การใช้กลไกของรัฐในการเผยแผ่ศีลธรรมทางศาสนา

ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ สิ่งที่พิสูจน์ความจริงข้อนี้อาจมองได้ 2 ระดับ คือ 

1) ข้อเท็จจริงทางชีววิทยาที่ระบุว่ามนุษย์เรามีสมอง 2 ซีก สมองซีกซ้ายคิดเรื่องตรรกะเหตุผล ความจริง เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสองซีกขวาทำหน้าที่จินตนาการ ซาบซึ้งและสร้างสรรค์ความงาม ความดี เช่น ศิลปะ ศาสนา ศีลธรรม

2) ความจริงเชิงปรัชญา (และศาสนา) ที่ว่ามนุษย์นั้นประกอบด้วยกายกับจิต หรือในการดำรงอยู่ของมนุษย์นั้น มนุษย์มีกิจกรรมที่ต้องทำเพื่อตอบสนองความต้องการสองด้านหลักๆ คือความต้องการทางกายภาพ (ที่ขยายออกเป็นความต้องการทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่นๆ) และความต้องการทางจิตวิญญาณ เช่น ความพ้นทุกข์ ความสงบ การหยุดความดิ้นรนภายใน

ฉะนั้น สมองซีกขวากับความต้องการทางจิตวิญญาณอันเป็นธรรมชาติทางชีววิทยาและธรรมชาติทางจิตใจของมนุษย์ คือบ่อเกิดของศาสนาและศีลธรรม (ทางศาสนาและในความหมายที่กว้างกว่าศีลธรรมทางศาสนาด้วย) จึงกล่าวอย่างถึงที่สุดได้ว่า ศาสนาและศีลธรรมเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ หากตัดศาสนาและศีลธรรมออกไปจากชีวิตเท่ากับมนุษย์จงใจที่จะตัดธรรมชาติอีกด้านหนึ่งของชีวิต (อันเป็นด้านที่ดีงาม) ออกไป ชีวิตที่เหลืออยู่เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการด้านกายภาพย่อมเป็นชีวิตที่ขาดวิ่น ไม่อาจประเมินค่าในเชิงความดีงามใดๆได้

เมื่อเป็นเช่นนี้มนุษย์จึงต้องมีศาสนาและศีลธรรม และเมื่อมนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ใน “สังคมการเมือง” ศาสนาและศีลธรรมจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองไปด้วย และเมื่อสังคมการเมืองพัฒนามาสู่ความเป็น “รัฐ” ศาสนาและศีลธรรมก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ และมีการใช้กลไกของรัฐในการเผยแพร่ ปลูกฝังความเชื่อ และศีลธรรมทางศาสนา

การใช้กลไกของรัฐในการเผยแผ่และปลูกฝังความเชื่อและศีลธรรมทางศาสนาในแต่ละรัฐและแต่ละยุคสมัยอาจแตกต่างกันไป บางรัฐที่เป็น “รัฐศาสนา” (เช่น รัฐอิสลาม) ก็สามารถใช้กลไกของรัฐทุกระดับในการเผยแผ่และปลูกฝังศีลธรรม ตั้งแต่การออกกฎหมาย นโยบายและการจัดการศึกษา หรือแนวทางการพัฒนาประเทศโดยทั่วไปจะต้องเป็นไปเพื่อส่งเสริมหรือไม่ทำลายหลักความเชื่อและศีลธรรมทางศาสนาแห่งรัฐ

ในบางยุคศาสนาใช้แม้กระทั่งกองทัพในการเผยแผ่คำสอน เช่น กองทัพล่าอาณานิคมก็อาจนำศาสนาเข้าไปเผยแผ่ด้วย เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนา (หรือนิกายศาสนา) ก็มีการใช้กองทัพเพื่อต่อสู้เอาชนะฝ่ายตรงข้าม หรือปกป้องศาสนาของฝ่ายตน

รัฐไทย (ทั้งรัฐสมัยโบราณและรัฐสมัยใหม่) ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์จนปัจจุบันก็มีการใช้กลไกของรัฐในการเผยแผ่พุทธศาสนามาตลอด (ต่างกันเพียงรายละเอียดและระดับความเข้มข้น) เช่น การที่พ่อขุนรามคำแหงแสดงธรรมแก่ข้าราชบริพาร การปลูกฝังโลกทัศน์และศีลธรรมแบบ “ไตรภูมิ” ของพญาลิไท การใช้กลไกของรัฐในการขยายการจัดการศึกษาแบบคณะสงฆ์ส่วนกลางไปสู่ภูมิภาค สมัย ร.5 เทศนา “เสือป่า” และการปลูกฝังอุดมการณ์ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” สมัย ร.6 (ที่ยังมีอิทธิพลมาถึงยุครัฐประชาธิปไตยในปัจจุบัน)

ย้อนไปสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเองก็น่าจะมีการใช้กลไกของรัฐในการเผยแผ่พุทธธรรมด้วยเช่นกัน เช่น ในช่วงแรกเริ่มของการเผยแผ่พุทธธรรม พระองค์เลือกที่จะไปพบพระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์แห่งมคธรัฐ (หนึ่งในรัฐมหาอำนาจในเวลานั้น) ที่เป็นพระสหายเก่า ฉากในคัมภีร์พุทธประวัติบรรยายว่า พระองค์แสดงธรรมแก่กษัตริย์ที่แวดล้อมด้วยบรรดาขุนนางบริวารและชาวเมืองจำนวนมาก เมื่อจบการแสดงธรรม กษัตริย์ บริวารและชาวเมืองจำนวนมากเกิดความเลื่อมใสประกาศตัวนับถือพระรัตนตรัย แล้วกษัตริย์ก็ถวายที่ดินให้เป็นวัดแห่งแรกในพุทธศาสนาชื่อ “เวุฬุวนาราม”

จากนั้นการเผยแผ่พุทธธรรมของพระพุทธองค์ก็ดูเหมือนจะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากรัฐมหาอำนาจ 2 รัฐ คือ มคธ และโกศล และยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า การที่กษัตริย์จะขอคำปรึกษา “ทางการเมือง” กับพระพุทธเจ้านั้น ก็ดูเหมือน (กษัตริย์จะเชื่อว่า) เป็นเรื่องที่กระทำได้อย่างไม่ผิด เช่น แม้กระทั่งการทำศึกสงคราม พระเจ้าอชาตศัตรูก็ยังส่งปุโรหิต (ที่ปรึกษา) ไปขอคำแนะนำจากพระพุทธเจ้า (แต่พระองค์ไม่ได้บอกวิธีการทำสงครามให้ชนะ เพียงแต่เล่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจุดแข็งทางศีลธรรมของฝ่ายตรงกันข้าม ทำให้ที่ปรึกษากษัตริย์นำเรื่องที่พระพุทธเจ้าเล่านั้นไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนในการทำสงครามจนประสบชัยชนะ)

นอกจากนี้กระบวนการเผยแผ่หลักปรัชญา ความเชื่อ และศีลธรรม ของพระพุทธเจ้า ในบางด้านก็อาจมองได้ว่าเป็นกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองแบบหนึ่งที่พยายามหาทางออกจากปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมยุคนั้น เช่น การปฏิเสธระบบชนชั้น การตั้งชุมชนสงฆ์ ที่กำหนดรูปแบบในการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันว่า ทุกคนเสมอภาคกันตามกติกาพระธรรมวินัยไม่ว่าใครจะมาจากชนชั้นไหนก็ตาม การก่อตั้งสังคมชาวพุทธที่เรียกว่า “พุทธบริษัท 4” ที่ให้สิทธิแก่สตรีในการศึกษาและปฏิบัติธรรม และอนุญาตให้สตรีบวชได้ (ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้ามากสำหรับสังคมเมื่อกว่าสองพันปีก่อน ที่สังคมศาสนาพราหมณ์ในยุคเดียวกันยึดถือระบบชนชั้นอย่างเคร่งครัด และปฏิเสธสิทธิสตรีแม้แต่การท่องจำหรือเรียนคัมภีร์ทางศาสนา)

ฉะนั้น การที่สังคมไทยปัจจุบัน พยายามที่จะสร้างความเชื่อว่า พุทธศาสนาให้คำตอบเฉพาะเรื่องทางธรรม ไม่เกี่ยวกับทางโลก หรือพุทธศาสนาและพระสงฆ์อยู่เหนือการเมือง อยู่เหนือปัญหาทางโลก จึงน่าจะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ทั้งประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในสังคมไทย และประวัติศาสตร์พุทธศาสนายุคพุทธกาล

อย่างไรก็ตาม ถึงจะยอมรับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว แต่ปัจจุบันสังคมไทยอยู่ในยุคของ “รัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่” ที่ยึดหลักความเสมอภาคทางศาสนา และเคารพเสรีภาพในการนับถือศาสนา นิกายศาสนา การปฏิบัติพิธีกรรมและศีลธรรมทางศาสนา ซึ่งหมายความว่ารัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่เป็นรัฐที่ยอมรับ และให้หลักประกันความหลากหลายทางศาสนา ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม ฯลฯ

ฉะนั้น การใช้กลไกของรัฐในการเผยแผ่ศาสนา จึงต้องเผชิญกับคำถามพื้นฐานของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ อย่างน้อย 3 ประการ คือ

1. กระทบต่อหลักความเสมอภาคทางศาสนา และสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือไม่

2. เป็นการใช้กลไกของรัฐเป็นเครื่องมือขยายการครอบงำทางความเชื่อของศาสนา นิกายศาสนา หรือลัทธิพิธีกรรมในแบบใดแบหนึ่งโดยเฉพาะ ที่อาจส่งผลให้เกิดการลดทอนความหลากหลายทางปรัชญา ความเชื่อ ค่านิยม ประเพณี วิถีชีวิตทางศาสนาที่มีอยู่แล้ว และความหลากหลายนั้นก็ทำหน้าที่ทางศีลธรรมตอบสนองต่อความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมตามที่เป็นอยู่แล้วหรือไม่

3. การใช้กลไกของรัฐดังกล่าว หากมีการใช้งบประมาณของรัฐซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนจากทุกศาสนา จะทำให้เกิดปัญหาเรื่อง “ความยุติธรรม” หรือไม่

ผู้เขียนคิดว่า กรณีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ สมาคมพุทธศาสตร์สากล ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระมหามังคลาจารย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัดพระธรรมกาย ถือเป็นการใช้กลไกของรัฐ (รัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่) ในการเผยแผ่ศีลธรรมทางศาสนา จึงนอกจากอาจต้องตอบข้อคัดค้าน (เชิงตรวจสอบ) ของปัญญาชน และเอ็นจีโอจำนวนหนึ่งที่ออกมาคัดค้านเรื่องนี้แล้ว ยังต้องเผชิญกับคำถามทั้ง 3 ข้อดังกล่าวด้วย

แม้ผู้เขียนจะไม่เห็นด้วยกับทัศนะที่แยกเรื่องศาสนาให้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลโดยสิ้นเชิง และเห็นว่าศาสนาทั้งมีมิติและควรมีบทบาททางสังคมการเมืองอย่างเอื้อต่อสันติวิธี และสันติภาพในการอยู่ร่วมกันอย่างเหมาะสมกับบริบทของยุคสมัยด้วย แต่ก็เห็นว่าการใช้กลไกของรัฐในการเผยแผ่ศีลธรรมทางศาสนา มีความจำเป็นต้องตอบคำถามพื้นฐานของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ดังกล่าวให้ได้ด้วย

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท