รายงาน: สำรวจหมายเรียกรายงานตัว ศอฉ. ปฏิบัติการจิตวิทยาของรัฐบาลอภิสิทธิ์ปี2553

 

ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการหาทางจัดการกับการชุมนุม ณ แยกราชประสงค์ที่ยังไม่จบสิ้น  ศอฉ.ได้เรียกบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวพัน ใกล้ชิด สนับสนุน หรือมีลักษณะที่รัฐคิดว่าเป็น “แนวร่วม” เข้ารายงานตัวและให้ข้อมูลกับ ศอฉ.ที่ราบ 11 จำนวนมากดังที่ปรากฏในข่าว ไม่ว่าจะเป็นคนใหญ่คนโตในสังคม จนถึงกลุ่มวินมอเตอร์ไซด์ แท็กซี่ คนทำวิทยุชุมชน จนกระทั่งล่าสุดคือกลุ่มนักศึกษา

ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกเช่นกันที่เราไม่สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสาร กระบวนการสอบสวน หรือกระทั่งรายชื่อทั้งหมดที่เป็นเป้าหมาย รวมถึงเหตุผลในการเลือกเป้าหมายนั้น รายงานนี้เป็นการสัมภาษณ์ผู้ถูกเรียกบางส่วนที่เข้าสู่กระบวนการ “รายงานตัว”หรือ“ให้ข้อมูล” เพื่อให้ทราบถึงกระบวนการของรัฐ และความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่มีประสบการณ์ดังกล่าว

ไม่มีใครตอบได้แน่ชัดนักว่าเหตุใดพวกเขาได้รับหมายเรียกจาก ศอฉ. และต้องไปรายงานตัว แต่คนส่วนใหญ่ที่ได้รับเอกสารเชิญตัวมักหวั่นเกรงว่าจะหากไม่ไปจะโดนออกหมายจับดังที่รัฐบาลออกข่าว ขณะที่หากไปรายงานตัวในค่ายทหารก็กังวลถึงความปลอดภัยกลัวไม่ได้กลับออกมา เจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำการอยู่ประตูหน้าราบ 11 ให้ข้อมูลว่าแรกๆ ไม่ค่อยมีคนมารายงานนัก แต่ภายหลังเมื่อคนที่มาแล้วเห็นว่าไม่มีอะไร ก็บอกกันปากต่อปากและทำให้มีคนเข้ามารายงานตัวมากขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 20 ราย

เอกสารเชิญตัวดังกล่าวจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่นำไปให้ถึงที่พักอาศัย เป็นกระดาษขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของเอสี่ ระบุว่า อาศัยอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 11 (2) และประกาศตามมาตรา 11 แห่งพรก.ฉุกเฉิน ลงวันที่ 7 เม.ย.53 ขอออกคำสั่งมายัง นาย ก. อยู่บ้านเลขที่ ให้ไป ณ ศอฉ.ที่กรมทหารราบ11 ในวันและเวลาที่กำหนด พร้อมลายเซ็นของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะผอ.ศอฉ.

บางคนไปรายงานตัวตามวันนัดหมายในทันที (ส่วนใหญ่เป็นวันรุ่งขึ้นหลังได้รับเอกสาร) บางคนไม่อยู่บ้านในวันที่เอกสารไปถึงหรือไม่ว่างก็ตัดสินใจไปรายงานตัวในอีก 2-3 วันถัดมา ขณะที่บางส่วนตัดสินใจไม่ไปรายงานตัว ซึ่งเขาจะได้เอกสารดังกล่าวรอบที่สองก่อนที่จะถึงคำขู่ขั้นสุดท้ายคือการออกหมายจับ 

เมื่อเดินทางมายังราบ 11 พวกเขาจะถูกรับตัวเข้าไปเพียงลำพังโดยปฏิเสธให้มีผู้ติดตามหรือทนายความ แต่ก็มีบางกรณีที่พบว่าสามารถนำทนายเข้าไปด้วยได้อย่างน้อยก็เพื่อจะนั่งรอภายในอาคารที่ดำเนินการ

การให้ข้อมูลแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบว่าเหตุใดผู้นั้นจึงถูกเรียกมาให้ข้อมูล เพียงแต่บอกว่าการให้ข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทางการ ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง แต่บางกรณีมีการนั่งรอยาวนานก็อาจกินเวลาในค่ายทหารถึง 6 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม นักศึกษาคนหนึ่งระบุว่ามีการหมายเหตุในท้ายเอกสารที่เจ้าหน้าที่ถือว่า เขามีความเกี่ยวพันกับกลุ่มแดงสยาม ซึ่งนั่นทำให้เขางุนงงเป็นอย่างมาก และการซักถามก็มุ่งไปยังความเกี่ยวพันกับสุรชัย แซ่ด่าน ซึ่งเขาไม่ได้รู้จักมักคุ้น

ผู้ถูกเรียกรายหนึ่งระบุว่า ในห้องแรกจะเป็นการตั้งโต๊ะของพนักงานสอบสวนเพื่อสอบถามประวัติทั่วไป เช่น ชื่อ อาชีพ ที่อยู่ สถานศึกษา ภูมิลำเนา รวมไปถึงความเกี่ยวพันกับคนเสื้อแดง เช่น มาชุมนุมกี่ครั้ง เคยให้การสนับสนุนเงินไหม มีบัตรสมาชิกหรือไม่ ทราบไหมว่ามีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทราบไหมว่าไปชุมนุมผิดกฎหมาย วันที่ 10 เม.ย.อยู่ที่ไหน คิดว่าไอ้โม่งเสื้อดำเป็นใคร คิดอย่างไรเรื่อง 2 มาตรฐาน คิดอย่างไรเรื่องสถาบันกษัตริย์

ส่วนห้องที่สอง ผู้ถูกเรียกจะถูกแยกสอบเดี่ยว ผู้ถูกเรียกคนหนึ่งระบุว่าเจ้าหน้าที่ที่พูดคุยด้วยมาจากกรมกิจการพลเรือน กองทัพบก การพูดคุยเริ่มเข้มข้นมากขึ้น โดยจะมีการโต้แย้งความคิดเห็นหรือข้อมูลต่างๆ ของกลุ่มเสื้อแดงเพื่อให้เกิดการถกเถียง เช่น ยุบสภาไม่ใช่ทางแก้ปัญหา คนจำนวนมากไม่ต้องการให้ยุบสภา คิดว่าขบวนการล้มเจ้ามีอยู่จริงหรือไม่ จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ส่วนห้องที่สามเป็นเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง ที่เหมือนเข้ามาสอบถามความเห็นว่ารู้สึกอย่างไรกับทหาร

ในขณะที่ผู้ถูกสอบอีกคนหนึ่งระบุว่า เมื่อเขาและเพื่อนเข้าไปก็พบว่ามีผู้รออยู่ก่อนแล้วราว 10 กว่าคน ทั้งหมดจะเจอกับบทเกริ่นนำว่านี่เป็นเพียงการขอความร่วมมือ ไม่ต้องหวาดกลัว และการให้ข้อมูลจะช่วยแก้ปัญหาความแตกแยกของบ้านเมือง จากนั้นมีเจ้าหน้าที่คาดว่ามาจากดีเอสไอที่พูดจาแข็งกร้าวชี้แจงว่าการชุมนุมนั้นผิดกฎหมายทั้งยังเต็มไปด้วยความรุนแรง เจ้าหน้าที่พยายามแยกผู้บริสุทธิ์กับคนผิดกฎหมายออกจากกันแล้วอย่ากลับเข้าไปอีก จากนั้นเจอกับเจ้าหน้าซึ่งบอกว่าตนเป็นอดีตรองโฆษกของคณะปฏิรูปการปกครองฯ หรือ คปค. ซึ่งมาชวนคุยเรื่องการเมืองทำนองว่า ทำไมจึงต่อต้านรัฐประหารทั้งที่มันมีความจำเป็น การยุบสภาจะแก้ปัญหาอย่างไร รัฐธรรมนูญ 50นั้นดีกว่ารัฐธรรมนูญ 40 คิดอย่างไรกับระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการบันทึกประวัติและแนวคิดเบื้องต้นก่อนจะปริ๊นท์ออกมาให้ลงนาม เพื่อเข้าไปสู่ห้องต่อไปคือหน่วยจิตวิทยาที่พยายามสั่งสอนและโน้มน้าวให้เห็นถึงสิ่งที่ถูกต้อง

ส่วนด่านสุดท้ายเจอกับเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาทำความคุ้นเคย ให้ความเป็นกันเองและชวนคุยเรื่องต่างๆ เช่น เคยขึ้นปราศรัยไหม แล้วเคยหลุดคำพูดประเภทล้มล้างสถาบันหรือไม่ คิดว่าแกนนำคนไหนที่ปราศรัยล้มล้างสถาบันรุนแรงที่สุด โดยอ้างว่าเขาต้องการเก็บข้อมูลเพื่อไปทำงานวิจัยที่จะหาวิธีแก้ปัญหาความแตกแยกประเทศ และจะพยายามรวบรวมไอเดียต่างๆ ให้ได้มากที่สุด

โดยรวมแล้วผู้ถูกเรียกมักระบุว่าเจ้าหน้าที่มีท่าทีที่ดี อาจมีแข็งกร้าวหรือออกแนวขู่ให้กลัวบ้างก็เพียงเล็กน้อยโดยยกเรื่องผิดกฎหมายมาเป็นประเด็นหลัก หากเป็นเยาวชนก็มุ่งเน้นเรื่องพ่อแม่เสียใจ เสียอนาคต

“กระบวนการของเขาเหมือนเป็นการปรามกลายๆ กับคนที่ร่วมชุมนุม อาจทำให้เกิดความหวาดกลัว โดยท่าทีก็ไม่ได้รุนแรงอะไร แต่การมี process นี้ โดยตัวมันเองเป็นการคุกคามแล้ว แต่ผมก็ว่าถ้าหวังจะให้คนหวาดหวั่นเขาคงไม่หรอก มีแต่ศอฉ.ที่จะเสียคะแนนเอง เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามหลักสากล คนถูกเรียกมีสิทธิจะรับรู้ว่าจะมีกระบวนการอย่างไรบ้าง แต่นี่ไม่มีการแถลงอะไร ไม่รู้สิทธิของตัวเอง ทำให้คนรู้สึกไม่ปลอดภัย นี่เป็นวัฒนธรรมความไม่โปร่งใสที่อยู่ในระบบราชการไทย ไม่เฉพาะแต่ ศอฉ.” ผู้ถูกเรียกคนหนึ่งกล่าว

“มันไม่ชอบธรรม เราออกไปเรียกร้องตามสิทธิของเรา รัฐกลับใช้อำนาจตามพรก.อย่างเต็มที่มาละเมิดเรา เรียกเราไปรายงานตัว เอาหมายมาถึงบ้าน มันเหมือนคุกคามเราแล้ว เราไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ตอนนั้นพอดีผมไม่อยู่ ยายอยู่บ้านแกเลยเทศน์ตำรวจที่เอาหมายมาเป็นชั่วโมงเลยว่าทำแบบนี้ไม่ได้ (หัวเราะ)” นักศึกษาคนหนึ่งกล่าว

หากกล่าวเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่ถูกเรียกไปรายงานตัวนั้น อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มองว่ามันดูไม่ค่อยมีเหตุผลนักที่จะเรียกนักศึกษาไป แม้ทำการสอบเสร็จแล้วก็ยังไม่ชัดเจนว่าทำไมต้องเรียกนักศึกษาไปรายงานตัว เพราะการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องพูดถึงว่าสังคมเรียกร้องให้นักศึกษาออกมาตลอด และต่อว่าว่านักศึกษาสนใจแต่ตัวเอง แต่พอออกมาก็ลงเลยแบบนี้ แม้แต่ทนายก็เข้าไปด้วยไม่ได้แม้ว่าพวกเขาจะเป็นเยาวชน ซึ่งเป็นการละเมิดที่ค่อนข้างร้ายแรง อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจในแง่ของความหวาดกลัว เหมือนส่งสัญญาณว่าถ้าจะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองก็ต้องสนับสนุนรัฐบาลเท่านั้น

ถามว่าการทำงานลักษณะนี้ของศอฉ.จะช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่ ประจักษ์มองว่า ดูเหมือนจะเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวให้เพิ่มขึ้นมากกว่า หากจุดมุ่งหมายของ ศอฉ.คือ ข้อมูล ก็ยังไม่เห็นว่ากระบวนการนี้จะทำให้ได้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ แม่นยำได้อย่างไร ดังนั้น เป้าหมายแท้จริงคงเป็นการกดดันฝ่ายคัดค้านรัฐบาล แม้อ้าง พรก.ฉุกเฉิน แต่รัฐธรรมนูญก็ยังบังคับใช้อยู่ สิทธิพื้นฐานของความเป็นพลเมืองไม่ควรถูกพรากไปทั้งหมด ถ้าสังคมนิ่งเฉย สื่อไม่ตรวจสอบ ก็เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญไม่ถูกบังคับใช้โดยสิ้นเชิง เราถูกละเมิดได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องมีหลักฐานชัดเจน

ประจักษ์ทิ้งท้ายว่า แม้กระบวนการนี้ไม่ใช่ความรุนแรงทางกายภาพ แต่มันชัดเจนว่าเป็นการคุกคามทางจิตวิทยา ซึ่งถือเป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่ตกค้างมาตั้งแต่สมัยสงครามต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ โดยอยู่บนฐานความเชื่อว่าประชาชนฝั่งตรงข้ามรัฐบาลอาจถูกหลอกมา หรือถูกชักจูงให้หลงผิด ยุคนี้หากยังมีสมมติฐานอย่างนี้ก็ถือว่าผิดจากความจริงไปมาก เพราะคนเลือกจะเสพข้อมูล เลือกจะเชื่อ เลือกจะตัดสินใจเองแล้ว เหมือนกลุ่มพันธมิตรฯ นักศึกษาก็เข้าร่วมเยอะ เพราะเขาเลือกเอง กลุ่มเสื้อแดงก็แบบเดียวกัน ควรใช้มาตรฐานเดียวกัน 

ยังมีกรณีของพวก ‘เด็กดื้อ’ เรียกไม่ไปด้วยเหมือนกัน

แกนนำคนเสื้อแดงในจังหวัดภาคกลางคนหนึ่งก็ได้รับเอกสารเชิญตัวที่ว่านี้ด้วย แต่เขาตัดสินใจจะไม่ไปรายงานตัวพร้อมให้เหตุผลด้วยความคับแค้น “ตั้งแต่เกิดมา 50 กว่าปีไม่เคยเห็นเผด็จการขนาดนี้ ปฏิวัติเขาก็เรียกกันคนสองคนมารายงานตัว” แน่นอน แม้เราจะถามเขาเพียงเรื่องหมายเรียกของ ศอฉ. แต่ด้วยความคับแค้น อัดอั้น เขากลับเล่าให้เราฟังยืดยาวถึงเส้นทางความเป็นมาของตัวเอง ที่น่าสนใจคือ เขาผู้นี้เป็นอดีตข้าราชการสีเขียว แต่เออรี่รีไทร์ออกมาทำการค้าขาย เขาบอกว่าโดยปกติก็เป็นคนเฉยๆ ไม่ถึงกับเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มฮาร์ดคอร์ทางการเมือง ทั้งยังย้ำว่าไม่ใช่มวลชนฝ่ายทักษิณ แต่มีความไม่พอใจมาตั้งแต่กลุ่มพันธมิตรฯ ก่อตัวแล้วเหมือนอยากจะทำอะไรก็ได้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็ไม่ทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาคือ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ สะสมมาเรื่อยๆ ในเรื่องความไม่ยุติธรรม สองมาตรฐาน ระหว่างกลุ่มคนสองกลุ่ม เขาก็เริ่มออกมากลางถนน ดูพีเพิลชาแนล และท้ายที่สุดกลายเป็นแกนนำในพื้นที่

“เป็นแกนก็ไม่ได้ทำอะไรมาก บังเอิญพื้นที่นั้นมันแทบไม่มีเสื้อแดง เราก็ไปช่วยเขาบ้าง แต่เราต้องทำมาหากิน ไปชุมนุมนี่ก็ยังไปเฉพาะวันว่างช่วงค่ำๆ เห็นเขามีคนเยอะแล้ว”

เมื่อถามว่าเขาพอจะคาดเดาได้ไหมว่าโดนเรียกเพราะสาเหตุใด เขาระบุว่า น่าจะเป็นเพราะการไปลงชื่อเพื่ออบรมเป็นการ์ดที่จังหวัดหนึ่งในภาคกลาง ได้ข่าวว่าการ์โดนเรียกหลายคน เมื่อถามถึงรายละเอียดของการอบรม เขาเล่าว่า เป็นการอบรมเพียงช่วงสั้นๆ ถึงแนวปฏิบัติของการ์ดอาสาว่าต้องขออนุญาตทุกครั้งก่อนค้น ห้ามดื่มเหล้าเด็ดขาด ห้ามพกพาอาวุธ 

“มันเหมือนฝึกมารยาทการ์ดมากกว่า ไม่ใช่ฝึกอาวุธอย่างที่เขากล่าวหา พ่อเห็นว่าเขาไม่ค่อยมีคนก็เลยลงชื่อไปร่วมฟังกับเขา ไม่กี่ชั่วโมง แล้วตั้งแต่อบรมมาเคยใส่เสื้อการ์ดครั้งเดียว ดูแลตอนจัดเลี้ยงโต๊ะจีนระดมทุน หลังจากนั้นก็ไม่เคยปฏิบัติหน้าที่เลย มัวแต่หากิน”

เมื่อถามว่ากลัวถูกออกหมายจับหรือไม่ เขากล่าวว่า “ไม่กลัว จะเอาไปฆ่าไปฝังยังไงก็ยินยอมแล้ว ไม่อยากอยู่เหมือนกันประเทศไทย ไม่ได้ความยุติธรรมอะไรเลย การโกหกของผู้นำประเทศก็เล่นกันเหมือนเด็กขายขนม”

ที่สำคัญกว่านั้น เขาคนนี้เคยอยู่ฝั่งตรงข้ามกับนักศึกษา ประชาชน รวมถึงวีระ มุสิกพงศ์ 

“สมัยตุลาเรายังเคยไล่เขาอยู่เลย แต่ตอนนี้เรากลับมาอยู่กับเขาแล้ว เพราะเราเข้าใจผิด เราอยู่กับทหารมาตั้งแต่เล็ก เขาว่าคอมมิวนิสต์ไม่ดีเราก็ไม่ชอบ ตอนนั้นฟังแต่วิทยุยานเกราะและยังดีใจที่ทหารชนะ จนไม่กี่ปีนี้มีผู้หญิงคนหนึ่งแถวบ้านคุยกันพอรู้ว่าเราเคยเป็นยังไงก็ด่าว่าโง่นะ พวกแกมันโง่ เขาเป็นสาวโรงงานอยู่กับนักศึกษาตลอด โดนมัดมือให้ถอดเสื้อเหลือแต่เสื้อในเขารู้ว่ามันเป็นยังไง น้ำตานักศึกษาเป็นยังไง เราสะดุ้งเลย ลูกสาวก็ยังแซวพ่อมันอยู่ทุกวันนี้ว่าเป็นไงล่ะ แต่ตอนนี้เรารู้ว่าเราไม่เป็นเหมือนเดิมอีกแล้ว” อดีตข้าราชการผู้ถูกเรียกรายงานตัวกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท