Skip to main content
sharethis

เมื่อวันศุกร์ที่ 23 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา ทางศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (The Center for Southeast Asian Studies) แห่งมหาวิทยาลัยฮาวายร่วมกับนักศึกษาไทยบางส่วนได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาในหัว ข้อ “’แดงทั้งแผ่นดิน’ ข้อท้าทายต่อกระบวนทัศน์เกี่ยวกับสังคมการเมืองไทย” (The Red Shirts’ Uprising: A Challenge to Old Paradigms about Thai Society)

โดยมีอนุสรณ์ อุณโณ นักศึกษาปริญญาเอกจากคณะมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เป็นวิทยากรหลัก และมีวิทยากรร่วมคือ มาคัส เฟอรารา (Marcus Ferrara) นักศึกษาปริญญาโทจากหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาและนายทหารจากกองทัพสหรัฐอเมริกา (Foreign Area Officer - U.S. Army) ดร. อีฮิโต คิมูรา (Dr. Ehito Kimura) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาย และ ดร. เบน เคิร์ฟเลียต (Dr. Ben Kerkvliet) ศาสตราจารย์เกียรติคุณจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาย

ดร.บาบารา วัตสัน อันดายา ผู้อำนวยการศูนย์ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยฮาวายกล่าวต้อนรับและแนะนำตัววิทยากร 

ผู้ฟังซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาวายและ East-West Center ที่สนใจศึกษาสังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อนุสรณ์ อุณโณ ผู้บรรยายหลั

วิทยากรร่วมท่านอื่นๆ: คุณมาคัส เฟอรารา ดร. อีฮิโต คิมูรา และ ดร. เบน เคิร์ฟเลียต (จากขวาไปซ้าย)

 000

 

อนุสรณ์ อุณโณ

อนุสรณ์ อุณโณ เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ขบวนการคนเสื้อแดงเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศไทยที่เริ่มต้นขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เขาได้ให้ภาพพัฒนาการของขบวนการต่อต้านรัฐประหารซึ่งในระยะแรกเป็นไปอย่างเงียบเหงาท่ามกลางการประกาศกฎอัยการศึกและท่ามกลางกระแสความชื่นชมยินดีต่อการรัฐประหารจากคนกรุงเทพฯ กลุ่มเครือข่ายทางสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ ต่อมากลุ่มต่อต้านรัฐประหารบางส่วนได้รวมตัวกันและกลายมาเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงในที่สุด

อนุสรณ์ได้ให้ภาพรวมประวัติการเคลื่อนไหวเรียกร้องของคนเสื้อแดงที่เริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้นนับแต่การชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบินสุวรรณภูมิของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และการยุบพรรคพลังประชาชนและการก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในปี  2551 กระทั่งเกิดเหตุการณ์สงกรานต์เลือดในปีที่แล้วที่นำมาสู่การปรับกระบวนการทำงานครั้งใหญ่ของคนเสื้อแดงที่มุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงระบบการจัดตั้งในระดับพื้นที่และเสริมความรู้และข้อมูลทางสังคมการเมืองแก่สมาชิก ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเคลื่อนไหวที่มีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต

อนุสรณ์กล่าวถึงการชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดง ณ ปัจจุบันที่เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2553 ว่าเป็นการชุมนุมประท้วงที่ใหญ่ที่สุดและมีนัยสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ไทย การชุมนุมครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการขัดขวางในทุกวิถีทางอย่างหนักหน่วงจากเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ประท้วงที่มหาศาลสามารถกดดันให้นายอภิสิทธิ์เปิดการเจรจากับแกนนำคนเสื้อแดงได้ นอกจากนั้นในช่วงก่อนการสลายการชุมนุมวันที่ 10 เมษายน 2553 คนเสื้อแดงยังสามารถผลักดันให้กองทหารที่มาเตรียมการสลายการชุมนุมกลับเข้ากรมกองได้สำเร็จอย่างสันติด้วย รวมถึงการทวงคืนการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ ‘สถานีประชาชน’ ได้ (ชั่วคราว) ด้วยสองมือเปล่า

หลังจากการสลายการชุมนุมในวันที่ 10 เมษายน 2553 นำมาสู่การถกเถียงครั้งใหญ่ในสังคมว่าความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นจากฝ่ายใด ในขณะที่คนเสื้อแดงยืนยันว่าทหารเป็นผู้สังหารผู้ชุมนุม ฝ่ายรัฐบาลและทหารกล่าวว่าเป็นฝีมือของผู้ก่อการร้ายซึ่งมีสายสัมพันธ์บางอย่างกับแกนนำคนเสื้อแดง ขณะที่บางส่วนก็กล่าวว่าการเสียชีวิตของนายทหารชั้นผู้ใหญ่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างขั้วอำนาจภายในกองทัพเอง แต่ละฝ่ายต่างพยายามใช้หลักฐานซึ่งส่วนใหญ่เป็นคลิปวิดีโอและภาพถ่ายเพื่อยืนยันความถูกต้องของฝ่ายตน

อย่างไรก็ตาม ข้อแก้ตัวของรัฐบาลและกองทัพดูจะฟังไม่ขึ้นเมื่อผลจากกองพิสูจน์หลักฐานยืนยันว่าไม่พบหลักฐานความเกี่ยวข้องกับผู้ก่อการร้าย และการตายของนักข่าวรอยเตอร์ก็เกิดจากอาวุธจากทางฝ่ายทหาร อีกทั้งทหารยังไม่เพียงแต่เปิดฉากยิงผู้ชุมนุมเท่านั้นแต่ยังยิงพวกเดียวกันเองด้วย การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่สี่แยกราชประสงค์ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนผู้เข้าร่วมที่เนืองแน่นอยู่ตลอดเวลา

ทั้งนี้ คนเสื้อแดงยังคงยืนยันในข้อเรียกร้องเดิมคือการยุบสภาและการเลือกตั้งทั่วไป บางคนอาจกลับบ้านไปชั่วคราวในขณะที่คนใหม่ๆ ก็ทยอยมาสมทบไม่ขาดสาย ถึงแม้ว่ารัฐบาลยังคงโจมตีผู้ชุมนุมอย่างหนักว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติและโดยเฉพาะต่อราชบัลลังก์ รวมทั้งพยายามทุกวิถีทางที่จะสกัดสื่อของคนเสื้อแดงและข่มขู่อยู่ตลอดเวลาว่าจะสลายการชุมนุม รวมทั้งยังมีการคุกคามจากกลุ่มคนเสื้อหลากสีอีกด้วย

อนุสรณ์เสนอว่าปรากฏการณ์แดงทั้งแผ่นดินกำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศไทยและท้าทายกระบวนทัศน์ว่าด้วยสังคมไทย ถนนและสถานที่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเมื่อ พ.ศ. 2516 ได้ถูกใช้โดยขบวนการนักศึกษาใน พ.ศ. 2535 โดยกลุ่มคนชั้นกลางม็อบมือถือ และใน พ.ศ. 2548-2549 โดยกลุ่มพันธมิตรฯ เสื้อเหลือง บัดนี้ได้ถูกครอบครองโดยผู้คนจากทุกสารทิศซึ่งส่วนใหญ่มีสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่ค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์คนเสื้อแดงนั้นยังห่างไกลจากสงครามชนชั้นหรือการปะทะกันระหว่างเมืองและชนบทอย่างที่เข้าใจกัน

อาจจะจริงที่ผู้ชุมนุมชาวเสื้อแดงจำนวนมากมาจากต่างจังหวัด แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่อาศัยและทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่กลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่ใช่ชาวกรุงเทพฯ หรือปริมณฑลมาโดยกำเนิด พวกเขาล้วนมีพื้นเพเดิมในต่างจังหวัดและได้เข้ามาหาโอกาสทางเศรษฐกิจในเขตเมืองทั้งแบบถาวรและชั่วคราว ซึ่งอาจเรียกพวกเขาแบบคร่าวๆ ได้ว่า เป็นพลเมืองโลกท้องถิ่น (rural cosmopolitans) หรือ ชาวบ้านเคลื่อนที่ (mobile villagers) ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่การชุมนุมของคนเสื้อแดงในคราวนี้ได้รับการยอมรับจากคนชนบทจำนวนมากที่เข้ามาอาศัยและทำงานอยู่ในเมือง คนเหล่านี้ทำให้เส้นแบ่งที่ตายตัวระหว่างเมืองกับชนบทไม่มีความเหมาะสมอีกต่อไป การที่องค์ประกอบของคนเสื้อแดงเป็นเช่นนี้ ประกอบกับการที่ข้อเสนอของพวกเขาคือการยุบสภาและการจัดการเลือกตั้งทั่วไปนั้น จึงท้าทายอย่างยิ่งต่อทฤษฎีที่เสนอว่าคนชนบทเลือกตั้งรัฐบาล แล้วคนในเมืองล้มรัฐบาลที่คนชนบทเลือกตั้งมา ดังนั้น ปรากฏการณ์แดงทั้งแผ่นดินจึงมิใช่เรื่องของความขัดแย้งระหว่างเมืองและชนบท หากแต่เป็นการลุกฮือของทุกภาคส่วนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองต่ำ ทั้งนี้เพื่อต่อต้านระบบสังคมการเมืองที่พวกเขาเห็นว่าไม่เป็นธรรม

อนุสรณ์ตั้งข้อสังเกตว่าแม้คนเสื้อแดงส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใช้แรงงานและชาวไร่ชาวนา แต่ผู้คนจากกลุ่มสถานะทางเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ นักวิชาการ นักธุรกิจ ข้าราชการ ทหารและตำรวจนอกราชการ และผู้คนสาขาอาชีพต่างๆ รวมทั้งพระต่างก็เข้าร่วมและสนับสนุนขบวนการเสื้อแดงด้วย ในการนี้แนวคิดว่าด้วย “ไพร่” ได้ถูกนิยามและให้ความหมายใหม่โดยหมายรวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมที่หลากหลายซึ่งไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอภิสิทธิชนที่เรียกว่า “อำมาตย์” เป้าหมายของคนเสื้อแดงก็คือ การล้มระบอบอำมาตย์ซึ่งหมายถึงเครือข่ายองคมนตรี ทหาร ข้าราชการระดับสูงผู้ซึ่งมีอภิสิทธิ์และได้เข้าแทรกแซงการเมืองและขัดขวางข้อเรียกร้องของประชาชนมาโดยตลอด

ดังนั้น ขบวนการเสื้อแดงจึงไม่ใช่เรื่องของสงครามชนชั้นที่มีเพียงชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งชนะท่ามกลางความสูญเสียของชนชั้นอื่น หากแต่เป็นการต่อสู้ของกลุ่มชนผู้ไม่มีอภิสิทธิ์ในทุกกลุ่มช่วงชั้นทางเศรษฐกิจเพื่อทำลายระบบสังคมการเมืองที่ไม่เป็นธรรมที่ถูกสร้างและสนับสนุนโดยระบอบอำมาตย์

อนุสรณ์ได้กล่าวว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงแตกต่างจากการชุมนุมที่นำโดยนักศึกษาและชนชั้นกลางในอดีต เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ท้าทายระบบชนชั้นแบบศักดินาซึ่งยังคงเหนียวแน่นในประเทศไทยมาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แนวคิดว่าด้วย “ไพร่” ถือเป็นการท้าทายโครงสร้างความไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน การที่คนเสื้อแดงจำนวนมากยังรักและสนับสนุนทักษิณก็เพราะว่าพวกเขามองว่าทักษิณคือคนธรรมดาที่ไม่มีอภิสิทธิ์ทางชาติกำเนิด และไต่เต้าสู่ความสำเร็จด้วยลำแข้ง การเข้าสู่อำนาจของทักษิณได้ท้าทายระบอบอำมาตย์

ทั้งนี้ ในสายตาของคนเสื้อแดง การรัฐประหาร ระบอบตุลาการ และองค์การทางกฎหมายและการบริหารที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารจึงไม่มีความชอบธรรมใดๆ มาตั้งแต่ต้นในฐานะที่เป็นทฤษฎีสมคบคิดเพื่อทำลายทักษิณ จากมุมมองของคนเสื้อแดงทักษิณก็คือไพร่ที่เจ็บปวดจากระบบสังคมการเมืองที่ไม่เป็นธรรม ในด้านหนึ่งคนเสื้อแดงมองว่าในสมัยของทักษิณเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็น เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การรักษาพยาบาลถ้วนหน้า อีกทั้งยังทำให้พวกเขาตระหนักถึงอำนาจในการลงคะแนนเสียงของตนเองซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตลอดชั่วชีวิตของพวกเขา

การรัฐประหารเพื่อขับไล่ทักษิณผู้ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง การยุบพรรคการเมืองที่พวกเขาลงคะแนนให้ และการสนับสนุนอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีโดยฝ่ายอำมาตย์นั้นก็คือการปฏิเสธอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนของของประชาชนอย่างพวกเขาโดยสิ้นเชิง ดังนั้นข้อเสนอให้ยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งใหม่จึงเป็นความพยายามของคนเสื้อแดงที่จะเรียกคืนอำนาจทางการเมืองที่ตนเคยมีในสมัยทักษิณ

อนุสรณ์ย้ำว่าอันที่จริงคนเสื้อแดงไม่ได้ต้องการได้ทักษิณกลับมาโดยตรง แต่พวกเขาต้องการบุคคลอย่างทักษิณ บุคคลที่ให้ความสำคัญกับอำนาจในการเลือกตั้งของพวกเขา และนำความต้องการของพวกเขามาแปรเป็นนโยบายในการบริหารประเทศ

อย่างไรก็ตาม อนุสรณ์ย้ำด้วยว่า สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมก็คือว่าคนเสื้อแดงได้รับการสนับสนุนจากบุคคลในอำนาจด้วยเช่นกัน เช่น นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย ทหารแตงโม ชนชั้นสูง เป็นต้น ไม่ว่าการเข้าร่วมเหล่านี้จะด้วยความจริงใจหรือเป็นเพียงการฉวยโอกาส แต่การเข้าร่วมของพวกเขาชี้ถึงความแตกแยกในหมู่ชนชั้นนำไทย ดังนั้นทฤษฎีที่มองว่าชนชั้นนำไทยมักร่วมมือกันมากกว่าจะแข่งขันกันเพื่อผลประโยชน์จึงไม่น่าจะใช้ได้กับกรณีในปัจจุบัน ขณะนี้ผู้ปกครองไทยและชนชั้นนำทางเศรษฐกิจมีความแตกแยกและต้องการหาแนวร่วมจากกลุ่มคนข้างล่าง ซึ่งกลุ่มคนข้างล่างก็มีความแตกแยกภายในที่ไม่แตกต่างกัน และต้องการการสนับสนุนของชนชั้นนำเพื่อจุดมุ่งหมายของตนเช่นเดียวกัน ระบอบคณาธิปไตยซึ่งเคยควบคุมกลุ่มต่างๆ ประเทศให้อยู่ในแถวในแนวมาได้นับหลายทศวรรษกำลังจะต้องหลีกทางให้กับระบบการเมืองสังคมแบบใหม่ซึ่งควรต้องมีศักยภาพมากกว่านี้ในการจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของกลุ่ม ฝักฝ่าย และช่วงชั้นที่แตกต่างหลากหลาย

ท้ายที่สุด อนุสรณ์ได้ชี้ประเด็นว่าด้วยคนเสื้อแดงกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่หรือการเมืองภาคประชาชนว่า ในการชุมนุมในครั้งนี้ทางฝ่ายเสื้อแดงได้นำวาทกรรมสากลมาใช้ในเป็นยุทธศาสตร์หลัก โดยเฉพาะในเรื่องสันติวิธีและอารยะขัดขืน การสละเลือดเป็นการแสดงถึงสุดยอดของสันติวิธี เนื่องจากเป็นการใช้ความรุนแรงต่อตนเองแทนที่จะไปใช้กับฝ่ายตรงข้าม การเผชิญหน้ากับทหารด้วยมือเปล่าหรือสิ่งใกล้ตัวที่พอจะหาได้อย่างขวดน้ำพลาสติก ด้ามธง ก้อนหิน นั้นยืนยันถึงสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติ การยึดมั่นในวาทกรรมและวิธีปฏิบัติแบบสากลเช่นนี้ ทำให้คนเสื้อแดงได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายก้าวหน้าในส่วนของนักศึกษา นักวิชาการ กลุ่มองค์กรทางสังคม และกลุ่มองค์กรชุมชนบางส่วนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่หรือในการเมืองภาคประชาชน อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนเสื้อแดงไม่ได้นิยามตนเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ และพวกเขาไม่สนใจด้วยเสียด้วยซ้ำกับการวิจารณ์จากชนชั้นนำในภาคประชาชนอีกส่วนที่มองว่าคนเสื้อยังคงยึดติดอยู่กับการเมืองในระบบหรือการเมืองแบบพรรคการเมืองที่ต่างไปจากการเมืองภาคประชาชนที่เน้นประเด็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง อาทิ สิทธิชุมชนหรือการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน

คนเสื้อแดงยังคงยึดมั่นอยู่กับข้อเรียกร้องของตนคือการยุบสภาและการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งสำหรับพวกเขาแล้วนี่คือจุดเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลงระบบสังคมการเมืองที่ไม่เป็นธรรม สิ่งที่น่าขันก็คือว่าการแก้ไขระบบสังคมการเมืองที่ไม่เป็นธรรมนี้ก็คือสิ่งที่กลุ่มคนที่อ้างตนว่าเป็นผู้นำในการเมืองภาคประชาชนได้เรียกร้องมาโดยตลอด

ในแง่นี้ การลุกฮือของคนเสื้อแดงจึงนำมาสู่คำถามที่สำคัญยิ่งต่อทฤษฎีและภาคปฏิบัติของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่และการเมืองภาคประชาชนในสังคมไทยในช่วงราวสองทศวรรษที่ผ่านมาว่า แท้จริงแล้วเป็นขบวนการเหล่านี้ฝ่ายก้าวหน้าที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อคนส่วนใหญ่หรือเป็นเพียงแค่การจำแลงร่างของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมที่ยังอยู่ภายใต้การครอบงำของอำมาตย์เพียงหยิบมือ

อนุสรณ์ได้กล่าวตบท้ายว่า นี่คือวิกฤติของความชอบธรรมทางการเมือง หากปราศจากการจัดรูปของความสัมพันธ์ทางอำนาจเสียใหม่ที่จะทำให้ทุกฝ่ายมีความเท่าเทียมกันในทางหลักการและการปฏิบัติ วิกฤติการณ์ก็ไม่มีวันจบสิ้นและการสูญเสียเลือดเนื้อก็อาจจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป

000

 

มาคัส เฟอรารา (Marcus Ferrara)

มาคัส เฟอรารา นายทหารในกองทัพสหรัฐ ผู้มีประสบการณ์ในโรงเรียนเสนาธิการทหารในประเทศไทยให้ความเห็นส่วนตัวในประเด็นด้านการทหารว่า บทบาทของทหารไทยนั้นแตกต่างจากบทบาทของทหารที่เข้าใจกันในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากทหารไทยมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองมาก ประเทศไทยมีประวัติที่ยาวนานของการมีผู้นำที่เป็นเผด็จการทหารที่มีอำนาจมาจากการเป็นผู้บัญชาการทหารบก ทหารส่วนใหญ่เป็นทหารการเมืองมากกว่าทหารอาชีพ ทหารการเมืองมักมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานจากระบบอุปถัมภ์ อีกทั้งทหารยังมีอิทธิพลมากต่อภาคพลเรือน เช่น ทหารไทยมีบทบาทในการฝึกอบรมข้าราชการพลเรือนอย่างนายอำเภอ รวมทั้งปฏิบัติการทางจิตวิทยาต่อคนในประเทศของตนเองเพื่อสร้างความรู้สึกด้านชาตินิยม ซึ่งการกระทำเช่นนี้ในสหรัฐอเมริกานั้นขัดต่อกฎหมาย

มาคัสกล่าวว่า การทำความเข้าใจทหารไทย เราไม่อาจมองได้ว่าทหารมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน เนื่องจากมีฝักฝ่ายต่างๆ ทั้งระหว่างและภายในของแต่ละกองทัพ ยิ่งในช่วงสถานการณ์การเมืองปัจจุบันทหารแต่ละหน่วยไม่มีไว้วางใจกันและต้องตรวจสอบกันอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นทักษิณก็ยังเป็นที่นิยมในบางฝักฝ่ายของกองทัพ เนื่องจากนโยบายการทำสงครามกับยาเสพติดและนโยบายแข็งกร้าวในกรณีสามจังหวัดภาคใต้ ความเป็นฝักฝ่ายและความขัดแย้งทางอำนาจภายในกลุ่มทหารจึงทำให้เราไม่สามารถมองสถานการณ์ปัจจุบันในเมืองไทยได้อย่างเป็นแบบขาวหรือดำ

กรณีการปราบปรามผู้ชุมนุมและการปะทะเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่สะพานผ่านฟ้านั้น สิ่งที่มาคัสรู้สึกว่าน่ากังวลก็คือ การยิงปืนขึ้นฟ้าของทหารไทย เนื่องจากกระสุนที่ตกลงอาจเป็นอันตรายได้ วิธีการยิงปืนขึ้นฟ้าไม่ใช่วิธีการควบคุมฝูงชนที่มีประสิทธิภาพและจะยิ่งก่อให้เกิดความสับสนอลหม่านมากขึ้น นอกจากนั้นมาคัสยังรู้สึกตกใจกับการนำรถถังออกมาใช้ในการปราบปรามผู้ชุมนุม ซึ่งผิดกาลเทศะเป็นอย่างมากเพราะรถถังไม่ใช้เครื่องมือในการควบคุมฝูงชน ปืนที่ติดรถถังเป็นอาวุธสงครามที่ร้ายแรงสามารถทำลายตึกได้ทีละหลายๆ หลัง ในขณะทหารผู้ควบคุมรถถังก็ดูจะขาดความชำนาญและไม่ค่อยเข้าใจว่าพวกตนขับรถถังออกมาเพื่ออะไร

มาคัสยังชี้ว่าในขณะเกิดเหตุทุกอย่างสับสนอลหม่าน แนวเขตของทหารและมวลชนประชิดถึงกัน ผู้ชุมนุมเข้าประชิดรถถังซึ่งจอดอยู่ในถนนแคบๆ ได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งยังมีระเบิด M 79 ส่วนทหารที่มาส่วนใหญ่ก็เป็นทหารเกณฑ์ที่ขาดการฝึกฝน ขาดสายการบังคับบัญชาที่ชัดเจน เมื่อทหารเพลี่ยงพล้ำก็ไม่สามารถถอยทัพอย่างเป็นระบบ ต้องทิ้งอุปกรณ์ทหารและอาวุธต่างๆ ไว้ข้างหลัง การทิ้งอาวุธของทหารนี้เป็นเรื่องอันตรายมาก นอกจากนั้นเขายังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ M 79 และ AK47 ของกองกำลังไม่ทราบฝ่ายว่า ถึงแม้เราจะไม่อาจระบุได้ว่าอาวุธเหล่านี้มาจากไหน แต่เป็นที่ชัดเจนว่าทั้งสองเป็นอาวุธที่ใช้กันทั่วไปในหมู่ทหารพราน นอกจากนั้นเขายังกล่าวถึงกลุ่มผู้นิยมความรุนแรงว่าถึงแม้จะเป็นจำนวนน้อยมาก แต่ก็ได้ทำให้สถานการณ์ในวันนั้นแย่ลงและรุนแรงมากขึ้น นอกจากนั้นมาคัสยังมองว่าการปะทะกันในลักษณะนี้หากเกิดขึ้นนานมากกว่า 20 นาทีถือได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่เลวร้าย เขาเห็นว่าทั้งสองฝ่ายต้องรับผิดชอบต่อการที่ไม่สามารถหยุดการปะทะและการสูญเสียได้เร็วกว่านี้

ทางออกที่ควรจะเป็นจากมุมมองของมาคัสก็คือ ควรมีการพัฒนาบทบาทและศักยภาพของตำรวจในการดูแลการชุมนุม  ในสังคมตะวันตกตำรวจถูกกำหนดให้มีบทบาทนี้ แต่กรณีของไทยเรากลับเห็นการนำรถถังมาควบคุมฝูงชน สิ่งนี้น่ากังวลเพราะทหารไม่ได้ถูกฝึกมาในการเผชิญหน้ากับผู้ประท้วงและขาดเครื่องมือที่เหมาะสมในการนี้ ในขณะเดียวกันก็ต้องปฏิรูประบบทหารให้มีความเป็นทหารมืออาชีพ ท้ายที่สุดเขามองว่านับแต่นี้ไปสังคมไทยจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว การประนีประนอมกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ควรเกิดขึ้นเพื่อหาทางออกที่ดี

000

 

ดร. อีฮิโต คิมูรา

ดร.อีฮิโต คิมูรา เปรียบเทียบกรณีความก้าวหน้าในทางประชาธิปไตยระหว่างไทยกับอินโดนีเซียว่า ในรอบสิบปีที่ผ่านมาอินโดนีเซียสามารถทำได้ดีในก้าวพ้นวิกฤติและเข้าสู่สถานะของการเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยที่แท้จริงมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งมีการเลือกตั้งที่ค่อนข้างบริสุทธิ์และยุติธรรม ในขณะที่กรณีของไทยกลับดิ่งสู่สถานะที่แย่ลงทั้งๆ ที่ประเทศไทยน่าจะก้าวพ้นโรครัฐประหาร (Coup Flu) มาตั้งแต่ปี 2535 แล้ว คนทั่วไปนั้นมักมองว่าสาเหตุของความแตกต่างระหว่างอินโดนีเซียกับไทยมีที่มาจากเรื่องภาวะผู้นำ โดยมองว่าอินโดนีเซียมีผู้นำทางการเมืองที่มีความรับผิดชอบ ทำงานหนัก มีความเคารพในหลักการและอำนาจรัฐธรรมนูญ ส่วนในกรณีของไทยก็มักมองกันว่าปัญหาทุกอย่างเกิดผู้นำอย่างทักษิณที่ละเมิดอำนาจรัฐธรรมนูญ โดยมองว่า “ถ้าไม่มีทักษิณก็ไม่มีวิกฤต”

อย่างไรก็ตาม ดร.คิมูรา เสนอว่าในทางสังคมศาสตร์เราควรมองสถานการณ์นี้ให้มากกว่าประเด็นภาวะผู้นำส่วนบุคคล แต่ควรจะมองในเชิงภาพรวมที่ว่าด้วยสถาบันทางการเมือง กรณีอินโดนีเซียที่ผ่านมามีปรับตัวและพัฒนากระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการสร้างระบบการแข่งขันของพรรคการเมือง สถาบันทางอำนาจเก่าของอินโดนีเซียก็พยายามสร้างเสถียรภาพและความต่อเนื่องให้กับประเทศโดยการปรับตัวเข้าสู่ประชาธิปไตย อาทิ การที่นายทหารเข้าสู่ระบบการเลือกตั้ง

ส่วนกรณีของประเทศไทย แม้จะดูเหมือนว่าได้มีแนวโน้มพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แต่กรณีประเทศไทยมีปัญหาเรื่องผลกระทบที่ไม่คาดคิดจากรัฐธรรมนูญฉบับนั้นที่ไม่สามารถสร้างดุลย์อำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารได้ โดยให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารมากเกินไปจนนำมาสู่การคอร์รัปชั่น นอกจากนั้นในกรณีของอินโดนีเซียไม่มีตัวละครทางการเมืองอย่างทักษิณที่ได้รับความนิยมสูงมากและเข้ามาท้าทายระบบอำนาจเดิมที่มีอยู่ ท้ายที่สุด ดร.คิมูรา เสนอว่าวิกฤตการณ์ทางการเมืองนี้ควรถูกแก้ไขในองค์รวมด้วยการพัฒนาสถาบันและกฎเกณฑ์ทางการเมืองให้เป็นแบบประชาธิปไตย

000

 

ดร. เบน เคิร์ฟเลียต

ดร. เบน เคิร์ฟเลียต มองการชุมนุมของคนเสื้อแดงในครั้งนี้ว่ามีแตกต่างจากการประท้วงในประเทศอื่นๆ เนื่องจากในกรณีอื่นๆ ในรอบสองสามทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งเป็นการชุมนุมประท้วงอย่างสันติล้วนมีเป้าหมายเพื่อล้มเลิกระบอบการปกครองที่ไม่เป็นธรรมหรือเป็นเผด็จการ ดังกรณีตัวอย่างของอินโดนีเซียในปลายทศวรรษ 1990 เกาหลีใต้ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 ขบวนการประชาชนในฟิลิปปินส์ หรือการโค่นล้มประธานาธิบดีออกุสโต ปิโนเช่ ในชิลี กรณีเหตุการณ์เหล่านี้มีส่วนคล้ายกับของไทยตอนนี้ในแง่ที่ว่ามีคนจำนวนมากเข้าร่วมจากทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่การชุมนุมประท้วงของคนในเมืองจำนวนน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตามการชุมนุมของคนเสื้อแดงนั้นไม่ได้เรียกร้องการยกเครื่องระบบการเมืองที่เป็นอยู่ แต่เป็นเพียงแค่เรียกร้องเพื่อการเลือกตั้งใหม่เท่านั้น คำถามที่น่าสนใจต่อไปก็คือว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ มีปัจจัยใดที่ทำให้การเรียกร้องของคนเสื้อแดงไม่ได้เป็นเรื่องของการโค่นล้มระบบการเมืองการปกครองที่ไม่เป็นธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net