Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การเผชิญหน้าและปะทะกันระหว่างกลุ่มคนเสื้อหลากสีกับกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณแยกศาลาแดงเป็นภาพสะท้อนให้เห็นภาวะของ “รัฐซ้อนรัฐ” ที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทย อันเนื่องจากการที่รัฐบาลไม่มีความชอบธรรมและประสิทธิภาพทางการเมืองในการจัดการกับปัญหาการชุมนุมตามแนวทางในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภา นายกรัฐมนตรีลาออก การเจรจา ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาก่อให้เกิดกลุ่มทางการเมืองต่างๆ อีกมากมาย เช่น คนเสื้อเหลือง คนเสื้อแดง คนเสื้อขาว คนเสื้อน้ำเงิน คนเสื้อชมพู จนกระทั่งคนเสื้อหลากสี สาเหตุของปัญหาดังกล่าวเกิดจากโครงสร้างสังคมการเมืองไทยที่ยังมีปัญหาในเรื่องความเป็นธรรมและโอกาสทางสังคม ตลอดจนขาดกลไกในการจัดการความขัดแย้ง รวมทั้งขาดสื่อที่จะเป็นพื้นที่สาธารณะให้ทุกฝ่ายร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างปราศจากอคติ “โครงสร้างสังคมการเมืองที่บิดเบี้ยว” ก่อให้เกิดมาตรฐานในการมองการเมืองที่ต่างกันระหว่างคนแต่ละกลุ่มในสังคมการเมือง

กลุ่มทางการเมืองต่างๆ จึงเกิดการสร้างกฎเกณฑ์ แนวทาง วิธีการปฏิบัติของตนเองขึ้นมา โดยไม่ฟังคำสั่ง กฎหมาย ระเบียบของรัฐบาล หรืออีกนัยหนึ่งคือ การเกิดภาวะความเป็นรัฐในเชิงอำนาจซ้อนกับรัฐที่มีรัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชนทั้งหมด

เหตุการณ์ในคืนวันที่ 21 เมษายน 2553 บริเวณแยกศาลาแดงระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงที่เป็นตัวแทนของคนต่างจังหวัดและคนชั้นกลางในเมืองบางส่วนได้มีการกั้นรั้วรอบขอบชิดของตนเองด้วยยางรถยนต์และไม้ไผ่ รวมทั้งมีกลยุทธ์การต่อสู้ปกป้องอาณาเขตของตนเอง เช่น การยิงพลุ การยิงบั้งไฟ กับกลุ่มคนเสื้อหลากสีที่เป็นตัวแทนของคนชั้นกลางในเมืองซึ่งยึดพื้นที่ถนนสีลมอันเป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้าของประเทศ ซึ่งมีกลยุทธ์การต่อสู้แบบเฉพาะหน้าด้วยการขว้างปาสิ่งของเข้าสู่กลุ่มคนเสื้อแดงที่ชุมนุมอยู่ด้วยความคับข้องใจทางการเมืองที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนในชีวิตประจำวันของพวกเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นการจราจรติดขัด การทำธุรกิจการค้าที่เกิดความไม่สะดวก การเผชิญหน้าระหว่าง “รัฐราชประสงค์” ของกลุ่มคนเสื้อแดงกับ “รัฐสีลม” ของกลุ่มคนเสื้อหลากสีจึงเกิดขึ้น และเป็นภาวะที่เรียกว่า “มวลชนาธิปไตย”

สองนคราประชาธิปไตย หรือสภาพการณ์ที่คนต่างจังหวัดเลือกรัฐบาล คนกรุงเทพไล่รัฐบาลจึงแปรเปลี่ยนไปเป็นการที่ “คนกรุงเทพบางส่วนเลือกรัฐบาล คนต่างจังหวัดส่วนใหญ่ไล่รัฐบาล” ก่อให้เกิดช่องว่างรัฐบาลกับประชาชนอย่างมากในการรับฟังข้อเรียกร้องภายใต้สังคมการเมืองที่ยังมีปัญหาเรื่องการกระจายทรัพยากรอย่างสมดุลให้กับทุกภาคส่วน

การชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์และสีลมจึงเป็นการชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ในบริเวณศูนย์กลางการค้าและทุนธุรกิจของประเทศ แสดงให้เห็นถึงการทวงสิทธิของผู้ชุมนุมที่เริ่มเห็น “คุณค่าของประชาธิปไตย” จึงเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากต่างจังหวัดร่วมกับคนในกรุงเทพบางส่วน เนื่องจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทำให้ “ประชาธิปไตยกินได้” และกลายเป็นสิ่งที่สัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านทางนโยบายประชานิยมที่ใช้กลไกทางการเมืองเป็นตัวขับเคลื่อน

ขณะเดียวกันคนชั้นกลางในเมืองอีกส่วนหนึ่งเห็นว่า การเคลื่อนไหวใช้สิทธิทางการเมืองดังกล่าวส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความสะดวกสบายและการทำธุรกิจการค้าของคนในเมืองก่อให้เกิดการใช้มวลชนเข้าต่อสู้แทนรัฐบาลที่ปล่อยให้การชุมนุมยืดเยื้อยาวนานและไม่มีความสามารถในการตัดสินใจต่อปัญหา ภายใต้สภาพการณ์ที่ “รัฐบาลขาดความชอบธรรมในสายตาของกลุ่มคนเสื้อแดง” และ “ขาดประสิทธิภาพทางการเมืองในสายตาของกลุ่มคนเสื้อหลากสี” จึงอาจสรุปได้ว่า “คนรากหญ้าเห็นคุณค่าประชาธิปไตย คนในเมืองเห็นผลกระทบของประชาธิปไตย”

ในสภาวการณ์เช่นนี้รัฐบาลต้องแยกแยะบทบาทสถานภาพระหว่างการเป็นคู่ขัดแย้งกับผู้ชุมนุมและการเป็นตัวแทนของปวงชนทั้งหมดให้มีความชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้โอกาสทั้งฝ่ายผู้สนับสนุนและฝ่ายผู้ต่อต้านในการเข้าถึง พบปะ พูดคุยกับรัฐบาลอย่างเท่าเทียม การประกาศบังคับใช้กฎหมายในมาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนการไม่สนับสนุนให้เกิดการใช้มวลชนคู่ตรงข้ามเผชิญหน้ากดดันซึ่งกันและกัน และการใช้สื่อมวลชนให้เป็นพื้นที่สาธารณะ (public sphere) ให้คนทุกกลุ่มเข้ามาใช้พื้นที่เสนอข้อมูลข่าวสารของตนและถกเถียงกันด้วยเหตุผลทางประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ก็จะเป็นการช่วยลดอุณหภูมิความขัดแย้งทางการเมืองลงได้บ้าง

การต่อสู้ของอำมาตยาธิปไตยและธนาธิปไตยมีอยู่ในระบบการเมืองไทยตลอดมา หากแต่โครงสร้างทางสังคมที่มีพัฒนาการซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลให้ภาคประชาสังคมในการเมืองไทยใหญ่โตเกินกว่าจะมีอำนาจใดเพียงอำนาจเดียวที่จะกำหนดชี้นำสังคมไทยได้ จนเกิดกลุ่มมวลชนทางการเมืองหรือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมากมายเป็นระบบการเมืองแบบ “มวลชนาธิปไตย” ที่อำนาจในการกำหนดชี้นำสังคมเกิดจากการใช้กำลังทางกายภาพของมวลชนที่เต็มไปด้วยความเชื่อ ค่านิยม ความเห็น มากกว่าสังคมประชาธิปไตยที่มีความรู้ จึงก่อให้เกิด “การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ไม่สร้างสรรค์”

สมมติฐานที่ว่าความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 4 – 5 ปีที่ผ่านมาจะก่อให้เกิดพัฒนาการทางสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตยอาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงเพราะการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการแสดงออกถึงบทบาทสถานภาพของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ สื่อมวลชน ทหาร นักธุรกิจ ชนชั้นนำ คนชั้นกลาง คนรากหญ้ายังเต็มไปด้วย “มายาคติ มิจฉาทิฐิ และการก้าวข้ามไม่พ้นอคติ” ของตนเอง การพัฒนาไปสู่สังคมที่จะเกิดภูมิปัญญาทางการเมืองอย่างแท้จริงจะไม่อาจเกิดขึ้นได้ในสังคมการเมืองที่ยังคงมีอคติในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การแสดงออกถึงบทบาทสถานภาพและหน้าที่ที่ขัดแย้งในตนเองของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมเช่นนี้

ความพยายามในการพัฒนาประชาธิปไตยเพื่อนำสังคมก้าวข้ามผ่านระบบการเมืองแบบอำมาตยาธิปไตยและ ธนาธิปไตย จึงเกิด “การกลายพันธุ์” (mutation)ของกระบวนการประชาธิปไตยจากการสร้างประชาสังคมที่เข้มแข็งไปสู่ระบบการเมืองแบบ “มวลชนาธิปไตย” คือ “การใช้มวลชนเข้าต่อสู้เพื่อมีอำนาจกำหนดกดดันการตัดสินใจในระบบการเมือง ในขณะที่คนยังขาดจิตสำนึกสาธารณะ และความรับผิดชอบต่อสังคม

ระบบการเมืองเช่นนี้มีความเปราะบางต่อการเผชิญหน้าและการปะทะกันระหว่างมวลชนคู่ตรงข้าม” อันเป็นผลพวงจากการรัฐประหาร 19 กันยา ที่ตัดตอนการสร้างความเข้มแข็งให้คนรากหญ้าขยับขึ้นเป็นคนชั้นกลางเพราะในสังคมต่างๆ ทั่วโลกพัฒนาได้โดยการขับเคลื่อนของคนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่

รวมทั้งความล้มเหลวของระบบรัฐสภาที่ไม่สามารถทำหน้าที่ในมิติของการเป็นผู้แทนปวงชนและรับฟังแก้ไขข้อเรียกร้องของประชาชนภายใต้สังคมการเมืองที่ยังมีปัญหาเรื่องการกระจายทรัพยากรอย่างสมดุล การการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างความคิดที่เห็นตรงกับความคิดที่เห็นต่างจะไม่สามารถเกิดได้อย่างยั่งยืนหากขาดการปฏิรูปหรือแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างสังคมการเมือง การสร้างจิตสำนึกสาธารณะ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างปราศจากอคติบนพื้นที่สาธารณะที่เป็นกลาง เพื่อให้เกิดพัฒนาการทางสังคมการเมืองไปสู่สังคมแห่งความรู้ที่จะเป็นรากฐานการเมืองของพลเมืองอย่างแท้จริง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net