Skip to main content
sharethis

ผอ. รพ.จุฬายันยังไม่แจ้งความนปช. บุก วอนอย่ามารบกวนอีก ขณะที่นปช. รื้อถอนแนวป้องกันแล้วแต่กลับมาติดตั้งใหม่โดยเสธ.แดงระบุหวั่นถูกบุก ด้านเทพไทระบุเลวร้ายไม่ต่างก๊อดอาร์มี่

เว็บไซต์มติชนรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่สภากาชาดไทย นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย พร้อมด้วย ผู้บริหารสภากาชาดไทย และ ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จุฬาลงกรณ์ และ นส.อุษา ราชปรีชา หัวหน้าพยาบาล รพ.จุฬาฯ ร่วมแถลงข่าวการทำหน้าที่ของ รพ.จุฬาฯ หลังจากมีการบุกเข้าโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา

นายแผน กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.จุฬาฯ ยังไม่ฟ้องร้องหรือแจ้งความใดๆ และยืนยันว่า โรงพยาบาลไม่เคยอนุญาตให้บุคคลใด ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ผู้ชุมนุม เข้ามาใช้พื้นที่ของโรงพยาบาล หรือให้ที่หลบซ่อนอาศัยภายในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ต้องขอโทษประชาชน ผู้ป่วยและญาติ ที่ไม่สามารถให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายนเป็นต้นไป จนกว่าเหตุการณ์จะคลี่คลาย โดยโรงพยาบาลจะงดรับผู้ป่วยใหม่ งดการผ่าตัดกรณีที่ไม่ฉุกเฉินหรือเร่งด่วน โดยโรงพยาบาลจะให้บริการห้องฉุกเฉิน แต่จะย้ายจากตึก ภปร.ไปที่ตึกจงกลนี ชั้นล่างแทน

ศ.นพ.อดิศร กล่าวว่า ปกติโรงพยาบาลสามารถรับผู้ป่วยได้ 1,500 เตียง โดยมีอัตราการเข้ารับการบริการที่ร้อยละ 90 ตลอดเวลา ซึ่งยอดผู้ป่วยที่ยังอยู่ในโรงพยาบาล ล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 30 เมษายน มีจำนวน 600 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยเด็กประมาณ 100 คน มีผู้ป่วยที่อนุญาตให้กลับบ้าน 100 ราย และผู้ป่วยบางส่วนมีการย้ายไปที่ตึกสร้างใหม่ ซึ่งมีเฉพาะเครื่องปรับอากาศ ต้องนอนบนที่นอนธรรมดากับพื้น ทำให้ต้องโรงพยาบาลต่างๆ เช่น รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ.เลิดสิน รพ.กลาง รพ.หัวเฉียว และรพ.เอกชนบางแห่ง เสนอให้ความช่วยเหลือ โดยการเคลื่อนย้ายจะสอบถามความสมัครใจของผู้ป่วยด้วย แต่ได้แนะนำว่าให้ย้ายเพื่อความปลอดภัย

"รพ.จุฬา มีผู้ป่วยที่อาการหนักในห้องไอซียู และห้องซีซียู ทั้งหมด 60 ราย ซึ่งจะมีการเคลื่อนย้ายด้วย โดยการย้ายผู้ป่วย ถือว่ามีความเสี่ยงต่อผู้ป่วยมาก ฉะนั้นการย้ายต้องมีการเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือและบุคคลากรที่ให้การดูแลอย่างดี เพื่อให้มั่นใจว่าจะปลอดภัย โดยได้ประสานรถพยาบาลเคลื่อนที่ซึ่งมีอุปกรณ์ จากศูนย์นเรนทร และโรงพยาบาลอื่นๆ ให้รับส่ง เคลื่อนย้ายผู้ป่วยประมาณ 10-20 คัน" ศ.นพ.อดิศร กล่าว

ศ.นพ.อดิศร กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่รับโทรศัพท์ หรือหนังสือแสดงความขอโทษจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) แต่อย่างใด ซึ่งเรื่องดังกล่าว โรงพยาบาลยังไม่คิดร้องทุกข์ เอาโทษ แต่อยากขอร้องว่า อย่าเข้ามารบกวนเจ้าหน้าที่ หรือการรักษาพยาบาลอีก และอยากให้มีการถอยร่นแนวรั้วของกลุ่ม นปช. ไปอยู่ที่บริเวณแยกสารสิน เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศภายในโรงพยาบาลมีรถพยาบาลฉุกเฉินเข้าออกตลอดทั้งวัน และมีผู้ป่วยบางส่วนทยอยกลับบ้าน โดยมีทั้งผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ เช่น ผู้ป่วยอายุ 73 ปี ซึ่งมีอาการตกเลือดในช่องท้อง จากการผ่าตัด แต่แพทย์จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายเนื่องจากต้องใช้เครื่องมือในการรักษาที่ดีกว่าเพราะเครื่องมือส่วนใหญ่จะอยู่ในตึก ภปร. และผู้ป่วยบางราย เดินทางมาจากภาคอีสาน เพื่อทำการฉายแสง ก็ต้องเดินทางกลับ สำหรับบรรยากาศรอบโรงพยาบาล พบว่า ผู้ชุมนุมยังสามารถเข้า-ออกพื้นที่ได้ ด้วยการข้ามรั้วด้าน ถนนราชดำริ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ภายนอกรั้วโรงพยาบาลไม่กี่นายเท่านั้น

นอกจากนี้ รพ.จุฬาฯ ได้ออกแถลงการณ์รพ.จุฬาฉบับที่ 3 ความว่า เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับผู้ป่วยและญาติ รวมถึงบุคลลากรของรพ.จึงขอชี้แจงว่ารพ.จุฬาและสภากาชาดยึดถือหลักกาชาดสากลมาตลอด นั่นคือการมีมนุษยธรรม ไม่ลำเอียง มีความอิสระและเป็นกลาง นอกจากนั้นที่ผ่านมารพ.ไม่เคยขอให้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารให้เข้ามาในรพ.เพราะทราบดีว่าจะเป็นการยั่วยุ ขณะเดียวกันก็ต้องขอโทษไปยังประชาชนและผู้ป่วยที่ขณะนี้ไม่สามาถให้บริการผู้ป่วยนอกได้ เนื่องจากเกรงอันตรายที่อาจเกิดกับผู้ป่วยและญาติ อย่างไรก็ตามหากมีผู้ป่วยนอกที่อาการหนักห้องฉุกเฉินก็ยังทำงานอยู่

ถ้าเป็นไปได้อยากขอร้องกลุ่มผู้ชุมนุม 3 ข้อ คือ 1.ให้ถอยร่นห่างจากทางเข้าออกของรพ. เพื่อให้ผู้ป่วยที่ต้องการใช้ห้องฉุกเฉินเข้าออกได้สะดวก และหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะสามารถช่วยผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ 2.ขอให้เลิกตรวจค้นบุคลากรของรพ. โดยหากพบว่าใครมีบัตรประจำตัวของรพ.ก็ให้อำนวยความสะดวกในการเข้าทำงาน 3.ขอให้หยุดส่งเสียงดังรบกวนคนไข้ ทั้งนี้เบื้องต้นรพ.ได้ย้ายผู้ป่วยจากตึกสูงที่ได้ผลกระทบจากเสียงอย่างมากมาอยู่ชั้นล่างของตึกต่างๆ เพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยลง

เทพไท ฉะ ไม่ต่างก๊อดอาร์มี่

นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า อยากให้แกนนำนปช.ออกมาแสดงความรับผิดชอบ เพราะขณะนี้โรงพยาบาลใหญ่ 2 แห่งแล้วคือโรงพยาบาลจุฬาฯ และโรงพยาบาลตำรวจไม่สามารถให้บริการกับประชาชนได้ อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลใช้ความรุนแรงก็อาจจะถูกตำหนิได้ แม้ว่าพฤติกรรมของคนเสื้อแดงจะไม่ต่างอะไรกับกรณีที่กลุ่มก็อดอาร์มี่บุกยึดโรงพยาบาลราชบุรีก็ตาม นอกจากนี้นายเทพไทยังวิจารณ์กรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงไปยื่นหนังสือต่อ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมาว่า เป็นพฤติกรรมที่พยายามชักศึกเข้าบ้าน ให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทย สร้างภาพให้ต่างชาติเห็นว่ารัฐบาลควบคุมสถานการณ์ไม่ได้แล้ว เปิดทางให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศให้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในประเทศ แต่คำตอบของเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยนั้นชัดเจนว่า ให้คนเสื้อแดงเคารพกฎหมายและใช้การเจรจา นี่คือคำตอบของต่างประเทศที่ให้คนเสื้อแดงสำนึกว่า ขณะนี้คนเสื้อแดงได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ อยากให้กลุ่มนปช.คำนึงถึงอธิปไตยของชาติด้วย

เสธ.แดงสั่งการ์ดบล็อก ร.พ. อีกหลังรื้อแล้ว

มติชนออนไลน์รายงานด้วยว่า เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก กล่าวภายหลังเดินทางมาตรวจแนวกั้นบริเวณโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ภายหลังผู้ชุมนุมได้รื้อถอนบังเกอร์และถอยร่นพื้นที่การชุมนุม ว่าด่านนี้เป็นจุดเปราะบาง เจ้าหน้าที่อาจฉวยโอกาสเข้าสลายการชุมนุมได้ จึงสั่งให้ถอยกลับ ผู้ชุมนุมจึงนำยางรถยนต์และไม้ไผ่ กลับไปตั้งด่านที่แยกศาลาแดง ปิดทางเข้า-ออกโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้านประตูฝั่งห้องฉุกเฉิน ถนนราชดำริเหมือนเดิม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net