Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มเสื้อแดงและรัฐบาลซึ่งเป็นการต่อสู้ครั้งใหญ่ที่สุดนับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมายังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในลักษณะใด แต่ที่แน่ๆก็คือฝ่ายที่ พ่ายแพ้ย่อมมีคดีติดตัวกันระนาว หากฝ่ายเสื้อแดงพ่ายแพ้แน่นอนว่าข้อหาที่พวกเขาจะได้รับย่อมไม่พ้นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อการร้ายและการมุ่งล้มสถาบันตามที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.ตั้งข้อหาไว้ แต่หากรัฐบาลพ่ายแพ้เราคงได้เห็นปรากฏการณ์แปลกใหม่ที่ผู้นำรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องอาจตกเป็นผู้ต้องหาทั้งศาลอาญาในประเทศและศาลอาญาระหว่างประเทศตามที่แกนนำเสื้อแดงประกาศไว้

คำว่า "การก่อการร้าย" หรือ Terrorism นี้ มีการพยายามอธิบายกันอย่างมากมาย อาทิ การใช้ภัยสยอง มาส่งเสริมเป้าหมายทางการเมือง หรือการจงใจใช้หรือคุกคามว่าจะใช้ความรุนแรงต่อพลเรือนหรือเป้าหมายพลเรือน เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายทางการเมือง

การก่อการร้ายของแต่ละประเทศเป็นคำที่มีการโต้เถียงกันกว้างขวางและมีนิยามหลากหลาย โดยไม่มีความหมายใดที่ได้รับการยอมรับโดยสมบูรณ์ แต่คำนี้โดยทั่วไปแล้วมักใช้เพื่อเรียกการโจมตีขององค์กรลับ หรือองค์กรระหว่างประเทศ ที่มีเป้าหมายเพื่อบังคับรัฐบาลด้วยการกระทำที่ใช้ความรุนแรงต่อรัฐบาลหรือสมาชิกหรือรัฐนั้น

คำนี้ยังเป็นคำที่ใช้ในทางลบเสมอและมีความหมายที่ขยายกว้างขึ้นตั้งแต่มีการประกาศสงครามกับ        การก่อการร้ายจนครอบคลุมไปถึงทุกๆ กิจกรรมที่ใช้ความรุนแรง และเป็นคำที่ใช้เฉพาะเพื่อเรียกฝ่าย    ตรงข้ามเท่านั้น ไม่มีกลุ่มใดเรียกตัวเองว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" เลย

ถึงแม้ว่านิยามของคำว่า การก่อการร้ายจะกว้างมาก แต่มักจะประกอบไปด้วยเงื่อนไขที่มีแรงจูงใจเกี่ยวกับการเมืองและศาสนา เป้าหมาย คือ พลเมือง จุดประสงค์เพื่อข่มขู่ การข่มขู่มุ่งเป้าไปที่รัฐบาลหรือสังคม ผู้กระทำนั้นไม่ใช่รัฐ และการกระทำนั้นผิดกฎหมาย 

ในส่วนของกฎหมายไทยนั้น กำหนดให้ลักษณะความผิดที่กำหนดว่าเป็นการก่อการร้าย ดังนี้

มาตรา 135/1 ผู้ใด กระทำการอันเป็นความผิดอาญา ดังต่อไปนี้

(1) ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการใด อันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย หรือเสรีภาพ ของบุคคลใดๆ

(2) กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐาน อันเป็นประโยชน์สาธารณะ

(3) กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใดหรือของบุคคลใดหรือต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ

ถ้าการกระทำนั้นได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศหรือ องค์การระหว่างประเทศ ให้กระทำหรือไม่กระทำการใด อันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงหรือเพื่อสร้างความปั่นป่วน โดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ผู้นั้น กระทำความผิดฐานก่อการร้าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านบาท

การกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้งหรือเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือหรือให้ได้รับความเป็นธรรม อันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย 

ซึ่งข้อหาการก่อการร้ายนั้นยังไม่เคยมีการดำเนินคดีในศาลไทยแต่อย่างใด ฉะนั้น ในส่วนของการกระทำของเสื้อแดงว่าจะเป็นการก่อการร้ายหรือไม่นั้น ก็ต้องให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยซึ่งก็รวมไปถึงข้อหาการมุ่งล้มสถาบันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย 

ในทางกลับกันหากรัฐบาลตกเป็นฝ่ายที่พ่ายแพ้ นอกจากจะตกเป็นผู้ต้องหาในศาลยุติธรรมในประเทศ ( national court ) ดังเช่นอดีตประธานาธิบดีชุนดูวานของเกาหลีที่ต้องติดคุกตลอดชีวิตฐานสั่งฆ่าประชาชนของตนเองแล้ว ยังมีโอกาสถูกดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศด้วย

ศาลอาญาระหว่างประเทศ ( International Criminal Court :- ICC) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 โดยธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือที่เรียกว่า "Rome Statute" ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาคดีอาญาที่เกี่ยวกับการล้างเผ่าพันธุ์และคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ คดีอาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรม ที่เป็นการรุกราน 

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) แตกต่างจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice-ICJ) ก็คือ  ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ( ICJ ) มีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐ แต่ศาลอาญาระหว่างประเทศ ( ICC ) มีอำนาจพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคล และมีอำนาจไต่สวน ดำเนินคดี และพิพากษาคดีบุคคล 

ดังนั้น ศาลอาญาระหว่างประเทศ จึงเป็นเวทีสำหรับรับเยียวยา การร้องขอความเป็นธรรมในคดีที่บุคคลกระทำความผิด ไม่ว่าการกระทำนั้นๆ จะเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลที่ใช้อำนาจรัฐอยู่ หรือว่าการกระทำนั้นจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคล หรือคณะบุคคลที่ต่อสู้ ต่อต้าน หรือเป็นขบถ หรือ   มุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือระบอบการปกครองที่ครองอำนาจรัฐอยู่

ศาลอาญาระหว่างประเทศนี้ แตกต่างจากศาลอาญาระหว่างประเทศชั่วคราว ( ad hoc tribunal ) ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาคดีอาชญากรรมที่กระทำขึ้นในรวันดาและยูโกสลาเวียเป็นการชั่วคราว โดยศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นมาอย่างถาวร เพื่อที่จะสามารถดำเนินงานได้อย่างทรงประสิทธิภาพ โดยสามารถปฏิบัติงานได้ทันที และสามารถดำเนินการพิจารณาคดีได้เป็นประจำและต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาทั่วทั้งโลก ไม่ว่าจะกระทำความผิดที่ใดก็ตาม 

ศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจศาลข้ามประเทศ เพื่อมุ่งแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในการพยายามที่จะดำเนินคดีทางอาญากับบรรดาเผด็จการต่างๆ และอาชญากรอื่นๆ ที่อาจจะหลบหนีคดีอาญาจากประเทศหนึ่งประเทศใดที่บุคคลเหล่านี้เคยกระทำความผิดที่ถือว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการรุกรานทำลายล้างด้วยรูปแบบวิธีการต่างๆ

อีกไม่นานเกินรอเราคงได้เห็นตอนจบ แต่จะจบลงอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยต่างๆ ทางการเมืองที่ประกอบกันขึ้น แต่ที่แน่ๆ นอกจากการเมืองไทยที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปที่จะมี   ผู้เล่นเฉพาะนักการเมืองในสภาและกองทัพหรือกลุ่มผลประโยชน์เดิมๆ แต่จะมีผู้เล่นกลุ่มใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกซึ่งคือกลุ่มการเมืองภาคประชาชนไม่ว่าจะเป็นสีใดก็ตาม ในด้านกฎหมายก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปเพราะจะมีข้อหาใหม่ คือ ผู้ต้องหาก่อการร้ายมุ่งล้มสถาบันหรือไม่ก็มีผู้ต้องหาศาลอาญาระหว่างประเทศเกิดขึ้น อยู่ที่ว่าใครจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในประวัติศาสตร์หน้านี้

 

--------------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 4 พ.ค. 53

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net