คนอย่างเสธ.แดง และอภิสิทธิ์ในจุดเปลี่ยนการเมืองไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ผมเห็นภาพลูกสาวเสธ.แดง นั่งน้ำตาคลอเฝ้าดูอาการของพ่อที่ถูกยิงด้วยท่าทางอิดโรย แล้วรู้สึกสะท้อนใจ ชีวิตทุกคนล้วนมีค่าในตัวเอง และมีความหมายสำหรับคนที่รักเขา ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร จะอยู่ฝ่ายใด บาดแผลของเขา ความเจ็บปวดทรมานของเขา คือความเจ็บปวดทุกข์เศร้าของญาติมิตร และคือบาดแผลของสังคมที่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ก้าวหน้ากว่าจำต้องแลกด้วยชีวิตของผู้คน

ผมไม่เคยชื่นชอบเสธ.แดงเลย บทบาทของเขาเป็นที่น่าเคลือบแคลงว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์รุนแรงหลายเหตุการณ์ในความขัดแย้งทางการเมือง นับแต่การยิงเอ็ม 79 ลงใกล้เวทีพันธมิตรฯ (ซึ่งมักเกิดขึ้นตามคำทำนายของเสธ.แดง) แล้วก็เอ็ม 79 ที่ลงในจุดต่างๆ เหตุการณ์ 10 เมษา และอื่นๆ ดูเหมือนจะปรากฏ “คอมเมนท์” ของเสธ.แดงเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆ อยู่เรื่อยๆ บางเรื่องแกพูดราวกับตนรู้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด ทำให้คน “คิดไป” ได้ว่า แกอาจอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ (แต่ก็ไม่เคยมีการจับได้ หรือมีการแสดงหลักฐานชัดเจนว่าเป็นเช่นนั้นจริง)

นอกจากนี้เสธ.แดงยังแสดงพฤติกรรม “ทหารนอกแถว” ที่ท้าทายต่อวินัยทหาร คำสั่งและอำนาจของผู้บังคับบัญชา ผมนึกถามในใจตลอดมาว่า ทำไมกองทัพจึงปล่อยให้นายทหารคนนี้ออกมาแสดงบทบาทที่ทำให้ภาพลักษณ์ด้าน “ความมีวินัย” ของทหารเสียหายได้ขนาดนี้ เพราะภาพลักษณ์ “ความมีวินัย” คือภาพลักษณ์ด้านดีเพียงด้านเดียวของทหารไทยที่ยังพอจะมีอยู่

นอกจากนี้ผมนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทหารไทยสมัยใหม่มีศักดิ์ศรีอะไรที่ควรแก่การภาคภูมิใจ เพราะภาพลักษณ์ของพวกเขาคือผู้ทำลายประชาธิปไตยและเข่นฆ่าประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตย หรือ “ชนะแต่การรบกับประชาชนที่จ่ายภาษีให้เงินเดือน แต่ไม่ชนะในสมรภูมิรบกับข้าศึกของประเทศ”

และโดยเฉพาะเมื่อเสธ.แดง แสดงบทแนวร่วมการต่อสู้ของ “นปช.แดงทั้งแผ่นดิน” จนที่สุดเป็นคนที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศว่า เขาและทักษิณคือ “ผู้ขัดขวางแผนปรองดอง” บทบาทของเขา (ในความรู้สึกของผม) ยิ่งทำลายความน่าเชื่อถือของมวลชนเสื้อแดงที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม

แต่เมื่อเสธ.แดงถูกยิงผมกลับรู้สึกหดหู่มาก และนึกถามในใจว่า จริงๆ แล้วในวิกฤตที่เป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทยขณะนี้ “คนอย่างเสธ.แดง” กับ “คนอย่างอภิสิทธิ์” ใครอำมหิตกว่า และใครกันแน่ที่มีคุณค่าต่อการที่สังคมอาจจะได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่ก้าวหน้ากว่า

การตอบคำถามดังกล่าว เราต้องพิจารณาจาก “จุดยืน” ของการต่อรองที่ปรากฏต่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมาคือ การขอใช้กระบวนการประชาธิปไตย “ยุบสภา-เลือกตั้งใหม่” ที่ในที่สุดแล้วทุกฝ่ายยอมแลกกับการสูญเสียที่เกิดขึ้นและอาจเกิดขึ้นอีก โดยดูพฤติการณ์รวมๆ ดังนี้ (เช่น)

1. คนอย่างอภิสิทธิ์นั้น คือ คนรุ่นใหม่ การศึกษาดี มีหลักการ ดูเป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต เป็นนักการเมืองที่มีต้นทุนทางสังคมมากที่สุดในยุคนี้ และภาพลักษณ์ที่ดูดีของเขาก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เมื่อแม้เกิดเหตุการณ์ “สลายการชุมนุม 10 เมษา” ที่มีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากแล้ว เขาก็ยังอยู่ในอำนาจได้ ซ้ำยังได้รับความไว้วางใจจากสังคมนี้ให้ทำหน้าที่ปราบผู้ก่อการร้ายและขบวนการล้มเจ้าต่อไป (ทั้งที่ไม่มีการแสดงหลักฐานชัดเจน)

เมื่อเปรียบเทียบกับคนอย่าง เสธ.แดงที่ดูเป็นนักเลงโบราณ ลูกทุ่ง ออกแนวเถื่อนๆ ไม่น่าเชื่อถือซ้ำยังน่าเคลือบแคลงในพฤติกรรมหลายๆ อย่างแล้ว คนอย่างอภิสิทธิ์ดูราวกับเทพ ขณะที่คนอย่างเสธ.แดงคือมาร คนอย่างอภิสิทธิ์เสมือนดังหัวหน้าฝ่ายธรรมะ ขณะที่ เสธ.แดงเป็น (รอง) หัวหน้าฝ่ายอธรรม อะไรประมาณนั้น

2. แต่ความเป็นจริงคือ คนอย่างเสธ.แดงเป็น “แนวร่วม” ของฝ่ายประชาธิปไตยที่ต้องการสร้างกติกาประชาธิปไตยก้าวหน้าและสังคมที่เป็นธรรม แต่คนอย่างอภิสิทธิ์กลับเป็น “หัวหน้า” ของฝ่ายค้ำจุนประชาธิปไตยและสังคมที่อยุติธรรมภายใต้โครงสร้างอำนาจที่ล้าหลัง

3. ความเป็นจริงคือ คนอย่างเสธ.แดง อยู่ฝ่ายเรียกร้องให้แก้ปัญหาความแตกแยกของสังคมด้วยการใช้กระบวนการประชาธิปไตยคือ “ยุบสภา-เลือกตั้งใหม่” แต่คนอย่างอภิสิทธิ์อยู่ฝ่ายที่ไม่ยอมให้ใช้กระบวนการประชาธิปไตยดังกล่าวนั้นแก้ปัญหาในทันที ด้วยข้ออ้างที่ว่ามันแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องมาทำกติกาการเลือกตั้งและสร้างบรรยากาศรองรับการเลือกตั้งให้ดีก่อน

และด้วยข้ออ้างดังกล่าวนี้ของคนอย่างอภิสิทธิ์ เขาก็ยอมแลกกับสิ่งที่ “คาดได้ล่วงหน้า” ว่าจะเกิดขึ้นตามมาคือ ความรุนแรงและการสูญเสียชีวิตของผู้คนที่เพิ่มขึ้นๆ แล้วคนอย่างอภิสิทธิ์ก็ประกาศกร้าวว่าจะไม่ยุบสภาวันที่ 14 พ.ย.ปีนี้ ด้วยสติสัมปชัญญะที่ “รู้ล่วงหน้า” อยู่แล้วว่าสังคมนี้จะต้องนับศพต่อไปและต่อไป

4. ความเป็นจริงคือ คนอย่างเสธ.แดง (ถูกกล่าวหาว่า)ทำผิดกฎหมาย มีพฤติกรรมที่ดูรุนแรง กระทั่งเถื่อนๆ แต่คนอย่างอภิสิทธิ์คือผู้ (อ้างว่า) บังคับใช้กฎหมาย รักษาผลประโยชน์ของชาติ และ “สถาบันหลัก” ของชาติ ใช้วิธีการสลายการชุมนุมตามหลักสากล

แต่ทว่ามีคนตายเพราะฝีมือของคนอย่างเสธ.แดง หรือเพราะฝีมือของคนอย่างอภิสิทธิ์มากกว่า?

5. เอาเข้าจริงระหว่างคนอย่างเสธ.แดง และคนอย่างอภิสิทธิ์ ฝ่ายใดใช้กองกำลังที่มีศักยภาพสร้างความรุนแรงได้มากกว่าภายใต้ข้อต่อรองกับแค่การข้อใช้ “กระบวนการประชาธิปไตย” แก้ปัญหาความแตกแยกทางความคิด และผลการการใช้ความรุนแรงของฝ่ายใดทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายมากกว่า

ผมไม่ต้องการจะบอกว่าใครเป็นวีรบุรุษ ใครเป็นโจร ที่เขียนเปรียบเทียบคนอย่างเสธ.แดงกับคนอย่างอภิสิทธิ์ในจุดเปลี่ยนการเมืองไทย เพียงแต่ต้องการสะท้อนว่า ความเป็นจริงของการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ก้าวหน้า ฝ่ายที่เป็นอุปสรรคจริงๆ อาจไม่ใช่ฝ่ายที่มีภาพลักษณ์เป็นคนเลว ไร้การศึกษา ป่าเถื่อน น่าเกลียด น่าขยะแขยง ฯลฯ เสมอไป

 

ปล. ผมหลับตาเห็นภาพปัญญาชน นักวิชาการ (กระทั่งระดับศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายคน) สื่อ คนชั้นกลางในเมือง คนดีมีศีลธรรม มีการศึกษาทั้งหลาย แทนที่จะตอบคำถามของคนเสื้อแดงที่ถามตรงๆ ว่า “การขอใช้กระบวนการประชาธิปไตยแก้ปัญหาความแตกแยกทางความคิด แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม หรือแม้กระทั่งช่วยทักษิณ มันผิดหลักการประชาธิปไตยตรงไหน?”

พวกผู้ทรงปัญญาและแสนประเสริฐเหล่านั้น กลับชี้หน้าประณามคนเสื้อแดงว่า พวกไร้การศึกษา ไม่รู้ประชาธิปไตย เป็นเครื่องมือนักการเมืองโกง นิยมความรุนแรง พวกก่อการร้าย พวกล้มเจ้า ฯลฯ แล้วพากันเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการกับคนเสื้อแดงด้วยวิธีรุนแรงกว่า (เช่น กฎอัยการศึก) หรือไม่ก็เฉยเมยต่อศพแล้วศพเล่าของคนเสื้อแดง และเต็มใจสนับสนุนรัฐบาลทรราชย์กันต่อไป!
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท