สัมภาษณ์ ‘ศรีสมภพ’: แนวโน้มไฟใต้ และทางออกของสงครามกลางกรุง

สัมภาษณ์ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ซึ่งคลุกคลีกับปัญหาในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง เขาจะวิเคราะห์ปัญหาในพื้นที่ และเชื่อมโยงถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในเมืองหลวงที่น่ากังวลมากขึ้นทุกวัน

ทั้งสองพื้นที่มีจุดร่วมปัญหาในบางประการ และส่งผลต่อกันและกันในการหาทางออกด้วย สำหรับทางออกเขาเสนอให้มีการเจรจาแล้วยุบสภา

 
 
 

ใครๆ ก็ต้องการความเห็นที่แหลมคมในสถานการณ์ความขัดแย้ง บวกกับข้อเสนอแนะถึงทางออกที่ควรจะเป็นและชอบธรรม เพื่อการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ก็น่าจะเป็นนักวิชาการคนหนึ่งที่ผู้คนอยากถามไถ่ เพราะเป็นผู้ที่เก็บข้อมูลและเฝ้าศึกษาปัญหาในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูงมากยาวนาน โดยเฉพาะในช่วงที่ปัญหาการเมืองระดับชาติกำลังเขม็งเกลียว จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นอย่างไร  

ศรีสมภพได้วิเคราะห์ปัญหาทั้งสองส่วนอย่างเชื่อมโยงและเป็นระบบ ทั้งยังระบุว่าการแก้ปัญหาภาคใต้อยู่ที่ความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลด้วยว่ามีมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่จะอาศัยแต่การใช้อำนาจตามกฎหมายได้อย่างเดียว อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าความชอบธรรมของอำนาจรัฐในการเมืองไทยถูกทำลายมาแล้ว 2 รอบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ท้ายที่สุด การแก้ปัญหาทางการเมืองไทยน่าจะเป็นอย่างไร ขณะที่ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะทำได้แค่ไหนในสภาวะนี้ ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ให้ความเห็นไว้ ดังนี้

 

000

 

 

จุดร่วมในลักษณะธรรมชาติของปัญหาหรือแก่นแกนของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้กับปัญหาทางการเมืองไทยระดับประเทศขณะนี้ คือ ปัญหาเรื่องความชอบธรรมของอำนาจรัฐ

สิ่งที่เกิดขึ้นมีการต่อสู้หรือท้าทายอำนาจรัฐและอำนาจในการรักษาระเบียบกฎหมายของรัฐ หรือระบบราชการ ทหาร ตำรวจ ทุกอย่างถูกต่อต้าน มีการใช้ความรุนแรงด้วย โดยที่อำนาจรัฐเองไม่สามารถยุติหรือหยุดยั้งการต่อสู้เหล่านี้ได้ ไม่สามารถทำให้เกิดการจัดการปัญหาโดยสันติ ไม่สามารถทำให้เกิดลักษณะการแก้ปัญหาโดยใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้อง เพราะการต่อต้านแรง

กล่าวเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในประเด็นอำนาจรัฐที่จะมาควบคุม ปกครองในพื้นที่กับพื้นฐานทางด้านสังคม วัฒนธรรม ความคิดความเชื่อ ประเพณี ไม่ได้สอดคล้องกัน เราเรียกว่า ประเด็นปัญหาเรื่องอัตลักษณ์หรือการเมืองเรื่องอัตลักษณ์

ความหมายคือ ความรู้สึกเชื่อหรือผูกพันต่ออัตลักษณ์ชาติพันธุ์มลายู ความเป็นปัตตานี ในแง่ประวัติศาสตร์หรือมาตุภูมิ รวมทั้งความเชื่อเรื่องศาสนา คืออิสลาม สามอย่างนี้ผูกเกาะไปด้วยกัน เป็นความรู้สึกที่คนในพื้นที่เชื่อว่า เขาถูกกดโดยอำนาจรัฐเป็นเวลายาวนาน และต่อสู้มาอย่างต่อเนื่องในแง่กลุ่มหรือขบวนการต่อสู้เพื่อต่อต้านอำนาจรัฐ ก็ใช้เงื่อนไขของอัตลักษณ์มาเป็นประโยชน์ รวมทั้งความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อรัฐไทย

โดยคนมลายูมุสลิมจำนวนไม่น้อยยังรู้สึกว่า ตัวเองถูกปิด ถูกกดอยู่ อาจเป็นเพราะมีความพยายามทำลายอัตลักษณ์เหล่านี้ เพราะฉะนั้น จึงเกิดการต่อสู้ เพราะเขาเชื่อว่า ความชอบธรรมของอำนาจรัฐของไทยที่เข้ามาควบคุมจัดการ หรือ การปกครองที่เกิดขึ้น ไม่มีหรือไม่ยอมรับความชอบธรรมอันนี้

ยิ่งมีการใช้อำนาจมาควบคุม ปราบปราม การใช้อำนาจทหาร ตำรวจ หรือ ใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ เช่น กฎหมายความมั่นคง กฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกปฏิเสธอำนาจรัฐมากยิ่งขึ้น ความชอบธรรมของอำนาจรัฐ จึงถูกลดทอนลง เพราะถูกต่อต้าน

ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การต่อต้านของขบวนการที่อ้างประเด็นปัญหาเรื่องอัตลักษณ์ มีการใช้ความรุนแรงโดยตรง เป็นการก่อการร้ายโดยตรง มีการวางระเบิด ยิง ฆ่า ก่อเหตุความรุนแรงขึ้น นี่คือลักษณะธรรมชาติที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแกนกลางที่จะมาควบคุม คือความชอบธรรมของอำนาจรัฐบาลส่วนกลาง

ในทางวิชาการเรียกว่า เกิดความไม่สมดุลในเรื่องความชอบธรรมของอำนาจของรัฐ ในแง่การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต้องแก้ปัญหาประเด็นนี้ว่า จะใช้การปกครองรูปแบบไหน จึงจะถูกต้องและได้รับการยอมรับ

จึงมีข้อเสนอการแก้ปัญหาในเรื่องอัตลักษณ์ การปกครองพิเศษ การนำกฎหมายอิสลามมาใช้บางส่วน การเปิดพื้นที่เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน การใช้ภาษา วัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งจะแก้ปัญหาเรื่องความชอบธรรมของอำนาจรัฐได้

แต่มีประเด็นปัญหาว่า กลุ่มแกนกลางในการต่อสู้ คือ ขบวนการ ต้องมีการเจรจากัน เพื่อหาข้อยุติในเรื่องความขัดแย้ง เป็นการแก้ปัญหาโดยสันติ โดยยอมรับความชอบธรรมที่เกิดขึ้น แต่ตอนนี้ปัญหาทุกอย่างยังไม่ได้แก้ เพียงแต่กำลังพยายามผลักดัน ขับเคี่ยวกันอยู่ระหว่างรัฐกับการต้อสู้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อย้อนกลับมาดูการเมืองระดับประเทศ ประเด็นเรื่องความชอบธรรมยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ โดยเราเชื่อว่าอำนาจรัฐไทย มีความมั่นคง มีความชอบธรรม มีความถูกต้อง ไม่มีอะไรมาท้าทายได้ เป็นเวลามานับร้อยๆ ปี ตกทอดกันมา

จนกระทั่งหลังปี 2475 ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย มีการพัฒนาประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ การปกครอง อะไรต่างๆ ขึ้นมา แต่มันก็ขึ้นๆ ลงๆ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างเผด็จการ หรือกึ่งประชาธิปไตยกับประชาธิปไตยมาโดยตลอด

ถ้าเราตัดช่วงสำคัญมาถึงปัจจุบัน คือช่วงปี 2540 เป็นต้นมา เพราะเราได้รัฐธรรมนูญที่ผ่านการไตร่ตรองหรือกระบวนการมีส่วนร่วม มีข้อตกลงร่วมกัน มีฉันทามติร่วมกันในเรื่องกติกา ข้อตกลงในเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งตอนนั้นยอมรับกันอยู่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด เพราะทุกฝ่ายมีส่วนร่วม แล้วก็ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คือรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากพรรคไทยรักไทย

อำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ในที่สุดแล้ว มันเกาะตัวแข็งมากจากฐานของความชอบธรรมที่ตัวเองได้มา ตอนแรกเป็นอำนาจที่เข้มแข็ง แต่ตอนหลังก็มีลักษณะการแข็งตัว ทำให้เกิดปัญหาบางอย่างในแง่การจัดการภายในของตัวเอง แล้วอำนาจนี้ก็ไปกระทบกับอำนาจส่วนอื่น และเริ่มมีปัญหาเกิดขึ้น

เกิดการปะทะ ขัดแย้งกันระหว่างอำนาจในรัฐ พ.ต.ท.ทักษิณ เกิดการท้าทายและต่อสู้ขึ้นของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา

แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณมีความชอบธรรม เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ได้เป็นความชอบธรรมของตัวพ.ต.ท.ทักษิณหรือพรรคไทยรักไทย แต่เป็นความชอบธรรมของระบบการเมืองที่ผ่านกระบวนการร่วมกันในตอนนั้น

เมื่อมาถึงจุดหนึ่งของความขัดแย้งหรือการต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ก็มีการยกเลิกกติกาในทางการเมืองด้วยวิธีการนอกระบบ คือ การรัฐประหารยึดอำนาจ เมื่อเดือนกันยายน 2549 นั่นคือจุดเริ่มต้นของปัญหาใหญ่ที่ตามมา เพราะเป็นการทำลายความชอบธรรมของรัฐที่มาจากข้อตกลงหรือกติการ่วมกัน

ถึงแม้ว่า ในแง่ส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ มีจุดอ่อนหลายอย่าง ซึ่งเป็นที่ยอมรับกัน ทั้งเรื่องคอรัปชั่นหรืออะไรต่างๆ อีก แต่ตัว พ.ต.ท.ทักษิณเอง ก็เป็นส่วนของระบบการเมืองที่มีความชอบธรรม แล้วถูกอำนาจอีกฝ่ายหนึ่งท้าทาย

ในที่สุดแล้วการล้มกติกา เพื่อจะล้มทักษิณ น่าจะเป็นความผิดพลาดทางการเมืองครั้งสำคัญสำหรับการเมืองไทย เพราะเป็นการทำลายหลักมูลฐานของอำนาจการปกครองในเรื่องความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งไปกระทบหมดทุกอย่าง

เพราะฉะนั้นรากฐานของรัฐทั้งในเรื่องระบบราชการ เรื่องการบริหาร กฎหมาย ระเบียบของสังคมมันได้ถูกรื้ออกด้วย พร้อมๆ กัน กับการไล่ทักษิณออกไป

หลังจากนั้น แม้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ที่มาจากการยึดอำนาจ จะพยายามฟื้นความชอบธรรมเหล่านั้นกลับคืนมา โดยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปี 2550 ขึ้นมา ถึงแม้จะมีการทำประชามติก็ตาม แต่หลักมูลฐานถูกทำลายไปแล้วก่อนหน้านี้ ทำให้การสร้างอำนาจความชอบธรรมอันใหม่ขึ้นมา มันไม่ได้รับการยอมรับ เพราะฐานล่างถูกทำลายไปแล้ว

อันนี้เป็นเชื้อหรือเป็นชนวนที่ทำให้ เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพรรคไทยรักไทย หรือนอมินีของทักษิณ ไม่ว่ารัฐบาลสมัคร สุนทรเวช หรือรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ถูกรื้ออีก

ระบบความชอบธรรมที่พยายามสร้างขึ้นมาเพื่อทดแทน ก็ถูกรื้ออีกในขบวนการต่อต้านรัฐบาล เพราะฉะนั้น กฎหมาย ระเบียบสังคม ทุกอย่างถูกท้าทายหมดเพื่อจะล้มรัฐบาลนั้น

การยึดสถานที่ราชการ การเดินขบวนประท้วง ยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบินนานาชาติ ทำทุกอย่าง แม้แต่การปะทะกับตำรวจ แล้วการต่อต้านนั้นก็ชนะด้วย เพราะสามารถล้มรัฐบาลได้ ซึ่งเราไม่พูดถึงความเป็นนอมินีของพ.ต.ท.ทักษิณ เพราะเป็นอีกประเด็นหนึ่ง เพราะนั่นเป็นความผิดพลาดในตัวบุคคลหรือกลุ่ม แต่เราพูดถึงระบบที่ถูกรื้ออีกรอบสอง

จนกระทั่งเราได้รัฐบาลปัจจุบัน คือ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ก็เกิดการท้าทายรื้อถอนอีก เพราะฉะนั้นภายใต้การปกครองของรัฐบาลปัจจุบัน ความชอบธรรมของรัฐมันถูกรื้อทำลายไปตั้งสองรอบแล้ว ฐานความคิดความเชื่อและหลักมูลฐานของความชอบธรรมของรัฐถูกทำลายไปแล้วตั้งสองรอบใหญ่ ก่อนจะมาถึงรัฐบาลชุดนี้

ปัญหาคือ ความชอบธรรมของรัฐบาลชุดนี้ แทบจะไม่มีเหลือพอที่จะอ้างว่า เป็นรัฐบาลที่ถูกต้อง หมายถึงในทางการเมือง เพราะฉะนั้นจึงมีกลุ่มที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ขณะนี้ คือ กลุ่มคนเสื้อแดง

ด้วยหลักเหตุผลความชอบธรรมดังกล่าว ถูกรื้อทิ้งทำลายไปแล้วตั้งสองรอบ ในช่วง 5 – 6 ปี ที่ผ่านมา การยอมรับรัฐบาลแทบจะไม่มีเลย เพราะฉะนั้นเขาจะใช้ทุกอย่างที่ก่อนหน้านี้เคยถูกใช้ ไม่ว่าการเดินขบวน การปิดถนน การยึดสถานที่ราชการ พื้นที่สาธารณะ รวมทั้งการใช้ความรุนแรงท้าทายอำนาจรัฐ ท้าทายอำนาจตามกฎหมาย ท้าทายทหาร ตำรวจ เพราะเชื่อว่าไม่มีความชอบธรรม

ดังนั้น ในคำอธิบายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่พยายามย้ำกับประชาชนถึงเรื่องความถูกต้อง นำสังคมและประเทศสู่ความถูกต้อง นำสู่ความเป็นนิติรัฐ เป็นหลักการที่เป็นที่ยอมรับกันอยู่ เพราะฉะนั้นคุณจะต้องทำ

แต่ภายใต้บริบททางการเมืองและความขัดแย้งต่อเนื่องที่เกิดขึ้นในขณะนี้ นิติรัฐมันเกิดขึ้นไม่ได้ แล้วการจะสร้างนิติรัฐ ณ จุดนี้ จะสร้างทันทีในกรอบของนิติรัฐ มันใช้ไม่ได้

เราจะเห็นได้ว่า รัฐบาลแค่บอกว่า จะขอพื้นที่คืนจากผู้ชุมนุม คำว่า ขอพื้นที่ เบาที่สุดแล้วในทางกฎหมาย แต่ในการขอพื้นที่คืน คุณต้องใช้กำลังทหารและตำรวจเข้าไปเปิดพื้นที่ เข้าไปดันผู้ชุมนุม แล้วก็ถูกต่อต้านอย่างเข้มแข็ง จากผู้ชุมนุมซึ่งก็ใช้วิธีการทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายในการต่อสู้ ซึ่งถูกต้องหรือไม่ก็ต้องว่ากันอีกที

แต่อย่ามองเพียงแค่ว่า เขาต่อสู้ แต่ต้องมองว่าเขาต่อสู้บนฐานความคิดอะไร ทำไมจึงมีความเด็ดเดี่ยวมั่นคง พูดถึงมวลชนที่อยู่เสื้อแดงที่ถูกขับออกไป ยิงแก๊ซน้ำตา ถูกดันออกไปโดยตำรวจ ทหาร แล้วก็วิ่งกลับมาอีกก็ถูกดันออกไปอีก แสดงถึงจิตใจที่มีความเข้มแข็ง ซึ่งเราจะมองข้ามไม่ได้ แล้วคนก็ไม่ใช่จำนวนน้อย

ที่เขากล้าทำอย่างนั้นเพราะว่า ความชอบธรรมไม่มี เพราะมันถูกรื้อทิ้งมาเห็นอยู่กับตา และไม่ใช่ประวัติศาสตร์อันไกล เพิ่งผ่านมาใกล้ๆ ปีสองปีนี้เอง

นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น มันเป็นวิกฤตของความชอบธรรม เพราะฉะนั้นการละเมิดกฎหมายที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ถึงแม้ว่าในทางสากล เป็นที่ยอมรับไม่ได้ แต่นี่เป็นการละเมิดกฎหมายในเงื่อนไขพิเศษ ซึ่งจะเอาเกณฑ์ความเป็นนิติรัฐมาจับในตอนนี้ไม่ได้ จนกว่าจะแก้ปัญหาเรื่องความชอบธรรมตรงนี้ให้เกิดขึ้นในทางการเมือง

เพราะถ้ายังแก้ปัญหาตรงนี้ไม่ได้ คนจำนวนมากก็ยังปฏิเสธอำนาจรัฐ เป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะถ้ารัฐยังดันต่อไปเพื่อจะยืนยันว่านี่คือเรื่องนิติรัฐ บางทีเราอาจไม่ได้นิติรัฐนั้นเลยก็ได้ในท้ายที่สุด

เพราะขณะนี้ ในระดับหนึ่งของการต่อสู้ ยังมีพื้นที่ของความยืดหยุ่น การยอมรับกันอยู่บ้าง ตราบใดที่ยังสามารถพูดประเด็นปัญหาใดๆ ได้ ยังไม่ถึงขั้นการใช้ความรุนแรงอย่างเต็มที่ ยังไม่เกิดสงครามกลางเมือง ยังไม่เกิดการจลาจล ฆ่ากันตายจำนวนมาก แม้จะมีคนตายอยู่จำนวนหนึ่งก็ตาม ยังมีพื้นที่ของความอดทนอยู่ แต่การพูดยั่วยุท้าทายสูงมาก จากทั้งสองฝ่ายด้วย

หลักความเชื่อเรื่องความยุติธรรม ความชอบธรรมสำคัญมาก และความเชื่อมโยงกันระหว่างปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้กับปัญหาการเมืองมีจุดร่วมกันอยู่ตรงความชอบธรรม

ความชอบธรรมต้องแก้ปัญหาด้วยการเมือง ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยกฎหมาย เพราะกฎหมายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา นิติรัฐเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา แต่ก็เชื่อว่า ถ้าปฏิบัติตามกฎและระเบียบตามกฎหมาย บนพื้นฐานของความยุติธรรม แม้ไม่ 100% แต่ใกล้เคียงกัน ก็สามารถทดแทนกันได้

แต่ตอนนี้เป็นเรื่องการเอาชนะกันทั้งสองฝ่าย จึงแก้ปัญหาด้วยกฎหมายไม่ได้ เพราะถ้าคุณยอมทำตามกฎหมายในตอนนี้ ก็หมายความว่าคุณต้องแพ้ เขาก็ไม่ยอม เขาก็บอกว่า ทำไมเมื่อ 2 - 3 ปีทีแล้ว ทำไมถึงเลิกกฎหมาย แล้วทำไมตอนนี้ต้องใช้กฎหมาย เขาก็ไม่ยอม

ฉะนั้น ความยุติธรรมต้องเกิดขึ้นจากการตกลงในเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองก่อน จึงจะแก้ปัญหาได้

แล้วจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้

ข้อดีอย่างหนึ่งของรัฐไทยในตอนหลังก็คือว่า ความไม่เป็นเอกภาพของการเมืองในระดับสูง เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่การจัดการปัญหาในระดับล่างลงมา มีกลไกในการดูแลของมันอยู่ เช่น ข้าราชการประจำ ทหาร ตำรวจ เมื่อมีความปั่นป่วนกันอยู่ข้างบน แต่ข้างล่างยังไม่หลุดเป็นชิ้นๆ ตอนนี้งานก็ยังทำอยู่

การรักษาความสงบ การควบคุมพื้นที่ในการจัดการหรือป้องกันปัญหาความไม่สงบไม่ให้รุกล้ำบานปลายไปได้ในระดับหนึ่ง มีความคงที่บางอย่าง คือทหาร ตำรวจ ข้าราชการประจำในพื้นที่พยายามเดินไปตามเป้าหมายของตัวเองในการแก้ปัญหา แต่คงทำได้เพียงระดับหนึ่ง เพียงแค่การรักษาไม่ให้มันรุนแรงขึ้น

แต่ปัญหาในทางนโยบายหรือยุทธศาสตร์ ยังไม่ถูกแก้ เพราะถ้าจะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นระบบ ต้องเริ่มจากการกำหนดนโยบายระดับบนของประเทศ แล้วก็มีการตัดสินใจ มีการปฏิรูปในการจัดการ แต่ตอนนี้ข้างบนกำลังสับสนปั่นป่วน

ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนนี้ ถ้าจะประเมินก็คือมีลักษณะขึ้นๆ ลงๆ สูงๆ ต่ำๆ อย่างที่มันเคยเป็น แต่ก็มีระดับของการควบคุมไม่ลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้ แต่ก็ยังไม่ได้แก้ปัญหา

ข้อที่น่ากลัวก็คือ ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีการควบคุมกำกับจากฝ่ายการเมืองอย่างชัดเจน ก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดความผิดพลาดเนื่องจากการปฏิบัติ และอาจนำไปสู่เงื่อนไขที่ทำให้เกิดความไม่พอใจมากขึ้น แล้วความรุนแรงก็อาจขยายตัว

ในขณะที่สังคมก็ไม่ได้สนใจตรงนี้มาก ตอนนี้ชายแดนใต้กลายเป็นอยู่ในที่มืดแล้ว จะเกิดการทำงานที่ผิดพลาดได้ง่าย ไม่มีใครสนใจดูแลโดยเฉพาะจากฝ่ายรัฐ

การจะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ต้องให้การเมืองในกรุงเทพนิ่งก่อน อำนาจรัฐต้องมีความมั่นคงแน่นอน ต้องมีความชอบธรรม ระบบการเมืองต้องมีความเข้มแข็ง การตัดสินใจของผู้นำหรือการกำหนดนโยบายหรือยุทธศาสตร์ต้องมีรูปธรรมมากขึ้น

เราก็ต้องมาดูว่า จะทำอย่างไรให้การเมืองในกรุงเทพลงตัวให้ได้ การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงจะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบ

ในการสร้างความชอบธรรมในทางการเมืองนั้น ผมคิดเหมือนกับหลายๆ ฝ่าย คือต้องมีการเจรจากันทั้งสองฝ่าย โดยให้ฝ่ายที่เป็นกลางไปช่วยไกล่เกลี่ย แล้วหาทางออกให้ได้ในระบบการเมืองประชาธิปไตยที่มีอยู่

การยุบสภาก็มีความเป็นได้ เพราะเป็นทางออกทางหนึ่ง แต่ถ้ารีบยุบสภาเร็วไป การปะทะแบบที่เกิดขึ้นในกรุงเทพเมื่อไม่กี่วันมานี้ จะไปเกิดที่ต่างจังหวัดหลายพื้นที่ และจะควบคุมไม่ได้ เพราะทั้งสองฝ่ายยังโกรธแค้นกันอยู่ ก็จะลงไปถึงสนามการเลือกตั้ง สนามการหาเสียงแย่งอำนาจกัน

ถ้ายุบสภาเร็วไปโดยที่ยังไม่ได้ตกลงอะไรกันและการยอมรับซึ่งกติกาที่ถูกต้อง การเลือกตั้งครั้งที่จะเกิดขึ้น จะเป็นการเลือกตั้งครั้งที่รุนแรงที่สุด ในประวัติศาสตร์ของการเลือกตั้งของไทย

เพราะปกติการเลือกตั้งเหมือนเทศกาล มีความบันเทิง แต่รอบนี้จะโหดมาก เพราะคนยังมีอารมณ์ค้างอยู่ แล้วความรุนแรงก็จะออกไปต่างจังหวัด นี่คือสิ่งที่น่าห่วง เพราะฉะนั้น ข้อตกลงเรื่องการยุบสภาโดยยืดเวลาออกไปซักนิดหนึ่ง เพื่อให้เกิดการเจรจาพูดคุยกันก่อนจะมีการยุบสภาตรงนี้สำคัญ อันนี้จะช่วยได้

ส่วนจะมีความเป็นได้หรือไม่ คิดว่า หนึ่ง ทั้งสองฝ่ายต้องลดความรู้สึกและอคติต่อกันได้หรือเปล่า แต่ทั้งสองฝ่ายก็มีฝ่ายที่อยู่เบื้องหลังของตัวเอง ซึ่งทุกฝ่ายก็กำลังเฝ้ามองดูว่า จะตกลงกันได้หรือเปล่า เพราะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ก็สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มคนเสื้อแดงก็ไม่ใช่ธรรมดามีอะไรอยู่ข้างหลังเต็มไปหมดเลย อำนาจที่อยู่เบื้องมีสูงมาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท