Skip to main content
sharethis

คุยกับ “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” ซึ่งเตือนว่าไม่เป็นผลดีกับรัฐบาลในระยะยาว หากรัฐบาลยังบริหารงานภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยังอยู่ในค่ายทหาร เพราะกองทัพจะตัดสินใจทำอะไรกับรัฐบาลก็ได้ นอกจากนี้หากมีการปราบผู้ชุมนุมโอกาสที่การต่อต้านจะลุกลามไปที่อื่นก็มีสูง และทางเลือกของรัฐบาลก็เหลือไม่มาก จลาจล หรือ อนาธิปไตย หรือ รัฐประหาร

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

 

ในช่วงครบรอบ 1 เดือน เหตุการณ์สลายการชุมนุม 10 เมษายน 2553 ประชาไทมีโอกาสสัมภาษณ์ “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ผู้เขียนแรงงานวิจารณ์เจ้า (2547) ประชาธิปไตยไม่ใช่ของเรา (2550) ผู้แปล รัฐศาสตร์ไม่ฆ่า (2552) และ สู่รัฐศาสตร์ไม่ฆ่าแนวหลังอาณานิคม (2553)

อันที่จริงทีมข่าวการเมืองมีโอกาสพูดคุยกับศิโรตม์ ก่อนหน้านี้ครั้งหนึ่งคือเมื่อวันที่ 28 เมษายน ในห้วงที่มีการสลายการชุมนุมที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ถ.วิภาวดีรังสิต และในวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 ซึ่งมีการรำลึกครบรอบ 30 วัน การสลายการชุมนุม 10 เมษายน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประชาไทมีโอกาสพูดคุยกับศิโรตม์อีก

โดยศิโรตม์เสนอว่าแม้จะมีบรรยากาศว่ารัฐบาลจะปราบผู้ชุมนุมรอบใหม่ มีการกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อการร้าย แต่ที่ยังสามารถเปิดฉากปราบรอบใหม่ได้เป็นเพราะกองทัพที่ยังไม่เป็นเอกภาพ ซึ่งกองทัพที่ขาดเอกภาพเป็นผลมาจากการเข้ามาแทรกแซงการเมืองนับตั้งแต่การทำรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่เมื่อกองทัพผนึกตัวกับอำนาจการเมือง ผลด้านลบคือผู้นำกองทัพบางคนจะครอบงำกองทัพทั้งหมด การรวบอำนาจแบบนี้ทำให้กองทัพแตกเป็นฝักเป็นฝ่าย ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การสลายการชุมนุมรอบใหม่ไม่เกิดขึ้นโดยง่าย ยกเว้น “เงื่อนไขพิเศษ” มากดดันกองทัพ

ศิโรตม์ยังเตือนว่าหากนายกรัฐมนตรียังบริหารงานภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และอยู่ในค่ายทหาร ก็เป็นสิ่งที่ไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล และไม่มีหลักประกันอะไรว่ารัฐบาลจะคุมทหารได้ และในทางกลับกันโอกาสที่ทหารจะคุมรัฐบาลได้มีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ดีกับรัฐบาลเองเลยในระยะยาว

และทั้งหมดนี้เป็นการสนทนากับ “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” ก่อนการสลายการชุมนุมรอบใหม่มาถึง

 

000

“เรื่องปราบหรือไม่ปราบ อย่าลืมว่าการบริหารของนายกรัฐมนตรีภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องใช้ความร่วมมือจากกองทัพมาก คำถามก็คือ หนึ่ง ภายใต้โครงสร้างที่กองทัพไม่เป็นเอกภาพแบบนี้ แน่ใจได้อย่างไรว่าทหารจะฟังคำสั่งของนายกทั้งหมด มีอะไรเป็นหลักประกันว่านายกมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือเหล่าทัพอย่างแท้จริง

สอง การอยู่ในค่ายทหารทำให้ง่ายมากที่นายทหารซึ่งคุมราบ 11 จะตัดสินใจทำอะไรบางอย่างกับรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติ รัฐประหาร การบีบรัฐบาล หรือการเพิกเฉยต่อคำสั่งนายก ฯลฯ โอกาสที่ทหารจะคุมหรือไม่ฟังรัฐบาลมีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ดีกับรัฐบาลเองเลยในระยะยาว”

 

@ ประชาไท - ผ่านเหตุการณ์สลายการชุมนุม 10 เมษายน มา 1 เดือน การที่ไม่เกิดการสลายการชุมนุมรอบใหม่อีก อย่างมากอาจมีการสลายการชุมนุมย่อยๆ เช่น 28 เมษายน หรือการที่ทหารใช้หน่วยมอเตอร์ไซค์เคลื่อนที่เร็วออกไล่จับผู้ชุมนุม เสื้อแดง อาจมีการเคลื่อนกำลังทหารมาควบคุมย่านสีลม แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้นำไปสู่การสลายการชุมนุมขนาดใหญ่แบบที่เกิดที่สะพานผ่านฟ้าเมื่อ 10 เมษายน หรือถ้าจะเกิดการสลายการชุมนุมรอบใหม่ จะเป็นด้วยเงื่อนไขอะไร

ศิโรตม์ - ตั้งแต่มีการชุมนุมมา โดยเฉพาะหลังการสลายการชุมนุมวันที่ 10 เม.ย. ทุกคนเชื่อว่าจะมีการปราบและผู้ชุมนุมก็มีสภาพตึงเครียดว่าจะมีความปราบ เพราะว่าดูจากบรรยากาศ ดูจากวิธีให้ข่าวของรัฐบาลมีแต่แนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การยกระดับผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อการร้ายก็รุนแรงมากขึ้น การพูดว่าจะใช้กำลังอย่างเปิดเผยก็มีมากขึ้น

สาเหตุที่ไม่มีการปราบเกิดจากอะไร จึงมีสามข้อที่ควรพูด ข้อแรกคือความไม่เป็นเอกภาพในกองทัพ การสลายการชุมนุมหนนี้มีประเด็นสำคัญคือมีนายทหารระดับสูงเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส ซ้ำเป็นนายทหารระดับสายตรง ไม่เคยเกิดเหตุแบบนี้ในประเทศนี้มาก่อน แสดงให้เห็นว่าความไม่เป็นเอกภาพในกองทัพนี้มีสูงมากจนเกิดการปราบอีกครั้งได้ยากมาก แม้บางฝ่ายจะสร้างสถานการณ์บีบให้ปราบแค่ไหนก็ตาม

ข้อสอง เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานหลายฝ่ายสะท้อนตรงกันว่าคนเสื้อแดงในวันที่ 10 เมษา สู้แบบไม่กลัวตาย และการควบคุมผู้ชุมนุมเมื่อเกิดเหตุปะทะก็มีระเบียบมากกว่าที่คิด ความรู้สึกนี้ไม่ลดลงแม้จะมีคนเสียชีวิตและเจ็บหลายร้อย ซ้ำตัวเลขผู้ชุมนุมกลับมีมากขึ้น ถึงแม้จะมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือเกิดเหตุปะทะกับทหารอีกหลายครั้งก็ตาม

พรรคเพื่อไทยมีคนลงคะแนนเสียง 14 ล้าน สมมติว่าเป็นเสื้อแดงสักครึ่ง คือ 7 ล้าน และเป็นผู้ชุมนุมเสื้อแดงสักสามแสน ถ้าพวกที่ไม่กลัวตายมี 0.1% ก็คือมีคนเกือบเจ็ดพันที่พร้อมสู้กับกองทัพ และมีคนหลายแสนเป็นแนวร่วมที่ไม่มีใครรู้ว่าเขาจะมีปฏิกิริยาเมื่อถูกปราบปราม

อย่าลืมว่าศักยภาพในการต่อต้านของฝ่ายเสื้อแดงนั้นยังไม่สิ้นสุด เหตุผลแบบนี้สำคัญสำหรับการตัดสินใจว่าจะปราบใหญ่หรือไม่ การคาดการณ์เพื่อวางแผนตอบโต้เสื้อแดงนั้นทำได้ไม่ง่ายเลยในสถานการณ์อย่างที่ผ่านมา

ข้อสาม สถานการณ์ตอนนี้ต่างจากปี 2516, 2519 หรือ 2535 ที่หลายตัวแปรทำให้กองทัพครอบครองอำนาจการเมืองหลังปราบโดยตรง ขณะที่ปัจจุบันไม่มีเงื่อนไขนี้ การปราบจึงให้ประโยชน์กับกองทัพน้อยมาก พวกนายพลขึ้นเป็นนายกหลังปราบไม่ได้แน่ๆ การปราบเป็นแค่การเอาตัวเองเข้าแลกเพื่อให้อภิสิทธิ์เป็นนายกต่อไป

ถ้าวิธีอื่นทำให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้ ก็ไม่มีเหตุให้กองทัพปราบผู้ชุมนุม

อันที่จริงถ้าดูแนวโน้มจากปี 2549 ก็จะเห็นว่ากองทัพไทยระมัดระวังที่จะไม่เล่นไพ่การมีอำนาจการเมืองโดยตรง แต่เน้นการสนับสนุนผู้ที่ให้ประโยชน์กองทัพมากที่สุด ไม่ต้องพูดเรื่องกองทัพไม่ใช่แกนหลักของการก่อรัฐประหารและสภาพการเมืองหลังจากนั้น นี่ก็เป็นอีกประเด็นที่สำคัญ

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทหารฟิลิปปินส์เคยสนับสนุนประธานาธิบดีมาร์กอสเป็นเวลานานก็ด้วยเหตุนี้ ผมคิดว่ากองทัพไทยคงใช้แนวทางนี้มากกว่าแนวทางพม่าหรือจีน

 

@ กองทัพจะมีเอกภาพอีกไม่ได้หรือ

ยังไม่ได้ในปัจจุบัน หรือถ้าจะได้ ก็ต้องมี “เงื่อนไขพิเศษ” มากดดันความไม่เป็นเอกภาพนี้ แต่การเกิดเงื่อนไขพิเศษแบบนี้ก็ไม่ง่าย

ทุกครั้งที่กองทัพแทรกแซงการเมือง ในเบื้องต้นจะเหมือนกองทัพเข้มแข็งขึ้น อย่างสมัย พล.อ.เปรม เป็นนายก นอกจากนายพลจะมีตำแหน่งในรัฐบาลหลายคน ท่านยังกระจายตำแหน่งวุฒิสมาชิกไปถึงทหารระดับนายพัน ส่วนคณะรัฐประหาร 2534 ก็ตั้งพลเอกเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสัมปทานโครงการขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับปี 2549 หัวหน้าคณะรัฐประหารก็เป็นรองนายกโดยตรง

นอกจากตัวบุคคลจะมีอำนาจมากขึ้น งบประมาณกองทัพ การผลักดันกฎหมาย การซื้ออาวุธ การอนุมัติงบผูกพัน การมีตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ฯลฯ ก็มากขึ้นด้วยเช่นกัน

แต่เมื่อกองทัพผนึกตัวกับอำนาจการเมือง ผลด้านลบคือผู้นำกองทัพบางคนจะครอบงำกองทัพทั้งหมด ถ้าครอบโดยตรงไม่ได้ ก็ครอบหน่วยกำลังหลัก หรือดันคนของตัวเองคุมหน่วยสำคัญ เพราะต้องใช้กลไกนี้เป็นฐานของอำนาจการเมือง การรวบอำนาจแบบนี้ทำให้กองทัพแตกเป็นฝักเป็นฝ่าย จนในที่สุดกลุ่มอื่นที่ถูกกันออกจากกระบวนการนี้ก็จะไม่พอใจ

ในประวัติศาสตร์ของไทย เมื่อสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหาร 2500 ก็ผลักดันให้พจน์และถนอมเป็นนายกหุ่นเชิด จากนั้นอีกปีก็รัฐประหารใหม่แล้วเชิญตัวเองเป็นนายก ส่วนถนอมเป็นรอง แต่เมื่อสฤษดิ์ตาย ถนอมก็ยึดทรัพย์สฤษดิ์ ต่อมาถนอมก็ขัดแย้งกับ กฤษณ์ สีวะรา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้ 14 ตุลาคม 2516 จบแบบที่เกิดขึ้น

พฤษภาคม 2535 ก็คล้ายกัน นั่นคือเรื่องเริ่มต้นเมื่อทหารจปร.1 ดันจปร.5 ขึ้นคุมตำแหน่งสำคัญในกองทัพยกแผง แต่เมื่อรัฐประหาร 2534 สำเร็จ จปร.5ก็มีอำนาจเป็นปึกแผ่นมากจนรุ่นอื่นไม่พอใจ เปรมหรือชวลิตก็หวาดระแวงว่าจะคุมกองทัพไม่ได้ ในที่สุด จปร.7ก็กลายเป็นนอมินีที่ฝ่ายนี้ใช้เพื่อสู้กับ จปร. 5 ผ่านคนอย่างจำลอง ศรีเมือง และพัลลภ ปิ่นมณี

 

@ ปี 2549 คือช่วงยาวของกองทัพแทรกแซงการเมืองหรือเปล่า

ถ้าดูบทเรียนจากประเทศใกล้เคียงอย่างอินโดนีเซียหรือพม่า การทำให้กองทัพมีอำนาจนำเชิงสถาบันต้องใช้เวลาและอาศัยปัจจัยสนับสนุนนอกกองทัพอีกมาก หมายความว่าไม่ใช่แค่ก่อรัฐประหารและมีผู้นำเด็ดขาดแล้วสถาบันจะเข้มแข็งทันที

ยิ่งการรัฐประหารที่กองทัพไม่มีอำนาจนำและไม่มีปึกแผ่นตั้งแต่ต้น การเร่งกระชับอำนาจและแย่งผลประโยชน์ยิ่งส่งผลให้นายพลไม่ลงรอยมากขึ้นเป็นธรรมดา

ในสถานการณ์แบบนี้ การหมดอำนาจในกองทัพหมายถึงการหมดอำนาจการเมือง ฝายที่อยากมีอำนาจจึงต้องผูกขาดอำนาจในกองทัพและการเมืองมากขึ้น ผลก็คือกองทัพยิ่งแบ่งเป็นฝ่าย นี่เป็นสภาพที่ชัดเจนในปัจจุบัน

เรื่องปราบหรือไม่ปราบ อย่าลืมว่าการบริหารของนายกรัฐมนตรีภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องใช้ความร่วมมือจากกองทัพมาก คำถามก็คือ หนึ่ง ภายใต้โครงสร้างที่กองทัพไม่เป็นเอกภาพแบบนี้ แน่ใจได้อย่างไรว่าทหารจะฟังคำสั่งของนายกทั้งหมด มีอะไรเป็นหลักประกันว่านายกมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือเหล่าทัพอย่างแท้จริง

สอง การอยู่ในค่ายทหารทำให้ง่ายมากที่นายทหารซึ่งคุมราบ 11 จะตัดสินใจทำอะไรบางอย่างกับรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติ รัฐประหาร การบีบรัฐบาล หรือการเพิกเฉยต่อคำสั่งนายก ฯลฯ โอกาสที่ทหารจะคุมหรือไม่ฟังรัฐบาลมีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ดีกับรัฐบาลเองเลยในระยะยาว

 

000

“ถามว่าทางออกคืออะไร ถ้าพูดให้ง่ายคือนายกรัฐมนตรีต้องฟังคนที่อยู่นอกรัฐบาลมากขึ้น ไม่เช่นนั้นจะพากันลงเหว ตัวนายกฯ กับรัฐบาลลงน่ะไม่เป็นไร แต่ท่านจะพาสังคมไทยไปด้วย พูดให้เป็นเรื่องโครงสร้างคือนายกต้องคิดเรื่องการหาทางออกทางการเมืองอย่างจริงจังมากกว่าที่ผ่านมา”

 

@ เราตัดปัจจัยบางอย่างออกไปหรือเปล่าเช่น กลุ่มเสื้อหลากสีที่ไม่ใช่แค่ให้ผู้ชุมนุมเลิกชุมนุม แต่ให้สลายการชุมนุมอย่างเด็ดขาดด้วย เมื่อมีคนจำนวนมากสนับสนุนการสลายการชุมนุม มีโอกาสที่จะมีการกวาดล้างคนเสื้อแดง เหมือนยุคระเบียบใหม่หลังรัฐประหารของซูฮาร์โตแบบอินโดนีเซียหรือไม่

ข้อเสนอของฝ่ายหลากสีก็เรื่องหนึ่ง แต่ตอนนี้รัฐบาลใช้กลุ่มหลากสีเป็นมวลชนปกป้องรัฐบาลในการเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรง ด้านหนึ่งใช้คนหลากสีเพื่อดิสเครดิตคนเสื้อแดงว่ามีประชาชนหนุนตัวเอง อีกด้านหนึ่งคือใช้คนหลากสีเพื่อให้รัฐมีความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงมากขึ้น

ตอนนี้เหมือนสองฝ่ายนี้ขัดกัน แต่สองฝ่ายนี้มีเป้าหมายเหมือนกันคือยังไงก็ไม่เอาเสื้อแดง

 

@ ในป้ายประท้วงของกลุ่มเสื้อหลากสี มีการอ้างอิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในเฟสบุคกลุ่มย่อยของกลุ่มคัดค้านการยุบสภา ก็คือกลุ่มที่ประกาศพลีชีพเพื่อพระเจ้าอยู่หัว

นี่เป็นเรื่องการเมือง แต่คนเสื้อแดงจำนวนมากแสดงความจงรักภักดีจริง ข้อเรียกร้องของฝ่ายนี้คือยุบสภา นอกจากนั้นคือให้รับผิดชอบกรณีสลายการชุมนุม เลิกปิดสื่อ ฯลฯ ไม่มีอะไรเกี่ยวกับสถาบันเลย ดูวิธีจัดการการชุมนุมก็เห็นชัดว่าคนเสื้อแดงตั้งแถวรับเสด็จอย่างดีเมื่อมีขบวนเสด็จ แต่รัฐบาลจงใจไม่เผยแพร่ภาพพวกนี้สู่สาธารณะ ใครๆ ก็รู้ว่ารัฐมนตรีบางคนขอร้องผู้บริหารข่าวว่าภาพอะไรที่เสนอได้ อะไรที่ควรเน้น อะไรที่ห้ามเสนออย่างสิ้นเชิง

การใช้สื่อสร้างภาพเรื่องสถาบันเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ นายกต้องบอกให้คนใกล้ชิดหยุดทำแบบนี้ทันที ยิ่งเรื่องก่อการร้ายยิ่งเลอะเทอะไปไกล

ในสังคมที่มีความขัดแย้งทางการเมืองแบบนี้ รัฐบาลควรมีสติในการแก้ปัญหา ประเด็นคือรัฐบาลชุดนี้มีนายกที่ไม่เคยมีประสบการณ์บริหารอำนาจมาก่อน แล้วการบริหารประเทศท่ามกลางความขัดแย้งตอนนี้เป็นเรื่องยากมาก ยากจนพูดได้เต็มปากว่าเกินกว่านายกฯ จะทำไหว ซ้ำที่แย่กว่านั้นคือท่านถูกแวดล้อมด้วยคนที่ไม่มีประสบการณ์ ส่วนใหญ่คือคนที่มีอำนาจเป็นครั้งแรก โอกาสที่จะเป็นหลักในการแก้ปัญหาตอนนี้จึงแทบไม่มี

พูดตรงๆ เรื่องปิดสื่อ ปิดเว็บ ปิดวิทยุชุมชน คุมข่าว อะไรโง่ๆ หลายเรื่องตอนนี้ก็เกิดจากคนแวดล้อมนายกไม่กี่คน

ถามว่าทางออกคืออะไร ถ้าพูดให้ง่ายคือนายกรัฐมนตรีต้องฟังคนที่อยู่นอกรัฐบาลมากขึ้น ไม่เช่นนั้นจะพากันลงเหว ตัวนายกฯ กับรัฐบาลลงน่ะไม่เป็นไร แต่ท่านจะพาสังคมไทยไปด้วย พูดให้เป็นเรื่องโครงสร้างคือนายกต้องคิดเรื่องการหาทางออกทางการเมืองอย่างจริงจังมากกว่าที่ผ่านมา

ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป รัฐบาลจะเสื่อม กองทัพจะเสื่อม และตัวรัฐไทยทั้งหมดก็จะเสื่อมด้วย ไม่ใช่เสื่อมเพราะบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ แต่เสื่อมเพราะไม่ได้ความยอมรับนับถือจากสังคม

 

000

“ถ้าเทียบกับกรณีตากใบ ตอนนั้นมีคนชุมนุมไม่กี่พัน มีผู้เสียชีวิต 85 คน แต่มีแรงต้านรัฐไทยเป็นเวลา 6-7 ปีก็ยังไม่จบ กรณี 10 เมษายน คนชุมนุมเป็นหมื่น คนสนับสนุนโดยไม่ชุมนุมอีกเป็นล้านๆ คนตาย 20 กว่าคนโดยทุกคนรู้หมดว่าเกิดอะไรขึ้น ความเจ็บแค้นจะมหาศาลแค่ไหน รัฐจะคงสภาพความเป็นรัฐนี้ได้อย่างไร นี่คือปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นตอนนี้

ถ้ารัฐบาลไม่เข้าใจเรื่องนี้ ตัวรัฐบาลเองจะทำให้สถาบันการเมืองทั้งหมดล่มสลาย ตัวรัฐบาลเองต้องหลบอยู่ในค่ายทหารเป็นเดือนแล้ว กองทัพต้องใช้อาวุธสงครามรักษาอำนาจนายก ยิ่งเป็นแบบนี้นานเท่าไหร่ โอกาสที่จะล้มทั้งกระดานก็สูงขึ้นเท่านั้น รัฐทำลายความมั่นคงของตัวรัฐเอง”

 

@ การใช้อำนาจควรทำให้รัฐบาลมั่นคงขึ้นไม่ใช่หรือ?

อำนาจเกิดจากการบังคับและการยินยอมพร้อมใจ บังคับอย่างเดียวไม่ได้ รัฐทุกรัฐอยู่ได้เพราะพลเมืองรู้สึกว่ารัฐเป็นของเขา พลเมืองจะรู้สึกแบบนี้เมื่อรัฐปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค การเลือกตั้งและหลักนิติรัฐสำคัญเพราะมันสลายความแตกต่างและการแบ่งแยกในพลเมือง ทำให้รัฐเป็นของทุกคนมากขึ้น ซึ่งก็คือทำให้รัฐได้ความยอมรับนับถือจากสังค

ความล้มเหลวของรัฐบาลชุดนี้คือความไม่พยายามทำให้คนอีกฝั่งรู้สึกว่ารัฐเห็นเขาเป็นคนเท่ากับอีกฝ่าย ยิ่งการชุมนุมวันที่ 10 เมษายน มีคนเจ็บ มีคนตายจำนวนมาก เรื่องง่ายๆ ที่รัฐควรทำคือควรมีคนของรัฐบาลไปเยี่ยมคนเจ็บ ไปเคารพศพคนตาย ยกย่องเขา ให้เกียรติเขา ให้ความยุติธรรมตามกฎหมายอย่างที่เขาควรจะได้เหมือนพลเมืองทุกคนที่ถูกเจ้าหน้ารัฐฆ่าตาย

ถ้าเทียบกับกรณีตากใบ ตอนนั้นมีคนชุมนุมไม่กี่พัน มีผู้เสียชีวิต 85 คน แต่มีแรงต้านรัฐไทยเป็นเวลา 6-7 ปีก็ยังไม่จบ กรณี 10 เมษายน คนชุมนุมเป็นหมื่น คนสนับสนุนโดยไม่ชุมนุมอีกเป็นล้านๆ คนตาย 20 กว่าคนโดยทุกคนรู้หมดว่าเกิดอะไรขึ้น ความเจ็บแค้นจะมหาศาลแค่ไหน รัฐจะคงสภาพความเป็นรัฐนี้ได้อย่างไร นี่คือปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นตอนนี้

ถ้ารัฐบาลไม่เข้าใจเรื่องนี้ ตัวรัฐบาลเองจะทำให้สถาบันการเมืองทั้งหมดล่มสลาย ตัวรัฐบาลเองต้องหลบอยู่ในค่ายทหารเป็นเดือนแล้ว กองทัพต้องใช้อาวุธสงครามรักษาอำนาจนายก ยิ่งเป็นแบบนี้นานเท่าไหร่ โอกาสที่จะล้มทั้งกระดานก็สูงขึ้นเท่านั้น รัฐทำลายความมั่นคงของตัวรัฐเอง

 

@ เหมือนนายกรัฐมนตรีก็ปิดทางเจรจา ไม่รู้ว่าจะนำไปสู่อะไร จะให้ผู้ชุมนุมออกจากราชประสงค์ด้วยวิธีอะไร

นายกรัฐมนตรีมีส่วนถูกว่าโจทย์ไม่ควรตั้งต้นว่าจะทำอย่างไรให้คนออกจากราชประสงค์ แต่ที่ท่านคิดให้ทะลุไม่ได้คือทำอย่างไรจะสร้างสังคม-การเมืองที่คนทุกฝ่ายรู้สึกเป็นเจ้าของได้จริงๆ

การชุมนุมของฝ่ายเสื้อแดงเกิดขึ้นเพราะคนกว่าครึ่งของประเทศรู้สึกไม่ได้เป็นเจ้าของประเทศนี้ ปี 49 มีรัฐประหาร ปี 51 มีการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ปี 52 เขามาชุมนุมเรียกร้องสิทธิแต่ถูกล้อมปราบ และปี 2553 ก็ถูกปราบอีก ก่อนหน้านั้นก็ล้มนายกของเขาไปสามคน ยุบพรรคของเขาไปอีกสองพรรค พฤติกรรมแบบนี้ตอกย้ำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเขาถูกตบหน้ามานาน

นายกฯ บอกว่าการเจรจาไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลกับคนเสื้อแดง ก็ไม่เป็นไร จะเอาคนทุกฝ่ายมาเจรจาก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่เจรจาและปล่อยเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ แนวโน้มคือ หนึ่ง รัฐประหาร สอง รัฐบาลปราบเสื้อแดงจนเกิดการต่อต้านหรือจลาจล สาม เสื้อแดงกับเสื้อสีอื่นฆ่ากัน ซึ่งมันแย่สำหรับประเทศทั้งหมด

ทางออกเดียวคือต้องเจรจา ข้อเสนอนี้ practical ที่สุด เพราะว่าหลังปี 2549 เป็นต้นมา ผู้นำมวลชนทั้งฝ่ายเสื้อเหลืองและเสื้อแดงก็โดนคดี ซึ่งเป็นคดีการเมือง เป็นคดีที่ในสภาพปกติจะไม่เกิดเลย เพราะฉะนั้นอยู่ในวิสัยที่ในทางการเมืองมันประนีประนอมได้ ส่วนในฝั่งนักการเมืองเองก็ไม่มีเหตุที่ประนีประนอมกันไม่ได้ ยกเว้นจะเกิดแรงบีบพิเศษมากๆ ของฝ่ายต่อต้านทักษิณที่นิยมความรุนแรง

 

@ ประเด็นคือไม่รู้ว่า ผู้จัดการรัฐบาลยอมให้มีการเจรจา หรือการประนีประนอมเกิดขึ้นได้หรือไม่

ผู้จัดการรัฐบาลคงไม่อยากให้มีการเจรจา แต่ถ้าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นว่าการเดินหน้าขัดแย้งต่อไปคือหายนะ ก็ต้องตัดสินใจอย่างเป็นอิสระ แล้วคิดว่าวิธีไหนดีกับตัวเองที่สุด ดีกับสังคมที่สุดในระยะยาว

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทักษิณเป็นผู้นำที่มีอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในทศวรรษนี้ของประเทศ การยุติความขัดแย้งโดยไม่เจรจา ก็เห็นแล้วว่าทำไมไม่ได้ นักการเมืองที่มีคนโหวตสูงสุด 19 ล้านเสียง ต่ำสุด 14 ล้านเสียง อยู่ดีๆ จะเอาเขาออกจากกระบวนการทางการเมืองได้อย่างไร

 

000

“นายกฯ ต้องตระหนักว่าผู้ชุมนุมไม่ใช่พวกล้มล้างการปกครอง ในแง่หนึ่งพวกเขาไม่ต่างจากมวลชนผู้ประท้วงกลุ่มอื่น เพียงแต่มีมิติทางการเมืองมากขึ้น อย่าสร้างกระแสจนคนในชาติเกิดรอยร้าวที่อีกหน่อยจะสมานไม่ได้ อย่าผลักให้คนเกือบสิบสี่ล้านเป็นคนคิดร้ายต่อชาติ พวกเขาตั้งคำถามท่านเรื่องประชาธิปไตย เขาไม่ได้มีปัญหากับบ้านเมือง”

 

@ สื่อค่ายผู้จัดการและสื่อของรัฐบาลเล่นว่าเสื้อแดงชุมนุมเพื่อสร้างรัฐไทยใหม่ เรื่องแบบนี้ทำให้ชนชั้นนำในหมู่รัฐบาลรู้สึกกลัวเสื้อแดง และไม่อยากที่จะหาทางออกด้วยการเจรจา แบบนี้ด้วยหรือเปล่าที่ทำให้เกิดวิกฤต

ฝ่ายต้านทักษิณใช้เรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร แต่รัฐบาลชุดนี้ทำน่าเกลียดที่เอาเรื่องซึ่งทุกคนรู้ว่าเท็จมาเผยแพร่ผ่านสื่อของรัฐ นี่เท่ากับนายกเอาตัวเองรับรองข่าวที่ไม่มีใครเชื่อนอกจากคนอ่านหนังสือพิมพ์บางฉบับ แต่เมื่อรัฐประโคมอย่างนี้ คงมีคนไม่น้อยคิดว่านี่เป็นเรื่องจริง

เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลใช้เครื่องมือทุกอย่างเพื่อเอาชนะเสื้อแดงโดยไม่คำนึงถึงผลต่อสังคมระยะยาว ข้อกล่าหาแบบนี้ชวนให้คนเกลียดกันถึงขั้นฆ่ากันได้ทั้งนั้น ปกติรัฐไทยจะใช้อาวุธนี้ในเวลาที่ไม่เหลืออาวุธอื่นแล้ว ใช้ทีไรก็ชนะ แต่ทิ้งกองเลือดไว้ในสังคมเป็นสิบปี เฉพาะกรณีนี้คือนายกแต่งเรื่องให้คนกลัวเพื่อยอมให้ท่านมีอำนาจสูงสุดและเปิดทางให้สลายการชุมนุม

กระบวนการใช้สื่อและสงครามข่าวทั้งหมดแสดงว่าความพยายามปราบไม่ได้มาจากทหารหรือราชการ แต่มาจากรัฐบาลพลเรือนและพรรคการเมือง ส.ส.ประชาธิปัตย์บางคนพูดโดยเปิดเผยด้วยซ้ำว่าผู้ชุมนุมคือโจร เรียกคนพวกนี้ด้วยสรรพนามสำหรับสัตว์ชั้นต่ำ โดยเฉพาะ ส.ส.กลุ่มตระกูลผู้ดี

สำหรับสังคมไทยภูมิต้านทานเพื่อตั้งรับเรื่องนี้คืออย่าไปมองว่าความขัดแย้งทางการเมืองเป็นแค่เรื่องของการเลือกว่าจะเอาเสื้อแดงหรือรัฐบาล ปัญหาตอนนี้เลยจุดนั้นไปแล้ว สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำคือการทำลายบรรทัดฐานทางการเมืองทั้งหมด เรื่องแบบนี้ผิดและอันตรายไม่ว่าจะกับคนสีเสื้อไหน นี่คือการหว่านล้อมโดยรัฐให้ผู้คนยอมรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมแบบล้าหลังและถดถอยในระยะยาว

หลังพฤษภาคม 2535 เรามีบรรทัดฐานว่าประชาธิปไตยคือสังคมที่รัฐอำนาจน้อย ทหารและราชการต้องมีอำนาจลดลง ส่วนประชาสังคมควรมีอำนาจเยอะขึ้น แต่สิ่งที่เกิดหลังปี 2549 และรุนแรงในรัฐบาลชุดนี้คือการฟื้นอำนาจราชการและกองทัพ ส่วนงานประจำก็เห็นชัดว่ากระทรวงระดับเกรดบีและซีถูกขับเคลื่อนโดยราชการประจำ นักการเมืองอาจมีบทบาทมากขึ้นในกระทรวงเกรดเอ แต่หลายเรื่องก็เพื่อพรรคและตัวนักการเมืองคนนั้นเอง

สำหรับเรื่องการเมือง กองทัพและราชการมีบทบาทเกินขอบเขต บรรทัดฐานปี 35 คือทหารต้องไม่ยุ่งการเมือง คิดกันถึงขนาดป้องกันรัฐประหารโดยย้ายกรมทหารออกจากเมืองหลวง ที่พูดถึงการยกเลิกวิทยุโทรทัศน์ของทหารมี แต่พันธมิตรก็ไปเชิญทหารมายุ่งการเมืองใหม่ หนุนรัฐประหาร ยุให้ใช้กำลังปราบอีกฝ่าย ตอนนี้ถึงขั้นให้แม่ทัพภาคใช้กฎอัยการศึกโดยไม่ต้องฟังนายกด้วยซ้ำ

การยอมรับบทบาททางการเมืองของทหารที่ยกระดับเป็นการยอมรับการสลายการชุมนุมโดยทหารและการใช้กองทัพกำจัดศัตรูทางการเมืองแบบนี้แหละคือตัวอย่างของความล่มสลายของบรรทัดฐานทางการเมือง

 

@ แปลว่ารัฐบาลประเมินสถานการณ์ตอนนี้ผิด?

ปัญหาตอนนี้ไม่ใช่เรื่องรัฐบาลหรือเสื้อแดง แต่วิธีที่รัฐบาลใช้จัดการกับเสื้อแดงทำให้เกิดปัญหาใหม่ที่รุนแรงขึ้น คือปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมแบบที่รัฐมีอำนาจเหนือสังคมมากจนการใช้ความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการเมืองแบบปกติ นี่คือสิ่งที่อันตรายที่สุดของความขัดแย้งทางการเมืองรอบปัจจุบัน

เมื่อรัฐใช้ความรุนแรงกับสังคม ถึงจุดหนึ่งคนในสังคมจะเห็นว่าเขาชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงตอบโต้รัฐ อย่าลืมว่าประชาธิปไตยยอมให้รัฐใช้ความรุนแรงเฉพาะกรณีที่จำเป็นเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินเท่านั้น แต่เมื่อใดก็ตามที่รัฐใช้ความรุนแรงจนเป็นกิจวัตร คนในสังคมย่อมเห็นว่ารัฐว่าเป็นส่วนหนึ่งของการคุกคามเสรีภาพ พวกเขาจึงมีสิทธิล้มรัฐได้อย่างสมบูรณ์

พฤติกรรมของรัฐบาลสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความรู้สึกในหมู่ประชาชนว่าสันติวิธีและการต่อสู้ทางการเมืองไม่ใช่ทางออก ยุทธวิธีนี้อันตรายเพราะไม่ผ่อนปรนให้อีกฝ่าย หรือถ้าผ่อนปรน ก็ผ่อนปรนแบบมีเล่ห์เหลี่ยมเหมือนกลุ่มการเมืองทั่วไป นี่คือต้นทุนที่สังคมไทยต้องเผชิญ ถ้าปล่อยให้รัฐบาลกระทำกับผู้ชุมนุมไปเรื่อยๆ การเจรจาจึงเป็นทางออกเดียว

ปัญหาตอนนี้เป็นปัญหาความมั่นคง แต่ไม่ใช่ในแบบที่รัฐบาลบอกว่าเสื้อแดงจะเปลี่ยนนู่นเปลี่ยนนี่ แต่เป็นเรื่องความมั่นคงเพราะสังคมเคลื่อนสู่กระบวนการที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่ารัฐบาลไม่ใช่ของเขา ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป เขาจะรู้สึกว่าชอบธรรมที่จะเป็นศัตรูกับรัฐ ซึ่งรัฐบาลไม่ควรทำให้สถานการณ์เดินไปสู่จุดนั้นเลยแม้แต่นิดเดียว

 

@ ไม่ควรปั่นกระแสว่าจะมีการก่อการร้ายหรือล้มสถาบัน?

เสื้อแดงรอบนี้ไม่ได้เรียกร้องอะไรที่ Radicalเขาพูดถึงความไม่เท่าเทียม พูดถึงสองมาตรฐาน แต่ไม่มีข้อเรียกร้องที่แตะเรื่องพวกนี้ ไม่ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน การปฏิรูประบบยุติธรรม วัฒนธรรมชนชั้น ฯลฯ เขาเรียกร้องแค่ประชาธิปไตยรัฐสภาแบบปกติของอารยะประเทศ พูดง่ายๆ คือกลับไปสู่การเมืองแบบก่อนรัฐประหาร ไม่มีอะไรเกี่ยวกับสถาบันสักนิดเดียว

รัฐบาลจะปั่นข่าวผู้ชุมนุมอย่างไรก็ว่าไป แต่นายกฯ ต้องตระหนักว่าผู้ชุมนุมไม่ใช่พวกล้มล้างการปกครอง ในแง่หนึ่งพวกเขาไม่ต่างจากมวลชนผู้ประท้วงกลุ่มอื่น เพียงแต่มีมิติทางการเมืองมากขึ้น อย่าสร้างกระแสจนคนในชาติเกิดรอยร้าวที่อีกหน่อยจะสมานไม่ได้ อย่าผลักให้คนเกือบสิบสี่ล้านเป็นคนคิดร้ายต่อชาติ พวกเขาตั้งคำถามท่านเรื่องประชาธิปไตย เขาไม่ได้มีปัญหากับบ้านเมือง

นายกฯ ต้องยอมรับว่าท่านผิดในการสั่งปราบ ท่านจะบอกตัวเองอย่างไรก็ตาม แต่อย่าคิดว่าสังคมจะไม่เห็นเรื่องนี้ อย่าประเมินเข้าข้างตัวเองว่าทำผิดขนาดนั้นแล้วทุกฝ่ายจะยอมฟังคำสั่งท่านแต่โดยดี กลไกรัฐที่รู้ว่าท่านทำผิดวันนั้นมีมาก หยุดสร้างข่าวเพื่อกลบเรื่องนี้ อย่าผลักปัญหาของท่านเป็นปัญหาของบ้านเมืองจนคนในชาติหวาดกลัวและเกลียดกันอย่างที่ผ่านมา

ความขัดแย้งรอบนี้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทีมีมากว่า 4-5 ปี โอกาสที่จะเกิดสถานการณ์ที่คาดหมายไม่ได้จากการตัดสินใจปราบจะมีสูง ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าปราบแล้วรัฐบาลจะชนะ และถ้าดู Scenario ที่พูดกัน จะเห็นว่าสังคมมีแต่จะแย่ลง

 

000

“เสื้อแดงไม่ได้มีแค่คนโคตรจนแบบที่เห็นในทุ่งกุลาร้องไห้หรือหนังลูกอีสาน มวลชนทางเหนือหรืออีสานไม่น้อยเป็นชาวนารายย่อยหรือชาวนาไร้ที่ดิน ผู้ชุมนุมจำนวนมากเป็นชาวนาหรือพ่อค้าแม่ค้าระดับกลางที่อาจเป็นผู้ประกอบการระดับหมู่บ้านด้วยซ้ำ เขาเติบโตมากับนโยบายสินเชื่อหรือการประกันราคาสินค้าเกษตรในรัฐบาลหลายชุด จึงไม่ใช่ข้นแค้นขนาดอยากได้เศษเนื้อข้างเขียงจากรัฐบาล

ปัญญาชนสาธารณะหรือเอนจีโอขาใหญ่ไม่เข้าใจประเด็นนี้จนเสนอให้รัฐบาลแจกเงินแจกของเชิงนโยบาย วิธีนี้ไม่ได้ผลแน่ คนเสื้อแดงชุมนุมเพราะต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองเท่าคนชั้นกลางหรือคนกรุงเทพ เขาต้องการเป็นเจ้าของรัฐบาลเพื่อกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของพวกเขา เขามาเพราะต้องการเป็นคนเท่าคนอื่น มาด้วยเหตุผลทางการเมือง ไม่ใช่มาขอทาน”

 

@ อภิสิทธิ์แก้ปัญหาด้วยนโยบายปรองดอง 5 ข้อ ขณะที่ยังคงเล่นอีกบท เช่น การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การแถลงข่าวว่าจะนำรถหุ้มเกราะสลายการชุมนุม การแสดงแผนผังกล่าวหาเรื่องเครือข่ายล้มเจ้า บทบาทของอภิสิทธิ์ และ ศอฉ. แบบนี้แปลว่าอะไร สะท้อนความจริงใจต่อผู้ชุมนุมหรือไม่?

ในการรักษาอำนาจนำทางการเมือง รัฐบาลต้องเล่นหลายบทหลายหน้าอยู่แล้ว แต่จุดยืนเขาชัดเจนคือไม่เอาการคืนอำนาจให้ประชาชน ประชาธิปัตย์รู้ว่าเขาไม่มีโอกาสชนะเลือกตั้งครั้งหน้า อาจลดชั้นเป็นพรรคท้องถิ่นด้วยซ้ำ ส่วนคนหนุนเขาก็ไม่เอาเรื่องนี้ เพราะเบี้ยในระบบที่ใช้ได้ก็เหลือไม่กี่ตัว พลาดนิดเดียวอาจถึงขั้นต้องดันเนวินเป็นนายก พรรคพันธมิตรก็ยังไม่มีอะไรชัดเจน

เรื่องปรองดองและยุบสภา ในที่สุดจะไม่มีอะไรคืบหน้า ถ้าเอาบทเรียนจากสังคมที่เคยเกิดความขัดแย้งทางการเมืองขนาดใหญ่มาจับ การปรองดองมีองค์ประกอบอย่างน้อยสามข้อ ข้อแรกคือคู่ขัดแย้งมีข้อตกลงบางอย่างร่วมกัน ข้อสองคือต้องมีมาตรการยุติการเผชิญหน้า และข้อสามคือต้องสร้างกระบวนการทางกฎหมายเพื่อเป็นหลักประกันว่าการปรองดองจะได้รับการปฏิบัติจริง

ในกรณีบ้านเรา สามเรื่องนี้ยังไม่มี การปรองดองเป็นการตอบโต้เฉพาะหน้าเพื่อชิงความได้เปรียบ นั่นคือพอแดงได้เปรียบก็เสนอยุบสภา 30 วัน แต่รัฐบาลไม่รับ พอรัฐบาลได้เปรียบก็เสนอโร้ดแม้พ แต่ฝ่ายแดงก็ไม่มั่นใจ หมายความว่าคู่ขัดแย้งสองฝ่ายไม่ได้ซีเรียสเรื่องนี้ แต่จำเป็นต้องพูดเพราะหักล้างอีกฝ่ายไม่ได้ และสังคมก็กดดันให้ยุติการสู้แบบแตกหักสักที

นี่ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรรับการปรองดอง ควรรับ แต่รับในเงื่อนไขที่มีหลักประกันทางกฎหมายว่าการยุบสภาจะเกิดจริง ต่อให้คุณอภิสิทธิ์เปลี่ยนความคิด หรือต่อให้มีนายกคนใหม่ รับโดยมีหลักประกันแบบที่นายกพูดบ่อยๆ ว่าทุกฝ่ายต้องหาเสียงได้อิสระ นั่นคือต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยกเลิกการใช้สื่อของรัฐปลุกปั่นยุยง ยกเลิกการคุกคามอีกฝ่าย ยกเลิกการป้ายสีเรื่องก่อการร้ายและล้มล้างสถาบัน

ถ้าไม่รับ รัฐบาลจะบีบผู้ชุมนุมด้วยวิธีป่าเถื่อนต่างๆ ส่วนผู้ชุมนุมก็ต้องตอบโต้ด้วยการชุมนุมต่อไปอีก การควบคุมการชุมนุมจะยากขึ้น รับแล้วไปสู้ทางความคิดเพื่อเตรียมยึดอำนาจคืนผ่านการเลือกตั้งน่าจะดีกว่าในปัจจุบัน

คนที่ไม่อยากให้ยุบสภาควรเห็นได้แล้วว่าอยู่แบบนี้ไม่มีอะไรดีขึ้น ท่านจะได้รัฐบาลที่อยู่เพราะต้องการจัดสรรงบประมาณ ต้องการแต่งตั้งข้าราชการและคุมโผโยกย้ายทหาร ท่านจะได้รัฐบาลลูกผสมระหว่างเนวิน-อภิสิทธิ์ ท่านจะได้รัฐบาลที่ครึ่งหนึ่งของรัฐมนตรีไม่คิดอะไรนอกจากอนุมัติโครงการ ท่านจะได้รัฐบาลที่นายกไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองในประเทศและประชาคมโลก

ทางออกที่ดีที่สุดตอนนี้คือสร้างกฎกติกาที่ทุกฝ่ายตกลงร่วมกันได้จริงๆ อาจไม่ใช่กฎที่ทุกฝ่ายได้อย่างที่ต้องการทั้งหมด แต่เป็นกฎที่ทุกฝ่ายรู้สึกว่ารับได้ที่สุด เพราะถ้าไม่เอาแนวทางนี้ สังคมก็มีแนวโน้มไม่กี่อย่าง คือไม่ฆ่าผู้ชุมนุมให้หมด ก็เกิดจลาจล อนาธิปไตย หรือรัฐประหาร อยากให้เป็นพม่าหรือติมอร์ตะวันออกหรืออินเดียหรือเขมรก็เลือกเอา

 

@ นายกรัฐมนตรีและกลุ่มประชาสังคมบางกลุ่มบอกว่าทางออกคือการปฏิรูปสังคมให้คนทุกกลุ่มได้รับความเป็นธรรม ไม่ใช่การเลือกตั้งหรือยุบสภา

ต้องเข้าใจว่าคนเสื้อแดงพูดเรื่องไพร่และความอยุติธรรมเพื่อชี้ว่าใครคืออุปสรรคของประชาธิปไตย เขาไม่ใช่ขบวนการปฏิรูปสังคม นี่เป็นความเข้าใจผิดของรัฐบาลว่าผู้ชุมนุมมาเพื่อขอทานนโยบายบางอย่าง เขามาเพราะความไม่พอใจทางการเมือง อย่าเอาเรื่องนโยบายสาธารณะที่เป็นงานประจำของรัฐบาลมาเป็นข้อแลกเปลี่ยนกับการชุมนุมของประชาชน

รัฐบาลควรเข้าใจว่าคนเสื้อแดงไม่ได้พูดถึงความยุติธรรมในแง่ตัวเงินหรือรายได้ สังคมไทยมีช่องว่างระหว่างชนชั้นจริง ความไม่เท่าเทียมนี้มีจริงและมีมาก่อนรัฐบาลชุดนี้ แต่นี่ไม่ใช่มูลเหตุให้คนเป็นล้านๆ สนับสนุนเป็นฝ่ายเสื้อแดงถึงขนาดไม่กลัวการปราบอย่างที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 10 เมษา

ความยุติธรรมที่พวกเขาพูดถึงคือความยุติธรรมทางการเมือง

เสื้อแดงไม่ได้มีแค่คนโคตรจนแบบที่เห็นในทุ่งกุลาร้องไห้หรือหนังลูกอีสาน มวลชนทางเหนือหรืออีสานไม่น้อยเป็นชาวนารายย่อยหรือชาวนาไร้ที่ดิน ผู้ชุมนุมจำนวนมากเป็นชาวนาหรือพ่อค้าแม่ค้าระดับกลางที่อาจเป็นผู้ประกอบการระดับหมู่บ้านด้วยซ้ำ เขาเติบโตมากับนโยบายสินเชื่อหรือการประกันราคาสินค้าเกษตรในรัฐบาลหลายชุด จึงไม่ใช่ข้นแค้นขนาดอยากได้เศษเนื้อข้างเขียงจากรัฐบาล

ปัญญาชนสาธารณะหรือเอนจีโอขาใหญ่ไม่เข้าใจประเด็นนี้จนเสนอให้รัฐบาลแจกเงินแจกของเชิงนโยบาย วิธีนี้ไม่ได้ผลแน่ คนเสื้อแดงชุมนุมเพราะต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองเท่าคนชั้นกลางหรือคนกรุงเทพ เขาต้องการเป็นเจ้าของรัฐบาลเพื่อกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของพวกเขา เขามาเพราะต้องการเป็นคนเท่าคนอื่น มาด้วยเหตุผลทางการเมือง ไม่ใช่มาขอทาน

 

000

หมายเหตุจากประชาไท: พร้อมๆ กับที่ประชาไทถอดเทปสัมภาษณ์วันที่ 10 พ.ค. เสร็จ และเตรียมเผยแพร่ในเว็บ ปรากฏว่า ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. เป็นต้นมา ทหารได้เริ่มใช้กำลังปราบผู้ชุมนุมรอบใหม่ หรือที่ ศอฉ. เรียกอย่างสวยหรูว่า “กระชับวงล้อม” ล่าสุดเมื่อ 15 พ.ค. ประชาไทจึงขอสนทนากับศิโรตม์เพิ่มเติม

@ ประชาไท - ดูเหมือนการสลายการชุมนุมรอบนี้ รัฐบาลมีท่าทีมั่นใจ มาตรการใช้อาวุธสงครามในการสลายการชุมนุมก็ชัดเจนกว่าตอน 10 เมษายน แปลว่ากองทัพยังคงเป็นเอกภาพหรือ? และสภาพที่ใช้การทหารนำการเมืองเช่นนี้กำลังพาประเทศไปสู่อะไร

ศิโรตม์ - กองทัพรอบนี้ไม่ได้ปราบ เขาใช้วิธีแย่กว่านั้นคือลอบยิง หลายครั้งยิงคนมือเปล่าที่ไม่มีอาวุธ ยิงที่หัวหรือหน้าอก ยิงที่จุดตายทั้งนั้น เหตุผลที่ทำแบบนี้เพราะปราบใหญ่ไม่ได้ จะด้วยเหตุที่คนไม่พอหรือกลัวถูกนานาประเทศประณามอะไรก็ตามแต่ การหันมาเล่นบทลอบสังหารทำให้รัฐไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยกับการตายของคนเหล่านี้ สถานการณ์ตอนนี้เลวร้ายกว่าสงคราม นี่คือวิสามัญฆาตกรรมกลางเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net