สันติประชาธรรมวอนสื่อทำความเข้าใจผู้ชุมนุม สังคมต้องการแผนปรองดองอันแน่วแน่

15 พ.ค. 53 กลุ่มสันติประชาธรรม ออกแถลงการณ์ ลงวันที่ 14 พ.ค. เรียกร้องสื่อกระแสหลักเข้าใจผู้ชุมนุม ตั้งคำถาม ทำไมแค่พิธีกรรมสุเทพมอบตัว รับบาลจึงไม่ทำ แต่ฉวยโอกาสล้มปรองดอง หวังบีบกองทัพจัดการผู้ชุมนุม  โดยแถลงการณ์มีบทวิเคราะห์และรายละเอียด ดังนี้

0 0 0

 

แถลงการณ์
กลุ่มสันติประชาธรรม 
Santi prachatham Communigue

(๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓)

สังคมต้องการเจตน์จำนงอันแน่วแน่ และแผนปรองดองแห่งชาติ 

  
เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง  ที่ความพยายามที่จะประนีประนอม  ระหว่างรัฐบาลและแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (นปช.) เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติการเมือง ที่ดำรงอยู่ในขณะนี้  ต้องพังทลายลงอย่างรวดเร็วจนน่าใจหาย  เงามืดของความรุนแรง  การนองเลือด  กำลังก่อตัวเข้าปกคลุมพื้นที่ของผู้ชุมนุมอย่างน่ากลัว  ความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ไม่เพียงชี้ให้เห็นถึงการขาดเอกภาพในหมู่แกนนำ นปช.   แต่ยังชี้ให้เห็นถึงการขาดเจตน์จำนงอันแน่วแน่ของฝ่ายรัฐบาล  ที่จะแก้ปัญหาด้วยแนวทางประชาธิปไตย-เสรีภาพ-เสมอภาค-ภราดรภาพ  และสันติวิธี 
  
เมื่อแกนนำ นปช. ปฏิเสธ  ที่จะสลายการชุมนุมในทันทีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้เสนอเงื่อนไขให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน และยุบสภาระหว่างวันที่ 16-30 กันยายนได้ทำให้ภาพพจน์ของนปช. กลายเป็นฝ่ายที่บิดพริ้วข้อตกลง ต้องการให้เกิดการแตกหัก  พร้อมจะเอามวลชนเข้าแลก  บ้างก็ว่าเพื่อฟื้นฟูผลประโยชน์ของอดีต นรม. ทักษิณ  บ้างก็ว่า นปช. เป็นพวกได้คืบ  จะเอาศอก  รองนายกฯ สุเทพ เทือกสุบรรณ อุตส่าห์เข้ารายงานตัวต่อกรมสอบสอนคดีพิเศษ หรือ DSI แล้ว  นปช.ก็ยังไม่พอใจ  กลับเปลี่ยนเงื่อนไขให้นายสุเทพเข้ามอบตัวต่อตำรวจแทน  สำหรับผู้ที่ไม่ชอบมวลชนคนเสื้อแดง   ปฏิกิริยาดังกล่าวของ นปช. ย่อมตีความเป็นอื่นไม่ได้ 
  
แต่หากวิเคราะห์ข้อเรียกร้องที่ให้นายสุเทพเข้ามอบตัวต่อตำรวจแทน DSI  ก็จะพบว่าข้อเรียกร้องดังกล่าว  แยกไม่ออกจากความแค้นเคืองต่อเหตุการณ์ 10 เมษา  ที่ยังฝังแน่นอยู่ในสำนึกของมวลชนคนเสื้อแดง ที่จนกระทั่งบัดนี้  ก็ไม่มีแม้แต่คำกล่าวขอโทษจากนายอภิสิทธิ์  เสมือนว่าการตายและบาดเจ็บจำนวนมากในวันนั้น  เกิดขึ้นกับชีวิตของพลเมืองที่ไร้ค่าของประเทศนี้  อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สังคมไทย โดยเฉพาะสื่อมวลชนกระแสหลัก  ปฏิบัติต่อความตายของคนเสื้อแดงนั้น  แตกต่างราวฟ้ากับดินกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับมวลชนเสื้อเหลือง  เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551  นี่คือภาวะ “สองมาตรฐาน” อีกประการหนึ่ง  ที่สังคมใช้กับคนเสื้อแดง
 
ฉะนั้น  ก่อนที่จะประกาศให้มวลชนแยกย้ายกันกลับบ้าน  แกนนำ นปช. จำเป็นต้องแสดงให้มวลชนของตนเห็นว่า   เมื่อได้สิ่งที่ต้องประสงค์คือการยุบสภาและเลือกตั้งแล้ว  พวกเขาจะไม่เดินข้ามศพมวลชนของตนไปอย่างรวดเร็ว  แต่พวกเขาต้องการความยุติธรรมเพื่อยืนยันสิทธิในชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บเฉกเช่นประชาชนชาวไทยทุกผู้ทุกนามจะพึงมีโดยเสมอเหมือนกัน
 
นอกจากนี้  เมื่อแกนนำ นปช. ประกาศรับแผนปรองดองของรัฐบาล   ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่มวลชนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อย  ที่เจ็บแค้นอย่างมากต่อเหตุการณ์ 10 เมษายน นี่คือสิ่งที่สื่อกระแสหลังมองไม่เห็นและไม่เข้าใจ 
  
จริงอยู่ ไม่ว่านายสุเทพ  จะมอบตัวกับ DSI หรือตำรวจ  ทุกฝ่ายรู้ดีว่านายสุเทพ  จะไม่มีวันถูกจับกุมคุมขัง  ตราบเท่าที่พรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นรัฐบาลอยู่  แต่อย่างน้อยประชาชนเสื้อแดง  ก็มีความรู้สึกที่ดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่า DSI ในยุคของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ข้อเรียกร้องให้นายสุเทพ  เข้ามอบตัวต่อตำรวจจึงเป็นเสมือนพิธีกรรม  ว่าการดำเนินคดีต่อผู้มีส่วนในอาชญากรรมเมื่อวันที่ 10 เมษายน ได้เริ่มขึ้นแล้ว  เป็นพิธีกรรมเพื่อลดกระแสความไม่พอใจของมวลชนเสื้อแดงที่แกนนำ “สายพิราบ” นำตัดสินใจจะยุติการชุมนุม 
  
ปัญหาคือ รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์  ยอมรับพิธีกรรมง่าย ๆ เช่นว่านี้ไม่ได้เชียวหรือ  ทำไมจึงปล่อยให้ประเด็นปลีกย่อยเช่นนี้  มาทำลายเป้าหมายทางการเมือง  ที่สำคัญกว่าหลายเท่า ได้อย่างง่ายดาย  ทำไมเจตน์จำนงที่จะให้เกิดการปรองดองแห่งชาติ  ของนายอภิสิทธิ์จึงอ่อนแอได้อย่างไม่น่าเชื่อ  หรือจริง ๆ แล้วนายอภิสิทธิ์ไม่เคยเชื่อในแผนปรองดองแห่งชาติของตนจริง ๆ เลย  แต่เป็นเพียงกลอุบาย  เพื่อซื้อเวลาให้กับพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลต่อไปเท่านั้น 
  
สิ่งนี้สอดคล้องกับความเข้าใจทั่วไปว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์  ปรารถนาที่จะให้มีการใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างเด็ดขาด  แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากกองทัพและเจ้าหน้าที่ตำรวจ  จึงต้องหันมาใช้แผนปรองดองแห่งชาติ  แต่เมื่อแกนนำ นปช. พลาดท่าเสียทีทางการเมือง สูญเสียความชอบธรรมในสายตาสาธารณชน (โดยมีสื่อกระแสหลักเป็นตัวหนุนช่วย) นายอภิสิทธิ์ก็พร้อมที่จะบอกยกเลิกสัญญาในทันที 
  
ฉะนั้น  กลุ่มสันติประชาธรรม  จึงขอยื่นข้อเรียกร้องต่อทั้งฝ่าย นปช. และรัฐบาลดังนี้
 
1.       แกนนำ นปช. ที่เป็นฝ่ายช่วงชิงและยึดกุมการนำอยู่ในขณะนี้  ต้องพยายามอย่างถึงที่สุดที่รักษาชีวิตของผู้ชุมนุมให้ได้  โดยจะต้องยุติการชุมนุมโดยเร็วที่สุด  แม้ว่าแกนนำบางส่วนของ นปช. จะไม่ได้รับการประกันตัวตามวิถีทางประชาธิปไตยก็ตาม
 
2.       รัฐบาลจะต้องมีความอดกลั้นและความมุ่งมั่น  ที่จะแก้ปัญหาด้วยแนวทางสันติวิธีให้มากขึ้น นายอภิสิทธิ์ต้องไม่ใช้เรื่องการปรองดอง  เพียงเพื่อสร้างภาพพจน์และซื้อเวลาให้กับตนเอง  รัฐบาลจะต้องยุติความพยายามใช้กำลังเข้าสลายและปราบปรามผู้ชุมนุม
 
3.       รัฐบาลจะต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน  เพื่อเป็นหลักประกันว่าแกนนำและมวลชนของ นปช. จะต้องได้รับการปฏิบัติทางกฎหมายตามวิถีทางประชาธิปไตยโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติแบบ “สองมาตรฐาน”โดยเด็ดขาด
 
ผู้คนทั่วโลก  กำลังเฝ้าดูว่าความล้มเหลวของแนวทางการเมืองในขณะนี้  จะนำไปสู่ความตายอีกกี่ศพ  บาดเจ็บอีกกี่พันคน คนจำนวนไม่น้อยอาจสะใจหรือไม่รู้สึกรู้สมกับความตายของคนเสื้อแดง  แต่บรรดาผู้ที่เรียกร้องให้มีการปราบปรามประชาชน  โปรดตระหนักด้วยว่าคนจำนวนมหาศาล  จะยิ่งรู้สึกเคียดแค้นกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น  ความเคียดแค้นนี้จะสั่งสมและซ้ำเติมสังคมไทยจนยากที่จะเยียวยาได้  ความคับแค้นนี้จะไม่มีวันสลายตัวไปได้  ตราบเท่าที่สังคมนี้ยังปฏิบัติต่อประชาชนเสื้อแดงด้วย “สองมาตรฐาน” ต่อไป
 
นายอภิสิทธิ์ต้องตระหนักว่าลำพังแค่เหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ตนก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นผู้นำต่อไป  แต่สมควรลาออกและประกาศยุบสภาในทันทีภายหลังเหตุการณ์นั้นแล้ว  หากนายอภิสิทธิ์ตัดสินใจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมอีกครั้งหนึ่ง  และมีผู้บาดเจ็บล้มตายเพิ่มขึ้นอีก  นายอภิสิทธิ์จะเป็นผู้นำพลเรือนคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง  ที่จะถูกประณามและถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ร่วมกับเผด็จการทั้งหลายทั้งปวงในบ้านนี้เมืองนี้ 

 
"ถ้ายึดมั่นในหลักประชาธรรมแล้ว
ไม่มีวิธีอื่นใดเพื่อได้มาซึ่งประชาธรรมนอกจากสันติวิธี...
การใช้อาวุธขู่เข็ญประหัตประหารกันเพื่อประชาธรรมนั้น
แม้จะสำเร็จ อาจจะได้ผลลัพธ์เพียงชั่วครู่ชั่วยาม
จะไม่ได้ประชาธรรมถาวร
เมื่อฝ่ายหนึ่งใช้อาวุธแล้ว
อีกฝ่ายหนึ่งแพ้  ก็ย่อมคิดใช้อาวุธโต้ตอบ
เมื่ออาวุธปะทะกันแล้ว จะรักษาประชาธรรมไว้ได้อย่างไร"

(ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “บันทึกประชาธรรมไทยโดยสันติวิธี” 2515)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท