด และผมไม่ได้มีประโยชน์ได้เสียอะไรทั้งสิ้น ขอยืนยันเลยว่าไม่ได้มีประโยชน์ได้เสียอะไรทั้งสิ้น ที่ไปกล่าวหาผมหรือรัฐบาลเรื่องต่าง ๆ

ผมก็ยืนยันได้นะครับว่าการทำงานของผมและรัฐบาลมีความเปิดเผย มีความโปร่งใส บอกว่ามีการทุจริต ก็เปิดเผยข้อมูลมาสิครับว่ามีตรงไหนบ้างตั้งแต่ผมมาบริหารประเทศ และผมเอาประโยชน์เข้าตัวเอง ไม่มีละครับ และเราก็ใช้กระบวนการรัฐสภาตรวจสอบได้ ประชาชนเองก็ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญได้ตามปกติ แต่ผมอยากให้เรามาทำบรรยากาศให้คนมั่นใจได้ไหม ผมยกตัวอย่าง สมมติว่าเขาอยากจะชุมนุมเป็นครั้งคราว เพื่อย้ำข้อเรียกร้อง ก็ทำได้ จะทำในกรุงเทพฯ บ้าง ในต่างจังหวัดบ้างก็ได้ แต่ลองดูได้ไหมครับ รัฐบาล รัฐมนตรีไปไหน ก็ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ ฝ่ายค้านไปไหนก็สามารถไปดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ โดยไม่มีการเผชิญหน้า ไม่มีการปาของ ไม่มีความเสี่ยงต่อความรุนแรง ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ ผมว่าสังคมก็จะบอกเองว่าเอาละอย่างนี้เริ่มเข้าเค้าแล้วว่า ทุกฝ่ายเริ่มยอมรับซึ่งกันและกัน เราก็อาจจะไปเลือกตั้งได้ อันนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ผมอยากเห็นให้เกิดขึ้น

 

@ แต่ว่าเฉพาะหน้าที่เป็นปัญหาใหญ่ของท่านและรัฐบาลขณะนี้คือการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ ถึงแม้ตอนนี้จะมีการเจรจาให้เปิดช่องทางการจราจรได้บ้าง แต่ท่านก็เข้าใจธรรมชาติของการชุมนุมว่าถ้าเกิดมีการยืดเยื้อหรืออยู่ตรงนั้น การเปิดจราจรบางช่วงก็ไม่ได้แก้ปัญหา แนวทางจะเป็นอย่างไร มีคนพูดถึงการสลายการชุมนุม มีการพูดถึงเรื่องของการยุบสภา มีทางเลือกอื่นไหมคะ

คือเอาสุดโต่งก่อน กลุ่มคนที่บอกว่าสลายการชุมนุมเด็ดขาด เพราะว่าผิดกฎหมาย ทนไม่ได้แล้ว ผมต้องบอกเลยว่าเมื่อวานนี้มีเสียงอย่างนี้เข้ามาเยอะมาก ผมก็อยากจะย้ำครับว่ารัฐบาลก็ต้องการบังคับใช้กฎหมาย แต่การบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นไปเพื่อให้บ้านเมืองสงบ ถ้าบังคับใช้กฎหมายด้วยวิธีการซึ่งทำให้บ้านเมืองไม่สงบ มันก็ไม่ได้ช่วยให้บ้านเมืองมีลักษณะของการเป็นบ้านเมืองที่รักษากฎหมายอย่างแท้จริง เราก็ประกาศชัดขณะนี้ เราก็ต้องเริ่มจากการประกาศเสียก่อนว่าขณะนี้การชุมนุมมันเลยขีดที่รัฐธรรมนูญได้ให้สิทธิเอาไว้ เราก็ต้องใช้เวลาในขณะนี้ให้เป็นที่ประจักษ์แจ้งว่า ทุกคนที่อยู่ในที่ชุมนุมทราบว่าขณะนี้เป็นอย่างนี้ มีโทษอย่างไร แล้วก็จะค่อย ๆ ดำเนินการ โน้มน้าวให้คนเลิกการกระทำนี้ แกนนำอาจจะยากหน่อย แต่พี่น้องประชาชนที่อยู่ให้เขาเข้าใจ ว่าเขาสามารถใช้สิทธิ์ที่ผ่านฟ้าก็ได้ หรือจะกลับไปชุมนุมที่บ้านของตัวเองก็ได้ หรือไม่ชุมนุมเลย ผมก็ยืนยันว่าผมฟังเสียงเขาอยู่แล้ว

 

@ แต่ท่านก็เข้าใจธรรมชาติของการชุมนุมทางการเมือง

ครับ นี้ก็คืออยากจะบอกว่าคนที่บอกว่าเด็ดขาดไปเลยนี้ สมมติว่าทำแล้วเกิดกระทบกระทั่งกัน เกิดการจลาจล เกิดความสูญเสีย ถามว่ามันเป็นประโยชน์ไหม มันมีแต่จะสร้างความเกลียดชัง ความขัดแย้งกันมากยิ่งขึ้น แต่ว่าแน่นอนนะครับ ใครทำผิดกฎหมายนี้เราก็ละเว้นไม่ได้ ต่อไปก็ต้องมีการดำเนินคดี อย่างสมมติว่าวันนี้มีแกนนำซึ่งประกาศชัดเจนว่าไม่เคารพกฎหมาย เราก็ต้องมีการดำเนินการต่อไป แต่ว่าในสถานการณ์ปัจจุบันเราอยากจะโน้มน้าวให้คนที่ชุมนุมส่วนใหญ่ ซึ่งผมก็คิดว่าเขาต้องการเห็นบ้านเมืองสงบ และเมื่อสักครู่ที่ตอนผมออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ ผมก็ได้ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ที่มันวุ่นวายยืดเยื้อ คนที่ได้รับผลกระทบที่สุดคือคนยาก คนจน คนด้อยโอกาส เราก็จะพยายามทำอันนี้ไปก่อนและก็จะทำ อีกด้านหนึ่งถ้าบอกว่าวิธีคือยอมจำนนต่อคือยุบสภาไปเลย ผมก็ต้องบอกว่าผมก็เจอคนจำนวนมาก ซึ่งเขาแสดงออกด้วยวิธีการต่าง ๆ ส่งไปรษณียบัตรบ้าง มาขอพบผมบ้าง ดำเนินการกันทางอินเตอร์เน็ตบ้าง จำนวนไม่ใช่น้อย ๆ นะครับ ก็เป็นหลักหมื่นหลักแสนแล้วเหมือนกันนะครับ เป็นไปได้ ที่เขาบอกว่าเขาไม่ยอมรับการที่รัฐบาลจะไปจำนน เพราะมีกลุ่มคนมาสร้างความเดือดร้อนแล้วเรียกร้อง เขาเห็นว่าถ้าทำอย่างนั้นต่อไปก็หมายความว่าใครจะเรียกร้องอะไรก็มาสร้างความเดือดร้อน แล้วก็ให้เกิดการจำนน ผมได้ย้ำ ย้อนกลับไปอย่างนี้ครับว่า สมัยที่เกิดปัญหาคล้าย ๆ กับรัฐบาลท่านนายกฯ สมัคร ท่านนายกฯ สมชาย ผมเป็นคนหนึ่งที่บอกว่ารัฐบาลหาทางออก แต่ไม่ใช่ไปทำตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ซึ่งมีคนอีกกลุ่มหนึ่งบอกว่า

 

@ ถึงแม้ว่าจะมีเหตุและผลหรือคะ

คือเหตุและผลก็ต้องว่ากันนะครับ ทีนี้เรื่องเหตุผลก็ว่ากันไปแล้ว อย่างที่ผมบอกว่าผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อ ว่าการยุบสภาวันนี้หรือภายใน 15 วันแก้ปัญหาได้จริง แก้ไม่ได้แน่เรื่องปัญหาโครงสร้างความไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ที่พูดกันอยู่นี้ครับ แล้วก็แก้ไม่ได้ด้วยในแง่ของการที่จะมีหลักประกันเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่มีความมั่นคงนะครับ แต่สิ่งที่ผมบอกก็คือว่า ยกตัวอย่างสมัยนั้นที่เขาบอกว่าทำไมตอนนั้นผมเรียกร้องให้ยุบสภา เพราะผู้ชุมนุมไม่เคยเรียกร้องให้ยุบสภาตอนนั้นนะครับ เพราะผู้ชุมนุมเขาบอกว่าถ้ายุบสภาไปเขาก็มองว่าคนเดิมคงได้กลับเข้ามา ผมเป็นฝ่ายค้านผมบอกว่าผมไม่ขัดข้องถ้ากลับเข้ามาแล้วบ้านเมืองสงบ เหมือนกันครับวันนี้ผมบอกได้เลย ถ้าบอกผมว่าพรุ่งนี้ผมยุบสภาบ้านเมืองสงบ ผมแพ้การเลือกตั้ง ผมไม่ติดใจเลยครับ แต่ผมมั่นใจในขณะนี้ว่ายุบสภาวันนี้หรือภายใน 15 วันบ้านเมืองไม่สงบ มีสิ่งบอกเหตุอยู่หลายอย่างที่บอกว่ามันจะไม่สงบนะครับ และรัฐบาลเปิดใจกว้าง รับฟังเสียท้วงติงต่าง ๆ จากผู้ชุมนุมอยู่แล้ว และต้องการฟังเสียงคนที่ไม่มาชุมนุมด้วย เพื่อเราสร้างบรรทัดฐานว่า ในที่สุดทางออกทางการเมืองต้องเป็นทางออกที่ผ่านการคิด ผ่านการไตร่ตรอง ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

 

@ เมื่อสักครู่นี้ท่านพูดถึงเรื่องการเปิดโต๊ะให้ทุกภาคส่วนเข้ามาคุยกัน เรียนถามท่านนายกฯ นิดหนึ่งเพราะว่าตัวท่านเองก็พูดหลายครั้งว่าส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัยทางการเมืองขณะนี้ก็คือเรื่องของอดีตนายกฯ ทักษิณ ต้องเข้ามามีส่วนไหมคะ

คือเราจะต้องพูดกันเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับส่วนรวมนะครับ เราคงไม่เอาประโยชน์ส่วนตัวของคนใดคนหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นผมคิดว่าข้อเรียกร้องที่เราต้องฟังคือเรื่องปัญหาเกี่ยวกับประชาธิปไตย เกี่ยวกับความเป็นธรรม เกี่ยวกับความแตกแยก เกี่ยวกับข้อขุ่นข้องหมองใจ ความสงสัยว่ามีสองมาตรฐานหรือไม่ เกี่ยวข้องกับการใช้สื่อ จะเป็นของรัฐหรือสื่อโทรทัศน์ สมาชิกโทรทัศน์ดาวเทียม เอามาวางกันตรงนี้ แล้วมีความคิดเห็นร่วมกันในการเดินหน้าไป เพราะผมคิดว่าจริง ๆ แล้วนี้ ประชาชนเราจะเน้นแต่ที่คิดต่าง แต่ผมคิดว่าจริง ๆ คนเกือบทั้งหมดเห็นตรงกัน ต้องการประชาธิปไตย แต่คำว่าประชาธิปไตยนี้จุดเน้นมันต่างกัน บางคนเน้นแค่ว่าเสียงข้างมาก แต่บางคนบอกว่ามันเสียงข้างมากอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีหลักประกันว่าไม่ใช่มีการเอาเสียงข้างมากนั้นไปใช้ทำผิดกฎหมาย ทุจริตคอร์รัปชั่นโดยไม่มีความรับผิดชอบ ไม่ใช่การที่มีเสียงข้างมากแล้วไปแทรกแซงองค์กรอิสระที่จะต้องมีอำนาจในการที่จะตัดสินในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบาย หรือความต้องการของเสียงข้างมาก อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเราก็ต้องเอาประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้มาเน้นจุดร่วมก่อน ทุกคนอยากให้มีประชาธิปไตย ทุกคนอยากให้บ้านเมืองสงบ ทุกคนอยากให้ทุกคนยอมรับกติกา เราก็เอาตรงนี้มาเป็นตัวตั้งแล้วถึงจะทำงานร่วมกันได้

 

@ แต่คุณทักษิณจะไม่อยู่ในวงที่พูดถึงอยู่

คุณทักษิณสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างที่แสดงความคิดเห็นอยู่ได้ครับ แต่ว่าสิ่งที่บางครั้งก็จะมีการพูดออกมานี้ เช่น น้องคุณทักษิณก็มาพูดว่าจะต้องพูดเรื่องทรัพย์สิน เรื่องคดีความ เรื่องอะไร ผมคิดว่ามันคงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปพูดในเรื่องเหล่านั้น กระบวนการเรื่องคดีความต่าง ๆ นี้มันเป็นกระบวนการซึ่งทุกคนจะต้องยอมรับ เพราะว่าถ้าเราไม่ยอมรับศาล มันไม่มีที่สิ้นสุดนะครับ ผมกับคุณกรุณาจะมีข้อโต้แย้งอะไรกันขึ้นมา ใครผิดใครถูกนี้ ถ้าไปขึ้นศาลแล้วศาลตัดสิน ฝ่ายหนึ่งถูกใจบอกให้ยอมรับศาล ฝ่ายหนึ่งไม่ถูกใจบอกว่าศาลใช้ไม่ได้ แล้วมันจะไปสิ้นสุดที่ไหน ส่วนการที่ว่าศาลตัดสินแล้วยอมรับกระบวนการของศาลแล้ว จะมีกระบวนการการให้อภัยกันหรือไม่ เราก็มีกระบวนการอยู่ตามปกติ ซึ่งก็จะมี หลายครั้งเราก็จะเห็นมีการอภัยโทษ มีการต่าง ๆ ก็มาว่ากันตามกระบวนการ เรื่องของคดีคุณทักษิณก็จะจบไป ทีนี้ข้อที่มันต้องกังวลขณะนี้ก็คือว่าที่เรียกร้องว่ายุบสภา ถ้ายุบสภาแล้วเกิดความรุนแรง ผมต้องยืนยันนะครับว่ามีบางฝ่ายที่ไม่ได้ต้องการให้หยุดที่ยุบสภา หลุดมาเป็นครั้ง ๆ ว่ากิโลเมตรแรกบ้าง ข้อเรียกร้องต่ำสุดคือการยุบสภาบ้าง มันไปไกลกว่านั้น บางคนต้องการที่จะ

 

@ ไม่ได้เป็นอารมณ์บนเวทีหรือว่าอะไร

มันมีบางส่วนที่เขาก็วางแผนอย่างอื่น เราจะเห็นว่าคู่ขนานไปกับการชุมนุม จะมีเรื่องของการก่อวินาศกรรม เรื่องของระเบิดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งรัฐบาลก็พยายามที่จะเร่งรัดคดีต่าง ๆ เหล่านี้ มันสะท้อนให้เห็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่ง ฝ่ายไหนก็ตาม ที่ยังต้องการที่จะสร้างสถานการณ์เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในลักษณะอื่นด้วย เพราะว่าจริง ๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะอื่น ถ้าเป็นการล้มกระดาน บางคนเขาหวังว่าจะเป็นการล้มคดีความต่าง ๆ ได้ด้วย อันนี้คือสิ่งที่เราต้องระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา

ยิ่งไปกว่านั้นอย่างที่บอกคือว่ามีการเคลื่อนไหวของคนบางกลุ่มซึ่งไปไกลกว่านั้นอีก พูดจาหรือว่าไปไกลถึงการเกี่ยวข้องกับสถาบันหลักของชาติ ซึ่งก็ไปสร้างอารมณ์ที่รุนแรงมากสำหรับคนจำนวนมาก ที่ต้องการที่จะปกป้อง เพราะฉะนั้นสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผมคิดว่าจำเป็นที่จะต้องมาพูดคุยกันอย่างเปิดเผย แม้กระทั่งเรื่องที่ละเอียดอ่อน ผมยกตัวอย่างนะครับ กรณีกฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพ ซึ่งบางคนมากล่าวหาว่ากลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ขณะนี้ผมก็แก้ปัญหาไประดับหนึ่งแล้ว ก็คือว่าเนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เจ้าหน้าที่ก็มีความวิตกกังวล เพราะฉะนั้นคดีคนก็จะร้องคนอื่นกันมาก คดีก็แช่อยู่นาน ผมก็ตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมา ขณะนี้ก็เริ่มคลี่คลายบางคดีไป โดยผมบอกว่าให้เน้นย้ำการดูเจตนา ให้เน้นย้ำการยอมรับว่าบางทีสมมติเป็นชาวต่างประเทศ เขาอาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน อย่างนี้เป็นต้น เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่ามันไม่ควรจะมีเรื่องของการที่ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองนะครับ แต่ว่าการปฏิบัตินี้ยังมีปัญหาอยู่ เช่น กรณีเว็บไซต์ประชาไท อะไรต่าง ๆ ผมก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และกำลังให้ติดตาม เพื่อให้มีทางออกที่เป็นที่ยอมรับกันได้ของทุกฝ่าย ด้วยเหตุด้วยผล แทนที่จะมาประหัตประหารกัน

 

@ มุมที่ท่านนายกฯ พูดว่าจะให้ทุกภาคส่วน หรือว่าหลายภาคส่วนมากขึ้นเข้ามานี้จะเริ่มได้เมื่อไรคะ

นายกรัฐมนตรี อยู่ที่การยอมรับของฝ่ายต่าง ๆ นะครับ ในสถานการณ์ขณะนี้นะครับ โดยเฉพาะถ้ามีการชุมนุมในลักษณะที่ผิดกฎหมาย ผมคิดว่าคนก็บอกว่ามันไม่ควรจะมีการยอมรับการพูดคุยกันภายใต้สถานการณ์อย่างนี้ มันต้องไม่มีการข่มขู่คุกคามกดดัน ทุกคนต้องกลับไปอยู่ที่ตั้ง แล้วก็เอาความต้องการมาวาง เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

 

@ ดิฉันถูกถามเยอะนะคะ เดินออกไปข้างนอกเป็นนักข่าว แล้วคนมักจะอนุมานว่ารู้มากกว่าคนอื่น ถามท่านนายกฯ เลยว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไรคะ

ผมคิดว่าเรื่องนี้มันไม่มีคำตอบล่วงหน้า เรื่องนี้จบอย่างไรอยู่ที่คนไทยทุกคน เราจะเอาอย่างไรครับ เราจะเอาความขัดแย้งเป็นตัวตั้ง ต่อสู้ประหัตประหารกันไป แล้วบ้านเมืองก็เสื่อมถอย หรือเราจะเอาความเป็นคนไทย ความที่เราก็ล้วนแล้วแต่ต้องการที่จะเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของคนทุก ๆ คนดีขึ้นนี้มาเป็นตัวตั้ง ถ้าเอาแบบแรก มันก็จะมีลักษณะของการยื้อไปอย่างนี้ รัฐบาลก็ทำก็คือประคับประคองสถานการณ์ แก้ไขปัญหาไปเท่าที่จะทำได้ หรือจะเอาแนวทางที่บอกว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการพูดคุยครบถ้วนทุกภาคส่วน แล้วเดินไปข้างหน้า คนไทยและผู้นำในภาคส่วนต่าง ๆ ต้องเป็นผู้ตัดสิน ถ้าเราตัดสินเอาแบบหลังนี้ ผมว่าก็จบได้ด้วยดี ถ้าเอาแบบแรกก็ยังมีโอกาสที่จะจบได้ด้วยดีครับ แต่เหนื่อยกว่า รัฐบาลพร้อมทั้งสองวิธีครับที่จะเดินหน้าในการที่จะหาคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย

 

@ สุดท้ายจริง ๆ เมษาที่แล้วกับเมษานี้ หนักใจเมษาไหนมากกว่ากันคะ

นี่เพิ่งเริ่มต้นเดือนนะครับ ผมยังตอบไม่ได้ แต่ผมไม่ปรารถนาที่จะเห็นความรุนแรงแบบปีที่แล้ว ภาพการจลาจล การเผา การล้อมกรอบทำร้ายคน การที่จะต้องมีกำลังต่าง ๆ เข้ามา แล้วก็มีความตึงเครียด แม้กระทั่งรถแก๊สอะไรต่าง ๆ ผมไม่ต้องการเห็นภาพเหล่านั้นอีก ผมต้องการเห็นว่าวันนี้รัฐบาลได้ให้คำตอบที่ชัดเจนกับผู้ชุมนุมระดับหนึ่ง ไม่ได้ตอบสนองข้อเรียกร้องของเขา แต่ไม่ปิดทางของเป้าหมายในเรื่องของการที่จะมีกติการ่วมกันที่เป็นที่ยอมรับ และเป็นประชาธิปไตย ถ้าเขาไตร่ตรองตรงนี้นะครับ กลับไปตั้งหลักแล้วก็เชิญชวนว่า มันมีคนอื่นที่ไม่ได้เป็นผู้ชุมนุม เขาก็มีข้อเรียกร้องเหมือนกัน มานั่งคุยกันหาทางออก อยากให้เมษานี้จบลงอย่างนั้น แล้วก็อยากจะเห็นพี่น้องประชาชนคนไทยได้ฉลองสงกรานต์กันตามปกติครับ

 

@ แล้ว 9 เดือนก็ไม่ใช่ตัวเลขที่ตายตัวใช่ไหมคะอย่างนี้

ไม่ได้ตายตัวครับ

 

@ วันนี้ขอบพระคุณมากค่ะท่านนายกฯ คะ สวัสดีค่ะ

 

ที่มา: นายกรัฐมนตรีย้ำไม่ปิดทางเป้าหมายในการที่จะมีกติการ่วมกันเป็นที่ยอมรับและเป็นปชต., ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 4 เม.ย. 53, http://media.thaigov.go.th/pageconfig/viewcontent/viewcontent1.asp?pageid=471&directory=1779&contents=43638

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท