Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 2 พ.ค. 2553 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดเสวนา “ปากคำแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย ที่ต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางวิกฤติการเมือง” โดยมี รศ.นพ.สมรัตน์ จารุลักษณานันท์ รอง ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ นางสุภาภรณ์ ศรีตั้งศิริกุล ผู้ชำนาญการพิเศษพยาบาล 7 นพ.ธรรมศักดิ์ ทวิชศรี วิสัญญีแพทย์ นายไพศาล (ขอสงวนนามสกุล) อาสาสมัครชมรมเพื่อนวันพุธ คลีนิคนิรนาม เป็นวิทยากร โดย รศ.นพ.สมรัตน์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่า รพ.จุฬาฯ มีความเป็นกลาง เป็นอิสระจากการเมือง เราพร้อมรักษาคนไข้ทุกคนไม่เลือกฝ่ายไม่เลือกสี และยืนยันว่าไม่มีกองกำลังทหารอยู่ในโรงพยาบาล ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ด้านล่าง ไม่ได้ขึ้นมาบนตึก เพราะอาจทำให้ผู้ชุมนุมเกิดความระแวง สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาคือการถูกคุกคาม อย่างมีอาจารย์แพทย์รายหนึ่ง ขับรถผ่านม็อบ นปช.แล้วถูกทุบรถ หรือ แม้แต่คนไข้ผ่านเข้าออกโรงพยาบาลก็ถูกค้นกระเป๋า ค้นทรัพย์สิน หรืออย่างตึกผู้ป่วยก็มีรูกระสุนยิงเข้ามาที่กระจก สิ่งเหล่านี้ทำให้บุคลากรของโรงพยาลเกิดความกลัวมาก

รศ.นพ.สมรัตน์ กล่าวต่อว่า สภาพก่อนย้ายโรงพยาบาล ต้องมีการย้ายคนไข้ไปอยู่อีกตึก นอนบนฟูก ส่วนแพทย์พยาบาลก็รักษาด้วยการนั่งรักษากับพื้น ก็เพียงเพื่อรักษาคนไข้ทุกคนให้ดีที่สุด แต่ตลอดเวลามีการคุกคาม และ เขย่ารั้ว แต่ทางแพทย์ พยาบาล ก็ยังปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ย่อท้อ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แม้แต่กลุ่ม นปช.ก็ยังวนเวียนเข้ามารักษาตัวอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะมีคนไข้โรคหัวใจรายหนึ่ง ก็มีการช่วยรักษาอย่างเต็มที่ ด้วยการใส่ลวดเข้าไปขยายหลอดเลือดหัวใจ จนอาการดีขึ้น แต่สิ่งที่เป็นกังวลคือหลังปิดโรงพยาบาลไปแล้ว คนไข้ที่วนเวียนเข้ามารักษาวันละ 6 พันรายต้องเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส แม้แต่สมเด็จพระสังฆราชฯ ท่านยังเป็นห่วงคนไข้ ยอมออกจากโรงพยาบาลเป็นรายสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้รับแจ้งเบื้องต้นว่า มีคนไข้ความดันสูง 1 ราย ขอรักษาตัวอยู่ที่ รพ.จุฬาฯ ต่อ ส่วนห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ยังให้บริการตามปกติ โดยย้ายไปอยู่ที่ตึกจงกลณี

นางสุภาภรณ์ ศรีตั้งศิริกุล ผู้ชำนาญการพิเศษพยาบาล 7 กล่าวว่า น้อง ๆ พยาบาลมีความกลัวกันมาก เพราะเวลาเข้าทำงาน จะต้องผ่านด่านตรวจค้นทรัพย์สินอย่างหนัก การเปิดเพลงเสียงดังรบกวนคนไข้ทั้งวัน ใช้คำพูดหยาบคายตลอดเวลา สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าหน้าที่เสียขวัญอย่างหนัก แม้แต่คนไข้เอง โดยเฉพาะคนไข้ที่ต้องปลูกถ่ายอวัยวะ ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยสมองตาย 1 ราย ต้องสูญเสียโอกาสในการรับปลูกถ่ายอวัยวะ เพราะต้องนำอวัยวะไปให้คนไข้โรงพยาบาลอื่น ต้องขาดโอกาสในการมีชีวิตใหม่ คนไข้กลุ่มนี้ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ คนไข้เหล่านี้ต้องได้รับการทานยาอย่างต่อเนื่อง ตอนย้ายคนไข้ต้องย้ายทั้งน้ำตา อย่างเด็กรายหนึ่งที่ต้องใช้เครื่องหายใจตลอดเวลาก็ต้องถูกย้ายในสภาพอนาถมาก

นายไพศาล (ขอสงวนนามสกุล) อาสาสมัครชมรมเพื่อนวันพุธ คลีนิคนิรนาม กล่าวว่า คนไข้โรคเอดส์ในคลีนิคนิรนาม เดือดร้อนอย่างหนัก เพราะต้องมีการตรวจระดับเม็ดเลือดขาว ตรวจเชื้อเอชไอวี ตรวจปริมาณการดื้อยา และต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง แต่คนเหล่านี้ ไม่มีที่รักษาอีกต่อไป ไม่รู้จะมีสภาพอย่างไร ทุกคนกังวลกันมาก ซึ่งยาที่ทุกคนกินก็หาซื้อที่รพ.จุฬาฯ ไม่ได้ ต้องไปหาซื้อที่ รพ.เอกชน ซึ่งค่าใช้จ่ายแพงมาก

นอกจากนี้วันเดียวกัน (2 พ.ค. 53) ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้ออกแถลงการณ์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (ฉบับที่ 4) ตามที่ได้มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช บริเวณถนนราชดำริ ทำให้เกิดผลกระทบกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และในขณะนี้ได้มีการพยายามดึงเอาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จึงขอชี้แจงดังนี้

1.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สังกัดสภากาชาดไทย มีความเป็นกลางทางการเมือง ปฏิบัติงานเพื่อรักษาผู้ป่วยและผู้ได้รับบาดเจ็บทุกคน ไม่ว่าในภาวะปกติ หรือในภาวะสงคราม

2.การย้ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในวันศุกร์ที่ 30 เมษายน 2553 เป็นไปเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่และผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางด้านถนนราชดำริ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องมลภาวะทางเสียงที่รบกวนผู้ป่วยที่รักษาตัวในตึกที่อยู่ติดถนนราชดำริ การเข้ามาใช้พื้นที่ของโรงพยาบาลทางด้านหน้าตึก ภปร ในยามค่ำคืนของผู้ชุมนุม และผู้ชุมนุมบางคนที่เข้ามาเดินในโรงพยาบาลในยามวิกาล เนื่องจากโรงพยาบาลเป็นพื้นที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีการปิด

นอกจากนี้ได้เคยมีการขอมาตรวจค้นตึกของโรงพยาบาลและมีข่าวเรื่องพบระเบิดหน้าห้องฉุกเฉิน ข่าวการวางแผนเพื่อวางเพลิงบริเวณแยกศาลาแดงและมีการจุดประทัดที่มีเสียงคล้ายปืนในบางวันเหตุการณ์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องเหล่านี้ ทำให้เจ้าหน้าที่และผู้ป่วยที่มารับบริการมีความหวาดกลัวและมีความไม่สะดวกในการเดินทางมาใช้บริการที่โรงพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยที่มารับบริการทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในตลอดจนเจ้าหน้าที่

ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลจึงได้มีมาตรการในการปฏิบัติเป็นลำดับขั้นตอนดังนี้

-งดการตรวจคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการในตอนเย็นและวันหยุดราชการ (วันที่ 23-25 เมษายน 2553 และวันที่ 27 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2553)

-งดการตรวจผู้ป่วยนอกที่ตึก ภปร ซึ่งอยู่ติดกับแยกศาลาแดง (วันที่ 29-30 เมษายน 2553)

-ย้ายผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในตึกด้านถนนราชดำริมาอยู่ในตึกฝั่งถนนอังรีดูนังต์ ในวันพุธที่ 28 เมษายน 2553 หลังเกิดเหตุการณ์ปะทะกันแถวดอนเมืองและมีเสียงระเบิดดังขึ้นที่ถนนพระรามที่ 4 ในเวลากลางคืนของวันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน 2553 ได้มีการเข้าตรวจค้นตึก สก และตึก ภปร ของแกนนำและผู้ชุมนุมทำให้ผู้ป่วย ญาติและเจ้าหน้าที่ไม่มั่นใจในความปลอดภัยของโรงพยาบาลอีกต่อไป ทางโรงพยาบาลจึงตัดสินใจทำการย้ายผู้ป่วยในของโรงพยาบาลทั้งหมดไปที่โรงพยาบาลอื่นเพื่อลดความเสี่ยงของผู้ป่วย

3.ขณะนี้โรงพยาบาลเปิดห้องฉุกเฉินชั่วคราวที่ตึกจงกลนีวัฒนวงศ์ ซึ่งย้ายมาจากห้องฉุกเฉินเดิมฝั่งถนนราชดำริ โดยเปิดทำการเวลา 07.30-16.00 น.

4.โรงพยาบาลมีความตั้งใจจะกลับมาเปิดบริการตามปกติโดยเร็วที่สุด เนื่องจากมีผู้ป่วยที่รอรับการรักษาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพื่อความมั่นใจในความปลอดภัยของผู้ป่วยจึงขอวิงวอนให้ทางกลุ่ม นปช. ย้ายกลุ่มผู้ชุมนุมไปถึงแยกถนนสารสิน โดยเปิดพื้นที่ถนนราชดำริทั้งสองฝั่งที่ติดกับตึกสูงทั้งสามตึกของโรงพยาบาลคือ ตึก ภปร ตึก สก และตึก อปร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในตึกเหล่านี้ และผู้ป่วยที่ต้องมาใช้บริการเกิดความมั่นใจในความปลอดภัย รวมทั้งทางผู้ชุมนุมจะได้ลดความกังวลเกี่ยวกับการมีเจ้าหน้าที่ในตึกด้วย

5.เนื่องจากขณะนี้มีข่าวที่สับสนอยู่มาก ดังนั้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จึงขอแจ้งข่าวผ่านสื่อมวลชน

สำหรับการให้บริการของรพ.จุฬาลงกรณ์ จะเปิดให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ ตึกจงกลนีวัฒนวงศ์ชั้นล่าง ระหว่างเวลา 07.30-16.00 น. ส่วนคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ รพ.จุฬาฯ ปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

ด้านสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ออกแถลงกาณ์ประณามการกระทำของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในการใช้พฤติกรรมข่มขู่คุกคามผู้สื่อข่าว จากกรณีการแถลงข่าวของนายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำ นปช. ซึ่งได้กล่าวอ้างว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีการซ่องสุมกำลังเพื่อเตรียมสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ในการแถลงข่าวดังกล่าว ผู้สื่อข่าวได้ถามกลับไปว่า มีภาพถ่ายเป็นหลักฐานหรือไม่ ว่าในโรงพยาบาลมีทหารอยู่จริง แต่สิ่งที่นักข่าวได้รับจากแกนนำ โดยเฉพาะนายจตุพร นอกจากไม่ตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ยังแสดงอารมณ์ความฉุนเฉียว คุกคาม พร้อมกับท้าว่า “ถ้าไม่เชื่อให้ไปดูพร้อมกัน” และย้ำว่านักข่าวคนนี้ต้องไปด้วยให้ได้“ ซึ่งถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนและจับนักข่าวเป็นตัวประกันในการบุกเข้าไปในโรงพยาบาลจุฬาฯ

นอกจากนี้ ในการแถลงข่าว ได้มีการต่อสายไปยังเครื่องขยายเสียงที่เวทีปราศรัย ทำให้คำกล่าวของนายจตุพร ถูกกระจายเสียงให้ได้ยินกันทั่วพื้นที่ชุมนุมราชประสงค์ กลายเป็นชนวนชักชวนให้มวลชนเสื้อแดงให้บุกโรงพยาบาลในค่ำคืนนั้น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงขอประณามการกระทำดังกล่าว พร้อมกับเรียกร้องให้แกนนำหยุดการกระทำที่เป็นการคุกคามสื่อ และยั่วยุให้เกิดความรุนแรงดังนี้

1.ผู้สื่อข่าวไม่ใช่คู่ขัดแย้งของกลุ่มผู้ชุมนุม และการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวเป็นการทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ความรับผิดชอบต่อสังคม ฉะนั้นจึงขอให้แกนนำ และกลุ่มผู้ชุมนุมหยุดพฤติกรรมอันเป็นการข่มขู่ คุกคามสื่อมวลชน

2.ขอให้แกนนำปรับเปลี่ยนวิธีการแถลงข่าว โดยการถ่ายทอดเสียงออกไปยังผู้ชุมนุม เพราะนอกจากจะทำให้ผู้สื่อข่าวไม่สามารถทำหน้าที่ได้โดยอิสระแล้ว ยังถูกผู้ชุมนุมห้อมล้อม และมีการโห่ไม่พอใจหากตั้งคำถามไม่ถูกใจ ซึ่งเป็นการลิดรอนการทำหน้าที่

ทั้งนี้ ขอเป็นกำลังใจให้สื่อมวลชนทุกท่านในการทำหน้าที่ในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ และขอให้หน่วยงานต้นสังกัด ตระหนักถึงความปลอดภัยของนักข่าวเป็นสำคัญ

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: เว็บไซต์ไทยรัฐ, เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net