Skip to main content
sharethis

‘พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด’ ลั่นจะตั้งด่านสกัดคนต่างจังหวัดไม่ให้เข้าร่วมเสื้อแดง หากฝ่าฝืนจะเจอใบเตือนถ้ายังฝืนอีกจะผลักดันตามกฎการใช้กำลัง 7 ประการจากเบาไปหาหนัก หากทำร้าย จนท. ก็จำเป็นจะใช้อาวุธ ถ้ามีผู้ชุมนุมมาก จะเอา จนท. ไปมาก จะปะทะก็ต้องเกิด ถ้าไม่ใช้กฎหมายเด็ดขาดก็ไม่มีอะไรสำเร็จ "ถ้าไม่อยากให้สูญเสีย บ้านเมืองเราไปไม่รอด"

เมื่อวานนี้ (18 เม.ย.) เวลา 11.20 น. ณ แหล่งสมาคมนายทหาร กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) พันเอก สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงภายหลังการประชุมศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการศอฉ. เป็นประธานการประชุม ดังนี้

 

สรรเสริญเผยจะตั้งจุดตรวจสกัดคน ตจว. ไม่ให้ร่วมชุมนุม

โดย พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า จากกรณีการปฏิบัติภารกิจเมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน รวมทั้งประชาชนที่มาร่วมชุมนุมทางการเมืองต่างได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งก็มาจากเหตุของการปฏิบัติภารกิจที่มีลักษณะการเข้าปะทะกันส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกลอบทำร้ายโดยกลุ่มก่อการร้ายที่มีทั้งอาวุธสงครามหลายชนิด ทั้งวัตถุระเบิด กระสุนปืนจริง ทำให้เกิดความสูญเสียขึ้น ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ในพื้นที่การชุมนุมเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย กลุ่มก่อการร้ายพร้อมที่จะใช้อาวุธทำร้ายทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนที่มาร่วมชุมนุมได้ในทุกโอกาส ดังนั้น เมื่อเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย ศอฉ.จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มมาตรการจุดตรวจ ด่านตรวจ จุดสกัด มีการตั้งด่านที่มีความแข็งแรงเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนในพื้นที่ภูมิภาคต่าง ๆ เดินทางเข้ามายังพื้นที่การชุมนุมที่ไม่ปลอดภัย โดยหากมีความพยายามที่จะฝ่าฝืนเข้ามา มาตรการในเบื้องต้นคือ เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นที่จะต้องสั่งห้าม อาจจะต้องมีการออกใบแจ้งเตือนคล้ายกับการออกใบสั่ง เพื่อให้ไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจ แต่หากยังมีความพยายามที่จะจับกลุ่มกันแล้วฝ่าฝืนเข้าไป เจ้าหน้าที่มีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันด้วยการใช้กำลังตามกฎของการใช้กำลังทั้ง 7 ประการ เริ่มจากมาตรการขั้นเบาไปขั้นหนัก แต่เราจะไม่ยอมให้กลุ่มผู้ที่จะพยายามเข้ามาในพื้นที่ชุมนุมได้กระทำการในลักษณะที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ยึดยานพาหนะ อาวุธยุทโธปกรณ์ได้อีก หากมีความพยายามที่จะดำเนินการในลักษณะอย่างนั้น หรือมีความพยายามที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อาวุธ

"จึงขอวิงวอนให้สื่อมวลชนได้ช่วยกันนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บริเวณจุดตรวจ ด่านตรวจ ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรง แต่ถ้าเจ้าหน้าที่จะถูกทำร้าย เขามีความจำเป็นที่จะต้องปกป้องชีวิตของเขา และมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันไม่ให้ยานพาหนะและอาวุธยุทโธปกรณ์ถูกยึดไป เพราะที่ผ่านมาอาวุธและพาหนะถูกยึดไปส่วนหนึ่ง แม้ว่าจะได้ยานพาหนะคืนมา แต่อาวุธยุทโธปกรณ์ยังไม่ได้คืน ซึ่งจะเป็นภัยร้ายแรงในอนาคต หากมีผู้ไม่หวังดีหยิบฉวยอาวุธเหล่านี้ไปสร้างสถานการณ์" โฆษก ศอฉ. กล่าว

 

จะควบคุมอาคารสูง ไม่ให้ผู้ไม่หวังดีใช้

พร้อมกันนี้ โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า เมื่อพื้นที่การชุมนุมไม่เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย เจ้าหน้าที่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปควบคุมในลักษณะของการส่งชุดระวังป้องกัน เข้าไปควบคุมในพื้นที่สูง อาคารสูงโดยรอบ เพื่อระวังป้องกันไม่ให้มีผู้ไม่หวังดีไปใช้พื้นที่เหล่านั้นแล้วสร้างสถานการณ์ โดยเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ที่จะไปปฏิบัติภารกิจเป็นชุดระวังป้องกัน เพื่อควบคุมพื้นที่สูงเหล่านั้นจะแต่งกายในชุดเครื่องแบบที่สามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจน เพื่อความสบายใจและแสดงความบริสุทธิ์ใจ ขณะเดียวกันเจ้าของอาคารสถานที่ ตึกทั้งหลายที่อยู่บริเวณพื้นที่การชุมนุม นั้นไม่สามารถที่จะปล่อยให้คนอื่นหรือกลุ่มผู้ไม่หวังดีเข้าไปยึดพื้นที่ทั้งหลายเหล่านั้นเพื่อจะสร้างสถานการณ์ได้ เพราะการให้สถานที่กับกลุ่มก่อการร้ายไม่ว่าจะเป็นการพักพิง หรือให้ไปใช้สถานที่เพื่อจะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ถือว่าเป็นการให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งเจ้าของอาคารสถานที่จะมีความผิด ธุรกิจทั้งหลายของท่านจะต้องมีปัญหา

นอกจากนี้ ศอฉ. ได้รับการแจ้งจากประชาชนส่วนหนึ่งที่หลงเชื่อคำยุยงแล้วเข้ามาร่วมการชุมนุม ซึ่งปรากฏว่ามีบรรดากลุ่มผู้ชักชวนหรือแนวร่วมที่ชักชวนเข้ามา ได้ไปยึดบัตรประจำตัวประชาชนของประชาชนเหล่านั้น ทำให้เขาไม่กล้าที่จะเดินทางกลับบ้าน จึงขอให้สื่อมวลชนช่วยกระจายข่าวว่า ประชาชนสามารถที่จะออกจากพื้นที่ได้ โดยไปแจ้งกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ว่ามีความประสงค์จะเดินทางกลับบ้าน แม้ว่าจะไม่มีบัตรประจำตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับบ้านให้ แล้วจึงกลับไปแจ้งความว่าบัตรประจำตัวหรือเอกสารถูกยึด ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่สุดที่เจ้าหน้าที่จะสามารถดำเนินการกับการชุมนุมที่ผิดกฎหมายได้ให้เสร็จเรียบร้อยเพื่อนำความสงบกลับมา ก็อยู่ที่ตัวพี่น้องประชาชนโดยทั่วไปที่หลงเชื่อ และถูกยุยุงให้กลับมาร่วมชุมนุม ฉะนั้นถ้าหากประชาชนออกจากพื้นที่การชุมนุมได้เร็วเท่าไร เจ้าหน้าที่ก็ปฏิบัติงานได้ง่ายเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า เจ้าหน้าที่ที่จะส่งไประวังป้องกันบนอาคารสูงจะอยู่ที่จุดใด โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า บอกไม่ได้ครับ ต้องดูพื้นฐานปัจจัยของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นที่ 1 ประเด็นที่ 2 คือเรื่องเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไป จะแต่งกายด้วยเครื่องแบบ เป็นทหารแต่งเครื่องแบบทหาร เป็นตำรวจแต่งเครื่องแบบตำรวจ มีหลักฐานบัตรประจำตัวยืนยันชัดเจนให้กับผู้ประกอบการได้รับทราบ ว่าเป็นเจ้าหน้าที่จะไปปฏิบัติภารกิจ

"ต้องดูพื้นฐานของการปฏิบัติภารกิจในการขอพื้นที่ชุมนุมคืน ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎการใช้กำลัง 7 ประการ พี่น้องประชาชนส่วนหนึ่งมีไม้ก็เข้าปะทะกัน ตามปกติผมว่าไม่เกิดความรุนแรงมากมายนัก ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต แต่มีกลุ่มก่อการร้ายที่แฝงตัวอยู่ในพื้นที่การชุมนุม มีอาวุธหนักนานาชนิด วัตถุระเบิดเอ็ม 67 เอ็ม 79 ยิงทำร้ายเจ้าหน้าที่ และส่วนหนึ่งทำให้พี่น้องประชาชนบาดเจ็บ ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่ชุดระวังป้องกันเหล่านี้ไปอยู่ในพื้นที่สูงข่ม หรือพื้นที่อาคารตึกสูง ในการปฏิบัติภารกิจหรือในการดูแลความปลอดภัย ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่ากลุ่มก่อการร้ายเหล่านั้นจะทำอย่างไร ฉะนั้นเราจำเป็นที่จะต้องดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน" โฆษก ศอฉ. กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเพิ่มจุดตรวจกี่จุด และแต่ละจุดมีจำนวนเจ้าหน้าที่เท่าไร โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า มีจำนวนเยอะพอสมควรที่จะดูแลเส้นทางต่าง ๆ ที่พุ่งเข้าหาพื้นที่การชุมนุม

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการประเมินถึงการชุมนุมใหญ่หลังวันที่ 20 เมษายน หรือไม่ว่าจะเป็นอย่างไร โฆษก ศอฉ. กล่าวเชื่อมั่นว่าการชุมนุมคงจะพยายามเชิญชวนพี่น้องประชาชนเข้ามา เพื่อจะใช้เป็นโล่ในการกำบัง เพราะฉะนั้นหน้าที่ของศอฉ. ขณะนี้ต้องทำให้พื้นที่การชุมนุมมีความปลอดภัยมากที่สุดต่อประชาชน ด้วยวิธีการป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าไปถึงพื้นที่ชุมนุม ด่านตรวจ จุดตรวจ จุดสกัดทั้งหลายจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และต้องป้องกันให้ได้ด้วย อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ณ ตรงนี้ เจ้าหน้าที่มีความจำเป็น ถ้าจะต้องมีการปะทะกัน ณ บริเวณจุดตรวจ ด่านตรวจ ก็จำเป็น แต่เราจะต้องปฏิบัติตามกฎการใช้กำลังจากเบาไปหาหนัก แต่หากมีความพยามที่จะเข้ามายึดอาวุธ ยึดรถยานพาหนะของเจ้าหน้าที่หรือทำร้ายเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน มีความชอบธรรมที่จะใช้อาวุธต่อท่านได้ และไม่มีวิธีการอย่างอื่น เพราะถ้าเราไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายในลักษณะอย่างนี้ได้ ก็จะอ่อนยวบยาบเหมือนในช่วงที่ผ่านมา การปฏิบัติงานก็จะไม่ได้ผล ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชน

 

ไม่บอกจะสลายเมื่อไหร่ แต่ถ้าพร้อมจะทำทันที

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ผู้ชุมที่ราชประสงค์มีจำนวนเท่าไร โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า จำนวนผู้ชุมนุมเมื่อคืนที่ผ่านมามี 13,000 คน ช่วงเช้าวันนี้ 4,000 คน

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ต้องมีผู้ชุมนุมถึงจำนวนเท่าไรที่ ศอฉ. ถึงจะตัดสินใจสลายการชุมนุม โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า บอกไม่ได้ครับ บอกแล้วก็ทำงานไม่สำเร็จ พร้อมเมื่อไรทำทันทีครับ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากมีการปรับโครงสร้างศอฉ. ที่แต่งตั้งให้ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ แล้วมีการทำงานที่กระชับขึ้นอย่างไร โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ทำให้สายการบังคับบัญชาในการสั่งใช้กำลังสั้นลง จากเดิมจะต้องให้รองนายกรัฐมนตรีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นคนสั่งในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบ วันนี้ผู้บัญชาการทหารบกสามารถสั่งกำลังใช้ได้เลย แต่อย่างไรก็แล้วแต่จะต้องมีการรายงานตามสายการบังคับบัญชา ให้กับผู้กำกับการปฏิบัติคือรองนายกรัฐมนตรีสุเทพฯ ผอ.ศอฉ. ได้รับทราบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในวันจันทร์ที่ 19 เมษายน ที่ผู้บัญชาทหารบกได้เรียกกำลังพลมาประชุมที่กองทัพบก เป็นส่วนหนึ่งในการที่จะกระชับกำลังพลด้วยหรือไม่ โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า การประชุมในวันจันทร์นี้เป็นการประชุมตามวงรอบเดือนของหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกตามปกติ แต่ตนเชื่อมั่นว่าผู้บัญชาการทหารบกจะต้องชี้แจงเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ให้เจ้าหน้าที่ได้รับทราบด้วย เพราะหน่วยขึ้นตรงที่มานั้นมาจากทุกภูมิภาคของประเทศ การดำเนินการเฉพาะศอฉ. ในส่วนกลาง ในพื้นที่ที่ประกาศพระราชกำหนดอย่างเดียวไม่เพียงพอ จำเป็นต้องปฏิบัติงานร่วมกับ กอ.รมน. ภาค ซึ่งจะต้องมีการตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ จุดสกัดกันตั้งแต่พื้นที่ต้นทาง

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าการออกหมายเรียกบุคคลให้มารายงานตัวที่ศอฉ. ขณะนี้มีผู้ที่มารายงานตัวกี่คนแล้ว โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า วันแรก 12 - 13 คน วันที่สอง 6 คน วันนี้จะต้องรอสรุปในช่วงค่ำ อย่างที่เรียนให้ทราบว่า เมื่อวานนี้มีผู้สื่อข่าวถามว่ามาแต่เล็ก ๆ ใหญ่ ๆ มาไหม ตนก็เรียนว่าเมื่อวานนี้ได้รับการติดต่อจากผู้สื่อข่าวคนหนึ่งที่สนิทสนมกับผู้ใหญ่ 2 - 3 คนที่ได้รับหมายเรียก ซึ่งเขาไม่มั่นใจว่าเข้ามาแล้วจะถูกจับหรือไม่ ตนก็เรียนฝากผู้สื่อข่าวคนนั้นไปว่า ให้ไปเรียนท่านด้วยว่าหมายเรียกก็คือหมายเรียก ท่านเข้ามาให้ข้อมูล เพราะเรามีข้อมูลเบื้องต้นเพียงแค่ว่าท่านอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง ฉะนั้นก็เป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน เป็นการซักถามข้อมูลในเบื้องต้นและข้อมูลบางประการที่เราอยากได้ แต่ไม่ต้องการที่จะควบคุมตัวท่านไว้ จบภารกิจการซักถามก็เรียนเชิญกลับ ทั้งนี้ มั่นใจว่าที่ได้คุยผ่านผู้สื่อข่าวท่านนั้นไป น่าจะเป็นผลในเร็วๆ นี้

 

มีความเป็นไปได้ที่ประชาชนที่ถูกชักจูงจะเข้าร่วมชุมนุม

ผู้สื่อข่าวถามว่า ศอฉ. ได้ประเมินสถานการณ์หลังสงกรานต์ไว้อย่างไร เพราะสื่อต่างประเทศยังมองว่าสถานการณ์หลังสงกรานต์จะรุนแรงขึ้น และคิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่น่าห่วงที่สุด โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ก็มองได้ เพราะว่ามันเลยช่วงของการหยุดยาว มีความเป็นไปได้ที่ประชาชนส่วนหนึ่งที่ถูกชักจูงหรือบิดเบือนข้อมูลจะเข้ามาร่วมชุมนุม แต่ด้วยความตั้งใจจริงของเราที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ การบิดเบือนข้อมูลภายในพื้นที่การชุมนุม และการตั้งจุดตรวจจุดสกัดตั้งแต่ตำบลต้นทาง ในการปฏิบัติงานของกอ.รมน. ภาค และตำบลปลายทางในพื้นที่ประกาศพระราชกำหนด น่าจะทำให้การเพิ่มจำนวนผู้ชุมนุมทำได้ไม่มากเหมือนแต่ก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ศอฉ. มีการประเมินหรือไม่ว่าตั้งแต่ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง สามารถใช้คุมสถานการณ์ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะว่าภารกิจเร่งด่วน 4 ประการที่นายกรัฐมนตรีได้เคยแถลงไว้ ดูเหมือนว่ายังไม่สำเร็จสักประการ โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ในช่วงแรกต้องเรียนว่า แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะพยายามปฏิบัติภารกิจในเรื่องของการขอคืนพื้นที่ตั้งแต่ที่สะพานผ่านฟ้า แต่ก็ได้เห็นแล้ว่าทางส่วนของผู้ชุมนุม กลุ่มก่อการร้ายที่แฝงตัวอยู่ ได้ใช้อาวุธหนักต่อเจ้าหน้าที่และประชาชน ทำให้การทำงานครั้งนั้นไม่สำเร็จ ต่างฝ่ายต่างได้รับความสูญเสีย แต่ขณะนี้เรามีบทเรียนและมีประสบการณ์แล้ว ก็มั่นใจว่าในการปฏิบัติภารกิจต่อไปที่มีการเตรียมความพร้อมมาโดยตลอด หมายรวมถึงการจัดชุดระวังป้องกันขึ้นไปดูแลพื้นที่อาคารสูงด้วย จะทำให้การปฏิบัติงานได้ผล สามารถที่จะแยกหรือควบคุมพื้นที่ ไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายที่แฝงตัวในประชาชน มีเสรีในการปฏิบัติ มีเสรีในการใช้อาวุธสงครามต่อเจ้าหน้าที่และประชาชนได้อิสระเหมือนเดิม

 

ยังไม่คิดใช้กฎอัยการศึก คิดว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็เพียงพอ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีแนวคิดที่จะยกระดับกฎหมายเพิ่มขึ้นเป็นกฎอัยการศึกหรือไม่ โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า อยู่ที่วิธีการปฏิบัติมากกว่า จะเป็นพระราชกำหนดหรืออะไรที่สูงกว่า ถ้ารายละเอียดการปฏิบัติไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ใช้กฎหมายที่สูงกว่าก็ไม่เกิดประโยชน์ วันนี้เราคิดว่าพระราชกำหนดมีความเพียงพอ เพียงแต่ว่าต้องลงรายละเอียดการปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องมีความกล้าหาญในการที่จะบังคับใช้กฎหมาย และต้องทำอย่างตรงไปตรงมา เป็นขั้นตอน สามารถทำให้สังคมเข้าใจได้ว่าเราพยายามอย่างที่สุดแล้วที่จะใช้มาตรการจากขั้นเบาไปหาขั้นหนัก แต่ถ้าหากมีความจำเป็น เจ้าหน้าที่ถูกประทุษร้าย จะถูกทำร้าย ซึ่งอาจจะทำให้เขาเสียชีวิต อาวุธ ยานพาหนะถูกยึด อาจจะเอาไปสร้างสถานการณ์ในวันข้างหน้า มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธก็ต้องใช้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในพื้นที่ที่มีการตั้งด่านตรวจ ไม่ได้มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะมีปัญหาในเรื่องการใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ในการตั้งด่านสกัดหรือไม่ โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ไม่มีปัญหา ในพื้นที่ของกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ประกาศพระราชกำหนดก็ใช้ได้ แต่ในพื้นที่ตามต่างจังหวัด ก็สามารถที่จะดำเนินการได้ด้วยการใช้กฎหมายปกติ พร้อมกับทำความเข้าใจกับประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่จำเป็นต้องมีการขยายประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปยังพื้นที่อื่นๆ โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า คิดว่าขณะนี้ไม่จำเป็น

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าของกลุ่มคนร้ายเสื้อดำที่บอกว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ขณะนี้มีความคืบหน้าการติดตามอย่างไร โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า จะนำคำถามนี้ไปเรียนถามทางตำรวจให้ ถ้าเป็นไปได้จะขอให้ทางตำรวจมาตอบในช่วงเย็น

 

จะใช้อาคารสูงเพื่อไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายใช้อาวุธ

ต่อข้อถามว่า การที่ส่งเจ้าหน้าที่ประจำอาคารสูงบริเวณพื้นที่ชุมนุมถ้ามีการสร้างสถานการณ์โดยใช้อาวุธและบอกเจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำจะดำเนินการอย่างไร โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ตรงนั้นจะมีการแต่งเครื่องแบบชัดเจน โดยจะมีเอกสารหลักฐานที่สามารถแสดงตัวได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ซึ่งการที่จะขึ้นไปใช้อาคารดังกล่าวก็จะมีการติดต่อประสานไปยังเจ้าของอาคารจากหน่วยราชการก่อน เพราะฉะนั้นคนที่เป็นเจ้าของหรือผู้ประกอบการอาคารตึกนั้นก็จะต้องมีการตรวจสอบในรายละเอียดด้วย อย่างไรก็ตามคนที่ไม่มีเอกสารเหล่านั้นผู้ประกอบการเจ้าของอาคารสูงและอาคารพาณิชย์บริเวณนั้นจะปล่อยให้ขึ้นไปใช้ไม่ได้

ต่อข้อถามว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการกดดันมากขึ้นหรือไม่ โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ไม่ใช่การกดดันแต่เป็นการทำให้พื้นที่ปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าในพื้นที่ที่มีการชุมนุมมีกลุ่มก่อการร้ายแฝงตัวอยู่ เราไม่สามารถที่จะใช้อาวุธตรงหน้าได้ เพราะพี่น้องประชาชนปะปนอยู่ เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะแยกกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งและบังคับไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายสามารถใช้อาวุธได้อย่างมีเสรีต่อเจ้าหน้าที่และประชาชนก็ต้องใช้วิธีนี้

ต่อข้อถามว่า ได้มีการประเมินหรือไม่ว่าหากกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ขึ้นไปใช้พื้นที่บนอาคารในบริเวณพื้นที่ชุมนุมจะพยายามผลักดันเหมือนตอนที่ให้ทหารออกจากราชดำเนินหรือไม่ โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ไม่ได้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด จะทำทุกวิธีทางเพื่อที่จะส่งเจ้าหน้าที่ชุดระวังป้องกันขึ้นไปใช้พื้นที่ในอาคารสูงให้ได้โดยจะเริ่มวันนี้

 

โบ้ยถ้ามีการปะทะให้ จนท. รับผิดชอบร่วมกัน

ต่อข้อถามว่า ถ้าเกิดมีการปะทะกันใครจะเป็นผู้รับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็น ผบ.ทบ.หรือไม่ โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า ทุกคนจะเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกัน "เวลาผู้บังคับบัญชาเขาสั่งเจ้าหน้าที่ถึงคนสุดท้าย เขาจะสั่งไปหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า คุณก็ต้องทำ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ถ้าคุณไปทำ หก เจ็ด แปดคุณก็ต้องรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นทุกคนรับผิดชอบตามภาระหน้าที่ที่ตัวเองได้รับมอบหมาย ซึ่งทุกคนมีภาระความรับผิดชอบ ไม่ได้หมายความว่าทุกคนทำแล้วฟรี อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด แต่ผู้รับผิดชอบคนสูงสุดคนเดียวรับผิดชอบไม่ใช่ ถ้าอย่างนั้นเราจะควบคุมการปฏิบัติไม่ได้ ก็ต้องถามว่าในพื้นที่การชุมนุมคนเสื้อแดงที่ปล่อยให้กลุ่มก่อการร้ายเข้าไปอยู่ด้วย ใครเป็นผู้รับผิดชอบ"

โฆษก ศอฉ. ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องหันไปถามว่าใครเป็นคนต้นเหตุของการทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา เคยมีกลุ่มคนเสื้อแดงหรือแกนนำคนเสื้อแดงพยายามที่จะเชิญเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจเข้าไปตรวจพื้นที่หลังเวทีบ้างไหมว่ามีอาวุธหรือเปล่า ได้แต่ตรวจเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจอยู่ตลอดเวลาว่าไม่มั่นใจว่ามีอาวุธหรือเปล่าขอไปดู ทำไมไม่เคยเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูของตัวเองบ้างจะได้แสดงถึงความบริสุทธิ์ใจให้ทุกคนเกิดความรู้สึกว่า ทุกฝ่ายต่างพยายามที่จะช่วยทำให้ไม่มีกลุ่มผู้ไม่หวังดีมาสร้างสถานการณ์ พร้อมยืนยันจะไม่ให้กลุ่มคนเสื้อแดงเคลื่อนย้ายไปที่ไหนได้อีกแล้ว เฉพาะพื้นที่ราชประสงค์ก็สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนมากเกินไปแล้ว

 

หากเกิดปะทะก็ต้องเกิด ถ้าไม่อยากให้สูญเสียบ้านเมืองเราไปไม่รอด

ต่อข้อถามว่า มวลชนจำนวนมากอย่างนั้นเจ้าหน้าที่จะสกัดอย่างไร โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า มีจำนวนมาก เราก็จะเอาไปมากเหมือนกัน และหากต้องเกิดการปะทะก็ต้องเกิด โดยเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและเด็ดขาด เพราะถ้าเราไม่มีความเด็ดขาดในการบังคับใช้กฎหมายทุกอย่างจะไม่มีอะไรสำเร็จเลย แต่ถ้าคิดในมุมเดียวว่าไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย บ้านเมืองเราไปไม่รอด เพียงแต่ว่าความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นนั้น เจ้าหน้าที่ได้พยายามอย่างที่ถึงสุดแล้วที่จะไม่ให้เกิดด้วยมาตรการต่าง ๆ พยายามอย่างที่สุดแล้วที่จะใช้วิธีการปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก เจ้าหน้าที่ก็เป็นคนมีเลือดเนื้อ ถ้าจะเข้ามาทำร้ายเขาถึงแก่ชีวิตจะมายึดอาวุธเขาเหมือนเดิมแบบไร้ศักดิ์ศรี แล้วนำอาวุธไปซึ่งไม่รู้จะนำไปสร้างสถานการณ์ที่ไหนหรือเปล่า จะมีคนที่สูญเสียจากการนำอาวุธไปใช้อีกหรือเปล่าเรายอมไม่ได้อีกแล้ว

ต่อข้อถามว่า กลุ่มเสื้อชมพูมาชุมนุมทำไมไม่มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปอยู่ในอาคารสูง โฆษก ศอฉ. กล่าวว่า กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อชมพูไม่ได้ทำผิดในกฎกติกา 4 ข้อ คือ หนึ่งไม่กีดขวางการจราจรจนไม่สามารถใช้การจราจรได้เลย สองไม่ขัดคำสั่งเจ้าหน้าที่ สามไม่ไปขวางทางเข้าออกจนทำให้หน่วยหรือองค์กรที่อยู่บริเวณนั้นไม่สามารถเข้า-ออกนอกพื้นที่ได้ ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อสีชมพูไม่ได้ผิดตามกฎกติกาและเขาก็รีบสลายไป

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก

ศอฉ. เพิ่มมาตรการคุมเข้มการชุมนุม ตั้งด่านตรวจสกัดไม่ให้ประชาชนเดินทางเข้าพื้นที่ชุมนุมที่ไม่ปลอดภัย, ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 18 เม.ย. 53 http://media.thaigov.go.th/pageconfig/viewcontent/viewcontent1.asp?pageid=471&directory=1779&contents=43958

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net